Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัย 2 ประเด็นแรก ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ยกประกาศคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้อำนาจศาลฯ และ คตส. ไว้

26 ก.พ. 53 เวลา 16 .20 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัย 2 ประเด็นแรก ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในประเด็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีอำนาจวินิจฉัยคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีหรือไม่ 

ศาลวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุข หรือ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ให้อำนาจ คตส. ตรวจสอบการดำเนินงานของบุคคลใน ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครอง ที่เหตุอันควรสงสัยว่าจะทุจริต ประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีอำนาจในการตรวจสอบสัญญาของหน่วยงานรัฐที่สงสัยว่าจะเอื้อประโยชน์เอกชนโดยมิชอบ ให้อำนาจ คตส.สั่งอายัติทรัพย์สินไว้ก่อนได้ ทั้งยังกำหนดให้สามารถใช้อำนาจของ ปปง. ปปช. สตง. และหน่วยงานอื่นๆ ได้แล้วแต่กรณี ขณะที่ในข้อ 9 ของประกาศยังวางหลักเกณฑ์ให้กรรมการตรวจสอบของ คตส.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางกรเมืองด้วย กรณีที่ คตส.มีมติว่าทุจริตให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ให้ดำเนินการตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ถือว่ามติกรรมการตรวจสอบเป็นมติของ ปปช. กรณีที่อัยการมีความเห็นต่าง แต่กรรมการตรวจสอบยืนยันความเห็นเดิม ให้กรรมการตรวจสอบมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาดีดังกล่าวได้แล้วแต่กรณี

ศาลเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมา หรือได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่และมีคำขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของแผ่นดิน เป็นการดำเนินการตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางกาเรมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 9(1),(4) หาใช่เป็นการฟ้องการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องออกเป็นคำสั่งทางปกครองก่อนซึ่งจะอยู่ในอำนาจศาลปกครองไม่ ทั้งยังไม่ใช่ร้องขอให้วินิจฉัยถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านอ้างมา องค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีนี้

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า เมื่อคณะปฏิรูปฯ ออกประกาศฉบับที่ 3 กำหนดให้รัฐธรรมนูญ 40 สิ้นสุดลง ดังนั้นกฎหมาย ปปช. จึงถูกยกเลิกไปด้วยนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อ คปค. ยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้ก็ออกประกาศฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญ 40 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทน คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลายคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายต่างๆ ที่มีผลใช้บังค้บอยู่แล้ว หาได้ถูกยเกลิกไปด้วยไม่ แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เมื่อมีการประกาศ และใช้บังคับโดยชอบแล้ว ย่อมมีสถานะเทียบเท่ากฎหมายทั่วไป หากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูยแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์ดำรงความเป็นกฎหมายในตัวเอง สามารถใช้บังคับแกกรณีต่างๆ ได้ หาต้องอาศัยความดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญไม่ การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ 40 จึงไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่า คตส. และอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจ และกระบวนการสอบสวนก็กระทำนอกอำนาจของประกาศ คปค. จึงไม่มีอำนาจยื่นเรื่องต่อศาล เห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับ 30 ให้อำนาจ คตส.ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ประกาศฉบับดังกล่าวยังเปิดกว้างให้ คตส.ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ดังนั้น ประกาศ คปค.30 จึงให้อำนาจ คตส. ตรวจสอบได้ โดยมิได้จำกัดให้การตรวจสอบเฉพาะคณะรัฐมนตรีคณะใดคณะหน่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การตรวจสอบของ คตส.จึงดำเนินการภายในขอบอำนาจตามประกาศ คปค.ที่ให้อำนาจไว้ ส่วนที่แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนนั้น เห็นว่า การกล่าวหากรณีนี้ คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค.ฉ.30 ข้อ 5 ให้แต่งตั้งอนุกรรมการ แม้คณะอนุกรรมการนี้จะเป็นคณะเดียวกันกับข้อกล่าวหาคดีอาญา ก็ไม่ต้องห้ามตามประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว และที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า คตส.ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดนั้น ในประกาศ ข้อ.11 กำหนดให้ดำเนินการภายใน 1 ปี และเมื่อครบกำหนดเวลา การตรวจสอบเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้กรรมการตรจสอบส่งสำนวนสอบสวนคืนแก่ ปปช. ปปง. สตง. หรือ หน่วยงานอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี แต่ต่อมามีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับ30 ให้ยกเลิกความดังกล่าว และให้แทนว่า เมื่อครบกำหนดแต่ไม่แล้วเสร็จ ให้กรรมการดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ไม่ช้ากว่าวันที่ 30 มิ.ย.51 และเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่กรรมการตรวจสอบดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ภายใน 30 มิ.ย.51 ให้ส่งมอบสำนวนที่ค้างอยู่นั้น ให้ ปปช. ปปง. สตง. แล้วแต่กรณีเพื่อดำเนินการต่อ และถือว่าการดำเนินการสอบสวนและผลการตรวจสอบที่ดำเนินการไปแล้วของ คตส.เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายของ ปปช. ปปง. สตง. หน่วยงานอื่นแล้วแต่กรณี หลังจากนั้น คตส.ได้ส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่ให้ ปปช. กรณีจึงถือได้ว่า คตส.ได้ดำเนินการตร่วจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้

ส่วนที่อ้างว่าล่วงเลยเวลา 2 ปี เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 75 วรรค 2 เห็นว่า กรณีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติต้องกระทำในขณะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือพ้นไม่เกิน 2 ปี เป็นกำหนดระยะยเวลาสำหรับ ปปช.ปฏิบัติในกรณีเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติตามมาตรานี้ จะนำมาบังคับใช้แก่กรณี คตส.ที่มีบทบัญญัติเฉพาะไม่ได้ ดังนั้น คตส.จึงกระทำโดยชอบแล้ว

ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่า อนุกรรมการฯ จำกัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น เห็นว่า การกำหนดเวลาชี้แจง และการนำแสดงหลักฐานมาแสดงมีระเบียบ คตส. ที่กำหนดให้อนุกรรมการฯ ให้โอกาสแก่ผู้กล่าวหาภายในเวลาอันสมควร และหลักฐานใดไม่เกี่ยวประเด็นไต่สวน อนุกรรมการจะไม่ไต่สวนก็ได้ ให้อนุกรรมการใช้ดุลยพินิจได้ในแต่ละกรณี ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าอนุกรรมการฯ ก็ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเลื่อนการไต่สวนคดีหลายครั้ง การตรวจพิสูจน์ทรัพย์ในชั้นอนุกรรมการฯ ก็ประชุมเป็นลำดับ มีมติที่มีเหตุผล ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาพอสมควร ไม่ปรากฏการใช้ดุลพินิจมิชอบ

ส่วนข้ออ้างที่ว่าการแต่งตั้งนายกล้าณรงค์  จันทิก นายบรรเจิด สิงคเนติ นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวนที่เป็นปรปักษ์จึงไม่ชอบนั้น  เห็นว่า ในการตรวจสอบของ คตส. ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นอนุกรรมการไต่สวนตามกฎหมายของ ปปช.ได้แก่ บุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่กล่าวหา บุคคลที่มีส่วนได้เสีย หรือมีเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกล่าวหา ที่ผ่านมาก็ถือว่านายกล้าณรงค์ได้ทำตามหน้าที่ ส่วนการไปร่วมฟังปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตรยก็เป็นเพียงการฟังปราศรัย และเป็นการใช้สิทธิเหมือนประชาชนทั่วไป กรณีเคยว่าความให้ ส.ว.28 คนฯ ก็ใช้ความรู้ตามปกติ และท้ายที่สุดก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมศาลจำลองแต่อย่างใด ส่วนบรรเจิดนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาก็แสดงออกในฐานะนักวิชาการ และประชาชนคนหนึ่ง ส่วนนายแก้วสรรก็แสดงออกในฐานะสมาชิกวุฒิสภา การขึ้นเวทีปราศรัย เขียนหนังสือก็เป็นการวิพากษ์ด้วยความชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น การตั้งทั้ง 3 คนนั้นชอบแล้ว

ส่วนกรณีการได้มาซึ่ง ปปช.นั้น เห็นว่า ถือว่า ปปช. ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วมีการดำเนินการตามเวลาที่กำหนด ปปช.จึงมีอำนาจดำเนินการได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่าทั้ง คตส. และปปช. ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องพิสูจน์ทรัยพ์สินให้เด็ดขาดก่อนยื่นคำร้องนั้น คตส.แต่งตั้งอนุฯ ขึ้นวินิจฉัยคำร้องของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่เนื่องจากครบกำหนดตามระยะเวลาประกาศ คปค.ฉ.30 ก่อนจะพิจารณาเรื่องพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จทุกกรณี ในกรณีที่เสร็จ คตส.ก็ได้เพิกถอนการอายัติแล้ว ส่วนกรณีที่ไม่เสร็จก็ได้ส่งให้ ปปช.ดำเนินการต่อ เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ต่อศาล และเป็นอำนาจศาลจะดำเนินการต่อไป

กรณีที่ว่าผู้ร้องยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล เพราะอัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับ 30 ข้อ 9 ระบุว่าแม้อัยการสูงสุดจะมีความเห็นต่าง แต่กรรมการตรวจสอบสามารถยืนยันความเห็นเดิม และยื่นให้ศาลได้ อัยการสูงสุดมีความเห็นในครั้งแรกว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อ คตส.ยืนยัน อัยการสูงสุดก็ได้ดำเนินการตามนั้น ข้อไม่สมบูรณ์จึงยุติไปแล้ว

อีกกรณีหนึ่งคือ มูลคดีนี้กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ มิใช่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีมูลเหตุจากการกระทำความผิดอาญาของผู้ถูกกล่าวหา ประเด็นสำคัญที่ศาลพิจารณาคือผู้ถูกกล่าวหาได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรจริงหรือไม่ ศาลย่อมมีคำสั่งให้ทรัพย์เป็นของแผ่นดินได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาเองก็ระบุว่า คดีนี้เป็นดคีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา จึงไม่มีปัญหาอำนาจพิจารณาของศาลที่ต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกกล่าวหา องค์คณะมีมติเอกฉันท์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net