รายงาน : วงเสวนาชี้มาตรการภายในไทยรับมือผลกระทบเสรีอาเซียนอ่อนด้อย

รายงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “แนวทางการรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อเกษตรกรไทย” โดยมีเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระเข้าร่วม

วันที่ 4 ก.พ. 2553 ที่ห้องแกรนด์ ฮอลล์ โรงแรมรามาการ์เด้น คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ร่วมจัดการเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “แนวทางการรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อเกษตรกรไทย” โดยมีเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระเข้าร่วมเสวนาประมาณ 300 คน

นายภาวิญญ์ เถลิงศรี ผู้อำนวยการส่วนเจรจาสินค้าเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หากถามว่าการค้าเสรีนั้นเสรีจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เสรีอย่างที่พูดกัน เพราะแต่ละประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีความอ่อนไหวเรื่องภาคเกษตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นภาคเกษตรหลายๆ ประเทศก็จะไม่เปิดเสรีอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกัน ในประเทศไทยเองเพราะมีมาตรการหลายอย่างที่ภาครัฐยึดอยู่ แล้วในอนาคต มาตรการหลายๆ มาตรการที่ภาครัฐคิดว่ายังไม่สามารถยกเลิกได้ มาตรการการควบคุมการนำเข้าก็คงเป็นระยะสั้นเมื่อเราอยู่ในเวทีเศรษฐกิจวันหนึ่งก็คงต้องถูกบีบคั้นให้ยกเลิกไปในวันใดวันหนึ่ง

“ตราบใดที่เรายังเอาสินค้าเป็นตัวตั้งเพราะสินค้าทั้งหลายที่เรามีความอ่อนแอ ก็มีข้อดีข้อเสียบ้างแต่สิ่งที่กำลังดำเนินการคือเอาตัวเกษตรกรเป็นตัวตั้ง ดังนั้นนโยบายต่างๆ ก็จะเปลี่ยน และอีกประเด็นคือคนท้องถิ่นจะต้องมีบทบาทสำคัญมากที่สุด เพราะว่าแม้รัฐบาลจะมีมาตรการปกป้องอะไรก็ตาม แต่สำคัญที่สุดคือคนในท้องถิ่น ซึ่งยังมองเห็นไม่ชัดนักในปัจจุบัน”

นายภาวิญญ์กล่าวว่า ในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้นมีสินค้าเกษตรหลายตัวที่ยังมีความน่ากังวลอยู่ เช่น กาแฟ น้ำมันปาล์ม ชา และข้าว และคงยังต้องมีมาตรการควบคุมต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกะทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน- AFTA เป็นนโยบายที่กำหนดมาแต่ปี 2535 ในรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุนและประเทศไทยเป็นผู้นำในการเจรจาดังกล่าวเอง โดยที่ขณะนั้น ประเมินว่าไทยได้เปรียบ แต่ขณะนี้เราไม่รู้ว่าไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ “เราต้องแยกส่วนให้ชัดเจนว่าการเจรจาต่อรองเป็นเหมือนคนละตะกร้าไปแลกกัน ของภาคเกษตรเป็นส่วนหนึ่ง และในภาวะโลกาภิวัตน์ เราไม่ได้เปรียบเพราะเราใหญ่ไม่พอ กรณีAFTA เราเป็นผู้กำหนดหรือถูกกำหนดก็ไม่รู้เ ราอยู่ตรงกลางคือพร้อมจะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้ถูกกำหนดก็ได้”

นายนิกรกล่าวต่อไปว่าปัญหาของรัฐบาลคือไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และยังขาดเอกภาพในการดำเนินการ แม้ว่าจะเริ่มทำงานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 แต่ก็ยังไม่กรอบการเจรจาอะไรเลย จึงเสนอและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ เช่น คณะกรรมการข้าว คณะกรรมการปาล์ม รวมถึงการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อหากำหนดกรอบว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง โดยประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากจำนวนประชากร และพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ผลกระทบนั้นรวมทั้งผลด้านดีและด้านลบ โดยรวมแล้ว สินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดได้เปรียบ และในภาคเกษตรโดยรวมไม่เสียเปรียบ แต่เสียเปรียบบางตัวซึ่งขณะนี้แยกสินค้าที่ได้รับผลกระทบออกเป็นสี่กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรก ผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ได้แก่ ข้าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากร 3,700,000 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 64 ล้านไร่ ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังรวมถึงไหมดิบ ปาล์มน้ำมัน และเมล็ดกาแฟ ซึ่งจะได้ผลในทางลบทั้งหมด

นอกจากนี้คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น มะพร้าว, กลุ่มกระทบน้อย เช่น น้ำนมดิบ น้ำมันมะพร้าว และกลุ่มสุดท้าย ไม่กระทบและได้ผลเป็นบวกได้แก่ ลำไยแห้ง กากถั่วเหลือง เป็นต้น

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิขวัญข้าว กล่าวว่าเกษตรกรหรือชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่รัฐบาลทักษิณ 1 เป็นรัฐบาลแรกที่เรียกเกษตรกรว่ารากหญ้า “เขาอาจจะไม่ได้ดูถูกเหยียดหยาม แต่ว่ามันแปลว่าคนพื้นล่างทั่วไปส่วนใหญ่” นายเดชากล่าวต่อไปว่า ชาวนาเป็นอาชีพศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีพระแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคง แม่โพสพ เป็นสิ่งสำคัญของไทย และในหลวงทรงเมตตาชาวนา

“เรามีในหลวงที่เห็นความสำคัญของข้าว แต่รัฐบาลหลายยุคไม่เห็นความสำคัญ เกษตรกรที่เป็นชาวนา จะเกษียณทั้งหมดภายใน 3 ปี แล้วชาวนาสุพรรณเป็นอย่างไร ชาวนาเฉลี่ยทั้งจังหวัดหนี้สินครอบครัวละห้าแสนบาท ทิ่ดินติดกับผมมีนาสามสิบหกไร่หนี้สินล้านสามแสนบาท อย่างนี้อยู่ไม่ได้หรอก” นายเดชากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาแนวทางเกษตรยั่งยืนนั้นไม่ขยายตัวเลย เพราะมีกระบวนทัศน์หรือทิฐิ

“การทำเกษตรยั่งยืนต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยก็อาจจะสำเร็จแต่ได้จำนวนน้อย”

นายเดชาได้เสนอในท้ายที่สุดว่า มาตรการที่จะช่วยเกษตรกรและส่งเสริมแนวทางเกษตรยั่งยืนคือ ให้ยกเลิกการโฆษณาสารเคมี และเก็บภาษีสารเคมีในการเกษตร

“การนำเข้าสินค้าเกษตรเคมี เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่รัฐบาลอานันท์ ซึ่งเป็นดับเบิ้ลแสตนดาร์ด เพราะคนทั่วไปใช้ยายังต้องจ่ายภาษี การตั้งภาษีสินค้าเคมีเกษตร แต่ต้องถามรัฐบาลว่าตั้งวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ต้องตั้งคำถามว่าเห็นความสำคัญแก่สินค้าเกษตรจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็ควรทำตามนี้”

นายวัลลภ พิชญ์พงศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เปิดเผยว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันนั้น ประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าว ได้แก่ ไทย พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ขณะที่ประเทศที่ปลูกข้าวไม่พอกินคือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์จาก AFTA จริงหรือไม่

“เราคาดหวังว่าเมื่อมีการเปิดตลาดลดภาษีมากขึ้น การส่งออกองเราก็จะดีขึ้น ขณะที่คู่แข่งคือเวียดนาม ราคาเราก็ห่างกับเวียดนามมากเป็นร้อยเหรียญ ยิ่งช่วงนี้เวียดนามกำลังเก็บเกี่ยวก็จะยิ่งราคาลง และประเทศที่นำเข้าเองก็ยังไมได้ลดหรือเปิดเสียทีเดียว ฟิลิปปินส์มีภาษีสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ณ จุดนี้ยังไม่ชัดเจนในเรื่องตลาดมากขึ้นจะได้หรือไม่อย่างไร”

นายวัลลภกล่าวว่าการลักลอบนำเข้าข้าวมาไม่ได้เกี่ยวกับ AFTA เพราะมีหรือไม่มี AFTA  ก็มีการลักลอบนำเข้าข้าวอยู่แล้ว เนื่องจากข้าวของไทยมีราคาแพง

นายวัลลภกล่าวต่อไปว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับไทยและเกษตรกรคือต้องมองผลกระทบระยะยาวและต้องเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูล “ในอนาคตต่อๆ ไปก็จะมีการเจรจา การเปิดเสรีอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมก็เป็นเรื่องข้อมูล อย่างปีที่แล้วผมมองว่าเกษตรกรรู้สึกตัวช้าไปอาจจะต้องมองไกลและคิดล่วงหน้า”

รศ.ดร.ปัทมาวิดี ซูซุกิ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามาตรการรองรับการเจรจาการค้าเสรีในการเจรจานั้นมี 2 ส่วนคือ มาตรการรองรับที่เขตแดน และมาตรการภายในประเทศ โดยให้ความเห็นว่า ในการเจรจา AFTA ที่ผ่านมา 17 ปี กระทวงพาณิชย์ได้วางขั้นตอนและเตรียมการมาตรการรองรับที่เขตแดนอย่างรอบคอบพอสมควร แต่มาตรการภายในของไทยเองกลับมีข้อบกพร่องอย่างน่าเสียดาย

“ถือเป็นความชาญฉลาดที่ 17 ปีที่ผ่านมาเป็นการค่อยๆ ลดภาษี มาตรการนี้ถือว่าเตรียมการได้ดีระดับหนึ่ง มาตรการที่สองคือ มาตรการในประเทศที่ไม่เตรียมการเท่าที่ควร บางครั้งเราก็เพลิดเพลินกับบางมาตรการ ซึ่งดูเหมือนว่าดีกับเกษตรกรระยะสั้น”

ดร.ปัทมาวดีกล่าวว่า ในบรรดาสินค้าเกษตร 23 รายการที่ได้รับผลกระทบ มีบางกลุ่มได้รับผลกระทบมากกว่าบางกลุ่ม ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น สินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสินค้าที่ต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องเตรียมรับมือด้วยการลดต้นทุนการผลิต และต้นทุนการตลาด รวมถึงการทำข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีข้อด้อยในเรื่องการทำวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและการเก็บข้อมูล นอกจากนี้ ต้องอาจจะต้องพัฒนาและรื้อฟื้นระบบเกษตรกรกันใหม่เพื่อทำการตลาด

“ถ้าเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อทำการตลาดได้ ผลตอบแทนก็จะเห็นความสำคัญของเกษตรกรและสินค้าเกษตรในประเทศ”

นอกจากนี้ มาตรการในประเทศอีกชุดหนึ่งคือการทบทวนผลด้านลบของนโยบายบางเรื่อง มาตรการประกันรายได้และประกันราคา ซึ่งเป็นดาบสองคมเพราะด้านหนึ่งเกษตรกรไม่ได้รับสัญญาณที่ถูกต้องว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตอยู่นี่กำลังเผชิญกับการแข่งขันแล้ว รัฐบาลต้องทบทวนว่าระยะยาวการประกันราคราดีกับเกษตรกรจริงหรือไม่

อีกมาตรการคือการคุ้มครองผู้บริโภค “ถ้าเรามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าของเราปลอดภัยกว่าและดีกว่า มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคสามรารถนำมาใช้ได้ อาจจะถูกประท้วงว่าเป็นการกีดกัน แต่ก็สามารถต่อสู้ได้ว่าเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริง” ดร.ปัทมาวดีได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ อาจมีการย้ายฐานการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทการเกษตรในญี่ปุ่นเลิกทำพันธสัญญากับเกษตรกรและหันไปลงทุนในออสเตรเลียแทน

สุดท้าย ดร.ปัทมาวิดีแสดงความเห็นว่า กองทุนเพื่อการขาดทุนการผลิตที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น เป็นกองทุนที่ตั้งรับมากเกินไปและไม่ทันการ และการจะรับเงินได้เป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบแล้ว และเกษตรกรเข้าถึงยาก และปัญหาการเกษตรเป็นปัญหาที่มีความเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ การรวมศูนย์แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และในระยะสั้นจะทำอย่างไรให้ชุมชนกับท้องถิ่นทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และจะต่อยอดไปสู่การตั้งรับและเตรียมพร้อมเรื่องตลาดอย่างไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท