Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดูเหมือนว่าการถกเถียงเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 จะตกอยู่ใต้เงื้อมมือของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะในเสื้อคลุมนักวิชาการหรือเครื่องแบบทหาร ทั้งๆ ที่การถกเถียงทางสาธารณะเพื่อพิสูจน์เครื่องมือชนิดนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางจริงๆ

เมื่อการทดสอบถูกกระทำแบบปิดลับ โดยอ้างสัญญาที่กองทัพทำไว้กับบริษัทผู้ผลิต (ซึ่งไม่เคยเปิดเผยสัญญาว่าทำกันไว้อย่างไร เมื่อไหร่ แม้จะใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯแล้วก็ตาม) ฉะนั้นไม่ว่าผลการทดสอบจะออกมาอย่างไร ก็คงไม่อาจคลี่คลายความคับข้องใจของประชาชนคนไทยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะผู้คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจการชี้หรือไม่ชี้ของเครื่องมือ จีที 200 มานานหลายปี

และแน่นอน เมื่อไม่สามารถคลายความคับข้องใจได้ ก็ย่อมส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในระยะต่อไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง!

อุลริค เบค (Ulrich Beck) นักสังคมวิทยาชื่อก้อง มองว่า ในยุคทันสมัยแบบสะท้อนย้อนกลับ (reflexive modernity) ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจยึดกุมผูกขาดความรู้เอาไว้ในมือได้อีกต่อไป เบคเชื่อว่าสังคมต้องเกิดกระบวนการวิพากษ์ด้วยการใช้เหตุและผลอย่างถอนรากถอนโคน (radicalization of rationalization)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ระบบราชการ” ซึ่งเคยยึดกุมผูกขาดทุกอย่างเอาไว้ในมือ เมื่อต้องมาอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ระบบราชการจึงมีข้อจำกัดหรือกับดักบางประการซึ่งต้องการการวิพากษ์วิจารณ์อย่างถอนรากถอนโคนเพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ปรากฏการณ์เรื่อง จีที 200 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายผ่านชนชั้นนำของไทยในด้าน “เทคนิค” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งบางเรื่องก็ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นอยู่บ้าง แต่ จีที 200 เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำงานร่วมกับคน ทั้งผู้ใช้และผู้ถูกตรวจ จึงไม่ได้ทำงานกับนักวิทยาศาสตร์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ได้ข้ามมาสู่พรมแดนของสังคมที่มีความซับซ้อนและโยงใยอยู่หลายมิติด้วยกัน เช่น ทัศนคติของผู้ใช้และผู้ถูกตรวจ เป็นต้น

หากปล่อยให้เรื่องดำเนินอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตข้างหน้าจะส่งผลต่อปัจจัยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม คำถามสำคัญก็คือ จีที 200 สามารถเป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่? เพราะหากคำตอบคือ “ได้” ย่อมหมายถึงว่าเครื่องมือชนิดนี้สามารถชี้ถูกชี้ผิดคน กระทั่งกลายเป็นเครื่องมือตัดสินคน

แต่หากคำตอบคือ “ไม่ได้” ก็จะเกิดคำถามต่อว่า แล้วมีความจำเป็นอะไรที่ต้องใช้ ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบที่สังคมต้องการย่อมไปไกลกว่าที่ผู้ใช้จะมาตอบว่า “ผมมั่นใจ” เพราะความมั่นใจ (ของตัวผู้ใช้) อย่างเดียวคงไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับชาวบ้านได้

ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงและอ่อนไหวต่อการดำเนินนโยบาย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาอย่างรอบคอบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ คงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่อง “การเมืองนำการทหาร” แต่สถานการณ์ที่เกิดกับ จีที 200 สะท้อนให้เห็นถึง “ชนชั้นนำบวกผู้เชี่ยวชาญ” ว่ามีบทบาทเพียงไหนในสังคมไทย และสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนเคย

การขยายอำนาจของชนชั้นนำทางเทคนิควิธีการ ร่วมมือกับชนชั้นนำทางการเมือง เกิดเป็นปฏิฐานนิยม (แนวความคิดที่มีพื้นฐานแบบวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าวิธีการแสวงหาความรู้ที่ดีที่สุดคือการใช้วิธีแบบวิทยาศาสตร์บนข้อมูลเชิงประจักษ์) ที่มองข้ามความรู้ท้องถิ่นและมองผ่านการให้คุณค่าเชิงอัตวิสัย ลักษณะดังกล่าวทำให้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องทางวิทยาศาสตร์ในสังคม ตกอยู่ภายใต้ผู้ที่ขนานนามตนเองว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่ “สังคมเสี่ยงภัย” (Risk society)

และใน “สังคมเสี่ยงภัย” นี้ ประชาชนส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น แต่เกิดจากการตัดสินใจของ “ผู้เชี่ยวชาญ” บางกลุ่ม!

ฉะนั้นแม้บทบาทของผู้เชี่ยวชาญยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้ความรู้แก่สังคม แต่กระบวนการสื่อสารสาธารณะในสังคมยุคปัจจุบันก็ยังไม่อาจทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้เชี่ยวชาญ และมิอาจร่วมถกเถียงได้ เพราะใช้ภาษาคนละชุด ความรู้และความเป็นจริงคนละด้าน

นอกจากนี้ ชาวบ้านมีองค์ความรู้อีกชุดหนึ่ง นั่นคือประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ถูกนับรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเชิงนโยบาย

โจทย์สำคัญก็คือทำอย่างไรที่จะให้ชุดความรู้ของชาวบ้านกับของผู้เชี่ยวชาญมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน?

ดังนั้นภารกิจจำเป็นเพื่อรองรับกับ “สังคมเสี่ยง” คือการสำรวจรื้อความรู้ทางสังคมและวิทยาศาสตร์เพื่อให้ล่วงผ่านแว่นการมองแบบเดิมๆ โดยเฉพาะแนวคิดเชิงปฏิฐานนิยมที่กรองเอาความรู้ท้องถิ่น (ประสบการณ์ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ) ออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นการมองแบบให้คุณค่าเชิงอัตวิสัยแทน

ด้วยเหตุนี้ การจัดทดสอบ จีที 200 จึงไม่ควรเป็นการทดสอบบนหอคอยงาช้างอย่างที่เป็นอยู่ แต่ต้องการการมองแบบองค์รวมและเป็นพหุอัตลักษณ์ด้วย อุลริค เบค เสนอเอาไว้ว่า ต้องกระทำภายใต้ความตระหนักถึง “ความเสี่ยง” ร่วมกัน เพราะการตระหนักถึงความเสี่ยงร่วมกันนี้ อาจใช้เป็นจุดร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายของการเรียนรู้  และเสริมพลังการสร้างความรู้ให้กับประชาชนในวงกว้างเพื่อให้เขามีความสามารถในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเลี่ยงพ้นภาวะ “สังคมเสี่ยง”

ฉะนั้นหากเรื่อง จีที 200 ได้มีการสานเสวนาหาทางออกร่วมกันจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะประชาชนตาดำๆ ผลประโยชน์ที่ได้ย่อมทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญ กองทัพ หรือแม้กระทั่งสังคมไทย...อย่างแท้จริง! 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=183:-200--&catid=21:2009-11-21-16-38-50&Itemid=5

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net