รายงาน: ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ปี พ.ศ.2553 จะเป็นปีสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี ซึ่งหนึ่งในโครงการที่กระทรวงพลังงานต้องการผลักดันให้เข้ามาบรรจุในแผนพีดีพี 2010 ครั้งนี้คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

ผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เห็นว่า นิวเคลียร์เป็นทางออกของปัญหาโลกร้อน และยังเชื่อว่า ต้นทุนการผลิตนิวเคลียร์นั้นถูกมาก และที่โฆษณากันมากในเมืองไทยก็คือ ทั่วโลกมุ่งสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สุดท้ายก็คือ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนิวเคลียร์ อันจะเป็นคำกล่าวอ้างที่เราจะได้ยินได้ฟังกันมากขึ้นในปี พ.ศ. 2553 นี้
 
ผมไม่ปฏิเสธว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาพลังงานของประเทศไทย แต่ทางเลือกแต่ละทางเลือกย่อมมีผลประโยชน์และความเสี่ยงในตัวของมันเอง ที่สำคัญคือ เราได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องก่อนการตัดสินใจหรือไม่
 
พลัง+งาน ฉบับนี้จึงขอนำเสนอแง่มุมอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจไม่ได้นำเสนอเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันในเมืองไทย นั่นคือ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
 
 
การถดถอยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
แต่ก่อนที่จะเจาะประเด็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผมขอวิเคราะห์ว่า “ทั่วโลกมุ่งสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริงหรือไม่” ซึ่งข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ในปัจจุบัน การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เข้าสู่ระบบในแต่ละปีมีน้อยมาก โดยในปี 2006 มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาสู่ระบบ 2 โรง ปี 2007 มีเพียง 3 โรง ในปี 2008 ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าสู่ระบบแม้แต่โรงเดียว
 
หากเราเปรียบเทียบการเติบโตของพลังงานทางเลือก 3 ประเภท คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เราจะเห็นว่า จำนวนกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับลดน้อยถอยลง โดยจะเห็นว่าพลังงานลมเข้าสู่ระบบมากกว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และในปี 2006 ยิ่งชัดเจนว่า แม้กระทั่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถือกันว่าแพงมาก ก็ยังเข้าสู่ระบบแซงหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียอีก (ดูภาพที่ 1)
 
ดังนั้น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ตะวันตกดิน (Sunset Industry) เพราะฉะนั้น แนวโน้มพลังงานของโลกไม่ได้มุ่งไปสู่พลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่กล่าวอ้าง การโฆษณาว่า ทั่วโลกมุ่งสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงเป็นการโฆษณาที่เกินจริง 
 
 
 
 
แนวโน้มกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์
 
 
งบบานปลายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้รับความนิยม และประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในเมืองไทยก็คือ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
 
ในขณะที่ฝ่ายของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์บอกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราคาถูกมาก แต่ข้อเท็จจริงจากหลายประเทศกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
 
ล่าสุด US Congressional Budget Office หรือสำนักงบประมาณของรัฐสภาอเมริกัน เสนอรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ว่า ต้นทุนของโรงไฟฟ้า 75 แห่งของสหรัฐ มีต้นทุนสูงกว่าที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์อ้างถึงกว่า 3 เท่า โดยต้นทุนเฉลี่ยในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 0.94 ล้านเหรียญ/เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 33 ล้านบาท/เมกะวัตต์) ตามที่กล่าวอ้าง กลายเป็น 3.0 ล้านเหรียญ/เมกะวัตต์ (105 ล้านบาท/เมกะวัตต์) เมื่อทำการก่อสร้างจริง (อ้างโดย Scititizen, 2008)
 
ขณะเดียวกันผลการศึกษาของ Keystone Center Nuclear Report เมื่อปี ค.ศ.  2007 พบว่า ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มิได้อยู่ในระดับ 8.3–11.1 เซ็นต์/หน่วย (หรือประมาณ 2.9-3.9 บาท/หน่วย) ตามที่กล่าวอ้าง แต่ควรจะต้องปรับขึ้นตามต้นทุนจริง ที่ระดับราคา 12-17 เซนต์/หน่วย (4.2-6.0 บาท/หน่วย) ทั้งนี้ โดยยังไม่รวมต้นทุนนี้ยังไม่รวมต้นทุนในการเก็บรักษากากนิวเคลียร์
 
ในส่วนของต้นทุนในการเก็บรักษากากนิวเคลียร์ พบว่า โครงการเก็บรักษากากนิวเคลียร์ถาวรที่ภูเขายัคคาต้นทุนในการดำเนินการสูงถึง 96.2 พันล้านเหรียญ (3.4 ล้านล้านบาท) โดยต้นทุนเพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมถึงร้อยละ 38 ที่สำคัญ โครงการนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการไม่ยอมรับของนักวิชาการและประชาชน
 
ปัญหาที่สำคัญในแง่เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์คือ การออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละโรง แทนที่จะมีแบบแปลนมาตรฐาน ซึ่งทำให้ต้นทุนในการออกแบบ และต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้น และยังกลายเป็นความยุ่งยากในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ละโรง อันเป็นต้นเหตุสำคัญของความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย
 
ดังนั้น สตีฟ คิดด์ ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และการวิจัยจากองค์การนิวเคลียร์โลก ได้เคยเขียนไว้ในวารสารวิศวกรรมนิวเคลียร์นานาชาติ ในปี 2008 ว่า “สิ่งที่ชัดเจนคือ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในการประเมินราคาที่แน่นอนสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ในขณะนี้ (ข้อมูลจากหนังสือ Our Choice ของอัล กอร์)

 
 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Olkiluoto-3 ฟินแลนด์
 

ความ (ผิด) หวังใหม่ที่ฟินแลนด์
ล่าสุด อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ตั้งความหวังว่า เทคโนโลยีรุ่นที่สามจะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องความปลอดภัย และลดปัญหาต้นทุนบานปลาย โดยโรงไฟฟ้าที่ชาวนิวเคลียร์มุ่งหวังและตื่นเต้นกันมากคือ Olikiluoto-3 ที่ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกในยุโรปตะวันตก จนเรียกว่าเป็นยุคฟื้นฟูของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าโรงนี้จึงถือเป็นเรือธงของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ โดยคาดว่า จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา
 
แต่สถานการณ์การก่อสร้างจริงกลับตรงกันข้าม หลังการก่อสร้างมาแล้ว 4 ปี (เริ่มจากปี 2005 มาจนถึงปี 2009) พบว่า การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดประมาณ 3 ปีครึ่ง ขณะที่งบประมาณการก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 พันล้านยูโร กลายเป็น 4.5 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในฟินแลนด์ว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนที่บานปลายขึ้นมา
 
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของประเทศฟินแลนด์ที่เรียกว่า Finnish Radiation and Nuclear Safety Authority (หรือ STUK) ก็พบปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงนี้อีก ซึ่งพบว่ามีตำหนิเกิดขึ้นในกระบวนการก่อสร้างประมาณ 1,500 จุดเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีโรงแรกที่แปลงจากกระดาษมาเป็นความจริง จึงเกิดปัญหาความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือเมื่อปฏิบัติจริง
 
ศาสตราจารย์ Stephen Thomas จึงสรุปว่า “Olikiluoto-3 กลายเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งเกี่ยวกับการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่สามารถกลายเป็นข้อผิดพลาดทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น” (ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Olkiluoto_Nuclear_Power_Plant )


นิวเคลียร์กับเงินอุดหนุนของสาธารณะ
ในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องได้รับเงินทุนอุดหนุนจากสาธารณะหรือ Subsidy อย่างมโหฬาร จากตัวเลขในกรอบที่ 1 จะเห็นว่า สหรัฐอเมริกามีการอัดฉีดอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ประมาณ 13 พันล้านเหรียญในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีบุช โดยแยกเป็น การค้ำประกันเงินกู้
 
ข้อมูลดังกล่าวน่าสนใจมากเพราะว่า ในด้านหนึ่งผู้ที่อยากให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บอกว่า พลังงานนิวเคลียร์มีราคาถูกมากๆ แต่กลับจำเป็นต้องให้รัฐบาลไปค้ำประกันเงินกู้ให้แทน
 
นอกจากนั้นก็ยังมีการค้ำประกัน หากเกิดความเสี่ยงเนื่องมาจากความล่าช้าในการก่อสร้าง แถมรวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากความล่าช้า ทั้งยังมีการให้การสนับสนุนการผลิตประมาณ 1.8 เซ็นต์ต่อหน่วย และที่สำคัญสุดก็คือ แม้กระทั่งในขั้นตอนการปิดโรงไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายเงินอุดหนุนอีก เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความไม่ปลอดภัย รัฐบาลจึงต้องอัดฉีดเงินเข้าไปอีก
 
 
กรอบที่ 1 การขอรับเงินอุดหนุนของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา
  วิจัยและพัฒนา 2.90 พันล้านเหรียญ
  การก่อสร้าง 3.25 พันล้านเหรียญ
-       การค้ำประกันเงินกู้ (จนถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าโครงการ)
-       การประกันความเสี่ยงจากความล่าช้าในการก่อสร้าง รวมถึงดอกเบี้ย
  การปฏิบัติการ 5.7 พันล้านเหรียญ
-       ส่วนลดภาษีผลิตไฟฟ้า (1.8 เซ็นต์/หน่วย)
  การปิดโรงไฟฟ้า 1.3 พันล้านเหรียญ
 
รวมทั้งหมด 13 พันล้านเหรียญ (หรือ 555,000 ล้านบาท)
 

 

ความอ่อนแอของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า ประเด็นเหล่านี้ พวกเราห่วงกังวลกันไปเองหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะเมื่อเราลองมาฟังมุมมองความคิดของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราจะพบว่า เขาจะพูดคล้ายๆ กันหมดทั่วโลก จนแทบจะเป็นเสมือนหลักสูตรหนึ่งของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
เช่นในอเมริกา นาย John W. Roweประธานสถาบันพลังงานนิวเคลียร์เขาพูดว่า“ประเทศเรา (หมายถึง สหรัฐอเมริกา-ผู้เขียน) ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างมากแต่เป็นโครงการที่แพงและเสี่ยงมาก ทั้งยังบอกว่า บรรดาผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เต็มใจที่จะผูกมัดตนเองไว้กับราคาที่ตั้งไว้คงที่ (หมายถึง ราคาที่ตกลงและโฆษณากันไว้นั้น-ผู้เขียน) รวมถึงไม่อยากผูกมัดกับกำหนดเวลาที่ตายตัว” (ซึ่งแปลว่า ไม่อยากผูกมัดว่าจะก่อสร้างเสร็จในเวลาเท่าไร-ผู้เขียน)
 
นาย John W. Rowe ย้ำว่า “...บริษัทส่วนใหญ่ต้องการรับค่าตอบแทนตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งรวมถึงต้นทุนส่วนเกิน พร้อมทั้งผลกำไรตอบแทนที่เหมาะสมด้วย...” (ข้อมูลจากไทยแลนด์ BusinessWeek, สิงหาคม 2551)
 
ขณะเดียวกัน นาย Adrian Heymer กรรมการของ Nuclear Energy Institute ก็เห็นพ้องต้องกันว่า “...ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตรงตามเวลา และตามงบประมาณเกิดขึ้น โอกาสที่จะดำเนินการโรงไฟฟ้าโรงถัดจากโรงไฟฟ้า 8 ถึง 10 แห่งแรก ก็คงเป็นไปได้ยาก” (ข้อมูลจากไทยแลนด์ BusinessWeek, สิงหาคม 2551)
สรุปว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นเป็นอุตสาหกรรมขายฝัน ที่เต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างเกินจริง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่มีราคาแพง มีความเสี่ยงมาก ทั้งในแง่ความปลอดภัย ระยะเวลาก่อสร้าง และในแง่งบประมาณ ซึ่งถ้าเป็นระบบตลาดเสรี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นไม่ได้
 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ตลาดเป็นตลาดแบบผูกขาดรวมศูนย์ ที่สามารถผลักภาระความเสี่ยงจากผู้ลงทุน ผ่านรัฐบาลไปยังสาธารณะได้ แน่นอนที่สุดจะต้องผลักไปให้กับสาธารณะได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เราเรียกว่า นโยบายของรัฐบาลมาเป็นตัวค้ำประกันว่า จะสามารถผลักภาระไปสู่สาธารณะได้ เช่นผ่านทางการค้ำประกันเงินกู้และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจัดการกากนิวเคลียร์ รวมถึงการปิดโรงงาน สิ่งเหล่านี้ ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สาธารณชนคนไทยต้องแบกรับ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท