Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เชิด เจ้าของรีสอร์ตขนาดเล็กในภูเก็ต เล่าประสบการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้ฟังว่า เขาไปติดต่อหน่วยราชการแห่งหนึ่ง โทรทัศน์ของสถานที่แห่งนี้สำหรับผู้รอการติดต่อ กำลังเปิดรายการข่าวที่เป็นสกู๊ปเสื้อแดงที่ต่างไปจากรายงานข่าวโทรทัศน์ของไทย ในคำบรรยายข่าวบอกว่า มีเข้าชุมนุมหลายหมื่นคน มุมกล้องจะพยายามใช้มุมกล้องที่มองเห็นคนจำนวนมาก และคำสรุปของสกู๊ปนี้คือ เสื้อแดงเป็นคนรากหญ้าที่กำลังต่อสู้กับคนมั่งมี

เมื่อเขาขึ้นรถแท๊กซี่ คนขับก็บอกว่า พวกเขาชื่นชมการต่อสู้ของเสื้อแดง ขณะที่เขากำลังกินกาแฟในร้านสตาร์บั๊ค คนที่อยู่นั่งโต๊ะใกล้กัน พูดกับเขาว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ผมสนับสนุนคนเสื้อแดง”

ถ้าคิดว่าเป็นกัมพูชา ก็เป็นคำตอบที่ผิด เพราะเชิดกำลังเล่าถึงประสบการณ์ในสิงคโปร์ เขาเล่าต่อว่า ความรู้สึกนี้เพิ่งมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้

นอกจาก ความเห็นใจต่อคนเสื้อแดงจากประเทศเพื่อนบ้าน หากสิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งคือ ต้นทุนการกำจัดทักษิณที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สิงคโปร์กับเทมาเส็ก เหยื่อการเมืองไทย
เจ้าหน้าที่ของเทมาเส็กและรัฐบาลคงงุนงงว่า ทำไมการซื้อกิจการในประเทศไทยด้วยวิธีการที่ถูกกฎหมายจึงกลายเป็นจำเลยในสังคมไทย ในปี 2550 เมื่อรองนายกรัฐมนตรีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าพบ กลับถูกประท้วงจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และ คมช. ที่ลุกลามไปสู่การขู่ทวงดาวเทียมไทยคมกลับคืน มีการประท้วงหน้าสถานทูตสิงคโปร์

จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อไทยเรียกทูตกลับจากพนมเปญ จากกรณีการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีต่างประเทศ สิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับอาเซียน เราหวังว่า เพื่อนของเราทั้งคู่จะระลึกถึงการรักษาผลประโยชน์ใหญ่กว่าของอาเซียน และหาทางแก้ไขความแตกต่างในจิตใจการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” ประสานกับอินโดนีเซียและมาเลย์เซียเพื่อเป็นเจ้าภาพการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเท่ากับทำลายความน่าเชื่อถือทางการทูตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเป็นประธานอาเซียน

กัมพูชากับเขาพระวิหาร
ในปีที่แล้ว การนำเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายไทยโดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ยื่นคัดค้านการนำเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในการประชุมที่บาเซโลนา ยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของฮุนเซนว่า มีความเชื่อมโยงกับข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร

ในกรณีนี้ Jocelyn Gecker ของ AP เห็นว่า เป็นการรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหม่เพื่อบ่อนเซาะฐานะของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ [1]

Richard Lloyd Parry ของ Times เสนอความเห็นว่า สืบเนื่องจากข้อพิพาทชายแดนกรณีศาสนสถานโบราณปราสาทพระวิหาร นายกษิต ภิรมย์ ผู้นำเสื้อเหลือง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เคยบรรยายว่า ฮุนเซนเป็น “สุภาพบุรุษที่มีจิตใจอันธพาล” วันนี้ ผู้นำกัมพูชากำลังแก้แค้นโดยการสร้างมิตรภาพกับ พ.ต.ท.ทักษิณ [2]

เขาพระวิหารยังเป็นปัญหาอีกยาวนานที่บ่อนเซาะความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้

บรูไน ไม่ยอมร่วมพิธีเปิดประชุมอาเซียน ที่หัวหิน
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมา เป็นการประชุมที่ผู้นำประเทศอาเซียนเข้ามาร่วมพิธีเปิดน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อาเซียน การประชุมนี้ เราอาจจะสนใจวิวาทะระหว่าง ฮุนเซนกับนายอภิสิทธิ์ แต่การเดินทางของสุลต่านฮัจยี ฮาสซานาล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ที่มาถึงก่อนพิธีเปิดหนึ่งวัน เข้าพักบ้านรับรองของทักษิณ และไม่ยอมรับเข้าร่วมพิธีเปิดและรับประทานอาหารกับคณะกรรมการองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่ไทยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน

ความไม่พอใจอาจเกิดจากการปล่อยให้เสื้อแดงล้มการประชุม บทวิเคราะห์ของโจนาธาน เฮด กล่าวว่า

เขา (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) กำลังเสียใจว่า การล้มประชุมอาเซียนจะนำพวกเขาขึ้นสู่รายงานข่าวของสื่อนานาชาติขนานใหญ่ และบ่อนเซาะข้ออ้างของนายอภิสิทธิ์ในการฟื้นฟูเสถียรภาพ

ไม่น่าแปลกใจที่การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเสื้อแดงจาก นปช. พุ่งหัวหอกต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ เลือกย้ายการชุมนุมจากกรุงเทพฯ มาสู่สถานที่จัดการประชุมสุดยอดในที่พักอากาศชายทะเลของพัทยา

รัฐบาลมีเวลามากมายในการตระเตรียมจัดกำลังตำรวจและทหาร 8,000 นาย เพื่อสกัดกั้นการเดินทางไปสู่โรงแรมโรยัล คลีฟ ที่ใช้จัดการประชุมสุดยอด ดูไม่เหมือนว่า ผู้ประท้วงจะสามารถฝ่าผ่านมาได้ ถ้าพวกเขาไม่ได้มาด้วยจำนวนมหาศาล และฝูงชนที่ไปพัทยามีไม่มากกว่าหลายพันคน

การประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นกิจการที่ออกแบบอย่างเข้มงวด และมีการชุมนุมน้อยครั้งมากที่เคยเข้าใกล้สถานที่จัด

แต่ นปช. ที่มีอาวุธไม่เกินกว่าท่อนไม้และหนังสติ๊ก สามารถผลักดันผ่านแถวตำรวจและทหารแนวแล้วแนวเล่า บรรยากาศนั้นดูเหมือนร่าเริง ทหารเรือกลุ่มหนึ่งหัวเราะและถ่ายภาพเมื่อเสื้อแดงเดินผ่านไป จนถึงประตูรั้วโรงแรม ทหารปฏิเสธใช้กำลัง และผู้ประท้วงสามารถฝ่าพวกเขาเข้าไป ซึ่งนำไปสู่การอพยพผู้นำอาเซียนที่เสื่อมเสียโดยเฮลิคอปเตอร์

เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร? นายกรัฐมนตรีไทยวางเดิมพันชื่อเสียงของเขากับการจัดประชุมสุดยอด เขาเชิญ นายหวังเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน และนายทาโร อาโซะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สองมหาอำนาจของภูมิภาคมาเข้าร่วม

นายอภิสิทธิ์ โทรศัพท์ขอโทษ นายหวัง ผู้ตอบแบบการทูตว่า เขาเข้าใจสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไทยกระทำ แต่กำลังคิดว่า “เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศจีน” [3]

สุลต่านโบลเกียห์ อาจจะไม่พอใจที่พวกเขาเป็นตัวประกันในครั้งนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการให้บทเรียนกับอภิสิทธิ์

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาเยือนเพื่อเปลี่ยนชื่อสะพานเท่านั้นหรือ
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนาจิ๊บ ราซัค เดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคม 2552 แผนการเดินทางคือ ดูงานการเรียนการสอนในสามจังหวัดภาคใต้ และพิธีเปลี่ยนชื่อสะพานที่เคยเปิดไปแล้ว ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต เดินทางไปเยือนมาเลเซียพร้อมกับข้อเสนอนครรัฐปัตตานี ที่เป็นเขตปกครองพิเศษ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ปฏิเสธข้อเสนอนี้

ทั้งที่ฝ่ายมาเลเซียเรียกร้องต่อไทยให้แก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาเลย์ โดยมีข้อเสนอคือ เขตปกครองพิเศษ ที่พล.อ.ชวลิต ตอบรับ เพราะข้อเสนอนี้มีมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีบัดดาวี

ตราบใดที่การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดยังเป็นการใช้ความรุนแรงกับคนท้องถิ่น โดยไม่สนใจข้อเสนอของฝ่ายมาเลเซียจะเป็นการยากที่ทำให้สัมพันธภาพดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ทักษิณสามารถเดินทางผ่านมาเลเซีย และทางการไม่ยอมจับตัวตามคำร้องขอของไทย

ลาวกับม้งลาว
ลาวมีความกังวลกับชาวม้งสายนายพลวังเปา และความพยายามในการจารกรรมของซีไอเอ จึงมีความหวาดกลัวต่อให้ที่พักพิงกับชาวม้งมาตลอด นอกจากนี้ มีข่าวการจับกุมคนไทยฐานเป็นสายลับหลายครั้ง

การส่งกลับชาวม้ง 4,371 คน ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว บ้านห้วยน้ำขาว เมื่อสิ้นปีที่แล้วตามความต้องการของลาว อาจจะความสัมพันธ์กับลาวดีขึ้น แต่การส่งคืนครั้งนั้น กลับทำให้ไทยเผชิญกับการประณามด้านสิทธิมนุษยชนจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างสหรัฐฯและสหประชาชาติ เนื่องจากในกลุ่มนี้ มีชาวม้งจำนวน 158 คนขึ้นสถานะเป็นผู้ลี้ภัยรอการอพยพไปประเทศที่สามรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ ยังอาจจะเป็นความไม่สบายใจของลาว จากการที่รัฐบาลต้องรับภาระหนี้ของสนธิ เพื่อค้ำประกันเงินกู้สำหรับการส่งดาวเทียมลาวสตาร์ 300 ล้านเหรียญหรัฐ

พม่ากับเงินกู้ทักษิณ
ประเทศไทยผลักดันให้อาเซียนออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารพม่าในกรณีการตัดสินจำคุกอองซาน ซูจี เป็นเรื่องที่สร้างไม่พอใจกับฝ่ายพม่าอย่างแน่นอน รวมทั้งแถลงการณ์นี้กลับสวนทางกับท่าทีของสหรัฐที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลกับพม่าด้วยนโยบายผ่อนปรน ความต้องการชื่อเสียงของประเทศกลับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่านัก

คดีทุจริตการให้เงินกู้กับพม่าของทักษิณ ย่อมทำให้รัฐบาลพม่ามีความเสื่อมเสียไปด้วย ในการเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือนมีนาคม 2552 กษิต รัฐมนตรีต่างประเทศต้องตอบว่า “ความทุจริตในคดีนี้เป็น (ยังคงเป็นเพียงประเด็นและ) ปัญหาของประเทศไทย” [4] สิ่งนี้ย่อมสะท้อนความไม่สบายในการเข้าพัวพันปัญหาทุจริตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมื่อทักษิณผิด พม่าจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือไม่ ซึ่งพม่าอ้างว่าพวกเขาจ่ายหนี้สินและดอกเบี้ยครบถ้วน

ประชาชนเพื่อนบ้าน
มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเอ็นจีโอไทยกับกัมพูชา ในระหว่างกิจกรรมร่วมลุ่มน้ำโขง เอ็นจีโอไทยเห็นด้วยกับการขจัดทักษิณ แต่เอ็นจีโอกัมพูชารายนี้บอกว่า เขาพอใจกับนโยบายทักษิณที่เป็นประโยชน์กับคนยากจน และเสนอว่า ในเมื่อเราไม่สามารถพบกับสิ่งดีที่สุด (first best) ทำไมเราไม่เลือกสิ่งดีที่สุดรองลงมา (second best)

เอ็นจีโอประเทศเพื่อนบ้านรายนี้อาจจะเป็นการสะท้อนความพอใจต่อทักษิณของประชาชนกัมพูชาบางส่วนได้ ดังนั้น การเป็นที่ปรึกษาของประเทศกัมพูชาของทักษิณย่อมได้รับการต้อนรับอย่างแน่นอน

จึงไม่แปลกนัก เมื่อเสื้อแดงในภาคอีสานบอกว่า คนลาวสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา เพราะเขาอาจจะคิดอย่างเดียวกับคนกัมพูชา

ต้นทุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงมาก
ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำชัดเจนกับ 6 ประเทศนั้น ใน 4 ประเทศ มาจากเหตุแห่งความพยายามกำจัดทักษิณ ดังนั้นขบวนการกำจัดทักษิณ ไม่เพียงใช้ต้นทุนภายในประเทศด้วยการรัฐประหาร ทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนทำงานไม่ได้หนึ่งปี การล้มประชุมสุดยอดอาเซียน แต่ลามไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ในเมื่อขบวนการกำจัดทักษิณยังไม่สำเร็จ คำถามจึงมีว่า ประเทศไทยต้องใช้ต้นทุนอะไรอีก

 

 

อ้างอิง
[1] Jocelyn Gecker, AP News, Thaksin on a mission to humiliate Thai government, 6 November 2009
[2] Richard Lloyd Parry, Times Online, Thai tensions rise over Thaksin Shinawatra’s Cambodian role, 11 November 2009
[3] Jonathan Head, BBC News, Bangkok, Asean fiasco deepens Thai stalemate, 11 April 2009
[4] Mizzima, Thaksin wanted leniency towards Burmese junta, 23 December 2009

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net