วิจารณ์แผนพัฒนาฯ ฉบับ 11 โทษคนจน ไม่สนปัญหาเชิงโครงสร้าง

นักวิชาการจวกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับ 11 ละเลยเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความยากจน แต่โทษที่ "คนจน" เอ็นจีโอเสนอจะออกแบบสังคมใหม่ต้องมองจากมุมของคนที่เสียเปรียบ วิจารณ์ไทยมีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจชัดเจน แต่ไม่เคยมีวิสัยทัศน์ทางสังคม

 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และสถาบันวิจัยสังคม จัดการเสวนาเรื่อง “Social Architecture ซ่อมหรือสร้างสังคมใหม่: ประเด็นสะท้อนจากคนยากคนจน” ภายใต้โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “เผชิญหน้าผลลัพธ์จากแผนฯ 10 สู่ประเด็นท้าทายในแผนฯ 11”

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งจะเริ่มใช้ในไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ว่า มีลักษณะสำคัญที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง ที่ผ่านมา การร่างแผนฯ แต่ละครั้งถูกวิจารณ์ว่า มีความคลุมเครือว่าใครเป็นผู้จัดทำ แต่ฉบับนี้มีการจ้างสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งน่าสนใจว่าจะแตกต่างกับการร่างในอดีตที่ว่ากันว่า ร่างโดยกลุ่มเทคโนแครตหรือขุนนางวิชาการ ที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ อย่างไร

สอง ในฉบับก่อนๆ มีกรอบทฤษฎีที่จับต้องได้ชัดเจน เช่น ถ้าอ่านแผนฯ จะรู้ว่าอ้างอิงมาจากกรอบทฤษฎีกระแสหลัก แต่ครั้งนี้ มีกรอบแปลกๆ ซึ่งอ้างอิงทฤษฎีได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้แก่  1.เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เน้นไปที่เรื่องโลกร้อน 2.สถาปัตยกรรมทางสังคม 3.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 4.สัญญาประชาคมใหม่ และ 5.ประเด็นท้าทายหลังวิกฤตเศรษฐกิจว่ามีโอกาสของประเทศไทยอย่างไรบ้าง 

พิชญ์กล่าวถึงประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมทางสังคมว่า ในเอกสารชุดหนึ่งของงานวิจัยเพื่อจัดทำแผนฯ วิเคราะห์ว่า สังคมไทยยังไม่เป็นธรรม และไม่สมดุลในการพัฒนาเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม ฐานรากของสังคมไทยซึ่งเคยแข็งแรงกลับอ่อนแอลง สั่นคลอนและถูกกัดกร่อนลงเรื่อยๆ จากสาเหตุที่สะสมมานาน ไม่มีเสถียรภาพ ขาดการกระจายการพัฒนา-การขยายโอกาสทางสังคม นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางสังคม จึงมีการเสนอโมเดลที่เรียกว่า "สถาปัตยกรรมทางสังคม" ขึ้น โดยมีลักษณะคล้ายบ้าน และมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามา เพื่อการพัฒนาสังคมที่ฐานราก และพัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกชุมชนเพื่อที่อยู่อาศัย และอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากอ่านเอกสารแล้วเกิดคำถามว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะสถาปัตยกรรมสำหรับทั้งสังคมเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าซึ่งมีจำนวนมากและมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ จากประสบการณ์มองว่า การทำงานกับคนในชุมชน สิ่งที่จะต้องทำคือกระตุ้นให้เขาคิดว่ามีต้นทุนอะไรอยู่แล้วบ้าง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่าโจทย์ถูกหรือไม่

นลินี ตันธุวนิตย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากอ่านเอกสารงานวิจัยพบว่า มีอคติต่อภาคประชาชนและชุมชน โดยไม่พูดถึงทุน นักวิชาการ ชนชั้นกลาง และสื่อเลย เนื้อหาระบุว่า ภาคประชาชนและชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญและศูนย์กลางของการพัฒนา จากนั้นบอกว่าฐานรากมีปัญหาเพราะอ่อนแอ หมดทุนทางสังคม ละเลยคุณค่าในตัวเอง ขาดจิตสำนึกสาธารณะ มุ่งอยู่รอด ดังนั้นต้องทำให้ฐานแข็งแรง ทั้งนี้ วิธีเขียนดูเหมือนจะชี้ไปว่าปัญหาที่มีตอนนี้ไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นที่ตัวคนจนที่อ่อนแอต่างหาก

การอธิบายแบบนี้ละเลยเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความยากจน เช่น การรวมศูนย์ การจัดการบริหารทรัพยากร การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การเลือกปฎิบัติ การปราบปรามทำลาย และการใช้ความรุนแรง แต่กลับไปสนใจว่า ถ้าคนเป็นศูนย์กลาง และคนเป็นปัญหาก็ต้องแก้ที่คน

โดยในการปรับโครงสร้างสังคม เสนอให้นำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทุกระดับ คำว่า เศรษฐกิจพอเพียงกลายน้ำหมักชีวภาพของป้าเช็ง เอามาทาก็ได้ หยอดตาก็ได้ กินก็ได้ รักษาได้ทุกโรค เป็น magic word ที่ใช้แก้ปัญหาทุกเรื่อง 

ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ก็มีความลักลั่นเช่นกัน โดยบอกว่าต้องสร้างจิตสาธารณะ มีความเอื้ออาทร แต่ไม่ได้พูดว่า ภายใต้โครงสร้างแบบไหนที่ทำให้จิตสาธารณะและความเอื้ออาทรเกิด และโครงสร้างสังคมแบบไหนที่จะทำให้มันดำรงอยู่

นอกจากนี้ แผนผังความคิดที่วางชุมชน เอกชน และรัฐไว้ในระนาบเดียวกัน ยังขาดมิติเรื่องอำนาจ ราวกับคิดว่า ทั้งสามส่วนเท่าเทียมกันและต่อรองกันได้ ถามว่าหน่อมแน้มและโรแมนติกไปหรือไม่ ที่ผ่านมากรณีเขื่อนปากมูลนั่งโต๊ะเสมอหน้า แต่ถึงเวลาฝ่ายการเมืองอยากปิดประตูเขื่อนก็ปิด

"ในที่สุด นโยบายก็เป็นเพียงการนำถ้อยคำมาเรียงกัน เป็นนิทานที่มีทั้งอคติและความสับสน"

สุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรยั่นยืนประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่แผนพัฒนาฯ ควรจะวิเคราะห์คือ โครงสร้างหมู่บ้านที่เปลี่ยนไป เกษตรกรอยากเข้าไปอยู่ในเมือง ชนชั้นกลางที่อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรก็อยากจะเข้าไปทำเกษตรในหมู่บ้าน รวมถึงต้องวิเคราะห์ว่าแนวคิดต่างๆ ที่เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ ว่าทำให้คนในชุมชนได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร และจะรองรับอย่างไร

อัภยุทย์ จันทรพา กลุ่มปฏิบัติงานคนจนเมือง กล่าวว่า การจะออกแบบสังคมใหม่จะต้องมองจากมุมของคนที่เสียเปรียบ รวมถึงต้องยอมรับความจริงว่า เราอยู่ในสังคมที่เป็นพหุสังคม ที่มีความหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ความต้องการแตกต่างกันออกไป

เขาเน้นว่า การพัฒนาจะต้องมาจากท้องถิ่น และยกตัวอย่างการคัดค้านอุตสาหกรรมหนักในภาคใต้ พร้อมเสริมว่า หากเราต้องการเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ เราก็สามารถออกแบบได้ ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมอาหาร โดยจะเห็นว่าประเทศในยุโรปเองก็อยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมหนัก

นอกจากนี้ อัภยุทย์ เสนอว่าจะต้องอนุญาตให้เกิดจินตนาการที่เป็นรูปธรรม จากคนทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คนในแต่ละพื้นที่มีแผนอยู่แล้วว่าอยากทำอะไร ชาวนาไร้ที่ดินก็มีความฝันว่านโยบายที่ดิน-โฉนดชุมชนจะเป็นอย่างไร คนไร้บ้านก็มีความฝันว่าจะทำอย่างไรที่ไม่ต้องนอนที่ข้างถนน หรืออยู่ในบ้านพักของกรมสวัสดิการสังคม ที่เหมือนที่กักกัน จินตนาการที่เป็นรูปธรรมนี้จะช่วยกำกับทิศทางของแผน

ท้ายที่สุด เขามองว่า ต้องจัดตั้งมวลชน เพื่อเข้าไปกำกับ-ผลักดันให้จินตนาการนั้นเป็นจริงได้ โดยยกตัวอย่างประเทศในละตินอเมริกา ที่สามารถปฎิรูประบบที่ดิน สวัสดิการได้ เพราะมีฐานมวลชนที่เข้มแข็ง

ด้านอุบล บุญมาก ได้ตั้งคำถามว่า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่นักการเมืองที่จะวางนโยบายดีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ค่อยถูกหยิบมาใช้ ครั้งหนึ่ง สมัชชาคนจนต้องหยิบข้อความ "ประเทศไทยจะพัฒนาการเกษตรให้เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน" จากแผน 8 มาต่อรองกับแผนของกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงฯ จึงยอมรับว่าตอนทำแผนของกระทรวงฯ ก็ไม่ได้ดูแผนชาติก่อน

เขาวิจารณ์ด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจชัดเจน คือมุ่งสู่อุตสาหกรรม ขณะที่วิสัยทัศน์ด้านสังคมกลับไม่เคยได้ยิน และกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐบาลทำกันไป ทั้งนี้ ส่วนตัวเขามองว่าถ้าจะออกแบบสังคม สิ่งที่ต้องแก้ไขคือปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม โดยยกตัวอย่าง ราคากุ้งที่ชาวประมงที่สุราษฎ์ธานีขายได้ 120-130 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ขณะที่ที่ซุเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ กุ้งไทยขายอยู่ที่ 1,000 กว่าบาทต่อครึ่งกิโลกรัม ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า ส่วนต่างนั้นไปอยู่ที่ใคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท