Skip to main content
sharethis
 

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือที่นิยมเรียก “ม.นอกระบบ” ภายหลังจากมีการขับเคี่ยวกันมาอย่างเข้มข้น ในช่วงรัฐบาลคมช. สุรยุทธ์ จุลานนท์โดยมีศ.ดร.วิจิตรศรีสะอ้าน รัฐมนตรีศึกษาธิการเป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ ผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

โดยสรุป ณ ปัจจุบันในประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาในกำกับ 13 แห่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบราชการหรือไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยในจำนวนนี้มี 3 แห่งที่เป็นสถาบันในกำกับของรัฐบาลตั้งแต่ก่อตั้งส่วนที่เหลือนั้นเป็นสถาบันในกำกับของรัฐบาลโดยการแปรสภาพด้วยผลของกฎหมาย ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ(ที่นี่)

สำหรับประเด็นที่ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านจากนักศึกษาจากทุกสถาบันที่ผ่านมามื่เหตุจากความไม่มั่นใจในคุณภาพทางการศึกษาที่อาจจะมีความตกต่ำลงหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากเดิมรวมถึงประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาของผู้เรียนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เป็นการจำกัดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับปริญญา

กล่าวสำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประชุมครม. มีมติไม่ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนพ.ศ. 2549 ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นพ.ศ. ... จึงยังอยู่ในขั้นตอน “อยู่ระหว่างการพิจารณาของมหาวิทยาลัย” ต่อไปนี้เป็นรายงานความเคลื่อนไหวผลักดันมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

 
 
 

ลำดับการจัดทำ พ.ร.บ.

14 พ.ย. 2552 จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ

คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ. …. เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ   ในคราวประชุมครั้งที่  1/2552  เมื่อวันที่  6 ตุลาคม  2552   ที่ ห้องประชุม 1  สำนักงานอธิการบดี  อาคาร  1   ที่ประชุมมีมติเลือก นายชูเกียรติ  รัตนชัยชาญ  กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานคณะกรรมการฯ  และมีมติเลือกรองประธานกรรมการอีก  2  คน  คือ ศาสตราจารย์ศาสตรี  เสาวคนธ์  กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ  เป็นรองประธานกรรมการคนที่  1  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณวดี  ตันติศิรินทร์  ประธานสภาคณาจารย์  เป็นรองประธานกรรมการคนที่  2  พร้อมทั้งมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการพิจาณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ. …. เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยให้ รองศาสตราจารย์รังสรรค์  เนียมสนิท  รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศเป็นประธานคณะทำงาน  โดยกำหนดให้คณะทำงานชุดดังกล่าวมีหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต่อไป 

 

21 ธ.ค. 2552 พ.ร.บ. เสร็จสิ้น

จากการเปิดเผย ของ รศ. รังสรรค์  เนียมสนิม รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนการทำงานในครั้งนี้  กล่าว่า คณะทำงานฯ ได้มีการระดมความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้นในการประชุม ทั้ง 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เพื่อดำเนินการปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ. ม. ในกำกับฯ ทั้ง  89 มาตรา และได้นำเสนอ ต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการปรับแก้บ้างเล็กน้อย ในความสมบูรณ์และครอบคลุมของเนื้อหา ในบางมาตรา เท่านั้น 

ในส่วนของสาระสำคัญที่น่าสนใจ ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ รศ. รังสรรค์ ได้เผยต่อว่า ได้มีการเพิ่มองค์คณะของผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มากขึ้น คือทั้งจากภายในและภายนอก  เพิ่มการมีส่วนร่วม การได้มาใช้วิธีการที่หลากหลายทั้งการสรรหา เลือก และเลือกตั้ง เน้นเรื่องสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัย โดยได้เปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยที่ได้ออกนอกระบบแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการเพิ่มหลักประกันให้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลน “คนจนสามารถเข้าเรียนได้ ที่ มข.” ยื่นเวลาให้ข้าราชการในการแสดงเจตจำนงเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  มีการมอบตำแหน่ง “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ”  ให้กับคณาจารย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังอุทิศตนเพื่อมหาวิทยาลัย  และ หากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถออกนอกระบบ “เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”  การนับวาระของผู้บริหารในขณะนั้น ให้นับต่อเนื่องจากระบบการบริหารเดิม 

 

นักศึกษาฮือต้าน/เผาหุ่นหน้าตึกอธิการ

 
 

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนาม “เครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ” กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงหน้าตึกอธิการบดี เพื่อยื่นแถลงการณ์ แสดงการคัดค้านการจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ..... เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่เมื่อไม่พบอธิการบดี กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เคลื่อนมายังบริเวณหน้าอาคารศูนย์อาหารคอมเพล็กซ์ และมีตัวแทนนักศึกษาแต่ละองค์กรในเครือข่ายขึ้นกล่าวปราศรัยเพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อเพื่อนนักศึกษาที่ผ่านไปมา โดยมี ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ ประธานสภาคณาจารย์ ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและศิษย์เก่าสัมพันธ์  รศ.ดร. รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ รศ.ดร.วินัย ใจขาน รองอธิการบดีฝ่ายสังคมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงมารับฟัง

โดย ผศ.พรรณวดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารก็ได้ชี้แจงกลุ่มนักศึกษาเช่นเดียวกันว่า “หากบอกโดยไม่เกรงใจเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งอาจารย์ถูกบังคับเยอะกว่าพวกคุณอีก วันนี้ไม่อยากให้ไปมองว่าออกหรือไม่ออกแต่จะต้องมาร่วมพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนักศึกษาอยู่อย่างมีคุณภาพและค่าใช้จ่ายต้องไม่แพงจนเกินไปใจจริงอาจารย์อยากจะเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีไปจนถึงระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำ” โดยช่วงท้ายของการชุมนุมทางกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวได้ทำการเผาหุ่น ม.นอกระบบ ก่อนสลายตัว

 

น.ศ.วิจารณ์ กระบวนการไม่โปร่งใส /ไล่ผู้บริหารกลับไปดู”ครูบ้านนอก”

"จะสังเกตเห็นได้ว่านับจากวันที่ พ.ร.บ. เสร็จสิ้นคือวันที่ 21 ธ.ค. 52 จนถึงวันทำการแสดงความคิดเห็น คือวันที่ 21 ม.ค. 53 นับเวลาได้ 30 วัน สำหรับการเผยแพร่สู่สาธารณะซึ่งนับว่าน้อยมากซ้ำยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวางอย่างที่ควรจะทำ" ยุทธพร ภักดีหาญ หนึ่งในแกนนำของเครือข่ายนักศึกษา ได้ออกความเห็นส่วนตัว ต่อประเด็นนี้ไว้ว่า “ในความเป็นจริงทางคณะผู้บริหารไม่เคยมีแนวทางที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. มหาลัยในกำกับของรัฐ แก่นักศึกษา อย่างทั่วถึงและรอบด้าน ถึงเหตุผลในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ นักศึกษาและบุคลากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง มีเพียงแต่การแอบขึ้นค่าเทอมนักศึกษา แม้จะมีการจัดแสดงความคิดเห็นในวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่นั่นยังไม่เพียงพอ โดย ร่าง พ.ร.บ. ตัวนี้ถ้าควรจะให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์จากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเลย ไม่ใช่เพียงการแสดงความคิดเห็น ถ้าทางคณะผู้บริหารอยากจะช่วยเหลือนักศึกษาจริงๆควรชะลอการยกร่าง พ.ร.บ. ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาไปซะก่อน แล้วนำข้อมูลมาเผยแพร่แก่นักศึกษาอย่างรอบด้าน แล้วค่อยมาทำประชาพิจารณ์กันอย่างโปร่งใส ไม่ใช่แอบทำ”

ต่อคำกล่าวชี้แจง ของ ผศ.พรรณวดี ที่ว่าทางอาจารย์ถูกบังคับเยอะกว่าและอยากให้มีการจัดการศึกษาฟรีไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นั้น อนิวัฒิ บัวผาย แกนนำอีกคน จากกลุ่มอิสระซุ้มยอป่าได้โต้ว่า “การพูดอย่างนั้น ถือว่าผิดจรรยาของอาชีพครู เมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นคุณก็ต้องคัดค้าน ไม่ใช่กลัวเดือดร้อน กลัวโดนปลด อย่านี้เห็นแก่ตัวไม่ได้มองประโยชน์ของนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ที่คุณดูแลอยู่ซึ่งเป็นคนส่วนมากในมหาวิทยาลัย น่าจะต้องไล่คนพวกนี้กลับไปดูหนังเรื่องครูบ้านนอก”

ส่วนยุทธพร กล่าวว่า “ในประเด็นที่ทางผู้บริหารอยากให้โครงการเรียนฟรีถึงระดับอุดมศึกษาจริงๆ ผู้บริหารควรผลักดัน วาระนี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ แล้วร่วมกันผลักดันให้เป็นนโยบาลของรัฐบาลมิใช่การกล่าวอ้างเพียงเท่านั้น”

ทั้งนี้จากการเปิดเผยของแกนนำนักศึกษา การต่อสู้จะยังดำเนินต่อไปโดยจะมีการจัดเวทีสาธารณะและวงเสวนาเพื่อชำแหละ กระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ. และรวมถึงระดมข้อเสนออื่นๆ ต่อทางออกจากปัญหานี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสเกาะประเด็นพ.ร.บ. ม.ในกำกับฯhttp://www.news.kku.ac.th/kkunews/content/view/3358/5/

จับกระแสเกาะประเด็นพ.ร.บ. ม.ในกำกับฯ : ทั้ง89 มาตราปรับแก้เสร็จพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นhttp://www.news.kku.ac.th/kkunews/content/view/3616/5/

ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ. http://kkufuture.kku.ac.th/2552/2553/01/03_rule.pdf

สรุปบทเรียนของการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา  http://socialist.exteen.com/20071130/entry

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net