Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน คงจะรู้จักและคุ้ยเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งทำให้สังคมมองว่า เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ น่าศึกษาวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้
 
 
 

ตัวแทนป่าไม้แจงทางออก ปางแดง
โดยโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 

นายวีระวัฒน์ ฉินทกานันท์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยาการป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ กล่าวในเวทีถอดบทเรียนกรณีปางแดงในวันนั้นว่า ตนเป็นข้าราชการป่าไม้ มีหน้าที่หลักๆก็คือ ดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้เหลือให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ป่าไม้ได้ทำหน้าที่ของป่าให้ประโยชน์กับประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม

“และยังมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือ ระเบียบกฎหมายและนโยบาย ในเรื่องของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 อยู่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ลักษณะนี้ก็จะเป็นขออนุญาตเข้ามาก่อนที่จะมีการอนุญาตแล้ว และก็เข้ามาอยู่ ส่วนนี้ก็จะเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็จะเป็นไปตามมาตรา 13, 16,17,18,19 ก็ว่ากันไป ส่วนลักษณะที่ 2 คือ อยู่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางป่าไม้มีการแก้ไขตามที่พลเอกสุรินทร์(พิกุลทอง)ได้นำเรียน ว่ามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ทางที่ 1)ผลักดันออก มีกฎหมายระบุอยู่แล้วว่า ถ้าเข้ามาโดยไม่ได้รับการอนุญาตถือว่าเป็นการบุกรุก ทางที่ 2)ให้อยู่อย่างถูกต้องโดยกฎหมาย นั่นก็จะเป็นเรื่องของทางนโยบาย”

นายวีระวัฒน์ ยังได้ยกกรณีตัวอย่าง ถึงการให้อยู่อย่างถูกต้องโดยกฎหมาย โดยอาศัยนโยบายรัฐจากข้างบนว่า เรื่องนโยบายถ้าดูจากประวัติศาสตร์ บางครั้งก็จะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับสัญชาติเหมือนกัน อย่างเช่น กองพล 93 นั้นก็ขึ้นอยู่ตามนโยบาย เพราะฉะนั้น ถ้านโยบายกำหนดมา ทุกอย่างทำได้หมด เหมือนกับนโยบายจัดการป่าก็อาศัยกฎหมายที่มาจากนโยบายเหมือนกัน ถ้าเป็นนโยบายไม่เข้มแข็ง ก็ต้องมีการเปลี่ยนกฎหมายโดยการที่นำเอาเข้าสภาเพื่อผลักดันลงมาเป็นกฎหมายได้ 

“สำหรับในพื้นที่ปางแดง ก็เนื่องจากว่าทางออกของกฎหมาย ถ้าจะอยู่อย่างถูกต้องโดยกฎหมายก็จะมีหลักเกณฑ์เรื่องของโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยใช้แนวทางที่เป็นไปตามนโยบายตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งมตินี้เป็นการแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ป่า...ก็เลยได้ใช้โครงการนี้มารองรับที่จะทำโครงการบ้านมั่นคง”

 

เผยแนวโน้มการจัดการป่าไม้ของกรมป่าไม้ หันมาเน้นเรื่อง ‘ป่าชุมชน’

ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ เปิดเผยด้วยว่า แนวโน้มในการจัดการป่าไม้ของกรมป่าไม้ ช่วงหลังก็จะเน้นในเรื่องของการจัดการป่าชุมชน แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชนยังไม่คลอดออกมา ดังนั้น กรมป่าไม้จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ป่าสวนแห่งชาติมาตรา 19 ซึ่งกำหนดให้พนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำ เพื่อที่จะมารองรับการส่งเสริมกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน

“ซึ่งอาจดูเหมือนกับว่าไม่ค่อยที่จะเต็มรูปแบบมากสักเท่าไหร่ แต่แนวโน้มก็จะเป็นการส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนเรื่อยๆ และมีการจัดตั้งกลุ่มป่าชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะเป็นพี่เลี้ยงออกมาห่างๆ ในพื้นที่ป่าชุมชน ถ้าทุกคนมีการเคารพกฎกติกาและไม่ทำลายป่าจนเสียสภาพ เพราะว่าการใช้ประโยชน์จากป่าในเรื่องของป่าชุมชนนี้ค่อนข้างจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าปกติ ก็อยู่ที่ว่าชุมชนจะมีการกำหนดกฎกติกากันอย่างไร”

ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ในเรื่องของการจัดการป่าทางกรมป่าไม้ มีปัญหาคือ การขาดกำลังเจ้าหน้าที่ ดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 40% ของประเทศ ประมาณร้อยกว่าล้านไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลก็ไม่สามารถที่จะดูอย่างทั่วถึงได้

“ฉะนั้น ก็จำเป็นต้องมีการพึ่งพาทางชุมชนให้เห็นความสำคัญของป่า”

 

ยอมรับมีกลุ่มคนไม่ใช่ผู้เดือดร้อน แต่กลับมีชื่อครอบครองในพื้นที่ป่า

ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ ยังได้กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า มีคนบางกลุ่มซึ่งไม่ใช่ผู้เดือดร้อน แต่กลับมีชื่อครอบครองในพื้นที่ป่า

“ในเรื่องของการจัดการที่ดินป่าไม้ ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากลายเป็นผู้ที่ไม่น่าจะเดือดร้อนในเรื่องของที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน กลับมีชื่อครอบครองในพื้นที่ป่าในปัจจุบัน แต่ก็เป็นระเบียบที่กำหนดไว้ก็เลยต้องให้สิทธิ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอยู่ที่ชุมชนเอง ถ้าได้สิทธิมาและไม่ขายต่อ ก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าได้สิทธิมาแล้วใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ ให้คุ้มค่า โดยใช้ทฤษฎีใหม่ ใช้ทฤษฎีเกษตรพอเพียง เข้ามาช่วย ก็น่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยได้”

 

นพ.นิรันดร์ ชี้ ปางแดง คือบทเรียนสำคัญเรื่อง สิทธิความเป็นคน

ด้าน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอีกผู้หนึ่งที่รับทราบปัญหาปางแดง มาตั้งแต่ครั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวในเวทีวันนั้นว่า บทเรียนและสิ่งที่ทุกคนได้รับตลอดระยะเวลาที่ร่วมกันต่อสู้มานานนับ 20 ปี เป็นบทเรียนที่มีความหมายสำหรับชาวดาระอั้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นบทเรียนเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน นั่นคือ สิทธิของความเป็นคน คนซึ่งมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนจะต้องมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่าง เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม อย่างที่โบราณเขาบอกว่า “คนเห็นคนเป็นคนนั้นแหละคน ถ้าใครเห็นคนไม่ใช่คนก็ไม่ใช่คน”

 

ย้ำจะอยู่ในสังคมนี้ต้องต่อสู้ กับ 2 ส่วน : ความรุนแรง กับ อำนาจทุน

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า นอกจากการที่เรารู้หลักกรอบสิทธิมนุษยชน คือ สิทธิของความเป็นคนแล้ว เราต้องต่อสู้ใน 2 ส่วน ที่จะมาละเมิดและจะมาทำร้ายเรา นั่นคือ ความรุนแรง กับ อำนาจทุน

“ส่วนที่1 คือ ส่วนที่เราเจอแล้ว เจ็บปวดเสียทั้งเลือดเนื้อ น้ำตา เสียทั้งความเศร้าโศก ก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องสอนลูกสอนหลานว่ามันเป็นความรุนแรงที่เกิดจากใช้อำนาจรัฐ หรือใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจรัฐ ที่ใช้ความรุนแรงเกินเลย ที่จะมาทำร้ายเรา เราต้องสอนให้เห็นว่ากฎหมายบังคับไม่เป็นธรรม อำนาจรัฐบางส่วนก็ไม่เป็นธรรม เราก็เป็นส่วนหนึ่งของกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ...ดังนั้นอย่าไปคิดว่ากฎหมายและอำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ถูกเสมอไป สิ่งที่ถูกต้องมากกว่ากฎหมายคืออำนาจรัฐ คือ เรื่องหลักของความเป็นคน เรื่องของสิทธิเป็นเรื่องของความถูกต้อง เรื่องความเป็นธรรม ไม่ได้ยึดหลักกฎหมาย เราคิดว่าคน ๆ หนึ่งนั้นควรจะได้รับความเป็นธรรม แต่กฎหมายมันเขียนขึ้นด้วยคน กฎหมายบังคับทำร้ายคนฆ่าคนได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับคนใช้กฎหมาย ถ้าคนที่ใช้กฎหมายลุแก่อำนาจ ก็ใช้กฎหมายทำร้าย หรือละเมิดคนดี ๆ คนที่บริสุทธิ์ นี่คือ บทเรียนที่เราต้องรับรู้”  

นพ.นิรันดร์ บอกอีกว่า ส่วนที่ 2 ที่ชาวบ้านปางแดงยังไม่เจอ หรืออาจจะต้องเจอ ก็คือ “ทุน” 

“ทุนในท่ามกลางกระแสโลกาวิวัฒน์ กระแสโลก ทุนที่ร่วมอยู่ในระบบธุรกิจการเมือง เราอาจยังจะไม่เจอ แต่สิ่งที่เราเจอตอนนี้ คือเรื่องของทุนที่จะเข้ามาทำร้ายเรา ผมอยู่ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหากับทุนและแนวคิดในการพัฒนาโดยนักการเมือง เราน่าจะได้ยินกรณีเขื่อนปากมูน ตอนนี้ก็จะสร้างเขื่อนที่ข้ามแม่น้ำโขงที่บ้านกูดจังหวัดอุบลราชธานี นี่คือกระแสของการพัฒนาที่กำหนดโดยนักการเมือง และทุนในระบบอุตสาหกรรมที่ต้องการจะพัฒนา เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเราได้...” 

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ยังไม่เกิด แต่ต่อไปอาจจะเกิดที่ปางแดง เพราะคนอื่นอาจอยากจะได้ อยากจะทำรีสอร์ท ต้องการทำเรื่องป่ายูคาลิปตัส ป่าสวนยางพารา ป่าสวนปาล์ม หรือจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางอย่าง นี่คือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง และจะต้องเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า มันมีเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่ต้องต่อสู้ในเรื่องของความรุนแรง และเรื่องกระแสทุนกับการเมืองที่จะมาละเมิดเรา เราจะสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร บทเรียน 20 ปีมานี้เราสู้จึงชนะ และมันก็ต้องสู้ต่อ เพราะเราอยู่ในโลกของอำนาจรัฐ ที่จะใช้อำนาจอยู่ตลอดเวลาที่จะรังแกเรา ทุนก็จะมาข่มเหงเรา แต่ถ้าเรารู้ตัวและเท่าทันมันก็จะมีอำนาจ

นพ.นิรันดร์ ยังยกตัวอย่างกรณี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ชาวบ้านและชุมชนรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลกระทบของระบบทุน

“เพิ่งไม่นานมานี้เอง ที่คนทั่วประเทศหรือทั่วโลก ถึงจะรู้ว่าชาวมาบตาพุดที่เป็นคนไทยแท้ ๆ ที่ จ.ระยองนั้นถูกทำร้ายมายี่สิบกว่าปี โดยนายทุนอุตสาหกรรมตักตวงรายได้ไปเป็นแสน ๆ ล้านบาท แต่คนในพื้นที่ไม่ได้อะไรเลย กลับได้ความเจ็บป่วย เป็นโรคมะเร็ง ภาคการเกษตรล่มจมวายวอด ขนาดรัฐบาลต้องตั้งกรรมการสี่ฝ่าย ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องสอนลูกสอนหลาน และสอนพวกเราว่า จงรักสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่จะสู้กับความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ นี่คือบทเรียนบทแรก ที่ชาวดาระอั้งต้องสอนให้คนในสังคมไทยได้รับรู้ เพราะกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ” 

 

เสนอทางออกปางแดง ยึดหลักสิทธิชุมชนและภูมิปัญญาชนเผ่า

ในตอนท้าย นพ.นิรันดร์ ได้เสนอทางออกให้ชาวบ้านปางแดง หลังจากมีการดำเนินการ โครงการบ้านมั่นคงของ พอช.เสร็จเรียบร้อยแล้ว ว่า ขอให้ยึดหลักเรื่องของสิทธิชุมชน ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ 2550 โดยในรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550 ซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 66 และ 67 คือ สิทธิชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งในเรื่องสิทธิในเรื่องการจัดการ และการใช้ประโยชน์ฐานทรัพยากร การดึงเอาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่ามาปรับใช้ในวิถีชีวิตให้อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ดังนั้น พี่น้องปางแดงจะต้องช่วยกันคิดจากภูมิปัญญาของพวกเรา ความรู้จากตัวเรา ว่าจะอยู่อย่างไรให้รู้ว่ามีชาวดาระอั้งอยู่ในสังคมไทย เหมือนกับเรามีไทยมลายู ไทยปัตตานี มีไทยนครศรีธรรมราช ไทยพัทลุง อดีตซาไก คือ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม” นพ.นิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net