Skip to main content
sharethis

นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาการทำเหมืองแร่หินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเป็นชาวอำเภอรัตภูมิด้วย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 ที่ผ่านมีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งแรกขึ้นที่วัดเจริญภูผา(จุ้มปะ) ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ โดยมีนายณรงค์พร ณ พัทลุง ประธานคณะทำงานฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีชาวบ้านและคนงานเหมืองแร่หินบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด และบริษัท แคลเซียมไทย จำกัด มาร่วมฟังการประชุมด้วย

นายเอกชัย เปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปในเรื่องเดียวเท่านั้น คือ เรื่องบ้านพัง โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาเรื่องบ้านพัง ซึ่งจะประกอบด้วยช่างของบริษัท ช่างขององค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ ช่างของที่ว่าการอำเภอรัตภูมิและให้ชาวบ้านที่บ้านพังหาช่างมาร่วมด้วย เพื่อประเมินความเสียหายและกำหนดค่าชดเชยในการซ่อมแซมบ้าน

นายเอกชัย เปิดเผยอีกว่า คณะทำงานชุดนี้จะลงไปเก็บข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีทั้งผู้ที่ได้รับการชดเชยจากบริษัทไปแล้ว ผู้ที่ไม่ยอมรับเงินชดเชย ไม่พอใจจำนวนเงินที่ได้ จนมีการฟ้องร้องต่อศาล และผู้ที่ไม่สนใจ เพราะไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

นายเอกชัย กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องอื่นๆ คณะทำงานจะต้องมีการประชุมกันอีกหลายรอบ ตอนนี้แก้ปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อน

นายเอกชัยเปิดเผยด้วยว่า นายณรงค์พร แจ้งในที่ประชุมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาเหมืองแร่หินเขาคูหาเพื่อความสมานฉันท์ เนื่องจากมีการต่อต้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหาของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด และบริษัท แคลเซียมไทย จำกัด โดยก่อนการประชุมได้ส่งว่าที่ ร.ต.คมสันต์ ผดุง ปลัดอำเภอประจำตำบลคูหาใต้ และนายพิชยา แก้วขาว ซึ่งทั้งสองคนเป็นคณะทำงานด้วย ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่พบกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองแร่หินเขาคูหา โดยพบว่ามีบ้านพังเสียหายจริง ทั้งเสาปูนแตก ฝาบ้านทะลุ เป็นต้นและได้เข้าไปในโรงโม่หินเขาคูหาแล้วด้วย

นายเอกชัย เปิดเผยต่อว่า จากนั้นที่ประชุมได้พูดคุยถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด พบว่า มีทั้งปัญหาจากฝุ่น เสียง บ้านพัง การใช้ทรัพยากร สวนและที่นาที่ถูกก้อนหินกระเด็นตกใส่ รวมทั้งความกังวลในเรื่องการว่างงานของคนงาน เป็นต้น

นายเอกชัย เปิดเผยด้วยว่า คณะทำงานชุดนี้ตั้งขึ้นตามที่นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามอบหมายให้นายอำเภอรัตภูมิตั้งขึ้น เพื่อรับฟังความเห็นและนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในการเห็นชอบให้ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่หินเขาคูหาของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด และบริษัท แคลเซียมไทย จำกัด ของนายมณู เลขะกุล ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ก่อนเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย

นายเอกชัย เปิดเผยต่อว่า คณะทำงานทั้งหมด 22 คน ประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น ตัวแทนบริษัท และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา โดยมีหน้าที่ในการจัดเวทีพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น หาช่องทางเลือกในการแก้ปัญหา ทบทวนขั้นตอนกระบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตำบลคูหาใต้ ติดตามข้อมูลและเปิดเวทีนำเสนอข้อมูลต่อประชาชน โดยแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553

นายธม เหมพันธ์ ผู้จัดการบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด เจ้าของประทานบัตรเหมืองแร่หินเขาคูหาและโรงโม่หินเขาคูหา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ตนได้ยื่นหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เพื่อขอครอบครองแร่หินที่คงเหลือจากการระเบิดหินในเหมืองหินเขาคูหา เนื่องจากครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 25 มกราคม 2552 หลังจากประทานบัตรทำเหมืองหินดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552

นายธม เปิดเผยต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารังวัดพื้นที่และปริมาณแร่หินที่คงเหลืออยู่หน้าเหมืองในวันที่ 30 มกราคม 2553 เพื่อนำข้อมูลที่ได้นั้นไปประเมินระยะเวลาในการครอบครองแร่หินที่คงเหลืออยู่ โดยเมื่อขนหินที่เหลือออกจากพื้นที่สัมปทานแล้วบริษัท จะเข้าไปดำเนินการต่อไม่ได้ จนกว่าจะได้รับการต่ออายุประทานบัตร ส่วนโรงโม่หินไม่ต้องย้ายออก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตประทานบัตรทำเหมืองหิน แต่อยู่ในที่ดินที่มีโฉนด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net