Skip to main content
sharethis

กลุ่มแพทย์ รพ.ชายแดนเข้าพบ “จุรินทร์” ยื่นข้อเสนอขยายสิทธิ์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยไร้สถานะ เหตุ รพ.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองมหาศาล เฉพาะปี 51 เกือบ 500 ล้านบาทใน 15 จังหวัด หลายแห่งต้องเป็นหนี้ เพราะรัฐไม่ช่วยเหลือ จี้สธ.เร่งจัดการโดยเร็ว ด้านรมต.สธ.ตั้งคณะทำงานจาก 4 หน่วยงานจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 กลุ่มแพทย์โีีรงพยาบาลชายแดนกว่า10 คน อาทิ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ผอ.รพ.ปางมะผ้า ผอ.รพ.แม่สะเรียง ผอ.รพ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผอ.รพ.แม่อาย ผอ.รพ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ผอ.รพ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ฯลฯ เดินทางไปเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือกรณีที่รพ.ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลกลุ่มคนไทยไร้สถานะ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ จากรัฐบาล ทำให้รพ.ต้องใช้งบประมาณที่ได้รับจากส่วนอื่นไปดูแลผู้เจ็บป่วยเหล่านี้ใน แต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางกลุ่มแพทย์รพ.ชายแดน ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ให้รัฐบาลมีมติให้ขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มคนไทยไร้สถานะ ที่กำลังรอการพิสูจน์สถานะบุคคลอยู่ และขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรพ.แบกรับภาระงบประมาณด้านนี้มาเป็นเวลานาน และส่งผลกระทบถึงการรักษาพยาบาลโดยภาพรวม

“คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( บอร์ด สปสช.) ได้ยืนยันมติให้ขยายสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไร้รัฐมาตั้งแต่ปี2548 โดยให้สปสช.ขยายการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มคนไทยไร้สัญชาติเหล่านี้ แต่กลับถูกคัดค้านจากสำนักงบประมาณ และสภาความมั่นคงมาถึง 3 ครั้งแล้ว จึงยังไม่สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แต่ขณะนี้ปัญหาใหญ่โตเกินกว่าแต่ละโรงพยาบาลจะรับไหวแล้ว จึงมาเข้าพบรัฐมนตรีเพื่อให้เร่งดำเนินการ มิเช่นนั้นปัญหาจะลุกลามเกินแก้ไข”นพ.วรวิทย์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่พบในอ.อุ้มผาง เนื่องจากมีประชาชนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพมากถึงประมาณ 60,000 คน มากกว่าผู้ป่วยบัตรทองในพื้นที่ที่มีประมาณ40,000คน ทำให้รพ.อุ้มผางต้องรับภาระเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของคนที่ไม่มี หลักประกันสุขภาพซึ่งรัฐไม่ได้อุดหนุนจำนวนมาก จนโรงพยาบาลต้องเป็นหนี้ถึง25 ล้านบาท รพ.อุ้มผาง ได้แก้ปัญหาด้วยการประสานขอความช่วยเหลือทั้งยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลใกล้เคียงอย่างรพ.แม่สอด หรือรพ.ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวแต่ประชาชนไม่อยู่ในพื้นที่ และได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันหนี้ลดลงเหลือ 18 ล้านบาท

“ใครมาขอรับการรักษา เราไม่มีสิทธิปฎิเสธ และรีบเข้าไปดูแล เพราะหากปล่อยไปอาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ หากมีการแพร่ระบาดยิ่งทำให้ต้องเสียงบฯอีกไม่รู้เท่าไร ขณะนี้รู้สึกหนักใจโรควัณโรคซึ่งประชาชนใน อ.แม่สอดและ อ.อุ้มผางเป็นกันมาก แต่ สปสช.ระบุว่าผู้ที่จะเบิกยารักษาได้ต้องมีเลข 13 หลัก เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ แต่กลับแจกให้เฉพาะคนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  ผู้อำนวยการ รพ.จะนะ จ.สงขลา  ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า หากกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ทางกลุ่มแพทย์รพ.ชายแดน จะเดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ กำกับดูแลสำนักงบประมาณ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งได้แสดงวิสัยทัศน์หลายครั้งว่า จะนำไทยไปสู่สังคมที่มีสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากรพ.ไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป เพราะส่งผลกระทบถึงภาพรวมทั้งระบบ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความกล้าหาญที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งมีแนวทางที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพียงแต่ฝ่ายนโยบายไม่กล้าตัดสินใจเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2551 รายงานว่า โรงพยาบาลของรัฐ172 แห่งจาก 15 จังหวัด มีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล (เฉพาะที่เข้าถึงบริการ) จำนวน 468 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคลที่สมควรได้รับหลัก ประกันสุขภาพประมาณ 567,000 คน

จากหนังสือของเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดนที่ยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้รัฐบาลให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนให้มากกลุ่มที่สุด  โดยไม่จำเป็นต้องไปผูกติดกับการรอพิสูจน์สถานะบุคคลเท่านั้น โดยอาจเริ่มต้นที่กลุ่มคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างชัดเจน500,000 กว่าคน และขอให้ตั้งกองทุนกลางเพื่อการดูแลด้านสุขภาพทางมนุษยธรรมแก่ผู้ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพตามแนวชายแดน โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุขผลักดันกรณีหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล และผลักดันให้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 99 วัน

โดยช่วงเช้าวันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับทีมผู้บริหาร โดยได้ข้อสรุปมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง4 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  กรมควบคุมโรค และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ไปพิจารณา 2 ส่วนคือ เรื่อง มาตรการควบคุมโรคชายแดน ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากเงินงบประมาณที่มี เช่นการตั้งกองทุน หรือรูปแบบอื่น

ทั้งนี้สำหรับกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติประมาณ 5 แสนคน จะมีระบบเข้าไปดูแลอย่างไร โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อคุณภาพ การรักษาพยาบาลคนไทย โดยไม่ต้องไปเบียดงบประมาณที่จัดไว้สำหรับรักษาคนไทย ซึ่งรูปแบบนั้นจะเป็นรูปแบบใด ขอให้ทั้ง 4 องค์กรไปพิจารณา และกลับมานำเสนอภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งหากมาตรการต้องเสนอครม. ก็จะได้นำเสนอต่อไป แต่หากสามารถจบในสปสช. หรือกระทรวงฯ ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ส่วนมาตรการที่ สธ.จะดำเนินการได้เลย ได้แก่ การใช้กองทุนฉุกเฉิน ซึ่งมีงบประมาณปีละ 200 ล้าน โดยจะเกลี่ยเงินจากกองทุนนี้ โดยจัดให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ด้วย โดยหลักคือ ต้องเกลี่ยไปทั่วประเทศ ให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษเฉพาะ ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา  และมอบให้ท่านปลัดฯ ช่วยดูว่า รพ.ชายแดน จะสามารถ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นเครือข่ายที่ จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องของหลักวิชาการ ประสบการณ์ การบริหารจัดการ หรือสนับสนุนกันอย่างไร ต่อไป ถ่ายทอดเทคนิคการบริหาร จัดการ การควบคุมโรค ภายใต้วงเงินงบประมาณที่จำกัด

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าพบและหารือกับนายจุรินทร์ในช่วงบ่าย ทีมแพทย์ชายแดนต่างพอใจในท่าทีการตอบรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดย นพ.วรวิทย์กล่าวว่า การเข้าพบในครั้งนี้ถือว่ามีการตอบสนองจากทางรมต.ที่รวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมมาก่อน

ด้าน นพ.สุภัทร กล่าวว่าถึงอย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ต้องคอยติดตามต่อไปว่าจะสามารถมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ เป็นต้น และในนามของแพทย์ชนบทจะร่วมเสนอถึง บทบาท ข้อเสนอของการแพทย์สาธารณสุขชายแดน ในอีก 2 สัปดาห์หน้าด้วย
 

หมายเหตุ: ติดตามข่าวคราว/ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้ที่

เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน
http://www.wasi.or.th/wasi/index.php?page=link_p&group_=03&code=04&menu=4-3

รับฟัง ราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ” วันที่ 31 มกราคม 2553 http://radio.mcot.net/player/playProgramClip.php?id=59622

ติดตามชมรายการวาระประเทศไทยย้อนหลัง
http://www.youtube.com/user/thanapol55

งานผลักดัน H4S-Health for Stateless โดย SWIT
http://gotoknow.org/blog/h4s
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net