Youth Summit : เยาวชนรวมพล 'กู้โลก'


ละครวิทยาศาสตร์

กิจกรรม Youth Summit รณรงค์ลดโลกร้อน
 
 
ตัวอย่างผลงานภาพวาด 20 ปีโลกอนาคต
 
 
เด็กๆ ช่วยกันออกแบบสิ่งประดิษฐ์รักษ์โลก
 
 
น้องๆที่ร่วมกิจกรรม
 
 
น้องกอล์ฟ
 
 
น้องฟู
 
 
น้องสิทธิ์
 
 

แม้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่จัดโดยสหประชาชาติ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จะคว้าน้ำเหลว ท่ามกลางสภาวะความแปรปรวนของภูมิอากาศและภัยพิบัติอันโหดร้ายจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทว่าเยาวชนนักประดิษฐ์กลุ่มหนึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขารวมตัวกันเดินทางจากทั่วประเทศเพื่อมาร่วม กิจกรรมค่าย “Climate Change Camp” เพียงเราปรับ...โลกก็เปลี่ยน” กิจกรรมดีๆ ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

นางพนิดา วิชัยดิษฐ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สพฐ.) ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ กล่าวว่า ทาง สพฐ.มีโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ที่ได้ดำเนินการการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเป็นตัวแทนระดับประเทศเข้าประกวดระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี พร้อมกันนี้ก็ได้มีการจัดค่ายนักประดิษฐ์โดยการนำเยาวชนที่ส่งผลงานเข้าประกวดมาร่วมทำกิจกรรมเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งในปีนี้ทางสพฐ.ได้ร่วมกับสวทช. จัดค่ายวิทยาศาสตร์ในหัวข้อ “Climate Change Camp” เพียงเราปรับ...โลกก็เปลี่ยน เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการฝึกฝนกระบวนการคิด จินตนาการ โดยหวังว่าท้ายที่สุดแล้วเยาวชนจะสามารถนำความรู้ทั้งสองด้านมาตกผลึกทางความคิด และก้าวเข้าสู่การเป็นนักประดิษฐ์ที่มีจิตสำนึกรักษ์โลก ประหยัดใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรม นางมนธิดา สีตะธนี ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รูปแบบกิจกรรมค่ายเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักและแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการทั้งศาสตร์และศิลป์ อาทิ การบรรยายความรู้พื้นฐานและผลกระทบต่างๆ จากภาวะโลกร้อน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมวาดภาพจินตนาการอนาคต และการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น กิจกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการเสนอแนวคิดผ่านโครงงานสิ่งประดิษฐ์และละครวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นเวที Youth Summit ที่ให้ครูและเยาวชนกว่า 300 ชีวิตร่วมกันระดมสมอง เสนอความคิด เพื่อร่วมกันหาแนวทางการรณรงค์ลดโลกร้อน และท้ายที่สุดคือการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ชิ้นงานและกระบวนการผลิต 

"เพียงเราปรับ โลกก็เปลี่ยน ไม่ใช่แค่ชื่อค่ายครับ แต่เป็นแนวคิดที่เชื่อว่านอกจากผมแล้ว เพื่อนๆในค่ายทุกคนจะได้รับติดตัวนำกลับไปใช้ด้วย” น้องกอล์ฟ หรือ นายชาติพงษ์พุดทิวา นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้รับหลังทำกิจกรรมและว่า ก่อนหน้านี้ โลกร้อน เป็นเพียงคำหนึ่งคำที่เคยได้ยินมา แต่ได้มาเข้าใจอย่างลึกซึ้งก็ภายหลังจากเข้าค่ายนี้ 

“เวลามีข่าวพูดเรื่องโลกร้อนก็รู้นะครับ แต่ไม่ได้ใส่ใจมาก พอได้มาเข้าค่ายนี้ ได้รู้อะไรเพิ่มเยอะเลย ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ วิธีป้องกัน หรือแม้แต่การเอาตัวรอดในยามที่เกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ก็ยังได้ความรู้ใหม่ๆ เช่น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ โปรแกรมที่ใช้คำนวณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรม ซึ่งวิทยากรให้พวกเราลองคำนวณการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานในบ้านของเราดู ปรากฏว่าครอบครัวผมปล่อย CO2 ออกมาถึง 3.38 ตันต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงบางส่วนของการทำกิจกรรมตลอดวันเท่านั้น จากนั้นวิทยากรก็ให้ลองปรับลดการใช้งานบางอย่าง เช่น ลดใช้แอร์จาก 3 เครื่อง เป็น 2 เครื่อง ปรับอุณหภูมิจาก 20 มาเป็น 25 องศาเซลเซียส ซึ่งพอลองคำนวณใหม่ผมลดการปล่อย CO2 เหลือ 3.25 ตันต่อปี เห็นได้ชัดเจนเลยว่า แค่เราปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยก็ช่วยโลกได้แล้ว แม้ปริมาณการลด CO2ต่อครอบครัวจะดูเล็กน้อย แต่ถ้าช่วยกันทุกคน โลกของเราคงไม่ต้องเผชิญกับภาวะความแปรปรวนของอากาศ และภัยพิบัติต่างๆมากเช่นนี้ครับ "

ด้าน “น้องสิทธิ์” หรือ นายอภิสิทธิ์ อารีย์วงศ์ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(ภาคใต้) จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับทุกกิจกรรมในค่าย เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ที่สำคัญมีเวลาให้ได้ช่วยกันคิด เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น ทำให้ทุกคนดึงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ในทุกกิจกรรม เช่น การวาดภาพจินตนาการ มีโจทย์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าโลกจะเป็นอย่างไร และจะมีเทคโนโลยีอะไรมาช่วยบ้าง ซึ่งในส่วนของผมจินตนาการว่า อีก 20 ปี น้ำท่วมโลก เราอาจจะมีบ้านอยู่ใต้น้ำ ใช้เรือดำน้ำเป็นยานพาหนะแทน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Youth Summit ที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้เข้าไปเรียนรู้ผลกระทบจากโลกร้อนในแง่มุมต่างๆ เช่น น้ำทะเลเป็นกรด โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นต้น โดยต้นตอที่ทำให้โลกต้องตกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายเช่นนี้ ก็ล้วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี สิ่งแรกที่ผมตั้งใจจะทำหลังจากกลับจากค่ายนี้คือ ผมจะเปิดแอร์เป็นช่วงเวลา จากเปิด 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า จะเปลี่ยนมาเปิด 5 ทุ่ม แล้วตั้งเวลาปิดตอน ตี 5 เริ่มวันละนิดที่ตัวเราก่อนครับ ผมเชื่อว่าในเมื่อมนุษย์เปลี่ยนโลกให้แย่ลงได้ เราก็สามารถปรับพฤติกรรมใหม่ เพื่อให้โลกดีขึ้นได้เช่นกันครับ

ขณะที่ “น้องฟู” หรือ นางสาวเกศินี บัวโรย นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมัธยมวิทยา จังหวัดลำปาง กล่าวว่า มาค่ายนี้ทำให้เริ่มมีมุมมอง ทัศนคติต่อวิธีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไป เพราะเดิมคิดว่าโลกร้อนก็คงอีกนานกว่าจะได้รับผลกระทบจริงๆ แต่พอมาเข้าค่ายทำให้เห็นว่าผลกระทบจากโลกร้อนนั้นใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด และหลายอย่างดูน่ากลัวและรุนแรงอย่างที่เราคาดไม่ถึง สำหรับกิจกรรมที่ประทับใจและคิดว่าเป็นประโยชน์มาก คือฐานขยะ ได้ความรู้วิธีการแยกขยะ การทำลาย การนำกลับมาใช้ใหม่ในหลัก 6 R ได้แก่ Reduce ลดปริมาณขยะ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่ Repair การซ่อมแซมสิ่งของให้กลับมาใช้ใหม่ Recycle แปรสภาพและหมุนเวียนมาใช้ใหม่ Reject การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดมลพิษ และที่สำคัญเลยคือ Rethink คิดใหม่ เปลี่ยนความคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดเราสามารถเอาไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และยังมาช่วยเสริมในงานประดิษฐ์ โดยงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งต่อไป ตั้งใจว่าจะหันมาเลือกใช้วัสดุที่ใช้แล้วมาสร้างนวัตกรรมชิ้นใหม่ เพราะเพียงแค่เราใส่ใจกับการแยกขยะสักนิด จากขยะร้าย ทำลายสภาพอากาศ ก็จะกลายมาเป็นขยะที่มากด้วยคุณประโยชน์ค่ะ

 

 

 
 
 
 

 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท