สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า กับนโยบายของรัฐไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าและชายแดนไทยล้วนตกอยู่ภายใต้ภาวะอึมครึมเนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้มีอยู่อย่างจำกัด และบุคคลภายนอกมิอาจแสวงหาโอกาสในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลได้โดยง่าย ปัจจัยอุปสรรคนี้เองจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่คนในพื้นที่อาจต้องเผชิญเนื่องจากไม่มีช่องทางใดๆในการส่งข้อมูลออกสู่สังคมและประชาคมโลกเพื่อต่อสู้ทางความคิดอันเป็นบ่อเกิดของความชอบธรรมในการดำรงความเป็นมนุษย์

แม้พม่าจะมีการประกาศจัดการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในช่วงเดือนตุลาคมเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญพม่า แต่กระบวนการดังกล่าวอาจเป็นเพียงพิธีกรรมหาใช่วิธีการสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนชาวพม่าอย่างแท้จริง หากการเลือกตั้งมิได้อยู่ในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการคือต้องเปิดเผยต่อประชาคมโลก นอกจากนี้กระบวนการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของพม่า และการเฝ้าระวังการทุจริตเลือกตั้งด้วยกลวิธีต่างๆก็เป็นสิ่งที่พึงระวัง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองทั้งหลายมีโอกาสในการเข้าแข่งขันลงรับสมัครเลือกตั้งอย่างอิสระมากขึ้น
 
เมื่อมองย้อนกลับมาที่นโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของไทยที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่า ก็น่าวิตกไม่แพ้กัน เนื่องจากมีสัญญาณสะท้อนให้เห็นแนวทางในการดำเนินนโยบายเชิงผลประโยชน์โดยงดเว้นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่า ไม่ว่าจะเป็นการผสานความร่วมมือใน นโยบายเปิดพรมแดนรับการอพยพของแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่แม่สอด การใช้ประโยชน์จากเขื่อนบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน แต่ละเว้นการจัดการปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมต่อแรงงานต่างด้าวและผู้หนีภัยสงครามจากพม่า
 
หากมองถึงพื้นฐานเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นเมืองขึ้นและเกือบเป็นเมืองขึ้น ก็จะเห็นถึงความคิดแบบชาตินิยมที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับรัฐตน โดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่มีต่อประเทศอื่น ประชาชนกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความเป็นพลเมืองของรัฐตน จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อนโยบายของรัฐไทยต่อพม่ายังคงดำเนินไปแบบ “แสวงหาจุดร่วมในเชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมือง สงวนจุดต่างในนโยบายประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องจากความมั่นคงในระยะยาว เนื่องจากคนย่อมแสวงหาโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะสามารถจัดการปัญหาผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ในประเทศพม่า เพราะไม่มีพรมแดนใดในโลกที่ปิดกั้นคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือเรายินดีที่สถานการณ์ดำรงอยู่เช่นนี้

ประเทศไทยมิได้ผูกพันตนเข้ากับอนุสัญญาด้านผู้ลี้ภัย และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว แต่ยังพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มิใช่พลเมืองไทยตามพันธกรณีอื่นๆที่ไทยเข้าร่วม เช่น กติกาสิทธิพลเมืองและการเมืองฯ กติกาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ฯลฯ รวมถึงกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ดังนั้นรัฐไทยจึงมีแนวทางที่เป็นคุณต่อการประกันสิทธิของบุคคลอันเป็นกลุ่มเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเสมอมา แต่เมื่อมีการถกเถียงประเด็นเหล่านี้ภายในสังคมไทยกลับพบอคติและจุดยืนที่ไม่เป็นคุณต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอยู่จำนวนไม่น้อย โดยข้อถกเถียงหลักตั้งอยู่บนประเด็นที่ว่า “สิทธิใดที่รัฐไทยพึงคุ้มครองให้กับบุคคลที่มิใช่ชนชาวไทย”

ปัญหาแรก คือ บุคคลที่มิใช่คนไทยสามารถเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้หรือไม่ หากดูจาก “หลักห้ามผลักดันกลับไปยังดินแดนที่เสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร” จะพบว่า ผู้ที่หนีภัยข้ามมาย่อมมีสิทธิในหลบภัยเข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวแต่ต้องอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐไทยกำหนดอย่างเคร่งครัด แนวทางปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้คือ ห้ามผลักดันกลับหากยังเสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องถามความสมัครใจจากผู้ที่จะถูกผลักดันกลับเป็นสำคัญ แต่คนที่อพยพเข้ามาโดยไม่มีเหตุเสี่ยงภัยอันใดย่อมตกอยู่ในสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แนวทางการจัดการปัญหาของคนกลุ่มนี้จึงอยู่อำนาจอธิปไตยของรัฐไทย 
 
ผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายถือเป็นมนุษย์และบุคคลตามนิยามของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆตามที่กฎบัตรรับรองแน่นอน รัฐไทยในฐานะที่มีพันธกรณีอยู่กับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนย่อมมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และงดเว้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ แต่กลุ่มดังกล่าวมิใช่พลเมืองสัญชาติไทย ดังนั้นจึงมีการถกเถียงกันว่าหากรัฐไทยต้องประกันสิทธิเสรีภาพทั้งหมดให้กับผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอาจจะสร้างภาระและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย คำถามที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาบุคคลกลุ่มนี้มากขึ้นก็คือคือ “สิทธิใดบ้างที่แม้แต่คนข้ามชาติหรือไร้สัญชาติพึงได้รับการคุ้มครอง” ไม่ว่าจะด้วยผลของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาทิ กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง หรือผลของกฎหมายภายใน อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ

 
สิทธิที่รับรองโดยกฎหมายนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ
 
1. สิทธิที่จะไม่ถูกละเมิด (Passive Rights) คือ สิทธิเสรีภาพที่มีติดตัวบุคคลทั้งหลายอยู่แล้ว แม้รัฐมิได้ยื่นมือเข้ามาคุ้มครองบุคคลเหล่านั้นก็มีสิทธิอยู่แล้ว เช่น สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย ปลอดจากการกระทำที่โหดร้าย ทรมาน สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ หากรัฐจะจับบุคคลมาลงโทษจะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความผิดก่อนที่จะลงโทษ ดังนั้นหน้าที่ของรัฐในสิทธิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นการงดเว้นการละเมิดสิทธิ เช่น ไม่อุ้ม ฆ่า ทรมาน หรือขังลืมโดยไม่มีกระบวนการลงโทษตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสิทธิเหล่านี้มิได้สร้างภาระในเชิงงบประมาณหรือความรับผิดชอบมากนัก เพียงงดเว้นการใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่แล้วจัดการกับคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด ข้อสังเกตที่สำคัญต่อสิทธิประเภทนี้ คือ สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานส่วนบุคคล หากบุคคลไม่ได้รับการคุ้มครองก็อาจตายได้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆจึงต้องงดเว้นการละเมิดสิทธิเหล่านี้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม ดังเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในตอนร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550
 
2. สิทธิก่อตั้ง (Active Rights) คือ สิทธิเสรีภาพที่บุคคลใช้แล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอนาคตของชุมชน สังคม หรือรัฐชาติ เช่น สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ประชามติ ประชาพิจารณ์ สิทธิในการจัดสรรทรัพยากรชุมชน/รัฐ ดังนั้นหน้าที่ของรัฐในสิทธิประเภทนี้ คือ จัดหากระบวนการมารองรับการตัดสินอนาคตของบุคคลแล้วมีกระบวนการมารองรับผลการตัดสินใจให้เปลี่ยนไปเป็นนโยบาย กฎหมาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อาทิ การจัดเลือกตั้งและรับรองการเลือกตั้ง การจัดประชาพิจารณ์ การจัดลงประชามติ หรือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ที่ผลเปลี่ยนแปลงนโยบาย ข้อสังเกตของสิทธิประเภทนี้คือ เป็นสิทธิในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าสังคมหรือรัฐที่ผลต่อบุคคลอื่นๆหรือสังคมด้วย ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงไม่ให้สิทธิเหล่านี้แก่คนต่างด้าวหรือคนไร้สัญชาติเพราะไม่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ต้องมารับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
 
การจัดการปัญหาผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจึงจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน(Passive Rights) แต่มิต้องให้สิทธิก่อตั้ง(Active Rights) เนื่องจากผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติมิใช่คนชาติที่ต้องมาร่วมรับชะตากรรมจากการใช้สิทธิก่อตั้งกำหนดอนาคตของสังคมอันมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ แนวทางในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย ก็คือ การนำตัวผู้อพยพข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่พิสูจน์ความผิดและลงโทษตามกฎหมายการเข้าเมืองฯกำหนดไว้ ซึ่งมาตรการขั้นเด็ดขาดอาจนำไปสู่การเนรเทศก็ได้ หากเราพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่นำมาใช้จัดการปัญหานั้นได้ประกันสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่าง กาย ไม่มีการทรมาน อันเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับรัฐที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศตามหลัก “นิติรัฐ” ที่จำต้องใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยไม่ขัดกับหลักนิติธรรมนั่นเอง แนวทางนี้ย่อมนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการจัดการปัญหาผู้ลักลอบข้ามพรมแดน ทั้งผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย อย่างชัดเจนมั่นคงกว่าการปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซังซุกซ่อนไว้ รอวันปะทุออกมาเป็นความรุนแรงที่ยากจะจัดการในอนาคต
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท