Skip to main content
sharethis
 
 
ตลาดน้ำเมือเกิ่นเทอ
 
 
เรือพายรับจ้างของชาวบ้านในยามค่ำคืน
 
 
เกิ่นเทอเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของเวียดนามบางคนกล่าวว่าเกิ่นเทอเป็นเมืองหลวงของดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหรือดินแดนที่คนเวียดนามเรียกว่าดินแดน “เกาลอง” ซึ่งหมายถึงแม่น้ำโขงที่แยกตัวกันออกเป็นเก้าสายก่อนที่จะไหลลงไปเชื่อมกับทะเล เกิ่นเทอตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโฮจิมิน ในช่วงวันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2553 คนจากหลายประเทศในลุ่มน้ำโขงไม่ว่าลาว ไทย เขมรและเวียดนามทั้งส่วนภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ รวมทั้งภาครัฐของประเทศเจ้าภาพได้มารวมกันด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้องแม่น้ำโขง เมืองในดินแดนปลายสุดของแม่น้ำที่ทอดตัวมายาวไกลจากต้นน้ำในทิเบตวันนี้ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่เป็นห่วงต่อสุขภาพแม่น้ำที่กำลังถูกทำลายลงไป
 
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการประชุมเชิงปฎิบัติการที่ใช้ชื่อว่า “สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขง: สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและนัยข้ามพรมแดน” เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของหลายองค์กรได้แก่ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดเกิ่นเทอ คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และออกแฟม ออสเตรเลีย
 
 
 
 
ในวันที่ 2 ก.พ. ก่อนที่จะถึงงานประชุมอย่างเป็นทางการในวันถัดไปเป็นการประชุมร่วมกันขององค์กรพัฒนาเอกชนจากหลายประเทศทั้งในและนอกลุ่มน้ำที่ได้รวมตัวกันในนามของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) และองค์กรรากหญ้าจากประเทศในลุ่มน้ำ การประชุมในวันนี้เป็นไปอย่างน่าสนใจประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นและถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีคือการเปิดรับเอาขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม (cultural movement) หรืออาจจะเรียกว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) ภาครากหญ้าเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งของความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำที่ดำเนินอยู่
 
ครูตี๋หรือนิวัฒน์ ร้อยแก้วจากกลุ่มรักษ์เชียงของได้เสนอความคิดเห็นว่าที่ผ่านมาเราขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนร่วมกันระหว่าง “ข้างล่างและข้างบน” ที่ผู้เขียนคิดว่าหมายถึงระหว่างการเคลื่อนไหวเชิงการเมือง (political movement) หรือการรณรงค์คัดค้านในระดับนโยบายที่ประสานกันอยู่ในระดับระหว่างประเทศและการเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมที่มีรากอยู่ในท้องถิ่นซึ่งปัจจุบันได้ก้าวข้ามพรมแดนไปแล้ว   ครูตี๋ยังได้มองยาวไปในอนาคตว่าต่อไปคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) ควรจะหมดหน้าที่และยุบตัวลงไป ต่อไปภาคประชาสังคมจะร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงภาคประชาชนขึ้นมาแทน (PCMR หรือ People Committee of the Mekong River) ความคิดของครูตี๋ได้รับการขานรับด้วยดีจากที่ประชุมซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเคลื่อนไหวร่วมกันทั้งลุ่มน้ำอย่างเป็นขบวนเดียวกันและมีมิติที่ครอบคลุม
 
จุดเริ่มต้นนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการประสานงานที่ดีจากผู้จัดงานและพี่ศรีสุววรณ ควรขจรจากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ที่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการเชื่อมประสานกันในทุกระดับการเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับรากหญ้าระดับประเทศระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมถึงการร่วมกันอย่างเป็นขบวนของแนวคิดที่ต่างกันในการเคลื่อนไหว
 
 
ในวันที่สองของการประชุมที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยเกินเทอมีการเปิดประชุมโดยรองประธานคณะกรรมการประชาชนเมืองเกิ่นเทอ มีผู้เข้าร่วมแน่นห้องประชุมรวมไปถึงตัวแทนจากทั้ง 10 เมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หลังจากการเปิดการประชุมเป็นการบรรยายในหัวข้อที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น การนำเสนอของด๊อกเตอร์คาร์ล มิดเดิลตัน จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ที่พูดถึงเรื่องการประมงกับความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในลุ่มน้ำที่กำลังสั่นคลอนลดความมั่นคงลง “ความมั่นคงทางอาหารเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาทั้งหลายไม่ว่าการศึกษา ที่อยู่อาศัยและชีวิตการทำงานแต่ทุกวันนี้มันกำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาของการสร้างเขื่อน”
 
ด๊อกเตอร์ลี แอน ทวน จากมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอที่บรรยายในหัวข้อเรื่องความสำคัญของแหล่งน้ำต่อการเกษตรในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ได้กล่าวอย่างน่าสนใจว่า เราที่อยู่ในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะได้รับผลกระทบมากเป็นสองเท่าเพราะปัญหาโลกร้อนจะทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในขณะที่แม่น้ำโขงกำลังถูกคุกคามด้วยการสร้างเขื่อนทำให้มีผลต่อวงจรและปริมาณน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสายน้ำจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งความแห้งและการท่วมของสายน้ำ ผู้คนจะอดอยากมากขึ้นจากผลของความเสียหายในการทำการเกษตร
 
การบรรยายของ งูเย็น หู เทียน นักวิชาการด้านพื้นที่ชุ่มน้ำจากเวียดนามเสนอการบรรยายในหัวข้อเรื่องผลกระทบของ 11 เขื่อนที่จะมีต่อปากแม่น้ำ มีประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการลดลงของดินตะกอนที่มากับแม่น้ำจะมีผลกระทบต่อการเกิดตามวงจรธรรมชาติของแหลมและชายฝั่งทั้งในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนใต้ทั้งแถบ รวมถึงผลกระทบอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เช่น การเกษตร การประมง อุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งความสูญเสียนี้มากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว
 
ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน จากโครงการพลังไทสรุปในประเด็นเรื่องการพัฒนาพลังงานในลุ่มแม่น้ำโขงไว้อย่างน่าสนใจว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นพื้นที่ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ประเทศไทยต้องการนำเข้าเพื่อตอบสนองการเติบโตและผลประโยชน์ของความร่วมมือด้านพลังงานแบบรวมศูนย์อำนาจในขณะที่ส่งออกปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมและสิทธิมนุษยชนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นการแลกเปลี่ยน
 
ในช่วงการอภิปรายจากผู้เข้าร่วมมีคนแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามอย่างหลากหลายและน่าสนใจโดยเฉพาะความกังวลของคนในเวียดนามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในบ้านของตนจากเขื่อนต่างๆบนเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก หลายคนจากเวียดนามเสนอความคิดเห็นว่าในการทำงานปกป้องแม่น้ำโขงเราไม่ควรแยกรัฐออกเป็นศัตรูแต่ควรทำงานร่วมกัน หน่วยงานต่างๆจะเป็นเพื่อนที่ดีกับภาคประชาสังคม
 
สดใส สร่างโศรก จากประเทศไทยเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างทางการเมืองซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานแต่เรามีสิ่งที่เหมือนกันที่จะเป็นจุดร่วมของทั้งลุ่มน้ำซึ่งก็คือการทำงานหรือการขับเคลื่อนในเชิงวัฒนธรรม”
 
คานห์ซึ่งเป็นเอ็นจีโอในเวียดนามกล่าวว่าตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและรัฐคือการทำงานของเครือข่ายแม่น้ำเวียดนามที่ก่อตั้งและทำงานด้วยความร่วมมือกันของชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักวิชาการและหน่วยงานรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net