100 ปี ‘วันสตรีสากล’ รอบโลก

(หมายเหตุ: ภาพจาก AP Photo, Daylife.com)

ในวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีถือเป็นวันสตรีสากล ซึ่งมีที่มาจากการเดินขบวนและนัดหยุดงานของแรงงานในโรงงานทอผ้าที่ชิคาโก นำโดย คลาร่า แซทคิน เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง เหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้มีการปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง จนกระทั่งในวันที่ 8 มี.ค. 1910 ข้อเรียกร้องก็ได้รับการยอมรับโดยที่ประชุมสมัชชาสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน และมีการประกาศให้วันที่ 8 มี.ค. เป็นวันสตรีสากล

ในปีนี้ (2010) วันสตรีสากลถึงวาระครบรอบ 100 ปี หลากหลายประเทศทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวต่างๆ กัน ธีม หลักที่สหประชาชาติประกาศออกมาในปีนี้คือ "สิทธิที่เท่าเทียมกัน โอกาสที่เท่าเทียมกัน ทุกคนจะก้าวหน้า"

ที่ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มผู้หญิงในซิดนี่ย์รวมตัวกันที่สะพานซิดนี่ย์ฮาร์เบอร์และเดินข้ามไปพร้อมๆ กันเพื่อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาสำหรับผู้หญิงในประเทศที่ยังคงมีสงคราม ไม่เพียงแต่ในซิดนี่ย์เท่านั้น ยังมีผู้หญิงอีกหลายพันคนวางแผนชุมนุมที่สะพานเชื่อมระหว่างประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองอย่างรวันดากับคองโก เพื่อเรียกร้องสันติภาพ

กลุ่มสตรีพิการหูหนวกและเป็นใบ้ในเนปาลร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียม ในอินเดียมีการชุมนุมของกลุ่มสตรีและการจัดนิทรรศการเช่นกัน นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้เสนอร่างกฏหมายที่ระบุให้สภามีที่นั่ง 1 ใน 3 ไว้สำหรับ สส. หญิง ด้วย

สตรีชาวปาเลสไตน์มีการเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษหญิงในเรือนจำของอิสราเอล ถือป้ายต่อต้านการทรมาน มีการนั่งปักหลักประท้วงที่สำนักงานกาชาดในเบรุต

ประธานาธิบดีปากีสถาน อะซีฟ ซาร์ดารี กล่าวชื่นชมกลุ่มผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยตนเองและขจัดการเลือกปฏิบัติ เขาบอกว่าจะสานต่องานของเบนาซีร์ บุตโต ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและการคุ้มครองสตรีจากความรุนแรง โดยเรียกร้องให้ สส. พิจารณากฏหมายที่เลือกปฏิบัติกับเพศหญิง และเรียกร้องให้สตรีในปากีสถานรวมตัวกันเพื่อความกลมเกลียว

ในอิหร่าน นักกิจกรรมผู้นำด้านสิทธิสตรี 30 ราย และกลุ่มผู้สนับสนุนรวมตัวกันที่กรุงเตหราน ซาห์รา ราห์นาวาร์ด ภรรยาของผู้นำฝ่ายค้านอิหร่าน ประกาศว่ากลุ่มต่อต้านที่เป็นสตรีจะยังคงยืนหยัดต่อไป และการเคลื่อนไหวของฝ่ายต้านรัฐบาลจะไม่ลืมผู้หญิงที่ถูกจับกุม ทุบตี หรือเสียชีวิต จากการประท้วงหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และกฏหมายของอิหร่านที่ทำให้ผู้หญิงอิหร่านเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง

ที่อัฟกานิสถาน กลุ่มสตรีคลุมฮิญาบเข้าร่วมงานสตรีสากล ท่ามกลางบรรยากาศที่ยังคงมีทหารสหรัฐฯ ยืนคุมตามท้องถนน

ที่กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย มีกลุ่มสตรีที่เรียกตัวเองว่า “สตรีชุดดำ” เดินขบวนต่อต้านสงคราม ขณะที่บางส่วนถือร่มสีรุ้ง มีการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทางเพศแก่กลุ่มเยาวชน

 

ที่บอสเนีย กลุ่มเครือข่ายสตรีระบุว่ามีผู้หญิงถึง 2,300 ราย ที่ร้องเรียนเรื่องการถูกกระทำทารุณในครอบครัว นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2009 มีนักกิจรรมอีกร้อยรายเดินขบวนในกรุงซาราเจโว เมืองหลวงบอสเนีย เรียกร้องให้มองเห็นความสำคัญทางการเมืองของสตรีมากกว่านี้

ผู้ว่าการรัฐแคนาดาที่เกิดในเฮติอย่าง มิเชลล์ ฌอง กล่าวถึงเหตุภัยพิบัติและความยากจนในเฮติว่ามีมาก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวแล้ว จากนั้นจึงกล่าวว่าวันสตรีสากลในปีนี้ยิ่งทำให้เธอรู้สึกเกิดแรงดลใจ เนื่องจากเธออยากอยู่เคียงข้างผู้หญิงชาวเฮติที่กำลังต่อสู้เพื่อฟื้นฟูเฮติจากแผ่นดินไหว

จากนั้นฌองก็ไปเยือนเฮติเพื่อร่วมงานวันสตรีสากล มีประชาชนชาวเฮติบางส่วนเข้าร่วม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็พากันออกมาประท้วงประธานาธิบดีราเน่ เพรแวล ของเฮติที่เข้าร่วมงานสตรีสากลในครั้งนี้ด้วย

ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู มีกลุ่มสตรีออกมาเดินขบวนตีกลอง บ้างก็เพนท์สีหน้าตัวเอง  ส่วนที่กัวเตมาลา มีกลุ่มสตรีเชื้อสายมายา (Maya) แต่งชุดพื้นเมืองออกมาร่วมงานฉลอง

ที่อาร์เจนติน่า มีคุณยายวัย 81 ปี ชื่อ เวอร์จิเนีย สเตฟานุโต ฉลองวันสตรีสากลด้วยการกระโดดร่ม ดิ่งพสุธา จากความสูงหลายพันฟุตบนเครื่องบิน และลงถึงพื้นที่ราบโดยปลอดภัย ท่ามกลางลูกหลานที่มายืนรอรับ ขณะที่ประธานาธิบดีหญิงของอาร์เจนติน่า คริสติน่า เคิร์ชเนอร์ เข้าร่วมต้อนรับการมาเยือนของรมต.ต่างประเทศของเยอรมนี ที่ต้องการสานไมตรีกับอาร์เจนติน่า แม้ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินของอาร์เจนติน่าอยู่ก็ตาม

ที่เม็กซิโก ก็มีหญิงอายุ 26 ปี ที่กำลังตั้งครรภ์ 6 เดือน ประท้วงด้วยการยืนอยูในกรงและถือป้ายภาษาสเปนว่า “ในร่างกายฉัน มีชีวิต ที่ฉันเป็นคนเลือก” และ “เพื่อสิทธิในการเลือกของเรา” ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการทำแท็ง (pro-choice)

ส่วนที่กรุงมาดริดประเทศสเปน มีกลุ่มสตรีออกมาถือป้ายประท้วงสนับสนุนการทำแท็งเสรี มีป้ายบอกว่า “ให้เราทำแท็งเสรี เอา ‘ของขลัง’ ออกไปห่างๆ รังไข่เรา” ทั้งยังมีการแต่งกายและแสดงสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ท้าทายศาสนา เช่น รูปปั้นมดลูกที่ถูกตรึงกางเขน

ที่แกลเลอรี่ อัล-ซาเยด กรุงดามาคัส ประเทศซีเรีย มีการจัดแสดงภาพจิตรกรรมจากฝีแปรงของจิตรกรสตรีชาวอาหรับ 8 คน

 

มาดูประเทศเพื่อนบ้านกันบ้าง ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชาวพม่าถือป้ายประท้วงและรูปภาพของนักโทษการเมืองหญิง รวมถึงนางออง ซาน ซูจี เดินขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์

ขณะที่กลุ่มผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์เอง ก็ชุมนุมกันที่ย่านไชน่าทาวน์ ตำบลบินอนโด กรุงมะนิลา พวกเธอแต่งตัวเป็นผู้หญิงท้อง และวัสดุล้อเลียนผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ในแถลงการณ์ของกลุ่มอนุรักษ์ระบบนิเวศระบุว่า ครีมทาหน้าและครีมผิวขาวที่นำเข้ามาจากจีน 12 ยี่ห้อ มีส่วนผสมของสารปรอทเกินกว่ากำหนด ซึ่งถูกดำเนินคดีจากองค์การอาหารและยา

กลุ่มผู้ประท้วงอีกส่วนหนึ่งทำการเผาหุ่นจำลองของประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี โดยกลุ่มสตรีได้ประณามประธานาธิบดีที่ทำให้ปัญหาความยากจนลุกลามและการปราบปรามทางการเมือง

ขณะที่ฟิลิปปินส์มีประท้วงเรื่องเครื่องประทินโฉม ขยับใกล้เข้ามาที่มาเลเซียและสิงค์โปร์ที่วันสตรีสากลก็ไม่ได้หลุดรอดออกไปจาก บรรษัทบริบาล (CSR) เมื่อห้างค้าปลีกคาร์ฟูร์ ของสิงหโปร์และมาเลเซีย มีการจัดงานที่ชื่อว่า “งานฉลองของสตรี” สำหรับสาวนักช็อป

ในงานของคาร์ฟูร์มีการเชิญชวนแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวหรือเลี้ยงเดี่ยว (Single Mothers) 80 คน รวมถึงดาราโทรทัศน์มาร่วมงาน หนึ่งในนั้นมีดาราที่ชื่อชาร์ริฟาห์ มาซลินา นักแสดงตลกหญิงที่มาพูดปลุกกำลังใจให้เหล่าสตรี

ทางฝั่งเอเชียตะวันออกซึ่งมีวัฒนธรรมที่กดทับเพศหญิงมานาน ไม่ค่อยมีข่าวคราวเรื่องวันสตรีสากล เว้นแต่มาจากสื่อจีน อย่างซินหัว ที่รายงานเรื่องงานวันสตรีสากลในเกาหลีเหนือด้วยท่าทีชื่นชม โดยระบุว่ากระบวนการสตรีในเกาหลีเหนือมีความก้าวหน้าขึ้นกว่า 100 ปีที่แล้ว และผู้หญิงในเกาหลีเหนือก็ได้รับสวัสดิการสุขภาพและการคุ้มครองแรงงานอย่างดี

ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง หนังสือพิมพ์ พีเพิลเดลี่ ของจีน ได้รายงานเรื่อง ประธานาธิบดี หู จินเทา กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันสตรีสากลที่มหาศาลาประชาคม (the Great Hall of People) ว่าประเทศจีนประสบความสำเร็จด้านสิทธิและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของสตรี โดยระบุว่าจากเดิมที่ผู้หญิงจีนไม่มีการศึกษาถึงร้อยละ 90 ปัจจุบันมีผู้หญิงได้รับการศึกษาในระดับชั้นประถมถึงมากกว่าร้อยละ 99

หนังสือพิมพ์ปราฟดา (Pravda) ของรัสเซีย อดีตปากกระบอกเสียงสมัยเป็นสหภาพโซเวียต ก็เขียนถึงเรื่องวันสตรีสากลไว้เช่นกัน โดยมีการพยายามให้ความสำคัญกับการที่สมัยเลนินมีการประกาศให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดเมื่อปี 1965 และมีพาดหัวว่า “100 ปี วันสตรีสากล: รัสเซียเป็นผู้บุกเบิกสิทธิสตรี”

และทุกช่วงที่ถึงวันหรือเทศกาลสำคัญ Google จะมีการปรับโฉมโลโก้ไปตามวันหรือเทศกาลนั้นๆ แบบที่เรียกว่า ‘ดูเดิล’ (Doodle) แต่ในวันสตรีสากลไม่มี Google ของประเทศใดเลยที่ปรับโฉมเว้นแต่ของรัสเซีย (www.google.ru) ที่มีรูปโลโก้ Google เป็นสีชมพูและมีดอกไม้ขึ้นมาแทนตัว ‘le’

ขณะที่ทางยุโรปตะวันออก วันสตรีสากลก็มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ประเทศต่างๆ ที่ในอดีตที่เคยอยู่ฝ่ายสหภาพโซเวียตเฉลิมฉลองวันนี้กันอย่างเอิกเกริก ขณะเดียวกันก็ใช้โฆษณาตัวเองว่ามีแต่ประเทศสังคมนิยมเท่านั้นที่หญิงกับชายเท่าเทียมกัน

ที่สาธารณรัฐเชค วันสตรีสากลเคยเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสท์มาก่อน จนภาพของวันนี้กลายเป็นวันที่ผู้ชายใช้ในการสนุกไปกับยามค่ำคืนขณะที่คนงานหญิงแค่ได้รับกล่องขนมหรือกล่องสบู่ เพราะนายจ้างถูกบังคับให้ต้องมอบของขวัญแก่ลูกจ้างสตรีทุกคน

จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปในปี 1989 ก็มีการพยายามทำให้วันที่ 8 มี.ค. ถูกบดบังโดยวันแม่ หรือวันวาเลนไทน์ แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากไม่ได้รับความนิยมมากเท่า มาจนถึงปี 2004 ที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ผ่านร่างกฏหมายให้มีการเฉลิมฉลองวันที่ 8 มี.ค. ได้อีกครั้ง

ในทุกวันนี้ แม้อะไรๆ จะเปลี่ยนไปเนื่องจากกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวชาวเชครุ่นใหม่ไม่มีความทรงจำในอดีต แต่ยอดขายดอกไม้ในวันสตรีสากล ก็ยังมากกว่าวันแม่หรือวันวาเลนไทน์อยู่ดี ส่วนในปีนี้กลุ่มองค์กรสตรีในเชคต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวันสตรีสากล โดยเน้นให้สตรีขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความเท่าเทียม การเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน และสิทธิในการทำแท็ง

ส่วนที่สโลวาเกีย หลังแยกตัวออกมาจากเชคในปี 1993 ก็ถูกการเมืองพยายามกลบวันสตรีสากลด้วยวันแม่เช่นกัน แต่ในสมัยของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย วันสตรีสากลก็ถูกยกระดับให้กลายเป็นวันเฉลิมฉลองระดับชาติ

ในปีล่าสุดนี้ (2010) รัฐบาลก็สนับสนุนการฉลองวันสตรีสากล มีประธานาธิบดีโรเบิร์ท ฟิโก อ่านบทกวีและเล่าเรื่องตลกของความสัมพันธ์ชาย-หญิง ขณะที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นสตรีมีอายุ

แม้หลายคนจะมองว่างานฉลองวันสตรีสากลในสโลวาเกียเป็นการหาเสียงของพรรค เนื่องจากการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ แต่ฟิโกก็ปฏิเสธว่างานวันสตรีสากลไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับยุคสมัยของคอมมิวนิสท์ แต่เป็นเรืองของการรำลึกถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีในนิวยอร์กช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เขายืนยันอีกว่ามีการเฉลิมฉลองงานวันสตรีสากลในเชคโก-สโลวาเกียมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว

ในโปแลนด์ จากสมัยที่ยังเป็นรัฐบาลเผด็จการจะมีการมอบดอกคาร์เนชั่นสีแดงให้กับผู้หญิง แต่คุณภาพของดอกไม้จะแย่มาก ขณะที่ในปัจจุบันการมอบดอกไม้ให้ในวันนี้ดูมีคุณค่าขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะแค่เชิญผู้หญิงไปทานเค้กหรือกาแฟเท่านั้นก็ได้ ในโรงเรียนและบริษัทต่างๆ ผู้ชายจะมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้เพื่อนผู้หญิง แต่ไม่มีใครให้ถุงน่องหรือเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นของที่เคยขาดแคลนในสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสท์

ขณะที่ในโรมาเนีย บริษัทจะหยุดงานให้ลูกจ้างหญิงครึ่งวันบ่าย แต่พวกเธอส่วนมากก็กลับไปเพื่อเตรียมอาหารเย็นในการฉลองอยู่ดี

ส่วนในบัลแกเรียก็มีวันพิเศษตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. เริ่มจากการเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิในวันที่ 1 มี.ค. ส่วนวันที่ 3 มี.ค. ก็เป็นวันชาติบัลแกเรีย และชาวบัลแกเรียยังคงถือเอาวันสตรีสากลเป็นอีกหนึ่งวันที่พวกเขาจะร่วมเฉลิมฉลองแน่นอน

ทางด้านตุรกีเริ่มฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกในปี 1975 จากอิทธิพลขององค์กรสตรีในสหรัฐฯ แต่พอหลังจากการรัฐประหารในปี 1980 วันสตรีสากลก็ว่างเว้นไป 4 ปี จนกระทั่งในปี 1984 เป็นต้นมาก็มีการฉลองวันสตรีสากลอีกครั้งโดยองค์กรสตรีหลายองค์กร

ประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป (EU) เจอร์ซี่ บูเซค กล่าวในงานวันสตรีสากลว่า "วันที่ 8 มี.ค. ไม่ใช่แค่วันให้ดอกไม้" แต่เป็นวันที่เราจะต้องอภิปรายกันถึงความเท่าเทียมด้านสิทธิและโอกาสของคนทั้งสองเพศ และเพศหญิงมีอิทธิพลกับชีวิตของพวกเราเพราะเป็นเพศที่เป็นคนส่วนใหญ่ของโลก

เจอร์ซี่ บูเชค บอกอีกว่า เขาสนับสนุนให้มีการเก็บภาษีน้อยลงกับครอบครัวที่มีลูกมาก ผลักดันให้มีระบบบริการดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสทัดเทียมกับชายในเรืองงาน ขณะเดียวกันก็ควรมีการจ่ายค่าจ้างและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน

ในเรื่องความรุนแรงต่อเพศหญิง บูเชคบอกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในยุโรปเองก็ยังมีความรุนแรงต่อเพศหญิงเป็นปกติ การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สังคมใดก็ตามที่ยังอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงสังคมนั้นก็เป็นสังคมป่าเถื่อน เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่

 

สถิติเรื่องงานของผู้หญิง

รายงานจากโครงการพัฒนาของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2010 ระบุว่า หากประเทศอย่างอินเดีย, อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย จ้างแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 70 อาจทำให้ประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2-4 ต่อปี นอกจากนี้รายงานของสหประชาชาติยังระบุอีกว่าประเทศในเอเชียใต้อย่างอินเดียและปากีสถาน มีผู้หญิงน้อยกว่าร้อยละ 35 ที่ทำงานแบบมีรายได้

โดยรายงานสถิติจากคอร์เปอเรท เจนเดอร์ แก็ป (Corporate Gender Gap) ระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานเพศหญิงต่ำสุดคือร้อยละ 23 ตามมาด้วยญี่ปุ่นร้อยละ 24 ตุรกีร้อยละ 26 ออสเตรียร้อยละ 29

ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในระดับสูงคือ สหรัฐฯ มีคนทำงานเพศหญิงร้อยละ 52 สเปนร้อยละ 48 แคนาดาร้อยละ 46 และ ฟินแลนด์ร้อยละ 44

ด้านชนิดของงานพบว่าคนทำงานเพศหญิงในส่วนบริการด้านการเงินและประกันมีอยู่ร้อยละ 60 อาชีพเฉพาะทาง (เช่น ทนาย, นักวิจัย, นักแปล, นักออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ) ร้อยละ 56 ด้านสื่อสารมวลชนและบันเทิงร้อยละ 42 ขณะที่งานด้านเกษตรกรรมอยู่ที่ร้อยละ 21 ด้านยานยนต์และเหมืองแร่อยู่ในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 18

ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลกให้ความเห็นว่า การแข่งขันระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับการให้การศึกษาและใช้ประโยชน์จากความสามารถของผู้หญิง

ขณะที่หน่วยงานเพื่อการพัฒนาสากล (DFID) ระบุว่าทั่วทั้งโลกผู้หญิงมีที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 19

 


แคธริน บิเกอโลว์ ผู้กำกับหญิงคนแรกของโลกที่คว้าออสการ์

และที่ขาดไม่ได้เมื่อช่วงคืนวันที่ 7 มี.ค. ของสหรัฐฯ (ซึ่งตรงกับเช้า 8 มี.ค. ของบ้านเรา) ผลประกาศรางวัลออสการ์ ก็ออกมาว่าเรื่อง The Hurt Locker ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับของเรื่องนี้ แคธริน บิเกอโลว์ ก็ได้รับรางวัลในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ด้วย มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ว่า เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับเรื่อง Avatar คู่แข่งใหญ่ของ The Hurt Locker เป็นอดีตสามีของ บิเกอโลว ที่แต่งงานกันตั้งแต่ปี 1989 ถึงปี 1991 ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท