Skip to main content
sharethis

“การประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5” เริ่มขึ้นแล้วที่ สปป.ลาว หวังสร้างความสมานฉันท์กับคิวบาที่ถูกมหาอำนาจปิดล้อมมานานกว่า 50 ปี มีองค์กรมิตรภาพคิวบา 21 ประเทศรวมทั้งตัวแทนจากพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยจากไทยเข้าร่วม

 

ตัวแทนยุวชนมอบดอกไม้ให้กับ ฯพณฯ เหียม พมมะจัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว รองประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรรมการกลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาว รวมทั้งบรรดาประธานผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ระหว่างพิธีเปิด “การประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5” ซึ่งจัดที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในวันที่ 19-20 มี.ค. นี้

 

ดร.จะเลิน เยียะปาวเฮือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สปป.ลาว ในฐานะประธานสมาคมมิตรภาพลาว-คิวบา กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานเมื่อ 19 มี.ค.

 

นางเคเนีย เซอร์ราโน ปูอิก สมาชิกรัฐสภาคิวบา และประธานสถาบันชาวคิวบาเพื่อมิตรภาพประชาชน (ICAP) กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม

 

ช่วงพิธีเปิด “การประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5”

 

นิทรรศการภาพถ่ายการปฏิวัติคิวบาในงาน

 

ระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. นี้ สมาคมมิตรภาพลาว-คิวบา (LAO – CUBA FRIENDSHIP ASSOCIATION - LCFA) และ สถาบันชาวคิวบาเพื่อมิตรภาพประชาชน (CUBAN INSTITUTE OF FRIENDSHIP WITH THE PEOPLES - ICAP) จะจัดการประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5 ที่ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

นางเคเนีย เซอร์ราโน ปูอิก (Kenia Serrano Puig) สมาชิกรัฐสภาคิวบา และประธานสถาบันชาวคิวบาเพื่อมิตรภาพประชาชน (ICAP) กล่าวไว้ใน นสพ.เวียงจันทน์ไทม์ฉบับวันที่ 19 มี.ค. ว่า สถาบัน ICAP ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อขยายความสมานฉันท์ไปทั่วโลก ระดมการแสดงออกเพื่อความสามัคคีและมิตรภาพจากประชาชนทั่วโลกต่อการปฏิวัติคิวบา

ทั้งนี้สถาบัน ICAP ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ปี 2503 ภายหลังการปฏิวัติคิวบา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพต่อคิวบารวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรมกับประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสถาบัน ICAP

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2537 มีการจัดการประชุมเพื่อความสามัคคีกับคิวบาระดับโลกขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ปัจจุบัน ICAP มีสมาชิกที่เป็นองค์กรมิตรภาพกับคิวบาราว 2,118 องค์กร ใน 158 ประเทศทั่วโลก

โดยพิธีเปิดการประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5 ได้เริ่มขึ้นเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุม ICTC นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีองค์กรประชาชนจาก 21 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วม โดยมีตัวแทนพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยจากไทยเข้าร่วมการประชุมด้วย

ในพิธีเปิด มีการบรรเลงเพลงชาติลาว และเพลงชาติคิวบา จากนั้นตัวแทนยุวชนได้มอบดอกไม้ต้อนรับประธานการประชุม จากนั้น ฯพณฯ ดร.จะเลิน เยียะปาวเฮือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สปป.ลาว ในฐานะประธานสมาคมมิตรภาพลาว-คิวบา กล่าวสุนพรพจน์เปิดงานเมื่อ 19 มี.ค. โดยตอนหนึ่ง ฯพณฯ เจริญกล่าวว่าการจัดงานประชุมที่มีผู้แทนจาก 21 ประเทศเข้าร่วมครั้งนี้ “คือการสะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความสามัคคีกับประชาชนคิวบา ที่ได้รับเคราะห์ร้ายจากการปิดล้อมของอิทธิกำลังปรปักษ์เป็นเวลากว่า 50 ปี แต่ประชาชนคิวบาก็ยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้อันเป็นธรรม อย่างหนักแน่น และวีระอาจหาญ เพื่อเอกราชแห่งชาติ ประชาธิปไตย และเส้นทางก้าวเดินที่มีเกียรติของตนเอง”

ด้าน ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง กรรมการกรมการเมือง ศูนย์กลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาว และประธานสภาแห่งชาติ ได้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมการประชุม ส่วนสหายเคเนีย เซอร์ราโน ปูอิก (Kenia Serrano Puig) ขึ้นกล่าวสุนพจน์โดยตอนหนึ่งได้ขอบคุณตัวแทนองค์กรประชาชนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และว่าในปี 2551 องค์การเพื่อความสามัคคีกับคิวบาได้ขยายตัวออกไปทั่วโลก ปัจจุบันมีองค์กรมิตรภาพอยู่ 2118 องค์การจาก 158 ประเทศ นั่นหมายความว่าความสามัคคีกับคิวบาในทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี พวกเราที่มารวมกัน ณ ที่นี้ เพื่อเฉลิมฉลองกองประชุมเพื่อความสามัคคีกับคิวบาครั้งที่ 5 และขอขอบคุณในความกรุณาของเพื่อนชาวลาวของพวกเรา

สำหรับกำหนดการประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา ครั้งที่ 5 นี้ในวันที่ 19 จะมีการกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนชาวคิวบาโดยผู้แทนจาก 21 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีการสัมมนาหัวข้อ “การลุกขึ้นสู้และการปฏิวัติคิวบาภายใต้แนวคิดของโฆเซ่ มาตี้ เช เกวารา และฟีเดล คาสโตร” และหัวข้อ “การปรับปรุงขบวนการสามัคคีกับประชาชนคิวบาผ่านเครือข่ายสื่อระดับประเทศและระดับภูมิภาค”

ส่วนการประชุมในวันสุดท้ายคือวันที่ 20 มี.ค. จะมีการฉายสารคดีความร่วมมือของชาวคิวบากับนานาประเทศ และการออกแถลงการณ์ร่วมกันของบรรดาผู้แทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุม และมีการกล่าวสุนพจน์ปิดการประชุมโดยผู้แทนจาก สปป.ลาว และคิวบา

นอกจากนี้ตลอดการประชุมมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายการปฏิวัติและการสร้างประเทศคิวบาด้วย

สำหรับการประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความสามัคคีกับคิวบา จัดมาแล้วก่อนหน้านี้ 4 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2538 ที่กัลกัตตา, อินเดีย ครั้งที่สองในปี 2540 ที่ฮานอย ครั้งที่สามในปี 2549 ที่เชนไน อินเดีย ครั้งที่สี่ ที่โคลัมโบ ศรีลังกาปี 2551 และล่าสุดการประชุมครั้งที่ 5 ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net