Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 08.30 น.วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่นสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีท้องถิ่นประจำปี 2553 ครั้งที่ 1 เรื่อง “ท้องถิ่นร่วมคิดเพื่อคุณภาพชีวิตพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้” มีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 100 คน

โดยรศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นำเสนอแนวคิดและที่มาของการจัดสัมมนา โดยมีการสะท้อนมุมมองจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี มุมมองจากเทศบาล โดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา มุมมองจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) โดยนายสมาน แตบาตู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ดำเนินรายการ โดยนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวงนักวิชาการด้านสันติวิธี/อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายอุดร ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ว่า เสนอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จัดตั้งคณะกรรมการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นของตนเอง เช่นเดียวกับของรัฐบาลไทยที่มีคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายท้องถิ่นและภาคเอกชน รวมเป็นกรรมการ

โดยในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น มีงานอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ งานพัฒนาด้านการเกษตรกรรม งานพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และงานพัฒนาด้านพาณิชยกรรมและบริการ ส่วนในการพัฒนาสังคม มีงานอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ งานพัฒนาด้านการศึกษาและงานพัฒนาด้านการสาธารณสุข

คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่วางแผนพัฒนา โดยมีนายกเทศมนตรีและนายองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำแผนไปปฏิบัติ ส่วนข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่อยู่ในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านวิชาการเท่านั้น

“เมื่อ อบจ. เทศบาลและ อบต. ร่วมมือกันทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เชื่อว่าปัญหาปักษ์ใต้ก็จะเบาบางลง และหมดไปในที่สุด” นายอุดร กล่าว

ในขณะที่ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กรและเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น ได้นำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 รูปแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 33 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งการจัดเวทีกลุ่มอาชีพ เพื่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบประกอบด้วย ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเสนอโดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี สามนครภายใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่นำเสนอโดยนายอุดม ปัตนวงษ์ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร หรือปัตตานีมหานคร ซึ่งนำเสนอโดยนายอัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง

จากนั้นในเวทีได้มีการสะท้อนมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ซึ่งมีการปกครองที่อยู่ในรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคจากการกระจายอำนาจที่ไม่เต็มที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะการกระจายงานแต่ไม่ได้กระจายงบประมาณและบุคลากรลงมาด้วย จนกลายเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเรื่องกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคของการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เห็นว่า สามารถดำเนินการหรือแก้ปัญหาได้น่าจะดีกว่าการดำเนินงานโดยหน่วยงานรัฐ เป็นต้น ดังนั้นจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องแก้กันทั้งระบบและโครงสร้างการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับเวทีดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสะท้อนข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net