Skip to main content
sharethis

 

 

เมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานพิธีเปิดหมู่บ้านใหม่ ‘บ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง’ ตั้งอยู่ทางฟากฝั่งตะวันออกของพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง’ ถือว่าเป็นทางออกเบื้องต้น หลังจากชาวบ้านปางแดง ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซากเป็นครั้งที่ 3 และเหตุการณ์การจับกุมเช่นนี้ ทำให้หลายคนต่างออกมาพูดกันว่าเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

กระทั่งในปี 2551 คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีรายงานว่า ขณะนี้ศาลได้มีการจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวโดยยังไม่อ่านคำพิพากษา โดยได้เสนอให้มีการเจรจาร่วมกับฝ่ายนโยบายและป่าไม้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปางแดงด้วยการระดมทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ และสร้างชุมชนให้ได้รับการยอมรับจากสังคมในระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านถูกจับกุมอีก

จนเกิด ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง’ นี้ขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย หลายองค์กรหน่วยงานที่ได้ระดมทุนและดำเนินการก่อสร้างบ้านและที่พักอาศัยให้กับชาวบ้านจนแล้วเสร็จ

 

กิจกรรมในวันแรก ได้เริ่มตั้งแต่ เวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น มีการจัดขบวนแห่วิถีชนเผ่าตั้งแต่ประตูซุ้มทางเข้าหมู่บ้าน ไปจนถึงบริเวณลานพิธี ก่อนกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้น ได้มีการเชิญชวนแขกที่มาร่วมงาน ได้ล้อมวง ‘ฮมบ่ม’ หรือรับประทานอาหารบนลานดินร่วมกันอย่างเรียบง่าย

ตกค่ำ มีการแสดงวัฒนธรรมบนลานดิน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างสนุกสนาน พากันร้องเพลง เต้นรำ ก่อกองไฟเผาข้าวหลาม ผิงข้าวจี่กันท่ามกลางลมหนาว นานๆ ผมจะมีโอกาสเห็นความสุขของพี่น้องดาระอั้ง อบอวลหอมกรุ่นอย่างนี้ หลังจากก่อนหน้านั้น ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำยอมและจำนนมาโดยตลอด

ในงานบุญงานรื่นเริงนั้น ผมมีเวลาเดินไปเยี่ยมทักทายชาวบ้าน ที่นั่งจับเจ่ากันอยู่บนบ้าน บ้างนั่งผิงไฟอยู่หน้ากระท่อม บ้างกำลังสานเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อใช้ในงานพิธีของชนเผ่า

ลุงอินพรม จองตาน นั่งสานหมากตาโว หรือตะกร้อ กับ อ๊ะ หรือหน้าไม้ เพื่อเตรียมประกอบในพิธีทำบุญบ้านทำบุญเมืองตามจารีตดั้งเดิมของดาระอั้ง

“คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจกันแล้ว” ลุงอินพรม บอกเล่าให้ฟัง ก่อนหันไปมองเด็กหนุ่มเด็กสาวยืนมุงดู คนหนึ่งย้อมผมสีแดง คนหนึ่งกำลังเปิดเพลงฝรั่งผ่านทางมือถือ

เมื่อผมเดินเข้าไปเยือนบ้านของนายอ่อ มหาใจ เขาเชื้อเชิญให้นั่งผิงไฟ ก่อนจะหยิบเมล็ดพันธุ์ กะป่อ หรือน้ำเต้าของดาระอั้ง ใส่ถุงให้ผมไปปลูกในสวน

“กะป่อ นี่เอามาจากดอยนอแล อำเภอฝาง” เขาบอกผมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

 

พอตกดึก ฟ้ามืดสนิท ทำให้มองเห็นดาวระยิบระยับ ผมยินเสียงเพลงภาษาดาระอั้งในท่วงทำนองเศร้าสร้อยแว่วมา ชาวบ้านบอกว่าเนื้อหาของเพลงแต่ละเพลงนั้น ล้วนเป็นการพร่ำพรรณนาบอกเล่าถึงวิถีชีวิตทุกข์ยากลำบากและการเดินทางมาไกลแสนไกล

ในห้วงหนึ่งนั้น ผมนึกใบหน้าและแววตาคู่หนึ่งของผู้เฒ่าสะท้อนกับแสงไฟฟืน

เป็นแววตาที่ดูแล้วเหมือนฉาบความเศร้าเอาไว้ข้างในยังไงยังงั้น

 

เมื่อพูดถึง ดาระอั้ง หรือปะหล่อง ที่คนทั่วไปรู้จักกันนั้น ทำให้นึกถึงงานวิจัยเรื่อง ‘กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า’ ของ ‘สกุณี ณัฐพูลวัฒน์’ อ่านทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นงานวิชาการที่น่าสนใจและศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง

ในงานเล่มนี้ ระบุว่า ในงานศึกษาเรื่อง Shans at Home ของ Lesline milne ในปี 1910 บอกว่า ชนเผ่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนรักสงบ และพยายามหลบหนีภัยจากปัญหาสงครามอยู่เสมอ แน่นอน เมื่อเอ่ยชื่อดาระอั้ง หรือปะหล่อง เราจึงมักเห็นภาพของการตกเป็นเหยื่อในภาวะสงครามเสียมากกว่า และเป็นฝ่ายที่ต้องหลบเลี่ยงหนีการรุกรานของชนเผ่าอื่นอยู่เรื่อยมา

ทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของ ลุงคำ จองตาน ผู้เฒ่าดาระอั้งบ้านปางแดงใน เคยพูดคุยกับผมไว้นานมาแล้ว

“พวกเราดาระอั้งไม่เคยสู้กับใคร มีแต่หลบหนีอย่างเดียว เราไม่ชอบการต่อสู้ ไม่ชอบความรุนแรง”

 

นอกจากนั้น ยังมีงานศึกษาที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งในพม่า ซึ่งได้บันทึกไว้ใน “Gazetteer of Upper Burma and the shan states” โดย Sir. James George Scott ตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 โดยตอนหนึ่งได้เขียนถึงตำนานการเกิดของชนเผ่าดาระอั้ง หรือ ปะหล่องเอาไว้ว่า เป็นลูกหลานของกษัตริย์พระอาทิตย์ เลือกที่จะอยู่บนที่สูง บริเวณทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า และถือว่าเป็นกลุ่มคนนักเดินทางชั้นเยี่ยม ซึ่งต่อมา ลูกหลานได้เติบโตย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นในทางตอนใต้ของรัฐฉาน แถบเมืองเชียงตุง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน กระทั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามเขามาอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของไทย มีรายงานว่า ปัจจุบัน มีจำนวนประชากรชาวดาระอั้ง หรือชาวปะหล่องที่อาศัยอยู่ในไทย ทั้งหมดราว 5,000-7,000 คน

หากใครมีโอกาสผ่านมาทางเขตอำเภอแม่อาย ฝาง และเชียงดาว ก็จะเห็นคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวด้วยสีสันแปลกใหม่ ผู้ชายนุ่งกางเกงทรงไทยใหญ่สีดำ น้ำเงิน สวมใส่เสื้อคอกลมแขนยาว ส่วนผู้หญิงสวมผ้าซิ่นทอสีแดงสด ใส่เสื้อแขนยาว มีพู่ไหมพรมห้อยล้อมรอบต้นแขนเสื้อทั้งสองข้าง ผ้าเคียนศีรษะ และที่แปลกตาต่อผู้พบเห็นมากที่สุด ก็คือ ‘น่องกฺ’ เป็นบ่วงทำด้วยเงิน หรือหวายคล้องรอบเอว นั่นละ คือพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง

ทุกครั้งที่ผมเห็นผู้หญิงดาระอั้งที่คล้อง ‘น่องกฺ’ หรือบ่วงทำด้วยเงิน หรือหวายคล้องรอบเอวแม่หญิงดาระอั้ง ทำให้ผมนึกไปถึงตำนานอันเก่าแก่ เรื่องนางลอยเงิน และพลอยทำให้นึกไปถึงภาพเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มาไปด้วย

นึกไปถึงภาพการเดินทางระเหเร่ร่อนหนีตายจากสงครามความขัดแย้งในพม่า ภาพการหลบหนีการไล่ล่า ภาพความอดอยากจนต้องเด็ดกินใบไม้แทนข้าว ภาพผู้คนลอยคอข้ามแม่น้ำสาละวิน ภาพผู้คนเดินข้ามดอยมาอาศัยอยู่บนดอยนอแล ดอยอ่างขาง ก่อนเคลื่อนย้ายมาอยู่ปางแดง ที่เชียงดาว รวมทั้งภาพการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน จับกุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ คนพิการเข้าห้องขัง แม้กระทั่งจนบัดนี้ คดียังไม่สิ้นสุด ยังรอคำพิพากษาจากศาล

 

วันนั้น ผมมีโอกาสสนทนากับ ‘นภาพร สงค์ปรางค์’ ในฐานะทนายความ 1 ใน 7 คนที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านปางแดงทั้ง 47 คนออกมา ได้บอกกับผมว่า ขณะนี้ได้มีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ทางศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว หลังจากนั้น ศาลก็คงจะมีการนัดชาวบ้านในฐาะนะจำเลยไปฟังคำพิพากษา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

เมื่อผมแหย่ถาม แล้วผลที่สุดแล้ว ชาวบ้านจะเป็นอย่างไรต่อไป!?

เธอยิ้มและบอกกับผมเบาๆ ว่า “นั่นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจการพิพากษาของศาล แต่ที่สุดแล้ว ชาวบ้านเขาก็ต้องมีวิถีชีวิตต่อไป ส่วนบทบาทหน้าที่ของทนาย ก็ทำได้แค่นี้”

ภาพในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่ ‘บ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง’ที่ผ่านมานั้น เราอาจยินเสียงความสุข ในความรื่นเริงนั้นมีความหวัง แต่ในแววตาหลายคู่นั้นก็ยังบ่งบอกถึงความเศร้ากันอยู่

ใช่, โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง อาจถือว่าเป็นทางออกเบื้องต้น และเราคงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าในอนาคต ชะตากรรมของพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง จะค้นพบหนทางแห่งสันติสุขอย่างแท้จริงหรือไม่ !?

 

ข้อมูลประกอบ

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์; กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า

ดาระอั้ง...เผ่าพันธุ์ผู้ระเหเร่ร่อน คอลัมน์เผ่าชนคนเดินทาง เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net