ใจคน หนทาง บนเส้นทางแห่งลำน้ำโขง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บันทึกจาก “คณะสำรวจนิเวศวัฒนธรรมแม่น้ำโขงอีสาน” ใช้เวลา 6 วันจากเชียงคานถึงอุบลราชธานี เพื่อสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง

คงต้องยอมรับว่า ด้วยความรู้อันน้อยนิดเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ทำให้อดรู้สึกตื่นตระหนกและเป็นกังวลกับภาพความแห้งขอดของสายน้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้ที่ปรากฏให้เห็นผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ไม่ได้ ประกอบกับตัวเองก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถเดินเรือจากเชียงของไปเที่ยวเมืองหลวงพระบางได้เนื่องด้วยน้ำแห้งเช่นกัน ทำให้เมื่อได้รับคำเชิญชวนให้ไปร่วมคณะสำรวจแม่น้ำโขงซึ่งตั้งใจจะเดินทางจากจังหวัดเลยเลาะเลียบไปจนกระทั่งถึงอุบลราชธานี จึงตกปากรับคำทันท

เราเริ่มต้นการเดินทางสำรวจแม่น้ำโขงจากเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมีคณะร่วมทางทั้งจากกรุงเทพฯ อุดรธานี และอุบลราชธานี รวมทั้งหมด 7 คน  จะว่าไปภาพแม่น้ำโขงริมเรือนพักที่เชียงคาน ก็ยังคงมีน้ำให้เรือได้ล่องไปมา หรือออกหาปลากันเช่นเคย แม้ว่าระดับน้ำจะลดต่ำลง มีหินมีทรายให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายเท่าภาพที่ติดอยู่ในหัวก่อนมา จะมารู้สึกว่าแม่น้ำโขงแห้งได้ขนาดนี้เลยเชียวหรือจริงๆ ก็ตอนไปถึงแก่งคุดคู้ สถานที่ท่องเที่ยวที่คนไปถึงเชียงคานแล้วต้องแวะนั่นแหละ เพราะได้เห็นหาดยื่นออกจากฝั่งไกล แต่ที่แก่งคุดคู้นี้ก็เป็นเสมือนบทเรียนสำคัญที่ทำให้ตระหนักว่า การเห็นแล้วตัดสิน โดยเชื่อว่าเป็นคำตอบสุดท้ายในทันทีนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะจากการสอบถามชาวบ้านที่กำลังหาปลาอยู่ ก็พบว่า แม่น้ำโขงก็แห้งอย่างนี้เป็นประจำทุกปี ถือเป็นช่วงหน้าแล้งที่พวกเขาสามารถถืออุปกรณ์ เดินลงมาหาปลากันได้ แถมแม่ค้าแม่ขายยังใช้หาดเป็นสถานที่เปิดร้านอาหารให้นักท่องเที่ยวลงไปนั่งกินอย่างใกล้ชิดกับน้ำโขงได้อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ถามว่าแม่น้ำโขงแห้งมากกว่าทุกปีที่เคยเป็นหรือไม่ คงต้องยอมรับว่า ทุกคนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าระดับน้ำลดลงกว่าที่เคยเป็นจริง และก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมิอาจจะปฏิเสธได้ นั่นก็คือกลุ่มผู้เดินเรือท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติเพราะอาจเกิดอันตรายนั่นเอง และเมื่อเสียประโยชน์จากการมีน้ำไม่พอ ทางออกที่พวกเขาคิดฝันก็คือการสร้างเขื่อนด้วยเชื่อว่าจะช่วยกักน้ำไว้ให้ใช้อย่างพอเพียงนั่นเอง

จากการไปเพื่อหาคำตอบ ตอนนี้กลับมีคำถามที่ก่อเกิดขึ้นภายในใจหลายประการ ระบบนิเวศน์ อาชีพ วิถีชีวิตที่สังเกตเห็น และการได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นระยะ ทำให้ค่อยๆได้เรียนรู้ว่า แม่น้ำโขงสายนี้ช่างมีความหลากหลายในตัวเองเสียเหลือเกิน บางแห่งก็มีลักษณะเป็นแก่ง เช่นแก่งจันทร์ ที่ปากชม หรือแก่งอาฮง ที่บึงกาฬ ลักษณะเป็นหินเรียงรายจากฝั่งไปกลางน้ำ บ้างก็เป็นดอน โดยมีทั้งที่เป็นดอนกลางน้ำ และดอนที่กว้างใหญ่ขนาดสามารถเดินข้ามไปแดนลาวได้ อย่างดอนโคราช ที่นากั้ง บ้างเป็นหาดทรายกว้าง และบ้างก็เป็นแม่น้ำเต็มจนชนฝั่ง ซึ่งชาวบ้านแต่ละท้องที่ต่างก็มีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับลักษณะทางนิเวศน์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอุปกรณ์หาปลาให้เหมาะสมกับพื้นที่ และฤดูกาล การใช้หาดทรายริมโขงในการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกยาสูบ และข้าวโพดซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมกันเกือบจะตลอดเส้นทาง อีกทั้งยังมีชาวบ้านบางส่วนที่รู้จักเลือกพื้นที่เพื่อลงไปร่องทองยามน้ำลดอีกด้วย ทำให้ชวนคิดว่า ภัยแล้งหรือวิกฤตน้ำโขงแห้งที่สื่อต่างๆต่างพากันประโคมข่าว และฉายภาพหินทรายที่แห้งขอดของแม่น้ำให้หวั่นวิตกนั้น แท้จริงแล้วผู้สื่อข่าวเข้าใจนิเวศของแม่น้ำสายนี้มาน้อยเพียงไร และที่ว่าชาวบ้านเดือนร้อนมากเพราะไม่มีน้ำใช้นั้น เป็นความจริงเพียงไหนกันแน่

ถามว่าแม่น้ำโขงลดระดับลงมากกว่าทุกปีจริงไหม ชาวบ้านทุกคนตอบว่าจริง ถามว่าคิดว่าเหตุใดน้ำโขงจึงแห้งลงกว่าทุกปี ชาวบ้านแทบทุกคนตอบว่า ได้ยินข่าวเขาบอกว่าจีนสร้างเขื่อนกักน้ำไว้ บางคนก็ถามกลับว่าจริงไหม เห็นน้ำท่วมก็โทษจีนน้ำแล้งก็โทษจีน ความจริงเป็นเช่นไร เมื่อถามว่าคิดว่าควรจะจัดการเรื่องแม่น้ำโขงอย่างไร ชาวบ้านมักตอบว่าพวกเขาไม่มีปัญญา เป็นเรื่องระดับชาติที่ควรตกลงกัน อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่าแม่น้ำโขงแห้งลงอย่างนี้ พวกเขาเดือดร้อนไหม ส่วนใหญ่มักตอบว่าไม่เดือดร้อนอะไรนัก อาจจะด้วยเหตุที่ชาวบ้านที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่สามารถใช้แม่น้ำโขงทั้งในการทำนาปรัง และการปลูกพืชผักต่างๆเพื่อขายให้กับโรงงานได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นพริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว หรือข้าวโพด โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีสถานีสูบน้ำไฟฟ้า ซึ่งทำการสูบแม่น้ำโขงมาใส่คลองบ้าง หรือใส่ห้วยบ้าง เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำไปใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง เพียงแต่การใช้แม่น้ำโขงจากการสูบนี้จะต้องเสียค่าบริการตามที่ตกลงกันไว้ มีตั้งแต่ชั่วโมงละ 60 -100 บาท บางแห่งก็คิดเป็นไร่ เช่นถ้าปลูกพืชสวนไร่ละ 220 บาท ถ้าเป็นที่นาปรังไร่ละ 250 บาท โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ และมีการจ้างผู้ดูแลสถานีสูบน้ำเป็นรายเดือน ที่เดือดร้อนก็จะมีก็เพียงคนคุมสถานีสูบน้ำบางแห่งที่บอกว่าสูบน้ำลำบากขึ้น หรือบางคนที่ทำประมงเป็นอาชีพเสริมแล้วบอกว่าหาปลายากขึ้น เนื่องจากน้ำลดและเชี่ยวขึ้น เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่เดือดร้อนของชาวบ้านซึ่งยังสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ทั้งวันทั้งคืนและทั้งปีได้นั้น ก็ทำให้น่าคิดอีกเช่นกันว่า แท้จริงแล้วการที่ชาวบ้านทำนาและปลูกพืชทั้งปี เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม นำประเทศให้พัฒนาตามตัวชี้วัดจีดีพี แทนที่จะปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาลดังที่เคยเป็นนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญซึ่งทำให้แม่น้ำโขงตกอยู่ในภาวะวิกฤต นอกเหนือจากคำกล่าวว่ามาจากสาเหตุการสร้างเขื่อนของจีน โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัวด้วยหรือไม่ ที่สำคัญหากชาวบ้านเดือนร้อนจากแม่น้ำโขงแห้งจนไม่มีน้ำใช้จริง จนหน่วยงานภาครัฐเสนอโครงการสร้างเขื่อนอย่างทันควัน ด้วยความหวังว่าจะให้ชาวบ้านมีน้ำใช้กันนั้น การมีน้ำจากเขื่อนจะเป็นทางออกให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกับสายน้ำสายนี้ได้จริงหรือ หรือสุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ตกเป็นเพียงเครื่องมือ ที่ภาคเอกชนใช้ให้ผลิต ภาครัฐใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีบั้นปลายของชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อของสารพิษจากยาฆ่าแมลง และมีรุ่นลูกหลานประสบกับภัยธรรมชาติที่ถูกกระหน่ำใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันแน่

จากประสบการณ์การเดินทางสำรวจ 6 วัน ในฐานะเพียงผู้ผ่านทาง คงไม่อาจตัดสิน หรือเลือกข้างได้ว่าแนวทางการจัดการน้ำซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขงนี้ควรจะเป็นเช่นไร แต่เรื่องราวระหว่างทาง ก็ทำให้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของแม่น้ำโขงที่เป็นมากกว่าแหล่งน้ำเพื่อการประปา การเกษตร หรือเพื่อการเดินเรือที่ทำให้แต่ละประเทศสามารถขนส่งสินค้าถึงกันได้อย่างไร้พรมแดนเท่านั้น ทว่าแม่น้ำสายนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของชีวิต ความสัมพันธ์ รวมถึงวัฒนธรรมต่างๆมากมาย อีกทั้งยังเป็นเสมือนตัวกลางสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองฝั่งเข้าด้วยกัน ดังเช่นที่คนฝั่งไทยลาวต่างก็ยังคงเป็นพี่น้องที่ไปมาหาสู่ และร่วมงานบุญประเพณีของกันและกันอยู่อย่างแน่นแฟ้น แม้ว่าจะแฝงไปด้วยความรู้สึกกลัวการถูกจับกุมจากผู้ขึ้นชื่อว่ารักษากฎหมายอยู่บ้างก็ตาม

คุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสายน้ำเหล่านี้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนตลอดสายน้ำ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นสู่ปลายแม่น้ำโขงควรจะตระหนัก และร่วมกันใช้น้ำอย่างเคารพและรู้คุณค่า ก่อนที่แม่น้ำสายนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต จนนำไปสู่สงครามน้ำ ที่ท้ายสุดแล้วคงไม่มีใคร ไม่ว่าจะชนชาติใด ชนชั้นไหนเป็นผู้ชนะ เพราะทั้งแม่น้ำ และผู้คนต่างก็มิอาจอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปได้นั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท