Skip to main content
sharethis

เราอยากจะมาเรียกร้องเพื่อสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม สร้างกรรมการที่เป็นธรรมเข้าไปแข่งขันกันใน กติกาใหม่ ถ้าใครชนะก็บริหารประเทศไป...กติกาเราบอกว่าตัวแทน มาจากการเลือกตั้ง ใครได้เสียงมากให้มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กติกามันเป็นอย่างนี้เราก็ต้องเคารพ

ในเมื่อปล่อยให้ปวงชนชาวไทยเป็นคนเลือกแล้ว ในเมื่อพรรคใดชนะก็ต้องให้เขาเป็นแกนนำ ไม่ใช่ว่าคุณจะเลือกยังไงก็ช่างผมจะเอาพรรคนี้เป็น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปเลือกตั้ง เลือกตั้งทีหมดเงินไม่ใช่ น้อยๆ ไม่ใช่คุณจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พรรคของคุณที่สนองผลประโยชน์ของคุณได้เป็น
 
มันมีคนชั้นหนึ่งที่ไม่ต้องทำอะไรก็มีอยู่มีกิน แต่คนอีกชั้นหนึ่งทำจะตายแล้วก็ยังไม่พอกิน อย่างการบังคับใช้กฎหมายชนชั้นหนึ่งทำผิดก็ไม่ต้องรับผิด ตัวอย่างเช่นคุณสุรยุทธ์ก็คือที่ดินพวกเรานี่ใช้ที่ดินทำการผลิตเพื่อการ เลี้ยงชีพ เราก็โดนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีการฟ้องบุกรุก จับเราเข้าคุก ฟ้องแพ่ง ปรับเรา ไล่เราออก พอคุณสุรยุทธ์แกไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการยังชีพ แกใช้ที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ แกก็ไปบุกรุกที่ป่าเหมือนกันก็มีกลไกรัฐแม้แต่เจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ ก็ ออกมาอธิบายว่าคุณสุรยุทธ์ไม่มีเจตนาบุกรุกและสุดท้ายก็ไม่มีความผิด
 
ใครจะว่ามวลชน เสื้อแดงถูกจูงถูกลากถูกจ้างมา แต่ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานยืนยันว่ามาในฐานะไพร่ขนานแท้ เพราะขนาดเจ้าตัวเองเพิ่งจะรู้ว่าถูกติดฉลากอะไร ก็หลังจากได้เห็นเอกสารเสวนา "ทำไมสังคมต้องฟังเสียงคนเล็กคนน้อย" ที่ระบุต่อท้ายชื่อ เลื่อน ศรีสุโพธิ์ ว่าเป็น นปช.จากภาคอีสาน
 
แก้กติกา-เปลี่ยนกรรมการ
"ผมก็เพิ่งรู้ ว่าผมเป็นใคร (หัวเราะ)"
"เที่ยวนี้ผมมาครั้งแรกวันที่ 13 มี.ค. กลับบ้าน 17 กลับมากรุงเทพฯ วันที่ 19 ลงมาร่วมวันที่ 20 พอดี ผมว่าเที่ยวนี้มันแปลกว่าที่ผ่านมา คือถ้าการชุมนุมที่ผ่านมา คือผมชุมนุมมาตั้งแต่สมัชชาชาวนาชาวไร่ ปี 2535 ตอน คจก.(โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) คือแต่ก่อนถ้าเราเข้ากรุงเทพฯ ก็จะโดนกล่าวหาว่าเราเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ก็มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากคนกรุงเทพฯ มากนัก แต่มาเที่ยวนี้ก็เห็นว่าคน กรุงเทพฯ ตอนที่ผมมาวันที่ 13 เห็นพี่น้องไปตั้งแถวต้อนรับตั้งแต่รังสิตเลย พอเราไปรณรงค์ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 พี่น้องก็ค่อนข้างออกมาต้อนรับเยอะ รวมถึงวันที่ 20 ด้วย"
 
ย้อนไปปี 2535 พี่เลื่อนเริ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพราะได้รับผลกระทบจาก โครงการ คจก. ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย
"ตอนนั้นรัฐบาล ได้อนุมัติโครงการจัดสรรที่ดินสำหรับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จะอพยพคนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ซึ่งรัฐบาลได้ขีดแผนที่จากส่วนกลางลงไป มันก็ไปทับทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ทับ วัดวาอาราม ทับป่าชุมชนชาวบ้าน คือพอรัฐขีดแล้วก็บอกว่าพวกนี้อยู่ไม่ได้ ต้องเอาออก พี่น้องทั้งอีสานช่วงนั้น 17 จังหวัดรวมตัวกันเพื่อมาเรียก ร้องว่าเราไม่ยอมอพยพ เราจะขออยู่ที่ทำกินเดิม ส่วนเรื่องป่าเราก็ขอให้จัดการเรื่องของป่าชุมชน แต่ช่วงนั้น จะเป็นการเรียกร้องในพื้นที่เป็นหลัก ยึดพื้นที่เป็นหลัก เริ่ม จากการเปิดศูนย์อพยพคนไทยแถวสระตะเคียน แถวป่าหนองใหญ่ ที่โคราช และก็มาเปิดศูนย์ที่ศาลากลาง มีการเดินเท้า จากโคราชมาถึงปากช่อง ปิดถนนที่ปากช่องเรียกร้องให้รัฐลงไปคุย ซึ่งตอนนั้นรัฐก็ส่งคุณเอนก สิทธิประศาสน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยลงไปเจรจา เป็นคนมีอำนาจเต็มลงไปเจรจา ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลหลังจากรัฐประหารใหม่ๆ ปี 2535 หลัง รสช.ก็ชุมนุมกันมาเรื่อย"
 
"เราเริ่มมา ชุมนุมกรุงเทพฯ ช่วงปี 2540 เราได้พบว่าพอโครงการ คจก.ได้ยกเลิก มีข้อตกลงว่าให้เราสามารถกลับไปที่ทำกินเดิมได้ พอเรากลับไปก็จะไปเจอว่ากลไกปฏิบัติในระดับพื้นที่จะอ้างกฎหมายเดิมๆ พอจะเข้าไปเขาก็ให้เข้าไม่ได้เพราะเป็นเขตอุทยานเขตป่าสงวน เราจึงมาสรุปบทเรียนร่วมกันว่าเราจะเรียกร้องโดยลำพังที่ได้รับผลกระทบจาก เรื่องป่าอย่างเดียวมันไม่ได้ ก็เลยไปรวมกับเครือข่ายอื่นๆ เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบเรื่องเขื่อน เรื่องคนในเมือง เรื่องสลัม ในนามของสมัชชาคนจนปี 2538 เราก็ได้เข้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ช่วงปี 2540 ที่เข้ามากรุงเทพฯ เลย แต่เราเข้ามาปี 2540 ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องกรุงเทพฯ ได้รับความร่วมมือจาก สื่อมวลชนพอสมควร เพราะว่ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตอนนั้นคือพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต เป็นพรรคที่ชนะจากชนบทมาแล้วมาเป็นแกนนำในการจัด ตั้งรัฐบาล คนในเมือง คนชั้นกลาง สื่อมวลชนด้วย ไม่ค่อยชอบ เลยค่อนข้างที่จะมาสนับสนุนพวกเรา พอคนชั้นกลางคนในเมืองสนับสนุน เราจึงได้รับมติที่เป็นมาตรการ ของฝ่ายบริหารเยอะพอสมควร และปัญหาได้รับการแก้ไขพอสมควร แต่พอกลับไปแล้วปรากฏว่ารัฐบาล พล.อ.ชวลิตอยู่ไม้ได้ ลาออกไป พอคุณชวนขึ้นมา คุณชวนก็ล้มมติทั้งหมดเลย ที่เป็นมติข้อตกลงระกว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาลชวลิต"
มีมติแก้ไขปัญหา อะไรบ้าง
 
"ของผมอยู่ในกลุ่มเรื่องป่าไม้ที่ดินก็มีมติ ครม.ในเรื่องป่าสงวนในเรื่องสวนป่า ส่วนมติรวมก็คือว่าในการแก้ไขปัญหาให้ยึดปัญหาเป็นตัวตั้ง และใช้กลไกการมีส่วนร่วม ปัญหาอยู่ที่ไหนถ้าอยู่ที่กฎหมายก็แก้กฎหมาย ส่วนในการพิสูจน์ว่าใครมีสิทธิ์ที่จะได้รับการรับรองสิทธิ์หรือไม่ หนึ่งดูสภาพแวดล้อม ดูพยานบุคคลพยานแวดล้อม พยาน อื่นๆ ซึ่งหมายถึงภาพถ่ายทางอากาศอะไรพวกนี้ด้วย คือต้องยึดการมีส่วนร่วม แต่พอคุณชวนขึ้นมาก็ยกเลิกหลักการนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 ของคุณชวนว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ยึดกฎหมายเป็นหลัก ในการพิสูจน์สิทธิ์ใช้เอกสารทางราชการคือใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ชาวบ้านต้องอยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายป่าไม้ครั้งแรก ไม่ได้ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ปัญหา อันนี้คือปัญหาใหญ่"
 
"แต่ถึงวันนี้ พวกเราได้สรุปบทเรียนว่าปัญหามันจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย ถ้าเราได้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนจริงๆ ตั้งแต่ปี 2535 แล้วปัญหามันเกิดช่วงที่เกิดรัฐประหารเป็นรัฐบาลเผด็จการมา และผมคิดว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ดูประวัติศาสตร์ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ พอยึดเสร็จแล้วกลุ่มนี้ก็มักจะมอบอำนาจให้พรรคประชาธิปัตย์ โดยการใช้อำนาจกับประชาชนมาโดยตลอด รวมถึงเที่ยวนี้ด้วย"
 
แม้โดยรูปแบบจะ มาจากการเลือกตั้ง
"แม้จะมาจากเลือกตั้ง หลังปี 2535 พอคุณอานันท์ไปพรรคประชาธิปัตย์ก็ชนะการเลือกตั้งโดยใช้เทคนิควิธีการต่างๆ ปี 2540 พอพรรคความหวังใหม่ชนะพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่น การเมืองนอกสภา มีการอภิปรายจนพรรคความหวังใหม่ที่มาการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ไม่ได้ ลาออกไปแล้วตัวเองก็ขึ้นมา พอช่วงนี้ก็เหมือนกันการเลือกตั้งก็แพ้พรรคพลังประชาชน แต่ก็ใช้ทุกกลไกที่เกิดขึ้นภายใต้คณะรัฐประหาร"
"ถ้ามองปัญหา เฉพาะหน้าอย่างพวกเราจะได้พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้กฎหมายและก็เชื่อฟังกลไก จากข้อมูลภาคราชการเป็นหลัก ซึ่งอันนี้มันคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ถ้าดูปัญหาเฉพาะหน้าอย่างกลุ่มพวกเรา"
 
ระหว่างการ เคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนในยุคทักษิณเองก็ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แล้วอะไรเป็นจุดพลิกให้ภาคประชาชนบางส่วนมาร่วมกับเสื้อแดง
"ผมต้องเคลียร์ ตัวเองก่อนนะ ผมไม่เคยเลือกคุณทักษิณ และช่วงที่พันธมิตรฯ ขับไล่คุณทักษิณผมก็เข้ามาร่วม เพราะผมคิดว่าคุณทักษิณก็มีจุด อ่อนเยอะ พอแกชนะเลือกตั้งแกก็ไม่ค่อยสนใจชาวบ้านเหมือนกัน และยิ่งเป็นเผด็จการรัฐสภา ใช้อำนาจมาก เราก็เข้ามาร่วม แต่ผมคิดว่ายังไงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันก็ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากระบอบ เผด็จการ คือที่มาเข้าร่วมในตอนนี้ผมไม่ได้มาร่วมในนามองค์กร ตอนนี้ไม่ใช่สมัชชาคนจน แต่ผมเข้าร่วมในฐานะที่ผมก็เป็นเจ้า ของอำนาจอธิปไตย ในเมื่อเราได้มอบอำนาจให้กับตัวแทนมาทำหน้าที่แทนเราในการบริหารประเทศ เป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ว่าคนที่เรา มอบอำนาจให้ทำได้ไม่สนองนโยบายของปวงชนชาวไทยที่มอบอำนาจให้มา ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ถึงวันที่เราต้องมาเอาอำนาจเราคืนและก็ไปมอบให้กับกลุ่มบุคคลใหม่ที่จะ เข้ามาบริหารประเทศ ผมไม่ได้มาร่วมในนามองค์กร ตอนนี้สมัชชาคน จนหรือว่าองค์กรต่างๆ ก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง เป็น อิสระที่จะเข้ามาร่วม ก่อนจะมาก็มีการสรุปบทเรียนกับตัวเอง แล้ว ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานของเราถ้าคิดดูดีๆ ปัญหา เรื่องการเมืองเป็นปัญหาพื้นฐานเลย เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบบตัวแทน เลือกตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่แทนเรา มากำหนดกติกา พอกำหนดกติกาเสร็จก็จะมีฝ่ายบริหารเอากติกานั้นไปใช้ คือถ้ากติกามันกำหนดโดยความเป็นธรรม กำหนดโดยคนที่มีความรู้ พื้นฐาน รู้จักปัญหาที่แท้จริง คนที่ใช้กติกาก็เป็นคนที่เข้าใจปัญหา มันถึงจะแก้ไขปัญหาสังคมได้"
 
หนนี้พี่น้อง เครือข่ายมากันเยอะ
"มีมาค่อนข้าง เยอะ อย่างผมก็เห็นพี่น้องที่ร่วมตั้งแต่สมัย คจก.เป็นสมัชชาคนจน แต่ก็ไม่ใช่มาในนามองค์กร มาในฐานะที่ตัวเองก็เป็นคนเลือก ส.ส.มา มาในนามเจ้าของอำนาจอธิปไตย"
 
ในความเข้าใจของ คนชั้นกลางคิดว่าประชาธิปไตยที่กินได้ของชาวบ้านเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ ทักษิณหว่านให้
"ผมว่ากระบวนการ มันอธิบายได้ แต่ก่อนพรรคไทยรักไทยก่อนที่เขาจะกำหนดนโยบายเขาจะมีคณะทำงาน ช่วงนั้นภาคอีสานรู้สึกว่าจะเป็นคุณประพัฒน์ (ปัญญาชาติรักษ์) จะตระเวนลงไปจัดเวที จัดที่อุบลฯ บ้างที่โคราชบ้าง ขอนแก่น อุดรฯ เพื่อระดมปัญหาความต้องการ ของชนชั้นล่าง พอคุณประพัฒน์ไปสัมมนาเสร็จก็จะมาประมวลรวบรวมข้อมูลและก็จะเอาข้อมูลจากการ ประมวลจากเวทีต่างๆ ไปกำหนดเป็นนโยบาย ไม่ว่าเป็นเรื่องพัก หนี้ เรื่องกองทุนหมู่บ้าน พอไปเสนอกับพี่น้องมันโดนใจ พอโดนใจพอเขาได้เป็นเขาทำได้จริง ที่พี่น้องเลือกไทยรักไทยเขา เลือกที่ตัวนโยบาย นโยบายมันสามารถแก้ไขปัญหาเขาได้จริง ประชาธิปไตยกินได้จริงๆ ผมว่ามันไม่ใช่เป็นครั้งแรก มันมีเรื่องเงินผันมาตั้งแต่ยุคคึกฤทธิ์แล้ว ผมว่าพี่น้องเขามีเหตุมีผลในการเลือกของเขา จะดูถูกว่าเขาโดนซื้อมันก็ไม่เป็นธรรมกับพี่น้อง ในเมื่อเขาไปสัญญาแล้วเขาทำได้ มันก็ไม่ผิดที่พี่น้องจะเลือก เขา และมันไม่ผิดที่คนสัก 20 ล้านคนที่เขาเลือก พรรคไทยรักไทยจะมาเพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง"
 
แต่ต้องยอมรับ ว่ามีแกนนำในพื้นที่ใช้เงินระดมชาวบ้านมาด้วยเหมือนกัน
"ในการจัดการผม ไม่รู้ทั้งหมด แต่ว่าในส่วนพวกผมนี่มาเอง ผมเป็น หนี้หลายตังค์แล้วตั้งแต่มาอยู่ ส่วนพี่น้องแถวๆ บ้านที่มาผม ก็ถามๆ เขาดูแล้วว่ามันได้เจอว่าปัญหามันไม่ได้รับการแก้ไข เขาก็เลยมา อย่างวันที่ไปที่จุฬาฯ มันเห็นปัญหาว่าคนมันมีระบบคิดแบบอำมาตย์ค่อนข้างเยอะ อย่าง คุณรสนา จริงๆ ผมศรัทธาคุณรสนานะ เป็นคนที่มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เป็นการปกป้องสิทธิของพี่น้องประชาชนและก็ได้เป็น ส.ว.ผมติดตามแกมาตลอด แต่ดูวันที่จุฬาฯ ได้เห็นว่าระบบคิดแกไม่เหมือนเดิม แกพยายามแยกคนว่าไม่อยากจะให้อย่างพวกเรามายุ่งกับเรื่องการเมือง แก บอกว่าการน่าจะเป็นเรื่องของนักเลือกตั้ง เรามานี่เราโดนจ้างมา ผมคิดว่าถ้ามีระบบคิดอย่างนี้มันจบเลย การแก้ไขปัญหาจะไม่เกิดเลย คุณไม่คิดก่อนว่าที่เรามาเรามีปัญหาอะไร คุณตั้งธงเลยว่า พวกนี้โดนจ้างมาก็จบเลย
 
"อีกประเด็น หนึ่งคือว่าที่เรามาสู้เพื่อคนคนเดียวหรือไม่ อันนี้ผมคิดว่า มันก็ไม่ใช่ ในเรื่องคุณทักษิณมันอาจจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องการเลือกปฏิบัติ แต่ถ้าวันนี้ข้อเสนอของ นปช.ที่อยู่ตรงนี้มันบรรลุก็คือสามารถทำให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภาได้ คน เสื้อแดงเขาก็ไม่ได้บอกว่ายุบสภาแล้วต้องให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พอยุบสภาแล้วก็ไปเลือกตั้งแข่งกัน ไปเสนอนโยบายแข่งกัน ใครชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงส่วนมากผู้นั้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผมว่ามัน ก็ไปตามครรลองประชาธิปไตยซึ่งมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนั้น"
 
การปรับโครง สร้างการเมืองให้คนเล็กคนน้อยเข้าถึงทรัพยากร คือโจทย์ที่ต่อจากการยุบสภา
"ผมคิดว่า ณ วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าคนที่มาจัดสรรทรัพยากร ถ้าดูในสังคมไทยมันก็จะมีฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมากำหนดกติกา มี รัฐบาลเป็นคนกำกับ และก็มีศาลเป็นคนดูว่าใครทำผิดออกนอกลู่นอก ทาง แต่ทั้งสามองค์กรนี้ ณ วันนี้ กติกาก็ไม่เป็นธรรม กติกาจากรัฐธรรมนูญที่เกิดมาจากรัฐประหาร รัฐบาลก็มาโดยไม่ชอบ หลายคนเถียงว่าพรรคประชาธิปัตย์มาจากการ เลือกตั้ง ผมไม่เถียงว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ เลือกตั้งคุณแพ้ แต่คุณก็ใช้ทุกวิธีการที่จะทำให้คุณขึ้นสู่ อำนาจ ศาลดู ณ วันนี้ก็เห็นชัดว่า มีสองมาตรฐาน ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ผมคิดว่ามันก็เป็นทาง เดียวในเมื่อกลไกที่มาของมันมาจากการเลือกตั้งตามระบอบ ประชาธิปไตย มันก็ควรจะไปด้วยระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อคุณไม่สามารถสนองตอบต่อ การแก้ไขปัญหาสังคมได้ก็น่าจะคืนอำนาจให้กับปวงชนชาวไทย ให้ เขาได้มามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศไทยใหม่ เลือกรัฐบาลใหม่ ถึงตอนนั้นใครเข้ามาแล้วค่อยระดมทุกภาคส่วนเข้ามาเพื่อสร้างกติกาใหม่ที่ เป็นธรรม สร้างกรรมการใหม่ที่มีใจเป็นกลาง มันเป็นทางออกทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาสังคมไทยได้ ถ้าเลือก ตั้งประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลผมคิดว่าผมก็จบนะ รอดูจนว่า เขาทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ไหม ถ้าไม่ก็ถึงจะเข้ามาอีก แต่คนในเมืองก็จะมาหาว่าพี่น้องมาเพราะพรรคเพื่อไทยแพ้อีกนั่นแหละ"
และแน่นอนว่า ต้องเดินไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"รัฐธรรมนูญมัน ก็ต้องแก้ ผมว่าแม้แต่เหลืองเอง ก่อนหน้านี้ เพราะว่าช่วงนั้นที่ผมเฝ้าอยู่กลางๆ พอเหลืองเสนอขอนายกฯ พระราชทาน ผมก็ถอย คือผมว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญบอกว่าให้เรามีสิทธิ์เลือกตัวแทนขึ้นมา พอตัวแทนไม่ ทำตามเราก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าชื่อถอดถอนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ช่วงนั้นผมคิดว่าเหลืองเองก็บอกว่ารัฐธรรมนูญก็ไม่ดีที่สุด ขอ ให้พวกเรารับไปก่อนแล้วก็มาแก้ทีหลังพี่น้องส่วนหนึ่งก็รับ รับ เพื่ออยากให้บ้านเมืองมันสงบ พอรับแล้ววันนี้พอพรรคประชา ธิปัตย์บอกว่าไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญเลยแม้แต่มาตราเดียว ผมคิดว่าคนที่เคยให้สัญญาอย่างนี้กับชาวบ้านวันนี้คุณนิ่งเฉยอยู่ได้ยังไง รัฐธรรมนูญผมว่ามันต้องแก้แต่ว่าวันนี้กลไกรัฐสภามันไม่สามารถเดินไปได้ทั้ง ฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ คุณอภิสิทธิ์เข้าทำเนียบฯ ไม่ได้ ประชุมสภาก็ต้องมีกองกำลังมา ตอนนี้ผมคิดว่ามันอยู่ใน สถานการณ์สงครามแล้ว ทหารเต็มกรุงเทพฯ แล้ว มันไม่มีทางอื่น นอกจากการยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งใหม่ เอารัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้งเป็นศูนย์กลางในการระดมคนทุกภาคส่วนมาสร้างกติกาใหม่ แก้ไข รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เรายืนยันว่าการสร้าง กติกาต้องมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ณ วันนี้ผมว่ามันง่ายสุด ก็ยกกติกาที่มันเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนขึ้นมาใช้เลย ส่วนจะแก้ยังไงก็ค่อยว่ากัน ก็คือเอารัฐธรรมนูญ 2540 มา เลย เพราะมันเกิดจากการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาแล้ว จนมันได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว"
 
การต่อสู้ของมวล ชนครั้งนี้คนที่จะได้ประโยชน์เฉพาะหน้าคือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย
"ผมว่ากลไกการ ตรวจสอบและถ่วงดุลการเมืองระบบตัวแทนมันก็ต้องมีต่อไป คือไม่ ใช่ว่าพอคุณอภิสิทธิ์ยุบสภากลับไปเลือกตั้งแล้วเราก็จะนอนอยู่บ้านอย่าง เดียวมันก็ไม่ใช่ การเมืองภาคพลเมืองมันก็คงทำต่อไป ยุบสภา เสร็จเราต้องมีข้อเสนอในเชิงนโยบายที่ชัดเจนถึงทางออกของประเทศไทย ต้อง มีนโยบายการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องสังคมอย่างไรเพื่อเสนอกับพรรคการเมือง พอเสนอเสร็จมันก็ต้องมีกระบวนการที่จะติดตามตรวจสอบนักการเมืองที่เข้ามา ไม่เฉพาะว่าพรรคใด พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาหรือว่าพรรคเพื่อไทยเข้ามา การตรวจสอบของการเมืองภาคพลเมืองมันก็ต้องมี แต่เราก็ยืนยันว่าในการตรวจสอบถ่วงดุลหรือในการที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลขอให้ มันเป็นไปตามกลไกระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าจะให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดขึ้นมาบอกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความรู้กว่า กลุ่มอื่นและก็เป็นคนกำหนดสังคม มันไม่ได้ เพราะ ว่าอย่างที่ผ่านมาเราค้านรัฐประหารมาตั้งแต่ 19 กันยาแล้ว และก็ค้านรัฐธรรมนูญ เราเห็นว่ามันถอยหลังไปมาก อย่าง แต่ก่อนการเลือกตัวแทนมันเลือก ส.ว.เลือกหมด แต่พอรัฐธรรมนูญ 2550 อย่าง ส.ว.เรา 76 จังหวัดได้เลือกแค่ 76 คน อีก 7 คนเลือกมาได้ 74 คน ผมว่ามันไม่เป็นธรรม และพอเราเลือกมาได้ก็มีคนบางคน บางกลุ่มมายึดอำนาจไปจากประชาชน โดยไม่ได้ฟังเสียงเขาเลย อัน นี้มันคงไม่ใช่ ผมคิดว่าการเมืองระบบตัวแทนก็ว่ากันไป เราก็ใช้สิทธิ์ตามนั้น
พอได้การเมืองระบบตัวแทนแล้วการเมืองภาคพลเมืองที่จะมาช่วย ถ่วงดุลมากลั่นกรองมาตรวจสอบภาครัฐก็ต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นด้วย"
 
พี่เลื่อนยืนยัน ว่าถึงตอนนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว คนชนบทก็เปลี่ยนไปแล้ว ภาคพลเมือง
ก็เติบโตกว่าที่นักวิชาการหรือคนชั้นกลางคิด
"พี่น้องที่มา เขาสรุปแล้วว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปัญหาเรื่องดินเรื่องน้ำเรื่องป่าเรื่องหนี้สิน สาเหตุจริงๆ มันเกิดมาจากการเมือง เพราะการเมืองเป็นคนกำหนดนโยบายเป็นคนกำหนดกติกา ถ้ากติกามันเป็นธรรมคนเล่นมีความเป็นธรรม กรรมการเป็นธรรม การแก้ไขปัญหามันก็น่าจะสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่จริงๆ"
 
สรุปได้ไหมว่า ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ตัวทักษิณเพียงคนเดียว
"การเลือก ปฏิบัตินี่ถามว่ามันเพิ่งเกิดหรือเปล่า มันมีมาตั้งนานแล้ว แต่ว่ามันชัดขึ้นกรณีของคุณทักษิณ อย่างพวกเรายกตัวอย่างง่ายๆ ขับรถฝ่าไฟแดงเหมือนกัน ยังไม่ต้องดูอย่างอื่นแค่ดูระหว่างรถปิกอัพกับรถเก๋ง เขาเรียก รถปิกอัพเขาไม่เรียกรถเก๋งเพราะเขามองว่ารถเก๋งเป็นคนมีเงิน ไม่ สวมหมวกกันน็อกลูกชาวบ้านกับลูกตำรวจ ลูกตำรวจไม่เสียเงิน การเลือกปฏิบัติมันมีมาตลอด แต่พอมาช่วงนี้มันเห็นชัดขึ้น มันเห็นใหญ่ขึ้น"
 
คนชนบทที่ยึด อยู่กับทักษิณ เป็นจุดอ่อนต่อขบวนการภาคพลเมืองไหม
"อย่างพวกเราที่ มานี่ชัดว่าเราไม่ได้มาเรียกร้องเพื่อคุณทักษิณ แต่ว่าเราอยาก จะมาเรียกร้องเพื่อสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม สร้างกรรมการที่ เป็นธรรม เข้าไปแข่งขันกันในกติกาใหม่ ถ้าใครชนะก็ บริหารประเทศไป ส่วนนักวิชาการที่ไม่เข้าใจ ผมก็เป็นคนปัญญาน้อยไม่รู้จะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจได้ อย่างคุณทักษิณพูดมาเมื่อคืนผมว่าก็ชัดเจนนะว่าไม่ใช่ทำเพื่อเขา เขาเองเป็นแค่ทางผ่าน ที่จะนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นแค่ตัวอย่าง เล็กๆ ที่จะทำให้สังคมเห็นว่าประเทศไทยเลือกปฏิบัติอย่างไร ผมว่ามันก็แค่นี้"
 
"ผมว่าแม้แต่พี่ น้องที่มา ณ วันนี้ ตามที่คุยๆ ผมว่าตอนนี้มันข้ามเรื่องสู้เพื่อคุณทักษิณไปแล้ว คือเขาไม่ได้บอกว่าคุณอภิสิทธิ์ยุบสภาทักษิณจะต้องเป็นนายกฯ มัน เลยตรงนี้ไปแล้ว พอยุบสภาแล้วผมคิดว่าถ้านโยบายมันโดนใจก็จะไปโทษพี่น้องไม่ได้ ถ้า คุณต้องการอยากจะชนะมันก็ต้องวัดกันที่ผลงาน มันเป็นระยะผ่าน ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็คือกติกาเราบอกว่าตัวแทนมาจากการเลือกตั้ง เลือกตั้งใครได้เสียงมากให้มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กติกามันเป็นอย่างนี้เราก็ต้องเคารพ ในเมื่อปล่อยให้ปวงชนชาวไทยเป็นคนเลือกแล้ว ในเมื่อพรรคใดชนะก็ต้องให้เขาเป็นแกนนำ ไม่ใช่ว่าคุณจะเลือกยังไงก็ช่างผมจะเอาพรรคนี้เป็น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปเลือกตั้ง เลือกตั้งทีหมดเงินไม่ใช่น้อยๆ ไม่ใช่คุณจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พรรคของคุณที่สนองผลประโยชน์ของคุณได้เป็น ใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ที่คุณตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะ ทำลายคู่ต่อสู้ เพื่อให้คนของคุณขึ้นมาสู่อำนาจ ผมคิดว่ามันคง ไม่ใช่ ในเมื่อกำหนดว่า 1 คน 1 เสียงมันก็น่าจะเป็นไปตามนั้น"
 
ถามถึงหมู่มวล พี่น้องที่เคยต่อสู้ร่วมกับภาคประชาชนมายาวนานแต่ยังทำใจให้เชื่อว่าไม่ได้ ว่าชาวบ้านเข้ามาเป็นแนวร่วม นปช.โดยปราศจากเงื่อนไขเรื่องเงิน
"ความคิดตรงนี้ มันต่างกัน อย่างที่คุณรสนาแนะนำผมเนี่ยผมขอบคุณแต่ว่าผมทำไม่ได้ คุณรสนายกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เรื่องเรียกร้องยุบสภาให้นายกฯ ลาออก คุณรสนาบอกว่าพันธมิตรฯ สู้มา 190 กว่าวันใช้สันติไม่สามารถที่จะกดดันให้รัฐบาลช่วงนั้นยุบสภาได้ มันจะยุบได้ก็ต่อเมื่อมันเกิดรัฐประหารการใช้ความรุนแรง มันมีนัยยะว่าถ้าเราไม่ใช้ความรุนแรงไม่มีทางที่อภิสิทธิ์จะลาออก แต่เราก็ยืนยันว่าเรายังยึดแนวทางสันติวิธีในการที่จะเรียกร้อง และเรายังคิดว่าประชาชนคนเล็กคนน้อยน่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมไทย คือตอนนี้ถ้าฟังทางโน้น ทางที่ปรึกษาฝ่ายพันธมิตรฯ มองว่าการยุบสภาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ มันเป็นแค่ขบวนการกบเลือกนาย ผมคิดว่าพูดอย่างนี้มันไม่ใช่ คือตอนนี้มันไม่มีระบบอื่นใดที่ดีไปกว่าระบบนี้ คือระบอบประชาธิปไตยที่ตัวแทนมาจากการเลือกตั้ง ในเมื่อเราบอกว่าระบบ นี้มันดีที่สุดพอไปเลือกตั้งเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพี่น้อง ไม่ใช่พอตัวเองแพ้ก็จะมาบอกว่าชาวบ้านโง่ โดนซื้อ ผมว่าอันนี้มันไม่ใช่ อย่างคนที่ผมเคารพอยู่คนหนึ่งคุณหมอนิรันดร์ แกบอกว่าแกเป็น ส.ว.มาเป็น 8 ปี ไปสมัคร ส.ส.ได้คะแนนไม่ถึง 2 หมื่น แกพยายามจะบอกว่าคนอุบลฯ นี่โง่ไม่เลือกแก คิดอย่างนี้มันไม่ได้ไง จะเหมาว่าตัวเองแพ้เพราะว่าชาวบ้านโดนซื้อ มันควรจะคิดว่าตัวเองได้ทำมากพอหรือยัง หรือว่าชาวบ้านเขาอาจจะคิดว่าไม่เหมาะที่จะมาอยู่ในตำแหน่งนี้"
 
ชนชั้นมันมีจริง
การเมืองไทยที่ เดินมาถึงวันที่ชาวบ้านต้องมาทวงถามประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มัน มาจากรากเหง้าสังคมไทยที่เห็นว่าอำมาตย์เป็นตัวแทนของความดีงาม เป็นอำนาจฝ่ายจริยธรรม พอเห็นว่ามีนักการเมืองชักจะเอาใหญ่ก็ ถึงเวลาแล้วที่จะออกมาจัดการ
"มันถูกปลูกฝัง มานานแล้ว การที่จะเปลี่ยนความคิดคนมันไม่ง่าย มันไม่ง่ายแต่เราก็ต้องทำ"
 
ปลุกเรื่อง ไพร่-อำมาตย์เลยได้ผล
"มันเป็นปัญหา จริง มันมีคนชั้นหนึ่งที่ไม่ต้องทำอะไรก็มีอยู่มีกิน แต่คนอีกชั้นหนึ่งทำจะตายแล้วก็ยังไม่พอกิน อย่างการบังคับใช้กฎหมายชนชั้นหนึ่งทำผิดก็ไม่ต้องรับผิด ตัวอย่างเช่นคุณสุรยุทธ์ก็คือที่ดินพวกเรานี่ใช้ที่ดินทำการผลิตเพื่อการ เลี้ยงชีพ เราก็โดนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีการฟ้องบุกรุก จับเราเข้าคุก ฟ้องแพ่ง ปรับเรา ไล่ เราออก พอคุณสุรยุทธ์แกไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการยังชีพ แกใช้ที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ แกก็ไปบุกรุกที่ป่าเหมือนกัน ก็มีกลไกรัฐแม้แต่เจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ก็ออกมาอธิบายว่าคุณสุรยุทธ์ไม่มีเจตนาบุกรุก และสุด ท้ายก็ไม่มีความผิด แค่คืนพื้นที่ให้กับรัฐ ความผิดทั้งหมดก็หมดไปเลย แต่กับชนชั้นเราเขาไม่ได้ทำอย่างนี้ พอเราไปทำไร่ทำนาแค่ไร่สองไร่เราโดนจับ รัฐตั้งข้อหาเลยว่าเราบุกรุก และก็ขับไล่เราออกด้วยการฟ้อง แพ่ง ปัญหาอย่างนี้ตอนนี้มีเยอะ อย่างเครือข่าย ปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยตอนนี้มีกลไกมีข้อตกลงเรื่องการผ่อนผันในที่ทำกิน เดิม มีข้อตกลงกับนายก แต่พอกลับไปแล้วฝ่ายปฏิบัติก็บอกว่ามันทำไม่ได้ ข้อตกลง ระหว่างเครือข่ายกับนายกฯ เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายนโยบายรองรับ ผมคิดว่าทั้งหมดทั้งปวงถ้าเราไม่แก้ที่โครงสร้างส่วนบนมันจะมีปัญหา คือถ้าเราไม่ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้าใจปัญหาพี่น้องประชาชน จริงๆ การแก้ไขปัญหาจะไม่เกิด"
 
ขอฟังชาวบ้านที่ ถูกตราหน้าว่าเป็นรากหญ้าประเมินการต่อสู้ครั้งนี้หน่อย
"ผมมองว่าชัยชนะ ของปวงชนชาวไทยคิดว่ามันไม่น่าจะเกินฝัน ไม่น่าจะเกินจริง เพราะว่าการเสนอเรื่องยุบสภาเป็นข้อเสนอต่ำสุดแล้ว ยุบ สภาคืนอำนาจให้กับประชาชนมาลงสนามเลือกตั้งใหม่ ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอต่ำสุดมันเป็นไปตามกลไกตามระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่น่าที่จะดื้อดึงต่อไป ถ้าดื้อดึงต่อไปผมคิดว่ามันไม่มีใครชนะไม่มีใครแพ้หรอก สังคมไทยมันแพ้ด้วยกัน แต่ถ้าสมมติว่ายุบสภาแล้วคืนอำนาจให้กับประชาชนมันก็ชนะด้วยกันไม่มีใครแพ้ ยุบไปแล้วคุณอภิสิทธิ์อาจจะได้มาใหม่ ถ้าคุณชนะเลือก ตั้งมาคุณก็จะขึ้นได้อย่างสง่างาม ไม่โดนว่าไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีอำมาตย์อุ้ม อะไรพวกนี้ก็จะหมดไป มันไม่ได้หมายความว่าสู้ แล้วใครจะชนะใครจะแพ้ การยุบสภาไม่ได้แปลว่าคุณอภิสิทธิ์แพ้ ผมว่าการยุบสภาลงสู่สนามเลือกตั้งจะทำให้คุณอภิสิทธิ์ขึ้นมาอย่างสง่างามซะ มากกว่า"
 
"พี่น้องมา เที่ยวนี้พี่น้องบอกว่าถ้าไม่สามารถที่จะผลักดันให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภาได้ ไม่กลับ พี่น้องพูดเอง ก็ไปนั่งคุยกับพี่น้องในเต็นท์ต่างๆ เขา บอกว่าถ้าไม่ยุบสภาไม่กลับ เพราะเขาคิดว่ามันปล่อยอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ อย่างพอมาเห็นอย่างนี้พี่น้องยิ่งไม่กลับใหญ่เลย เพราะพี่น้องเข้ามาเรียกร้องคุณอภิสิทธิ์ไม่เคยสนใจเลย ไปนอนอยู่ในค่าย ร.11 คือยังไงคุณอ้างว่าคุณเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพอเจ้าของอำนาจเขามา พี่น้องประชาชนเขามาคุณจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คุณก็ต้องลงมาดูแลมาฟัง"
 
เท่าที่ดูบนเวที ยังไม่ลงรายละเอียดเรื่องสิทธิประชาชนเท่าที่ควร
"บนเวทีเราต้อง ดูเป็นช่วง ในช่วงนี้มันก็มีสาระ ในช่วงที่คุณ จาตุรนต์มาปราศรัยมันเป็นประโยชน์มาก ฟังง่ายว่าทำไมถึงมีการ ชุมนุม ถ้ายุบสภาแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดประโยชน์อะไรกับสังคมไทย มันชัดเจน ผมว่ามีหลายคนที่ปราศรัยเชิงวิชาการแล้วชาวบ้านฟังเข้าใจง่าย มันเป็นธรรมดาของเวทีชุมนุมที่จะต้องมีการปลุกการให้กำลังใจกันบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าของเราคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ยังเข้าร่วมน้อย ที่ คนกรุงเทพฯ ที่ออกมารับเรายังเป็นคนงาน พนักงานบริษัท คน ชั้นกลางยังค่อนข้างน้อย ผมคิดว่าถ้าเราอยู่ไปได้อีกระยะหนึ่ง มี ระยะเวลาที่จะทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ คนชั้นกลาง ก็คงจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องคนชั้นกลางพอสมควร"
 
"ในส่วนของความ รุนแรงที่บางทีมันเกิดระเบิดที่นั่นที่นี่ ผมว่าเราชัดเจนแล้วว่าเรายืนยันว่าสันติวิธี ทางเวทีก็ยืนยันชัดเจนว่ากลุ่มที่ประกาศชอบความรุนแรงไม่ใช่กลุ่มเรา และเราก็ยืนยันแล้วว่าถ้าใครทำผิดกฎหมายคุณก็บังคับใช้กฎหมายไปเลย มีการยิง M79 โยนระเบิดที่ไหนถ้าคุณจับได้คุณก็ดำเนินการตาม กฎหมายไป ไม่ใช่มาบอกว่าจับไม่ได้แล้วมาโยงมาให้เรา มันไม่ได้ ถ้าใครทำผิดกฎหมายคุณก็จับไปเลย แต่เรายืนยันว่าเราสันติวิธี ไม่มีใครเอาอะไรมาเอาแต่ครกกับสากมาทำกับข้าวกิน".
 
000

 

คนเล็กคนน้อย..มาไกลกว่าที่ใคร คิด
"ลูกสาวผมคนกลางเกิดปี 2535 ปีเดียวกับที่ผมเริ่มเคลื่อนไหวในนามสมัชชาชาวนา ชาวไร่ ตอนนี้อายุ 18 ปีแล้ว ส่วนลูกชายตอนนั้นก็ยังเล็ก ก็มาชุมนุมด้วยตลอด 99 วันของสมัชชาคนจน ตอนนี้อายุ 25 ปีแล้ว มากรุงเทพฯ เที่ยวนี้ก็มาด้วยกัน"
มันคือการต่อสู้ อันยาวนานของชาวบ้านคนเล็กคนน้อยที่ต้องกระเตงลูกตั้งแต่แบเบาะมาเรียกร้อง ความเป็นธรรม ยันลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาวความเหลื่อมล้ำที่เกิด จากการสร้างกติกาจากชนชั้นปกครองก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล พี่เลื่อนแกบอกว่าแม้วันนี้รูปธรรมในการแก้ไขปัญหามันอาจจะยังไม่มี แต่ ก็พอมองเห็นว่าพอมีปัญหาพี่น้องสามารถที่จะรวมตัวกันได้ นี่ ต่างหากที่เป็นความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน
"การเมืองภาค พลเมืองจะแข็งแรงขึ้น ผมว่าการถ่วงดุลรัฐบาลเราจะหวังพึ่ง เฉพาะพรรคฝ่ายค้านกับ ส.ว.ไม่ได้ องค์กรที่จะมาถ่วงดุลรัฐบาล ได้ดีที่สุดคือการเมืองภาคประชาชน การรวมตัวของพี่น้องที่จะติดตามการทำงานของนักการเมืองมันน่าจะเป็นเรื่อง หลักกว่าการเลือกตั้งตัวแทน คือเลือกเข้ามาให้เขาทำงานแทนเรา และถ้าเขาไม่ทำกลไกที่จะติดตามตรวจสอบมันต้องจริงจัง ผมยืนยันว่าการเมืองภาคพลเมืองมันต้องพัฒนาให้มันเข้มแข็งขึ้น"
 
แต่ในช่วงที่ เป้าเปลี่ยนไปอยู่ที่ระบอบทักษิณ ก็ทำให้การเมืองภาคพลเมือง แตกด้วย ทั้งในหมู่นักวิชาการและชาวบ้าน
"เป็นเรื่องที่ พวกเราต้องหาเวทีทำความเข้าใจกัน ผมคิดว่าสุดท้ายเป้าหมายมันไม่ต่างกัน ตอนนี้คือไม่ว่าจะสีไหนก็ต้องการให้อำนาจอยู่กับประชาชน แต่ว่าวิธีการที่จะนำไปสู่ตรงนั้นอาจจะมีความต่างกัน"
พี่เลื่อนบอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ยังเคลื่อนไหวกันในปัญหาเฉพาะหน้าอยู่
"อย่างสกลนคร เราตั้งเครือข่ายผู้ไร้สิทธิสกลนคร ก็มีคณะกรรมการร่วมของพวกเรากับทางจังหวัดก็ว่ากันไป แต่ ณ วันนี้เราสรุปร่วมกันแล้วว่าปัญหาเฉพาะหน้าก็พักไว้ก่อน เพราะว่าแม้เราจะตกลงในระดับพื้นได้ขนาดไหนถ้าภาคการเมืองส่วนบนไม่เอาด้วย มันก็จะมาตันในเรื่องนโยบาย ฉะนั้น ถ้าเราสามารถแก้ไขโครงสร้างส่วนบนก็จะเอื้อให้การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ง่ายขึ้น"
 
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามแตะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง
"ไม่ต้องดู เรื่องอื่นไกลเลยนะถ้าจะดูเรื่องความจริงใจ เรื่องมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องป่าไม้เรื่องที่ดิน 30 มิ.ย. 2541 ที่มาเปลี่ยนหลักการแก้ไขปัญหาจากการมีส่วนร่วมมาเป็นการแก้ไขปัญหาโดยยึด หลักรัฐเป็นหลัก เราเสนอให้แก้เขาก็ไม่แก้ คือในเรื่องที่ดินที่มาทับซ้อนกับเขตป่าถ้าตราบใดมติ ครม.ไม่ยกเลิกมันแก้ไม่ได้ เรื่องการปฏิรูปผมว่าเป็นวาทกรรม ทางการเมืองเฉยๆ เรื่องการปฏิรูปที่ดินเกี่ยวกับโฉนดชุมชน โฉนด ชุมชนก็จัดได้กรณีเป็นที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะ ไปจัดแล้วให้ชาวบ้านเช่า มันไม่ใช่โฉนดชุมชนอย่างความต้องการของเรา ของเราก็คือให้ชุมชนเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการที่ดิน แบ่งสรรบันส่วนไปแล้วก็มีกติกาในการใช้ ถ้าคุณทำไม่ไหวก็ต้อง คืนที่ให้ชุมชน ห้ามขาย พี่น้องก็จะมีเรื่องกอง ทุนที่ดิน เรื่องเก็บภาษีประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตอนที่หลายๆ ที่ก็ทำแต่พอทำไปแล้ว พอมันไปซ้อนทับกับเขตอุทยานเขตป่าไม้มันก็ทำไม่ได้ ตอนนี้ก็โดนแจ้งความข้อหาบุกรุก ฟ้องทางแพ่งฟ้องขับไล่"
 
"เบื้องต้นมันต้องยอมรับก่อนว่าที่ ผ่านมามันมีความผิดพลาดในเรื่องการประกาศเขต พอคุณมาดูแผนที่ประเทศไทยว่ามันต้องมีป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของ พื้นที่มันถึงจะอยู่ได้ คุณก็วงกลมมา 40 เปอร์เซ็นต์ของแผนที่เลย โดยไม่ได้ลงไปดูข้อเท็จจริง พอวงกลมเสร็จคุณก็บอกว่าคนที่อยู่วงกลมมันผิดกฎหมาย กฎหมายก็ย้อนหลังไปเป็นร้อยปี บางวัดบางหมู่บ้านเขาตั้งมาเป็น ร้อยปีก็มีความผิด ถ้าคุณไม่ยอมรับความผิดพลาดตรงนี้ก่อนมันไม่มีวันแก้ได้ และจากหลักคิดตรงนี้มันแปลงมาสู่การปฏิบัติก็คือมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 ชาวบ้านถูกขับไล่ ฟ้องบุกรุก บางที่ก็ฟ้องแพ่งด้วย พี่น้องที่ร่วมเคลื่อนไหวมาด้วยกันเขตอุทยานแห่งชาติภูพานตอนสำรวจได้ พื้นที่ประมาณ 59,000 ไร่ พี่น้องอยู่ตรงนั้นประมาณ 3,000 ครอบครัว ตอนนี้ก็ยังทับซ้อนยังโดนข้อหาว่าบุกรุก"
 
"ถ้าเราเลือกตัว แทนเข้าใจปัญหาจากพื้นที่จริงๆ มันก็คงพอจะช่วยได้ ยกตัวอย่าง อันนี้ผมไม่เชียร์และผมไม่ได้เลือก ยุคที่พรรคความหวังใหม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ ส.ส.จากชนบทค่อนข้างเยอะ ผมคิดว่านโยบาย มติ ครม.ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามันก็เป็นมติที่ออกมาบนพื้นฐานของความเข้าใจ เราเสนอเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ได้รับขานรับในการตั้งคณะกรรมาธิการให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่สัดส่วนของพรรคการเมือง เราก็มีสิทธิมี ส่วนเข้าไป แต่พอรัฐบาลใหม่มาซึ่งมีความคิดแบบอำมาตย์แม้แต่ เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย อย่างเมื่อวันที่ผมไปจุฬาฯ ผมไม่เข้าใจคุณหมอนิรันดร์เหมือนกัน ท่านบอกว่าเราไม่ต้อง ชุมนุมหรอก มาก็ยุบสภาไปเลือกคนใหม่ก็ไม่ได้ เราก็ไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่เยอะแยะ ผมว่า ณ วันนี้เราก็ใช้กันจนไม่รู้จะยังไงแล้ว สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เราเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาก็ไม่ไปถึงไหน สุดท้ายก็เป็นกฎหมาย ป่าไม้ฉบับหนึ่งขึ้นมา เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเลย เรื่องการเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้สภายังไม่บรรจุเข้าวาระเลย ฉะนั้น ถ้าตัวพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีความคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วม ไม่ ยอมฟังเสียงของคนเล็กคนน้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ปัญหามันก็จะคาราคาซังอยู่อย่างนี้ ณ วันนี้มันก็ต้องปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เข้าใจปัญหา ของชาวบ้านจริงๆ"
 
การมีส่วนร่วม ของคนชนบทเวลานี้ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วกลับไปอยู่บ้าน
"ถ้าคุณลงไปดูหน่อยคุณจะได้เห็นว่าพี่น้องไม่ได้มาเฉพาะเรื่องอย่างนี้ ในระดับ อบต. พอชาวบ้านเขาเลือกตัวแทนเสร็จแล้ว พอ อบต.ได้ประธานสภา จะเปิดสภา พี่น้องเขาก็ไม่ได้นั่งดูนะ พี่น้องก็ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างข้อบัญญัติของ อบต. เขาไม่ได้คุยเรื่องตัวเองนะตอนนี้ เขาจะคุยกันว่าการพัฒนาตำบลเราจะพัฒนาไปในทิศทางใด ตอนนี้เขา เป็นไปลักษณะองค์กรตามธรรมชาติ หรือเป็นองค์กรที่มีกฎหมายรอง รับอย่างสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลซึ่งมี พ.ร.บ.รองรับแล้ว หรือถ้าเป็นองค์กรที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเครือข่ายเรา เรา ก็มีส่วนร่วมในการยกร่างหรือว่าแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งอย่างพวกเราสรุปบทเรียนแล้วการที่จะทำข้อตกลงเฉพาะหน้ากับรัฐบาล มันไม่มีหลักประกันในการแก้ไข ฉะนั้น เราต้องยกระดับขึ้นมา เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกติกาสังคมที่เป็นธรรม ก็คือรัฐบาลไหนเข้ามาก็ช่างแต่คุณเข้ามาคุณต้องปฏิบัติตัวภายใต้กติกานี้ที่ เราร่วมกันสร้าง อันนี้มันจะแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้จริงๆ"
"พี่น้องเราตอน นี้เราไม่ได้มีส่วนร่วมแค่การเลือกตั้ง แต่มีส่วนร่วมถึงระดับการกำกับดูแลการติดตามตรวจสอบการทำงานของตัวแทนที่ เลือกเข้าไปด้วย แต่นักวิชาการตอนนี้พยายามกีดกันเรา ถึงขั้น ไม่อยากจะให้เราไปเลือกตั้ง ผมว่าวันนี้เราเสนอข้อเรียกร้อง ต่ำสุดเรื่องการยุบสภา พวกนี้ยังไม่เห็นด้วยเลย ไม่อยากจะให้ ยุบไม่อยากจะให้เราไปเลือกตั้ง อยากจะให้เรากลับไป ทำตามรัฐธรรมนูญ พอทำไปก็จะไปเจอกฎหมายลูก ซึ่งลูกมันเก่งกว่าแม่อยู่เต็มบ้าน เต็มเมือง รัฐธรรมนูญบอกว่าให้เรามีส่วนร่วมในการจัดการ ทรัพยากรในพื้นที่ พอเราจะไปทำป่าชุมชนในเขตป่าสงวนในเขต อุทยานก็ไปเจอ พ.ร.บ.อุทยาน พ.ร.บ.ป่าสงวน พวกนี้ก็ยังอยากจะให้เรากลับไปทำอย่างเดิมอีก อยากจะให้เราไปสู้ในพื้นที่ ซึ่งเราสรุปแล้วว่ามันทำไม่ได้ถ้าส่วนบนมันไม่แก้ให้สนองการแก้ปัญหา เรามาวันนี้เราต้องการจะมาทำตรงนี้ ยืนยันว่าอันนี้คือปัญหาพื้นฐานของเราจริงๆ ผมว่าจริงๆ แล้วว่าเรื่องอุทยานทับพื้นที่ทำกิน เรื่องที่สาธารณะ อะไรพวกนี้มันเป็นผล ด้วยซ้ำไป มันไม่ใช่สาเหตุ ต้นเหตุมันคือ กติกาสังคมมันไม่ได้ไปตอบสนองตรงนั้น"

"ที่บอกว่าคน ชนบทถูกซื้อมันเป็นคำถามสำหรับผมเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงเข้าใจพวกเราอย่าง นั้น ทำไมคนชั้นกลางบางส่วนนักวิชาการไม่เข้าใจพวกเรา วันนี้ ผมยิ่งมีคำถามเยอะ คือแม้แต่นักวิชาการที่เคยร่วมกับเราสมัยสมัชชาคนจน สมัยสมัชชาชาวนาชาวไร่ วันนี้ก็ไม่เข้าใจเรา พวกนี้แต่ก่อนขึ้นเวทีก็ปราศรัยบอกว่าพอมีคนมาดูถูกชาวบ้านว่าพวกนี้โดนจ้าง มา พวกนี้เจ็บแค้นแทนชาวบ้านเลยนะ แต่มา ณ วันนี้ คนที่เคยเจ็บแค้นแทนชาวบ้านเป็นคนพูดเสียเองว่าพี่น้องที่มาโดนจ้างมา ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน"
 
"บนเวทีเสวนาที่ จุฬาฯ วันนี้ก็มีคนบอกว่าเวทีคนเสื้อแดงไม่เคยพูดปัญหาของชาวบ้าน ผมก็พยายามอธิบายว่านี่แหละปัญหาการเมืองคือปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านเลย แกก็ไม่ฟังนะ ก็เรายกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าดู ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ก่อนพอเราได้ข้อตกลงระดับ จังหวัดกับผู้ว่าฯ เราดีใจจะตายแล้ว แต่พอผู้ว่าฯ ย้ายเราก็ต้องไปชุมนุมใหม่ ต่อมาเราก็ยกระดับมาเป็นข้อตกลงระดับนโยบายที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี มันก็ยกระดับขึ้นมาเรื่อย จากข้อตกลงระดับพื้นที่มาเป็นข้อตกลงระดับนโยบาย จากการสู้โดยลำพังเฉพาะกลุ่มป่าไม้ ที่ดิน เป็นการมารวมกันของปัญหาของชนชั้นล่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ ที่ดิน ผลผลิตทางการเกษตร ที่ดินสาธารณะ ปัญหาเรื่องแรงงาน ชุมชุมแออัดในเมือง ผมว่ามันก็ยกระดับขึ้นมาเรื่อย พอรวมกันอย่างนี้ ณ วันนี้ มาสรุปได้ว่าถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างส่วนบนให้มันตอบสนอง มันก็มีปัญหา มันก็มีขั้นมีตอนของมันในการยกระดับการต่อสู้ของพี่น้อง พี่น้องมาวันนี้มาบอกว่าเนี่ยปัญหาพื้นฐานเราคือปัญหาการเมือง เพราะว่าเราปกครองด้วยระบบตัวแทน เอาตัวแทนมาเป็นคนกำหนดนโยบาย ตัวแทนมาเป็นคนกำหนดกติกาสังคม แต่กติกานั้นไม่เป็นธรรมกับพี่ น้อง มันถึงเกิดปัญหากับพวกเรา"
 
นี่คือระยะ เปลี่ยนผ่านที่คนในเมืองต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเห็นต่าง และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
"คือระบบที่ดู ถูกคนยากคนยากคนจนมันมีจริง อย่างเช่นที่บอกว่ายุบสภาไปพอไป เลือกตั้งใหม่พวกคุณก็โดนเขาซื้อ อันนี้ผมว่ามันเป็นความคิดของระบบอำมาตย์ที่ไม่ยอมรับความคิดไพร่ของพวกเรา คิดว่าพวกเราถูกซื้อได้อย่างวัวอย่างควาย อย่างที่มาเที่ยวนี้เขาบอกว่าเป็นยุทธการต้อนวัว ผมคิดว่ามันดูถูกกันอย่างมาก คิดว่าพวกเราเป็นวัวเป็นควายไม่มีความคิด เราก็มีความคิดของเรา มีเหตุมีผลรองรับพอสมควร ก่อนที่จะเราเลือกพรรคไทยรักไทยมา เพราะว่าเขาให้ความสำคัญกับพวกเราก่อน โดยการไปฟังความเห็น ไปฟังปัญหา ไปฟังความต้องการของเราแล้วเอามากำหนดเป็นนโยบาย นโยบายสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้ อันนี้คือพูดรวมๆ ให้ เห็นเหตุผลของคนเสื้อแดง ผมว่ามันก็ไม่ผิด มันก็ เหมือนกับพวกคุณที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ตอบสนอง พวกคุณ ดังนั้น ไม่ผิดที่ประชาธิปไตยกินได้ที่พี่น้องเลือก ก็อยากจะให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจด้วย ไม่ใช่ว่าเราโดนซื้อ มาโดนจูงมาไม่มีความคิดของตัวเอง และที่บอกว่าคนเสื้อแดงมาเพื่อคุณทักษิณ วันนี้มันชัดแล้วว่ามันไม่ใช่ เราขอให้ยุบสภาแล้วไปสู่ สนามการเลือกตั้ง แข่งขันอย่างเป็นธรรม ภายใต้ กติกาที่เป็นธรรม กรรมการที่เป็นธรรม พอได้มาแล้วก็อยากจะให้ทุกคนเคารพผลของการได้ตามตามกติกาที่เราร่วมกำหนดกัน แล้วเราค่อยมาร่วมมือกันในการสร้างกติกาใหม่ที่มันให้ความเป็นธรรม กับทุกคนในทุกภาคส่วนของสังคม".
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net