Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่ด้านหนึ่งของรัฐบาล รื่นเริงกับการป้ายสีผู้ชุมนุมโดยไม่ขาดสายว่า เป็นม็อบรับจ้าง ม็อบคนจน แดงล้มเจ้า แรงงานต่างด้าวแฝงตัว ฯลฯ แต่ในอีกด้าน รัฐก็เล่นบทต่อต้านการแบ่งชนชั้นไปพร้อมกัน นายกฯให้สัมภาษณ์ซ้ำซากว่า สังคมไทยไม่มีชนชั้น ทีวีไทยรับช่วงโดยเปิดพจนานุกรมสอนความหมายของไพร่ นักวิชาการฝ่ายหนุนรัฐประหาร 19 กันยา ยึดทีวีรัฐเพื่ออธิบายว่า ไพร่ตามทฤษฎีคืออะไร ส่วนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็หยิบโน่นผสมนี่แล้วบอกว่า นี่คือการใช้แนวคิดคอมมูนิสม์เคลื่อนไหวทางการเมือง จากนั้นคนไทยทั้งประเทศก็ต้องทนดูโฆษณาชวนเชื่อว่า สังคมไทยไร้ชนชั้นต่อเนื่องมาเกือบสัปดาห์

เพื่อจะคุยเรื่องนี้ต่อไป ต้องเข้าใจว่า ‘ไพร่’ กลายเป็นวาทกรรมที่มีพลังเพราะลักษณะเฉพาะ 3 ข้อ

ข้อแรก ไม่มีมนุษย์คนไหนเป็นไพร่โดยกำเนิด ในทางตรงกันข้าม ความเป็นไพร่ในทุกสังคมถูกสร้างเมื่อคนชั้นสูงตีตราคนส่วนใหญ่ในลักษณะนี้ เจ้าเรียกทาส ขุนนางเรียกข้า คหบดีเรียกบ่าว กษัตริย์เรียกราษฎร นิ้วที่ชี้ว่า ใครคือไพร่ จึงแสดงสถานะอันสูงส่งของฝ่ายชี้เหนือฝ่ายถูกชี้เสมอ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่คนชั้นสูงเห็นตัวเองเหนือคนชั้นล่างทุกด้าน จนคำว่าไพร่กลายเป็นคำที่มีความหมายลบในสังคม

สุภาษิตสมัยศักดินาว่า ‘ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน’ เป็นตัวอย่างของทรรศนะเหยียดคนแบบนี้เหมือนกัน

การตอกย้ำความเป็นไพร่ในการชุมนุมครั้งนี้กลับกัน นั่นคือผู้มีสถานะเป็นรอง จงใจเรียกตัวเองว่าไพร่ เพื่อตอกย้ำการถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรมโดยผู้ที่สูงกว่า

ที่น่าสนใจคือ คำประกาศนี้ไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจก แต่เป็นความรู้สึกร่วมในคนจำนวนมหาศาล ภาษาแบบนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอีกฝ่าย กล่าวอีกนัยคือ ไพร่ในบริบทนี้เป็นวาทกรรมท้าทายฝ่ายที่คิดว่าตัวเองมีสถานะเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคม

ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ความเป็นไพร่ คือเรื่องน่าภาคภูมิใจ คนจนคือคนที่มีศักดิ์ศรี ขณะที่ผู้เหยียดไพร่และหยามคนชั้นล่าง คือภยันตรายของสังคม

ข้อสอง สถานะที่ไม่เท่ากันระหว่างไพร่กับผู้อยู่สูงกว่าในอดีตนั้น ไม่ได้เกิดด้วยความสมัครใจ แต่เกิดจากการใช้กำลังบังคับ นั่นคือหลวงบัญญัติให้สามัญชนเป็นไพร่ จากนั้นก็เขียนกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจใช้ไพร่โดยไม่ให้ค่าตอบแทนปีละหลายเดือนในงานราชสำนัก ทหาร หรือรับสนองมูลนาย ไพร่ที่ไม่ทำตามนี้มีความผิด ยกเว้นจะจ่ายเงินหรือส่วยให้หลวง หรือไม่ก็หนีเข้าป่าและออกจากสังคมไปเลย

ในสังคมไทยเมื่อไม่นานนี้ ไพร่เป็นสมบัติของเจ้านายไม่ต่างจากสัตว์หรือสิ่งของ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงอะไร มีหน้าที่แค่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แม้กระทั่งเสรีภาพก็เป็นเรื่องที่ไพร่ต้องใช้เงินไถ่ถอนจากเจ้านาย

แน่นอนว่าไม่มีผู้ชุมนุมรายไหนคิดว่าตัวถูกกดขี่แบบศักดินาโบราณ ไพร่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นรัฐบาลและพรรคของพวกเขาถูกยุบและถูกรัฐประหารไม่มีสิ้นสุด คนเหล่านี้ถามคำถามที่สั้นและง่าย นั่นคือ ถ้าทุกคนเท่ากัน ทำไมคนหยิบมือเดียวล้มล้างการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ด้วยวิธีต่างๆ ได้ตลอดเวลา วาทกรรมไพร่ในบริบทนี้คือปฏิกริยาโต้การละเมิดหลักความเสมอภาคและการเมืองแบบบังคับใจมหาชนจาก 2549 จนปัจจุบัน

ข้อสาม ไพร่ในกรณีนี้ไม่ใช่ไพร่ตามทฤษฎีมาร์กซ์ แต่เป็นความรู้สึกร่วมระหว่างสามัญชนที่เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันของพวกเขาสัมพันธ์กับการแทรกแซงการเมืองโดยอภิสิทธิ์ชน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สองเรื่องนี้เชื่อมโยงกันจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความรู้สึกเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นคนหยิบมือเดียวมีบทบาทการเมืองล้ำเส้นจนเตือนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม

ไพร่ในบริบทนี้ ไม่ใช่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ แต่เป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองแบบข้ามชนชั้นระหว่างสามัญชนที่ไม่มีสิทธิพิเศษในการตัดสินใจทางการเมืองขั้นสูงสุดในปัจจุบัน ไพร่เป็นอัตลักษณ์ชั่วคราวที่อยู่เหนือความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ภาษา ชาติพันธุ์ หรือภูมิลำเนา อภิมหาเศรษฐีกับชาวนารายย่อยจึงเป็นพวกเดียวกันได้ในเวลานี้ เช่นเดียวกับที่คนชนบทอีสาน เป็นพวกเดียวกับคนชั้นกลางบางส่วนในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

กล่าวในแง่นี้ ความเป็นไพร่ขณะนี้ เกิดจากการผสานของปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคือการดำรงอยู่ของการเมืองแบบรัฐประหารและความอยุติธรรมในสังคมด้านต่างๆ ปัจจัยภายในคือความต้องการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำจนเห็นว่า พลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย คืออุปสรรคต่อความเป็นคนที่แท้ วาทกรรมนี้มีพลังเพราะสังคมมีคนไร้เส้นสายมากกว่าคนที่มีอภิสิทธิ์แน่ และการเล่นการเมืองแบบบังคับจิตใจคนส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาก็คือการประกาศให้เห็นว่า เสียงของพวกเขาไม่สำคัญเลยในสายตาของคนบางคน

วาทกรรมไพร่มีพลัง เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกว่าด้อยกว่าใครไปตลอดชีวิต อำนาจของวาทกรรมไพร่อยู่ที่การชี้ให้เห็นว่า อะไรคือเหตุให้คนเป็นไพร่ต่อไปในปัจจุบัน

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีการยุบพรรคไทยรักไทยด้วยศาล ไม่มีการปลดนายกฯ ที่ชนะเลือกตั้งครั้งที่แล้วด้วยข้อหาสติแตก ไม่มีการไล่ล่าอีกฝ่ายด้วยกลยุทธ์ที่ทำลายบรรทัดฐานทุกอย่าง ไม่มีการแทรกแซงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญสูงสุดหลายครั้ง ไม่มีการยุบพรรคซ้ำซาก ไม่มีสองมาตรฐาน ก็ไม่มีทางเลยที่ความรู้สึกร่วมแบบนี้จะเกิดขึ้นมา ความหมายคือ วาทกรรมนี้จะหมดไปถ้าไม่มีเงื่อนไขทางวัตถุที่ได้กล่าวมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net