จดหมายรักถึงนักปราบคอรัปชั่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พี่รสนาที่เคารพ

เมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่พี่รสนาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ยังความชื่นชมให้กับผู้ใส่ใจกับปัญหาสังคมทั่วไป และนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ยังไม่นับความพยายามปราบปรามคอรัปชั่นที่พี่รสนากับหลายท่านมีส่วนช่วยขุดคุ้ยอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา จนเป็นเหตุให้อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งถึงกับต้องโทษจำคุก นับเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง นี้ยังไม่นับอุปการและคุณูปการด้านพุทธศาสนาที่พี่รสนา กลุ่มและมูลนิธิต่าง ๆ ที่พี่เกี่ยวข้องได้เอื้อเฟื้อต่อสังคม ทั้งที่ผ่านงานแปล งานพิมพ์ งานสัมมนาทั้งหลาย ไม่น่าเชื่อว่าวันหนึ่งผมจะต้องเขียนจดหมายรักฉบับนี้ถึงพี่ ในฐานะคนที่มักคุ้น ชื่นชม และยกย่อง

แต่สืบเนื่องจากรายงานข่าวชิ้นนี้ “3 ส.ว.สุดทนพฤติกรรมไพร่แดง อัด“อนาริยะคุกคาม” จี้นายกฯใช้กม.เข้ม ปล่อยไว้หวั่นบานปลาย” (http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000042080) ส่วนเริ่มต้นของรายงานระบุว่า พี่ได้กล่าวว่า

“การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมามีการพูดถึงคำว่าสันติวิธี หรือคำว่า “อารยะขัดขืน” แต่ ในทางปฏิบัติจริงกลับเป็นลักษณะของการคุกคาม โดยสิ่งที่เราเห็นอยู่ในหลายวันนี้ ความจริงมันเป็น “อนาริยะคุกคาม”ไม่ว่าจะเป็นการปาอุจจาระใส่บ้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หรือการเอาเลือดไปเท”

ในฐานะได้มีโอกาสไปสัมผัสโดยตรงกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงหรือนปช.เป็นเวลาหลายวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อนหน้านี้ ผมเชื่อว่า อย่างน้อยในระดับแกนนำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก มีความเชื่อมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างแท้จริง ผมนึกถึงสมัยที่พี่รสนาและเพื่อนเคยแปลหนังสือของมหาตมคานธีที่ชื่อว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ซึ่งปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่หันไปเห็นความสำคัญของคนระดับรากหญ้า และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขบวนการฟื้นฟูและพัฒนาชนบท โดยให้ความสำคัญแก่พวกเขา ให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผมอยากเชิญชวนให้พี่รสนาได้มาสัมผัสกับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยตนเอง ผมเชื่อว่าการคุกคามที่ผ่านมาที่พี่และครอบครัวได้รับโดยตรง อาจทำให้เกิดภาพแห่งความรุนแรงที่ยังไม่จางหาย แต่หากพี่ยังเชื่อมั่นใน “ชนบท” เหมือนอย่างที่ผมและหลาย ๆ คนเชื่อ ผมอยากขอให้พี่ในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน ลงไปสัมผัสและพูดคุยกับพวกเขาบ้าง ผมเชื่อว่าพี่รู้จักแกนนำบางส่วนในนปช. อย่างเช่นพี่จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หมอเหวงและคนอื่น ๆ คงมีวิธีจัดการเพื่อให้การเดินทางไปเยี่ยมเกิดความราบรื่น ผมเชื่อว่าพี่จะได้ภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากภาพที่สื่อต่าง ๆ ตั้งใจนำเสนอ ซึ่งมักจะเน้นไปที่ความรุนแรง แต่ผมยืนยันได้ด้วยเกียรติเท่าที่มีอยู่ว่า โดยส่วนตัวผมยังไม่ได้สัมผัสกับความรู้สึกของกลุ่มนปช.ที่จะมุ่งไปในทางรุนแรง

พี่ยังบอกในรายงานข่าวชิ้นเดียวกันด้วยว่า
 
“หรือแม้แต่การนำสติกเกอร์ “ยุบสภา” ไปแจก พอมีคนไม่รับก็มีการใช้กำลัง ตบตีผู้หญิง ไล่กระทืบกัน แล้วบอกว่าเป็นการกระทำของแดงปลอม”

ถ้าการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่ควรประณามอย่างยิ่ง แต่เช่นเดียวกับการรายงานข่าวทั่วไป การแสดงให้เห็นภาพรวมของการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญ แต่น่าเสียดายที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักเลือกบางแง่มุมที่เป็นภาพความรุนแรงของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ขึ้นมาเชิดชู เพื่อตอกย้ำวาทกรรมของรัฐที่พยายามบอกกับสังคมว่า “ม็อบเสื้อแดง = ความรุนแรง”

ในฐานะที่พี่รสนาเคยเคลื่อนไหวตามแนวทางสันติในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมทั้งในช่วงพฤษภาประชาธรรมที่ผมและคนรุ่นใหม่ (ในขณะนั้น) ได้มีโอกาสร่วมมือกับพี่รสนาและกัลยาณมิตรหลายท่าน พี่รสนาคงตระหนักดีว่า ในการเคลื่อนไหวของมวลชนนั้น การควบคุมให้ทุกภาคส่วนทั้งหมดในขบวนการยึดมั่นต่อสันติวิธี ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะต่างคนต่างที่มา ต่างคนต่างความคิด มิหนำซ้ำโดยภาพรวมแล้วคนไทยยังขาดการฝึกอบรมตามแนวทางสันติวิธีอย่างจริงจัง ในส่วนที่พี่บอกว่า

“หากเป็นแบบนี้ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนจะสับสน และเกิดความหวาดกลัว และทำให้ไม่กล้าพูดอะไรมาก เพราะกลัวจะถูกขีดรถ ทุบรถ และกลัวตามไปถึงบ้าน สภาพแบบนื้ถือว่าเป็น “อนาริยะคุกคาม””

ในสมัยที่ประชาชนลุกฮือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็มีภาพเช่นนี้ไม่ต่างกัน ถ้าพี่ยังจำได้ มีกลุ่มมอเตอร์ไซด์ที่ขับพล่านไปทั่วเมือง ทุบตีไฟแดง ทำลายทรัพย์สินสาธารณะต่าง ๆ เผาสถานีตำรวจ เผาอาคารสำนักงานกรมสรรพากร ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนั้น เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ห่างไกลกันลิบลับในแง่ของ “การคุกคาม” ผมคิดว่าอาจเป็นการด่วนสรุปไปสักหน่อยว่า การกระทำของกลุ่มนปช.เป็นไปในแนวทาง “อนาริยะคุกคาม” และอันที่จริงสิ่งที่พี่พูดถึง อย่างเช่น การถูกขีดรถ การทุบรถ และตามไปถึงบ้าน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และดูจากแนวโน้มที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

สุดท้ายพี่รสนายังบอกด้วยว่า “สิ่งเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ฉับพลัน ทันเวลา แต่ไม่ใช้ความรุนแรง”

อันนี้ต้องชื่นชมที่อย่างน้อยยังมีอนุสนธิว่า รัฐต้อง “ไม่ใช้ความรุนแรง”

การดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยแท้ ในทางกลับกันการเคลื่อนไหวในกรอบแห่งสันติ (ที่ในขณะนี้พี่อาจไม่เห็นด้วยก็ตาม) ย่อมเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพอันเป็นสากลและไม่อาจพรากจากไปได้ของมนุษย์ทุกคน ที่พี่บอกว่ารัฐบาลต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ฉับพลัน และทันเวลานั้น น่าจะพิจารณาจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ก่อน ในเมื่อมีการส่งทหารกว่าแสนนายมาประจำอยู่ในเมืองกรุง ติดอาวุธครบมือ พร้อมกับงบประมาณมหาศาลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของทหาร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ “ภัยคุกคาม” ต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากกว่าหรือ การที่อำนาจทั้งสาม ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต่างต้องพึ่งพาการคุ้มครองจากทหารเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไปกินอยู่ในค่ายทหาร สภา (ซึ่งเป็นที่ประชุมของผู้แทนประชาชน) ต้องได้รับการคุ้มครองจากลวดหนามและกำแพงคอนกรีต พร้อมทหารและอาวุธหนัก ส่วนศาลก็ต้องพึ่งพาการรักษาความปลอดภัยเป็นส่วนตัวจากทหาร โดยที่ภัยคุกคามต่อพวกเขา แท้จริงแล้วคือประชาชนเรือนแสนที่ออกเสนอข้อเรียกร้องซึ่งไม่ต้องใจต่อชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง และอาวุธของพวกเขาคือ ความอดทนและเสียงโห่ร้อง

อย่างนี้หรือจะเรียกได้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” (หรือเป็นของทหารกันแน่)

หากอำนาจทั้งสามเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ผมคิดว่ามีทางออกที่ดีกว่านี้มาก นอกจากการประณามหยามเหยียดคนจาก “ชนบท” นอกจากการเลือกสรรเฉพาะแง่มุมที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ เพื่อตอกย้ำวาทกรรมความรุนแรงของการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. ผมคิดว่าผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนเหล่านี้ควรลงไปพูดคุยกับประชาชนที่เข้ามาเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย เขาคงมีปัญหา เขาถึงทิ้งบ้านเกิดเดินทางไกลมาที่นี่ รอนแรมอยู่ข้างถนนที่แสนจะระอุ ตรากตรำกับสภาพเมืองที่พวกเขาไม่คุ้นเคย (บางคนอาจบอกว่าจ้างมา แต่นั่นไม่น่าจะเป็นความจริงทั้งหมด และไม่ใช่ประเด็นสำคัญ)

ในฐานะผู้แทนประชาชน การที่มีกลุ่มประชาชนจำนวนเรือนแสนมาร้องเรียนขอความเป็นธรรม ควรแล้วหรือที่เราจะเบือนหน้าหนี ควรแล้วหรือที่เราจะประณามและแสดงความเห็นว่ารัฐต้องใช้ “กฎหมาย” จัดการอย่างเด็ดขาด ทั้ง ๆ ที่พี่รสนาและคณะก็อาจทราบดีอยู่ว่า กฎหมายนั้นเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่อาจคลี่คลายปัญหา ในทางกลับกันก็อาจทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายได้เช่นกัน ดังที่ว่านิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ต้องไปด้วยกันเสมอ

ส่วนเรื่องที่พี่ (ความจริงสามีคือ พี่สันติสุข โสภณสิริ ด้วย) โดนกระทำในรัฐสภานั้น เป็นการคุกคามส่วนตนอย่างเห็นได้ชัด ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังคมจะต้องประณาม และความจริงน่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างเด็ดขาดด้วยครับ

สุดท้ายจริง ๆ อยากฝากเครือข่ายสันติวิธี ซึ่งเข้าใจว่าพี่รสนาและคณะมีส่วนร่วมด้วยว่า การเรียกร้องให้ “หยุด” ความรุนแรงนั้น เป็นสิ่งที่ดีเพียงด้านเดียว (stick) แต่สิ่งที่เครือข่ายสันติดูเหมือนจะขาดไปคือการแสดงความตระหนักถึงและความประทับใจต่อภาพการไม่ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายก็ควรแสดงความรู้สึกในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน (carrot) จึงจะทำให้ภาพสมดุลกัน และยังเป็นการหลีกเลี่ยงกับดักที่นักวิชาการกล่าวหาว่าเป็น “พวกขาวเนียน” คือพวกแปลงกายจากสีต่าง ๆ และใช้โล่สันติวิธีกำบังกาย โดยมีวาระซ่อนเร้นซึ่งอยู่บนฐานความไม่เชื่อมั่นต่อพลังของประชาชน

ด้วยความเคารพ

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์

ปล. ที่พี่รสนาบอกว่า “คนอิรักที่เอารองเท้าปาใส่ จอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ติดคุก 3 ปี แต่คนที่เอาอุจจาระปาบ้านนายกฯกลับติดคุกแค่ 5 วัน เห็นได้วิธีการแบบนี้ว่าต้นทุนในการทำผิดต่ำมาก” ผมมีสองประเด็นที่ฝากให้พิจารณา

1. ความจริงนาย Muntadhar al-Zaidi ซึ่งเป็นนักข่าวอิรักผู้ขว้างรองเท้าใส่ประธานาธิบดีบุชนั้น ได้รับโทษจำคุกสามปีจริง แต่ศาลปราณีลดหย่อนโทษเหลือเพียงหนึ่งปี และติดจริงแค่เก้าเดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน 2552 (โดยศาลอิรักใช้เวลาพิจารณาคดีนี้เพียง 90 นาที และเราจะเชื่อได้หรือว่าศาลและระบบต่าง ๆ ที่ถูกกองทัพสหรัฐฯ ควบคุมอยู่ จะแสดงความเป็นกลางได้) ความจริงก่อนที่เขาจะปารองเท้าคู่นั้นใส่ประธาธิบดีบุช เขาตะโกนบอกด้วยว่า "คู่นี้สำหรับหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า” (“this is for the widows and orphans") ซึ่งเท่ากับเขากำลังบอกประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประชาคมโลกว่า การคุกคามของสหรัฐอเมริกา ทั้งการทำสงครามอิรักสองครั้ง และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในช่วงประธานาธิบดีผู้พ่อเกือบทศวรรษนั้น ทำให้ผู้ชายจำนวนมากเสียชีวิต และภรรยากับลูกต้องสูญเสียคนที่รักและพึ่งพาได้ไป ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางสังคมทบเท่าทวีคูณ จึงไม่แปลกที่สำหรับสื่อตะวันตกบางส่วนมองว่า Muntadhar al-Zaidi เป็นปีศาจ แต่สำหรับชาวอาหรับและผู้รักสันติวิธีทั่วโลก เขาเป็นวีรบุรุษ และไม่มีเสียงประณามต่อเขา (ดูข้อมูลบางส่วนได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Muntadhar_al-Zaidi)

2. ที่พี่รสนาบอกว่า โทษสำหรับการขว้างอุจจาระเป็น “ต้นทุนในการทำผิดต่ำมาก” ในแง่ของความรุนแรงของอัตราโทษเทียบกับความรุนแรงของอาชญากรรมนั้น ถ้าพี่บอกว่าขว้างรองเท้าติดคุกสามปี ปาอุจจาระกลับติดคุกห้าวัน (ความจริง 10 วัน แต่ศาลลดหย่อนให้) ผมอยากถามว่าเหตุใดในกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลายประเทศในยุโรป อย่างเช่นในเนเธอร์แลนด์ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี (โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ) ซึ่งตามทัศนะของนาย Van den Hout เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย ถือว่าเป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูงแล้วเมื่อเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั่วไปที่มีโทษจำคุกเพียงสามถึงหกเดือน และควรตราไว้ด้วยว่าโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ถูกท้าทายว่าไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและของยุโรปเองอย่างมาก กรณีที่ผู้สื่อข่าวในฝรั่งเศสถูกฟ้องร้องว่าหมิ่นกษัตริย์โมร็อกโก และถูกศาลในประเทศลงโทษอย่างหนัก ต่อมาเมื่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิจารณา ก็ตัดสินลงโทษให้จ่ายเพียงค่าปรับ กรณีนิตยสารในสเปนซึ่งถูกหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลก็สั่งให้ปรับเช่นกัน ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้ลดอัตราโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในยุโรป  (Europe's lese majeste laws and the freedom of expression และ Dealing with lese majeste in Netherlands)

เช่นนี้จะอธิบายได้อย่างไรว่า อัตราโทษของคนขว้างรองเท้าใส่ประธานาธิบดีบุชเป็นอัตราโทษที่เหมาะสมแล้ว แต่กรณีคนที่เอาอุจจาระไปปาบ้านนายกฯ พี่กลับเห็นว่าไม่เหมาะสม

ถ้าให้ผมอธิบายก็คือว่า ในสากลโลก เขาให้ความสำคัญกับ “สิทธิมนุษยชน” อย่างแท้จริง และถือว่ามีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด อัตราการลงโทษที่มีลักษณะต่อต้าน “สิทธิมนุษยชน” จึงถูกต่อต้านอย่างมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท