ประวิตร โรจนพฤกษ์: 'สงครามชนชั้น' ความจริงที่สื่อกระแสหลักปฎิเสธ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สื่อกระแสหลักอาจจะจมปลักมัวด่าทอทักษิณ ชินวัตร มานานหลายปีจนลืมไปว่า เมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นได้งอกงามเติบใหญ่ไปมากแล้วนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ความไม่พอใจต่อกลุ่มชนชั้นนำเก่าปรากฎเป็นที่ประจักษ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ด่าทอชนชั้นนำเก่าอย่างกว้างขวางทั้งในเวทีและสื่อแดง และรวมถึงการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วย
 
วาทกรรมเรื่องการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นและสองมาตรฐานทางการเมืองซึ่งหมายถึงความไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองอย่างแท้จริงของชนชั้นล่าง ปรากฎเด่นชัดมากในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีเสื้อแดงหรือในหมู่คนเสื้อแดงและโดยเฉพาะการต้อนรับอย่างอบอุ่นเกินคาดของคนชั้นแรงงานคอปกน้ำเงินที่ทำงานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเห็นพนักงานเทสโก้ โลตัส ใส่ชุดยูนิฟอร์มสีเขียวเดินแถวถนนพหลโยธินเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา พูดว่า "มันไม่ยุบ กูเผามัน" หลังจากได้ยินเสียงโทรโข่งประกาศจากคาราวานเสื้อแดงว่า อภิสิทธิ์ไม่ยุบสภา และวันที่ 17 มี.ค. ผู้เขียนก็เห็นการยื่นดอกกุหลาบแดงจากพ่อค้าแม่ขายข้างถนนแด่คนเสื้อแดงที่แยกเพลินจิต

หลายคนคงแปลกใจกับการต้อนรับอย่างค่อนข้างอบอุ่นของชนชั้นล่างในกรุงเทพฯ แน่นอนคนจนเสื้อแดงคงยังพูดชื่นชมต่อทักษิณ ชินวัตรต่อไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ยุบสภาหรือลาออก แต่หากใครไปนั่งฟังเวทีย่อยๆ ที่คนจนขึ้นพูด หรือแม้กระทั่งการปราศรัยเคลื่อนที่บนหลังรถสิบล้อหรือรถปิคอัพในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ก็จะตระหนักได้ว่าคนจนรู้สึกว่าพวกตนไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะพอเลือกทักษิณเป็นนายกฯ แล้วชนชั้นกลางกับชนชั้นนำเก่าไม่เห็นด้วย พวกเขาก็ถูกตบหน้าทางการเมืองโดยรัฐประหาร ซึ่งสนับสนุนโดยคนมีอันจะกินจำนวนมาก

ประเด็น ณ วันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ม็อบมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าหนึ่งแสน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความเป็นจริงที่ว่ามีอีกคนจำนวนมากที่ไม่ได้ไปร่วมม็อบ แต่เห็นด้วยว่าสังคมไทยนั้นไม่มีความเท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าทักษิณจะอยู่หรือไม่ สามเกลอจะยังคุมอำนาจนำมวลชนเสื้อแดงได้อีกนานแค่ไหน การตื่นตระหนักของชนชั้นล่างต่อการกดขี่จากกลุ่มชนชั้นนำเก่านั้นมันได้เกิดและไปไกลเสียเหลือเกินแล้ว ไกลขนาดที่เรียกว่าสถาบันสำคัญบางสถาบันในสังคมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักอย่างไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว

สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่อาจมัวหมกมุ่นเขียนแต่เรื่องทักษิณจนมองไม่เห็นการตื่นทางชนชั้น หรือมิเช่นนั้นพวกเขาก็คงไม่กล้าแม้กระทั่งจะยอมรับว่าสงครามทางชนชั้นได้คุกรุ่นขึ้นแล้ว และคุกรุ่นมาตั้งนานก่อนที่สามเกลอจะประกาศการเริ่มต้นสงครามทางชนชั้นเมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค. เสียอีก

ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอีลีท ชนชั้นกลาง กับชนชั้นล่างผิวเผินยิ่ง เพราะส่ววนใหญ่ความสัมพันธ์จำกัดอยู่ในลักษณะเจ้านายกับลูกน้อง ผู้สั่งกับผู้รับคำสั่ง เป็นได้เพียงแค่คนใช้ แม่บ้าน คนกวาดถนน บ๋อย แท็กซี่ มาร์กกี้ เด็กเดินเอกสาร มอเซอร์ไซค์รับจ้าง โสเภณี ฯลฯ ที่ต้องคอยรับใช้ตอบสนองต่อคำสั่ง จึงไม่น่าแปลกที่ว่าพอชนชั้นกลางกับอีลีทไม่เอาทักษิณแล้ว พวกเขาจึงไม่ลังเลใจที่จะสนับสนุนการจัดการกับทักษิณโดยวิธีการรัฐประหาร ซึ่งเท่ากับเป็นการตบหน้าคนจนเมืองและชนบทฉาดใหญ่

มิหนำซ้ำ คนเหล่านี้ยังเชื่อว่าคนจนนั้นโง่ดักดาน ถูกหลอกซ้ำซากจากคนโกงอย่างนายทักษิณ (ซึ่งก็โกงจริง) เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเทียบเท่าพวกเขา อย่างไรก็ตาม การบริหารบ้านเมืองภายใต้ชนชั้นนำเก่าและกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษาก็มิได้ช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจไปแค่ไหนเลยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ที่ช่องว่างทางชนชั้นแคบกว่าและสิทธิทางการเมืองของชนชั้นล่างมีมากกว่า

ในเมื่อพวกคนเหล่านี้ปู้ยี่ปู้ยำประเทศมานาน แถมประเทศยังไม่เจริญอีก มันก็คงจะแฟร์มิใช่หรือที่คนชั้นล่างจะบอกว่า "พอเสียที" และพวกเขาควรมีโอกาสในการมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมบ้านเมืองอย่างแท้จริงบ้าง

 

 

ปรับปรุงจาก Rally symbolic of a brewing class struggle, The Nation, March 18, 2010

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท