มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ต่อสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.)

3 มี.ค. 53 - จากกรณีที่ประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.)ครั้งที่ ๓/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ได้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วนั้น ขอเสนอให้ กรต. ทบทวนการที่จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมิได้ฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ก่อน  เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ดังที่เกิดขึ้นมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้อสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การไม่ฟังเสียงหรือความคิดเห็นของคนในพื้นที่  ดังนั้นหากรัฐบาลโดย กรต.ชุดนี้จักได้ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ ด้วยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวในระยะเวลาอันสมควรก่อน แล้วจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อใช้ปฎิบัติอย่างเป็นทางการต่อไป จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ขอยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) ดังนี้

๑. การช่วยเหลือด้านกฎหมายและการเยียวยาประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ   พบว่ามีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกขังในเรือนจำระหว่างการดำเนินคดีกว่า ๕๐๐ คน ที่ไม่ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวอันเนื่องมาจากแนวนโยบายภาครัฐที่เหมารวมว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เพราะกว่าคดีจะถึงที่สุดซึ่งบางคดีต้องต่อสู้ถึงสามศาล (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา) จำเลยต้องถูกขังในเรือนจำเป็นเวลาหลายปี และตามข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)ที่รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ พบว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาดังกล่าว ศาลพิพากษายกฟ้องคดีความมั่นคงประมาณ ๔๐ % ของจำนวนคดีความมั่นคงที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว กล่าวคือศาลพิพากษายกฟ้อง ๘๖ คดี (จำเลย ๒๐๔ คน) จากจำนวนคดีทั้งสิ้น ๒๑๖ คดี (จำเลย ๔๑๕ คน)   แต่หากคำนวณจากจำนวนจำเลยในคดีความมั่นคงดังกล่าวพบว่า มีจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำนวนประมาณ ๕๐ %  กล่าวคือ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยจำนวน ๒๐๔ คน จากจำนวนทั้งสิ้น ๔๑๕ คน ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ถูกดำเนินคดีแล้วศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดมีปริมาณมากถึงประมาณ ๕๐ % 

ปัญหาเงินประกันตัวที่กำหนดเป็นวงเงินสูงเกินความสามารถของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ ขอเสนอให้ทางรัฐบาลดำเนินการตรวจสอบและทบทวนระเบียบหลักเกณฑ์ และประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาเงินช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติและเป็นธรรม

๒. การช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคง   ปัจจุบันจำนวนคดีความมั่นคงมีปริมาณมาก  ทนายความที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้วางใจที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีมีจำนวนไม่เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากทนายความที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงล้วนแต่เป็นทนายความที่ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและค่าบริการ เพราะประชาชนที่มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือมีฐานะยากจน  และนับวันจำนวนคดีจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ    สำหรับระบบการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของรัฐนั้น แม้ว่าศาลจะสามารถแต่งตั้งทนายความให้แก่จำเลยได้ แต่ก็เป็นทนายความที่จำเลยไม่ต้องการเพราะมิใช่ทนายความที่จำเลยให้ความเชื่อถือ ขอเสนอให้ทางรัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ไม่มีเงินจ้างทนายความเองได้  และเปิดโอกาสให้จำเลยเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งทนายความที่ตนไว้วางใจเอง แล้วให้กองทุนจ่ายค่าวิชาชีพในอัตราที่เหมาะสมและค่าใช้จ่ายให้แก่ทนายความโดยตรง

๓. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่ตนได้รับความเสียหายนั้น เมื่อร้องขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ได้รับการปฏิเสธโดยหน่วยงานรัฐที่พิจารณาอ้างว่าผู้เสียหายเคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบอื่น ๆ ในอดีตมาก่อน และกำหนดเงื่อนไขว่าจำเลยนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ศาลพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แม้จำเลยจะชนะคดีเป็นผู้ไม่มีความผิดตามฟ้องแต่หากศาลพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยหรือพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญาดังกล่าว  เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยใช้ระบบกล่าวหา โดยรัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ โจทก์คือพนักงานอัยการมีหน้าที่ในการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด  หากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโดยไม่ต้องพิจารณาพยานของฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด ทั้งจำเลยก็ไม่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิด้วยเพียงแต่พิสูจน์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอหรือเป็นที่น่าสงสัยเท่านั้น  จึงไม่มีจำเลยคนใดสามารถเข้าถึงเงินทดแทนดังกล่าวได้เลย ขอเสนอให้ทางรัฐบาลปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดในการจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม จนไม่อาจบรรลุผลได้จริงในทางปฏิบัติ เป็นเหตุให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิอันพึงได้รับโดยชอบ

๔. เมื่อมีการออกหมาย ฉฉ.โดยศาลแล้ว เจ้าพนักงานจะแจ้งหมาย ฉฉ. ไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ รวมทั้งด่านตรวจทุกแห่งในทุกพื้นที่  แต่เมื่อมีการจับบุคคลดังกล่าวได้แล้วกลับไม่มีการแจ้งให้ปลดหมาย ฉฉ.  ขอเสนอให้ทางรัฐบาลตรวจสอบการใช้บังคับหมายฉฉ. ให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการลบข้อมูล เมื่อสิ้นผลบังคับแล้วในทุกหน่วยโดยทันที และไม่ให้นำมาเป็นเหตุอ้างในการเชิญตัวให้ลงชื่อในหน่วยทหารในพื้นที่โดยเด็ดขาด

๕.  ขอเสนอให้ทางรัฐบาลระงับหรือยกเลิกการกำหนดให้ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา ๑๔๗ - ๑๖๖  และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม มาตรา ๒๐๐ – ๒๐๕ เป็นฐานความผิดที่ใช้บังคับตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งนี้เพราะจะยิ่งทำให้วัฒนธรรมเจ้าหน้าที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ (Impunity)  ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นบ่อเกิดของการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และไม่ละเมิดกฎหมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท