ตามรอยบัณฑิตนักพัฒนา ดูโครงการ 'พนม' อีกหนึ่งกลไกพัฒนาใต้


วรรณี มณีประวัติ

 
 ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงหนอนนก
 

นางสาววรรณี มณีประวัติ เป็นบัณฑิตอาสาตามโครงการบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือที่เรียกว่า บัณฑิตหมู่บ้าน รุ่นที่ 2 แห่งบ้านเปียน หมูที่ 4 ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ปัจจุบันเปิดร้านขายสินค้าเกษตรและเพาะหนอนนกขาย

สำหรับงานของบัณฑิตอาสาแห่งหมู่บ้านเปียนแห่งนี้ ก็ไม่แตกต่างจากบัณฑิตอาสาในหมู่บ้านอื่นๆ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ ทำงานในหมู่บ้านของตัวเองในเรื่องการพัฒนา ช่วยงานโครงการต่างๆ ที่มีขึ้นในหมู่บ้าน มีส่วนร่วมในการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เป็นต้น

หนึ่งในนั้น คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน หรือ โครงการ “พนม” ตั้งแต่ปี 2550 และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ให้โครงการนี้ เป็นโครงการหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ ศอ.บต.จะมีพิธีเปิดและโอนเงินในโครงการฯ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของหมู่บ้านเป้าหมายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2553 กว่า 2,000 หมู่บ้าน เป็นเงินรวมกว่า 512 ล้านบาทขึ้น ณ อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา โดยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี

แต่ที่ไม่ธรรมดาสำหรับบัณฑิตอาสาแห่งบ้านเปียนคนนี้ ด้วยความที่เธอเป็นนักพัฒนาอยู่แล้ว จึงยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน รวมทั้งมีบิดาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ประจำศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรบ้านเปียน

วรรณี บอกว่า สิ่งที่ได้จากการเข้ามาเป็นบัณฑิตอาสาคือ ตัวเองได้เรียนรู้ในเรื่องการพัฒนามากขึ้น เพราะการที่ต้องพบปะกับคนอื่นจำนวนมาก ทำให้รู้จักเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนอื่น รู้จักปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น ที่สำคัญนอกจากได้เรียนรู้จากการเป็นบัณฑิตอาสาแล้ว ชาวบ้านเองก็ได้ร่วมเรียนรู้กับบัณฑิตอาสาไปด้วย

“ตอนที่ยังไม่มีบัณฑิตอาสาช่วยงานในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ไม่รู้ข่าวสารของทางราชการมากนัก ตอนนี้ชาวบ้านรู้ข่าวมากขึ้น รู้ว่าจะมีโครงการอะไรลงมาในหมู่บ้านบ้าง เนื่องจากบัณฑิตอาสาคอยประสานงานระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านในหมู่บ้าน”

เธอยกตัวอย่างด้วยว่า เช่น โครงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทำนาปี หรือโครงการฟื้นนาร้างของหน่วยทหารในพื้นที่ เป็นต้น เมื่อเราประสานงานกับชาวบ้านแล้วทำให้ชาวบ้านรู้ว่า ต้องติดต่อกับใครบ้าง เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ต้องการทำโครงการเอง ก็มาปรึกษาบัณฑิตอาสาว่าจะทำอย่างไรดี ต้องติดต่อกับหน่วยงานไหน มีงบประมาณจำนวนหนึ่งจะทำอย่างไรได้บ้าง ถ้าบัณฑิตให้คำปรึกษาเองไม่ได้ ก็สามารถแนะนำต่อไปที่คนอื่นได้ เป็นต้น

“แม้แต่การช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เราก็ต้องไปช่วย ไปให้คำปรึกษาว่าจะฟื้นฟูกันอย่างไร ซึ่งผลที่ได้คือ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงหน่วยงานราชการมากขึ้น”

สำหรับภารกิจที่บัณฑิตอาสาทำ คือการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีในหมู่บ้าน ทำให้คนรู้จักหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีมาถึงคนในหมู่บ้านรวมทั้งตัวเอง จนขณะนี้หมู่บ้านเปียนมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำดอกไม้จันทน์ขายในงานศพ กลุ่มแม่บ้านทำขนมโดนัทขาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เรียนรู้และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี อย่างนางสาววรรณีเองก็ตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องการเลี้ยงหนอนนก ซึ่งแต่ละวันนอกจากมีผู้มาอุดหนุนแล้ว ยังให้ความความรู้กับคนอื่นด้วย ส่วนศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของบิดา ช่วยสอนชาวบ้านในเรื่องการทำเตาเผาถ่านประหยัดพลังงาน

ส่วนโครงการที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่บัณฑิตอาสาต้องไปช่วยงานอยู่ด้วย คือ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการกินดีอยู่ดี เช่น โครงการเลี้ยงหมู แต่ไม่ใช่แค่ช่วยอย่างเดียว บัณฑิตอาสายังเป็นคนเขียนโครงการให้ด้วย โดยที่ผ่านมาเคยช่วยเขียนโครงการให้กับกลุ่มเกษตรกร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ

นอกจากทำงานในหมู่บ้านตนเองแล้ว บัณฑิตอาสายังต้องช่วยงานหรือมีส่วนร่วมในงานของหมู่บ้านอื่นด้วย มีการจัดทำโครงการสัญจรตำบล ให้บัณฑิตอาสาในทุกตำบลในอำเภอสะบ้าย้อยได้เวียนกันไปเยี่ยมหมู่บ้านในตำบลอื่น ซึ่งตั้งแต่เข้ามาเป็นบัณฑิตอาสานั้น ได้สัญจรไปตำบลแล้ว 2 แห่ง คือที่ตำบลเปียนเองและที่ตำบลเขาแดง

ขณะที่การทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน ไม่ว่าหมู่บ้านไหน บัณฑิตอาสาทุกคนในตำบลเปียนซึ่งมีอยู่ 7 คนก็ต้องมาช่วยกันทำเวที อย่างเวทีประชาคมหมู่บ้านโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น

นางสาววรรณี กล่าวเป็นการทิ้งท้ายด้วยว่า เนื่องจากตำบลเปียน เป็นตำบลที่มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกัน คือ หมู่ที่ 3, 4 และ 5 เป็นหมู่บ้านไทยพุทธ นอกจากนั้นเป็นหมู่บ้านอิสลามอีก 4 หมู่บ้าน ชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมก็อยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ เวลามีงานอะไรก็ช่วยเหลือกัน ไปมาหาสู่กันอย่างปกติ

นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) บอกว่า โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน หรือ “พนม” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความจำเป็นเร่งด่วนให้แก่ประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่เย็นเป็นสุข เกิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กรอบแนวคิด “ประชาชนคิดเอง ตัดสินใจเอง และดำเนินการเอง” ตามหลักการมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง

โดย ศอ.บต.จะโอนเงิน (online) เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของหมู่บ้านๆ ละ 228,000 บาท เพื่อให้ใช้ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน ผ่านเวทีประชาคมและกระบวนการชุมชน ซึ่งในปี 2550 ที่ผ่านมา มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 44 อำเภอ ๆ ละ 2 ตำบล ของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) รวมทั้งสิ้น 88 ตำบล 636 หมู่บ้าน ส่วนในปี 2553 มีเป้าหมายทุกหมู่บ้านของพื้นที่ข้างต้น รวม 2,249 หมู่บ้าน เป็นเงินทั้งสิ้น 512,772,000 บาท 

นายภาณุ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมา พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ เช่น ประชาชนให้ความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านมีความร่วมมือกันเองมากขึ้น และมีรายได้ต่อหัวดีขึ้น ส่งให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

 
 
..........
หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนนำมาจากเว็บไซต์ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ http://www.sbpac.go.th/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท