Skip to main content
sharethis

12 ก.พ.53 ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ ถ.วิภาวดีรังสิต คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ: เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ คณะปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอหลักการเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน รวมทั้งบทบาทของรัฐในการคุ้มครองเสรีภาพประชาชน เพื่อจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ในเวทีนี้ จัดทำเป็นความเห็นเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป สำหรับที่มาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 308 ที่ให้ครม.ตั้งคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายที่มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะกฎหมายที่จำเป็น

ด้านนายคณิต ณ นคร กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเครื่องมือของคนระดับล่างที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาปากท้อง แต่ในช่วง4 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมสาธารณะได้เป็นเครื่องมือของการสื่อสารความคิดทางการเมือง ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการที่จะตกผลึกเป็นรากฐานในการเป็นนิติรัฐต่อไป อย่างไรก็ตามขณะที่ยังไม่มีกฎหมายเรื่องการชุมนุมที่ชัดเจน รัฐจึงนำกฎหมายอื่นที่มาใช้แทนที่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุม สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมรัฐบาลได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตย
 
นายคณิต กล่าวด้วยว่า คนในสังคมมี 2 ประเภท คือคนที่มีความคิดในทางเสรีนิยม กับคนที่มีความคิดแบบอำนาจนิยม ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ถืออำนาจรัฐและกฎหมาย ซึ่งการใช้กฎหมายก็สะท้อนถึงความคิด2 ขั้ว โดยเฉพาะการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่สะท้อนความคิดผู้ถืออำนาจรัฐเป็นอย่างดี เช่น มีการออกหมายจับและเข้าตรวจค้นในช่วงเวลากลางคืน แม้วิธีดังกล่าวจะมีการแก้คำในกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ความเข้าใจของนักกฎหมายและผู้ใช้กฎหมายในเรื่องการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพยังเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ตนคิดว่าการมีกฎหมายที่ดี และเขียนกฎหมายที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่การบังคับใช้กฎหมายให้ถูกหลักการเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า
 
น.พ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ใจความตอนหนึ่งว่า ในสังคมประชาธิปไตยเรื่องการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องปกติ ที่แสดงเหตุผลของความเดือนร้อนของประชาชน แต่ทั้งนี้ต้องมีกรอบ กติกา กลไก และมีสังคมเข้ามากำกับเพื่อการชุมนุมจะได้เป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์ เปรียบเสมือนการเล่นฟุตบอล ที่ต้องมีกรอบคือสนามที่กำหนดขอบเขตในการแข่งขัน คือ พื้นที่ตรงไหนที่ชุมนุมได้หรือไม่ได้ ไปเล่นนอกกรอบไม่ได้ จากนั้นต้องมีกติกาว่าจะไปเตะคนอื่น ด่าว่า หรือถมน้ำลายใส่คนอื่นไม่ได้  แต่ในความเป็นจริงมีกติกาที่ปฏิบัติในการชุมนุมได้ยาก เพราะมักใช้การปลุกอารมณ์โดยไม่ใช้เหตุผล และความจริง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ตามมามากมายเพราะความเข้าใจผิด นำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้
 
แต่กติกาหนึ่งที่น่าจะกำหนดได้ง่าย คือการห้ามไปยุยงให้ฆ่ากันหรือเผาบ้านเผาเมือง ในส่วนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องกำหนดกรอบกติกาว่า ไม่สามารถใช้อาวุธปืนควบคุมการชุมนุม หรือหากมีการใช้แก๊สน้ำตา ควรทำอย่างไร ด้านกลไกคือกรรมการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกติกานั้น ขอเสนอนายกรัฐมนตรีตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ” ซึ่งขณะนี้มีคนอยู่แล้ว อาทิ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นายมาร์ค ตามไทย นายบัณฑร อ่อนดำ นายโคทม อารียา ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชำนาญด้านสันติวิธีและมีจิตใจดี น่าจะนำมาช่วยงานเหมือนเป็นกรรมการในสนามฟุตบอล  เท่านั้นยังไม่พอต้องให้สังคมเป็นผู้ดูและช่วยกำกับด้วยวิธีการสื่อสารที่มีความเข้าใจข้อเท็จจริง มีความรู้ทั่วถึงเพื่อลดความรุนแรง พร้อมทั้งเอาใจเป็นตัวตั้ง อย่านำความรู้มานำ เพราะจะเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน และเกิดทิฐิ แล้วเถียงกัน เรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดาแต่ต้องคุยกัน ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ต้องเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นภาคี กสม.อย่าทำเพียงคนเดียวเพราะจะเป็นเรื่องยาก ต้องเริ่มทำงานเลย อย่าไปรอแต่กฎหมายว่าจะออกหรือไม่
 
นายสิทธิโชค ศรีเจริญ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ร่างของรัฐบาลอาจจะดูแข็งกร้าวไป เพราะการชุมนุมในที่สาธารณะมีหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่การชุมนุมเพื่อการเมืองเพียงอย่างเดียว เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ต่อยอดมาจากเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมนั้นมีพลังจากมวลชนที่รวมกันภายใต้ความคิดเดียวกัน และพลังดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และกรอบของวัฒนธรรมชุมชนด้วย เพราะไม่ใช่แต่กรุงเทพฯอย่างเดียวเท่านั้นที่จะมีการชุนนุม ในต่างจังหวัดเองก็มีการชุนนุมที่เกิดจากความเดือนร้อนจริง ตนคิดว่ากลุ่มคนเหล่านั้นเป็นการชุมนุมเชิงบวก  หากการชุมนุมสาธารณะไปกระทบเสรีภาพของคนอื่นนั้นต้องมีการจัดแบ่งหรือวางกรอบเพื่อไม่ให้ได้รับความเดือนร้อน กรอบดังกล่าวต้องคำนึงถึงผู้ที่ชุมนุมและผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยการสร้างกรอบกำหนดพื้นที่ที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมากและกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การชุมนุมยังรวมไปถึงการเดินขบวนด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ได้รับความอดทน ในส่วนของเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นต้องได้มาตรฐานสากล ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะถูกมองว่าไม่ได้เข้ามาขัดขวางการชุมนุม แต่จะเป็นการเข้ามากำหนดกรอบกติกา
 
พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผบช.กมส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  การชุมนุมมีพัฒนาการความรุนแรงขึ้นมาเป็นลำดับ ทั้งจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น มีการตั้งหน่วยดูแลความปลอดภัยจากผู้ชุมนุมเอง และมีการปิดบังใบหน้า ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ดูแลผู้ชุมุนมที่ใช้สิทธิ์การชุมนุม โดยไม่เกินขอบเขต และการชุมนุมในที่สาธารณะนั้นต้องไม่รบกวนผู้อื่นเกินสมควร ตนคิดว่าต้องให้อำนาจรัฐในการสั่งยกเลิกการชุมนุม  ดังนั้นจำเป็นต้องมีพ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุม เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุม ตนคิดว่าควรจะใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความระมัดระวัง เพราะถ้ารอคำสั่งศาลนั้น อาจจะไม่ทันต่อเวลาหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง
 
ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้าน ที่ จ.ประจวบที่ชุมนุมเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด เป็นเรื่องความเดือนร้อนของประชาชนจริงๆ ซึ่งอยู่ในกรอบกติกา แม้จะไม่มีกฎหมายที่กำหนดชัดเจน แต่ชาวบ้านต้องการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิในชีวิตและที่ดิน ส่วนปัญหาในพื้นที่ สถานการณ์การชุมนุมของชาวบ้านและการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่มที่มีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังมีความแตกต่างกัน ตนสู้เพื่อรักษาทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและปากท้อง ตนเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปบังคับใช้กับการชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่มีแบคอัพอยู่เบื้องหลัง แต่จะถูกนำมาใช้กับชาวบ้านที่ชุมนุมต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและปากท้องของตัวเองโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง ตนเห็นว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะบางครั้งมีการแจ้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปล่วงหน้าว่าจะมีการชุมนุม แต่กลับถูกเพ็งเล็งและติดตาม นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ตนเชื่อว่าเป็นฝ่ายรัฐมาขัดขวางการชุมนุมของชาวบ้านทุกครั้งที่มีการแจ้งล่วงหน้า สำหรับการให้อำนาจตำรวจในการใช้ดุลพินิจตนมองว่าชาวบ้านจะชุมนุมได้อย่างไร หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าไม่อนุญาตและคัดค้านการชุมนุมเพราะเกะกะ และทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำบุคคลใดมาแอบอ้างเพื่อจัดฉากเป็นผู้เดือดร้อนก็ได้ ตนมองว่าการร่างกฎหมายนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นนึกถึงแต่การชุมนุมใหญ่ๆ ที่มีผู้สนุบสนุนอยู่เบื้องหลัง ถึงแม้มีกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ขณะเดียวกันกฎหมายนี้จะถูกนำมาบีบคอชาวบ้าน เหมือนสร้างไม้เรียวตีผู้ใหญ่ไม่ได้ก็จะนำมาตีเด็ก
 
 
น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะที่ประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุม แต่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ มองว่าประชาชนกำลังทำผิดกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมทำให้เจ้าหน้าที่ใช้แผนของหน่วยงานแทนการใช้อำนาจจากพระราบบัญญัติ เช่น แผนกรกฎ ส่งผลผู้ชุมนุมมีผู้บาดเจ็บ เสียทรัพย์สิน และล้มตาย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ถูกดำเนินคดีอาญา พร้อมทั้งมีความผิดวินัยร้ายแรง จะเห็นว่าทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนต่างก็มีปัญหา อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐธรรมนูญมาตรา 63 มีทั้งการรับรองเสรีภาพในวรรค 1 และการจำกัดเสรีภาพในวรรค 2 ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไม่ได้มีแค่ 2 ฝ่าย คือ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่มีบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็เป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองคนส่วนนี้ด้วย อีกทั้งขณะที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวแต่การชุมนุมมีอยู่ทุกวัน เมื่อไม่มีกฎหมายโดยตรงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้กฎหมายใกล้เคียงแทน เช่นพ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่ให้ชุมนุมนอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ซึ่งไม่ใช่พ.ร.บ.ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการชุมนุม  ดังนั้นคณะอนุกรรมการชุดนี้จึงเห็นว่า มีความจำเป็นต้องมีพ.ร.บ.เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมและคุ้มครองบุคคลที่3 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบไม่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง
 
น.ส.จันทจิรา ยังกล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมายในส่วนอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า โดยหลักผู้ชุมนุมต้องประสานงานไปยังเจ้าหน้าเพื่อแจ้งให้ทราบและมาอำนวยความสะดวก แต่ไม่ใช่การขออนุญาต อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ควรมีอำนาจหน้าที่คัดค้านการชุมนุมได้ หากเห็นว่ากระทบต่อส่วนต่างๆเช่น ไม่อนุญาตให้ชุมนุมที่ถ.สาทร หรือถ.วิทยุ เพราะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ แต่อำนาจการคัดค้านนั้นไม่ควรสิ้นสุดที่เจ้าหน้าที่ แต่ผู้ชุมนุมควรสามารถอุทธรณ์ได้กับอำนาจฝ่ายบริหาร นอกจากนั้นควรมีอำนาจการสั่งห้ามชุมนุมในสถานการณ์ที่เห็นว่าจะเกิดอันตราย แต่ก็ควรสามารถอุทธรณ์ที่ฝ่ายบริหารและทบทวนที่ฝ่ายปกครองได้
 
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. กล่าวปัจฉิมกถา หัวข้อ “เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ : บทบาทกสม.ในการขับเคลื่อน” ใจความตอนหนึ่งว่า การกำหนดกรอบกติกาที่ชัดเจนน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รู้ขอบเขตของการทำงาน กสม.จะวางยุทธศาสตร์ของการทำงานเฝ้าระวัง ไกล่เกลี่ย เพื่อให้เป็นกระบวนการอย่างสันติภาพ การหาข้อตกลงร่วมกันนั้นคงต้องใช้เวลา
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net