Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ความตายคือสัจธรรมสำหรับมนุษย์ ดั่งที่อัลลอฮ์ได้โองการความว่า ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสกับความตาย

วันที่ 24 มีนาคม 2553 สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมและพี่น้องชาวไทยได้ทราบว่า นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี อายุ 94 ปี ได้ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 13.10 น. ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักจุฬาราชมนตรี

หลังจากนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 13.00 น. ณ มัสยิสอัลฮุสนา ถนนมิตรไมตรี แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ได้มีการละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดขอพรให้กับศพ)

จุฬาราชมนตรีคือตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรบริหารกิจการศาสนาของมุสลิมในประเทศไทย

ด้วยบทบาทและคุณงามความดีของท่านตลอดระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวทำให้วันจัดการศพของท่านเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมแสดงความเสียใจ

โดยเฉพาอย่างยิ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานดินฝังศพ ท่าน เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

นอกจากนี้ยังมีดินฝังศพพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา โดยผู้แทนพระองค์นำมา รวมทั้งดินฝังศพประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ เดินทางมาถึงมัสยิดอัลฮุสนา ก่อนจะนำร่างฝังลงในหลุมฝังศพ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เองก็ไม่น้อยหน้าถึงแม้จะอยู่ต่างแดน ได้ร่วมทวิตข้อความผ่านเว็บล็อก Twitter.com ว่า "ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับพี่น้องไทยมุสลิมและครอบครัวสุมาลย์ศักดิ์ในการถึงแก่อสัญกรรมของท่านจุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลย์ศักดิ์ ด้วยครับ"

ยังมีบุคคลสำคัญต่างๆจากต่างศาสนิก เข้าร่วมพิธีฝังศพท่าน เช่น พระอัครสังฆราชซัลวาดอเร เปนนักคีโอ ฯพณฯ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย สถานเอกอัครสมณทูตวาติกัน

ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตและอุปทูตต่างๆเช่น นายมาจิด บิซมาร์ก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและ นายนาบีล เอช.อัชรี อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย

ที่สำคัญยิ่งกว่านนั้นพี่น้องมุสลิมจากทั่วประเทศไทยซึ่งไม่สามารถไปร่วมพิธีศพได้ทำพิธีละหมาดฆออิบ

คำว่าละหมาดฆออิบหมายถึงการละหมาดขอพรให้แก่ผู้เสียชีวิต สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมละหมาดในสถานที่ทำพิธีละหมาดศพได้ด้วยตนเอง

เช่นที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส เวลา 14.30 น.ของวันที่ 25มีนาคม นายอับดุลอาซิช เจ๊ะมามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้นำศาสนา ประมาณ 300 คน ร่วมกันทำพิธีละหมาดฆออิบ และวิงวอนขอดูอาร์แก่ท่าน หลังเสร็จพิธีละหมาด นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวสดุดีถึงความดีของจุฬาราชมนตรี

จังหวัดยะลา อิหม่าม(ผู้นำ)ประจำมัสยิดทั้ง 470แห่ง ได้จัดพิธีละหมาดฆออิบ หลังการละหมาด ญุมอัต (ละหมาดวันศุกร์) ซึ่งมีมุสลิมในพื้นที่จังหวัดยะลาตามมัสยิดต่างๆ เข้าร่วมในพิธีกว่า 50,000 คน

สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมร่วมกันทำพิธีละหมาดฆออิบที่มัสยิดในชุมชน รวม 58 แห่ง ทั่วเขตจังหวัด ทั้งนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณ 90,000 คน

การแสดงออกของผู้คนทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศต่อท่านย่อมแสดงถึงคุณงามความดีของท่าน สมควรที่ชนรุ่นหลังนำไปเป็นแบบอย่าง(ในสิ่งที่ดี)

ในขณะที่เราซึ่งยังมีชีวิตต้องนำกลับไปคิดว่า ความเป็นมนุษย์มีความสำคัญมากเพราะ“ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” ซึ่งเป็นพุทธศาสนสุภาษิต

ข้อความนี้ควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ด้วยสติและ ปัญญา เพื่อจักได้ประโยชน์จากความหมายของพุทธภาษิตนี้อย่าง สมบูรณ์

ปรกติ สิ่งใดที่ได้ยากท่านถือว่าเป็นของมีค่า ควรถนอมรักษาอย่างยิ่ง การได้เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการยาก เปรียบดังได้เพชรน้ำงามเม็ดใหญ่หาค่ามิได้ไว้ในมือ เราย่อมต้องรักษาเพชรนั้นยิ่งกว่าได้เศษกระเบื้องและ ไม่มีราคา การรักษาค่าของความเป็นมนุษย์ก็คือ การรักษาคุณสมบัติ ของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกับการรักษาเพชรนั่นเอง การรักษาเพชรนั้นไม่เพียงรักษาไม่ให้สูญหายเท่านั้น แต่ต้องรักษาไม่ให้แตกร้าว ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนแม้เท่าขนแมว เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้ความงามของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ค่าของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ ราคาของเพชรต่ำลง

การรักษาความเป็นมนุษย์ ไม่ควรเพียงเพื่อรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวเท่า นั้น แต่ต้องรักษาคุณค่าของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ นั้นคือความดีภายใต้ธรรมมะที่กินได้

ธรรมมะที่กินได้ ในศาสนาพุทธ ควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ แล้วปฏิบัติให้ได้ ก็จักสามารถรักษาคุณค่าแห่ง ความเป็นมนุษย์ทุกประการได้ โดยผ่าน 7 ประการคือ 1. รู้จักเหตุ 2. รู้จักผล 3. รู้จักตน 4. รู้จักประมาณ 5. รู้จักกาล 6. รู้จักประชุมชน 7. รู้จักบุคคล

ในขณะที่อิสลามนั้นอัลลอฮ์ได้โองการไว้ ความว่า ฉันขอสาบานกับกาลเวลา แท้จริงมนุษย์ทุกคนอยู่ในความขาดทุน ยกเว้นผู้ผู้ที่มีความศรัทธา ปฏิบัติในสิ่งที่ประเสริฐ เชิญชวนในสัจจะธรรมและอดทน

000

 

หมายเหตุ

1. ประวัติจุฬาราชมนตรี

ชื่อมุสลิม : อะห์มัด บิน มะห์มูด ซัรกอรี

วันเกิด : 27 มกราคม พ.ศ.2459

สถานที่เกิด : คลองสิบหก ต. ดอนฉิมพลี อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา (เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่ ต. หนองจอก อ. หนองจอก กรุงเทพมหานคร)

บิดา : หะยี มะห์มูด สุมาลยศักดิ์

มารดา : นางเราะห์มะห์ สุมาลยศักดิ์ (นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นบุตรคนแรกจากพี่น้อง 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน)

ครอบครัว: สมรสกับนางชื่น มีบุตรด้วยกัน 7 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 2 คน 
การศึกษา:

- จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนราษฎร์ดรุณศึกษา เมื่อ พ.ศ.2474

- ศึกษาภาคศาสนาในตอนเย็นและกลางคืนมากกว่า 10 ปี จากครูที่มีความรู้สูง วิชาที่ศึกษา คือ นะฮู ซอรอฟ ตัฟซีร หะดีษ มันติ๊ก อะรู้ด กอวาฟี และอื่นๆ 

- เมื่อจบสายสามัญแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อภาคศาสนาที่โรงเรียนมะฮัลลุดดีน ยามีอุ้ลอุลูม ซอลาฟัน วาคอลาฟัน ลิลมุสลิมีน บางอ้อ ธนบุรี โดยอาจารย์อับดุลเลาะห์สอน มูฮำหมัดฮูฌซ็น

- ศึกษาด้านศาสนาพิเศษเพิ่มเติมกับอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ (อดีตจุฬาราชมนตรี) ณ ตรอกโรงภาษีเก่ายานนาวา กรุงเทพฯ

- ศึกษาด้านศาสนต่อ ณ นครมักกะห์ ในวิชาตัฟซีร นะฮู และวิชาฟิกอ์ กับอาจารย์ที่มีความรู้สูงหลายท่าน เช่น อาจารย์อาลาวี บินมูฮำหมัด ฮูเซ็น อัลมาลิกี , อาจารย์อับดุลกอเดร อัลมันดิลี และอาจารย์มูฮำหมัดนอร์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง มุฟตีแห่งรัฐกลันตัน มาเลเซีย รวมทั้งได้ศึกษาญัมอุลญะวามิอ์กับอาจารย์ปะดอแอ

- นอกจากนั้นยังได้ศึกษากับอาจารย์มุสตอฟา การีมี บิดาของอดีตจุฬาราชมนตรีแช่ม พรหมยงค์ รวมระยะเวลาที่ศึกษาด้านศาสนาทั้งในประเทศและนครมักกะห์รวม 17 ปี 

หน้าที่การงานและประสบการณ์ด้านศาสนา:

- กรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนคร (ขณะนั้นยังไม่รวมกับธนบุรี)

- กรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ติดต่อกัน 3 สมัย

1) สมัยนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี

2) สมัยนายต่วน สุวรรณศาสน์ เป็นจุฬาราชมนตรี

3) สมัยนายปนยประเสริฐ มะหะหมัด เป็นจุฬาราชมนตรี

- ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตอิสลาม โดยกระทรวงศึกษาธิการ

- เป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ (ผู้แทนไทยนำผู้แสวงบุญเดินทางไปนครมักกะห์)

- เป็นตัวแทนผู้ตัดสินการประกวดการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ในนามประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 3 สมัย

- อาจารย์สอนอิสลามศึกษาคนแรกของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

- เป็นผู้ริเริ่มการกระจายเสีงภาคมุสลิม โดยได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายจากยูซิส

- พ.ศ. 2493 - 2501 ได้รับบรรจุเป็นอาจารย์สอนระดับ ม.ปลาย ที่อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จากนั้นออกไปสู่วงการเมือง

- เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร 2 สมัย

- เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร 2 สมัย

- เป็นเทศมนตรีเทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร 2 สมัย คือ เทศมนตรีฝ่ายการศึกษา และเทศมนตรี ฝ่ายสาธารณสุข

- เป็นรองประธานสภาเทศบาลนคร 2 สมัย

- อาจารย์พิเศษโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ

- ได้รับเชิญเป็นวิทยากร กระทรวงศึกษาธิการ

- ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับสงครามจิตวิยา ณ กรมประมวลราชการแผ่นดิน

- เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยในการประชุมกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามภาคพื้นเอเชียและแอฟริกา ณ กรุงการาจี ประเทศปากีสถาน

- นักวิชาการด้านศาสนา เป็นที่ปรึกษาด้านศาสนาทั่วไป เป็นผู้บรรยายภาควิชาศาสนา ณ สถาบันต่าง ๆ

5 พฤษจิกายน พ.ศ.2540 นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 หลังผ่านการเลือกตั้งของ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2540 เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรอิสลาม พ.ศ.2540

 

2. กระบวนการสรรหาจุฬาราชมนตรี

พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มาตรา 6 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยโดยให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาจุฬาราชมนตรีตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 7 จุฬาราชมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์

(3) เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี

(4) เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด

(5) เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา

(6) เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(7) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(8) ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(9) ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(10) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

สำหรับกฎกระทรวง (พ.ศ.2542) ซึ่งออกตามออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับการสรรหาจุฬาราชมนตรี ระบุเอาไว้ว่า

ข้อ 1 เมื่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและแจ้งให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศทราบ

การกำหนดสถานที่ประชุมวรรคหนึ่ง ให้กำหนดสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว

ข้อ 2 ในการประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมกรรมอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม

การให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ

ข้อ 3 ในการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งอยู่ในที่ประชุมแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 (พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540) เพื่อให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่อยู่ในที่ประชุมลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามมาตรา 6 วรรคสอง

ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 ชื่อแต่ไม่เกิน 3 ชื่อ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากกำหนดหมายเลขประจำตัวของผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ที่ประชุมลงคะแนนให้ความเห็นชอบตามข้อ 4

ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 3 ชื่อ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากเลือกรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดที่อยู่ในที่ประชุม จังหวัดละ 1 ชื่อเป็นคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 ชื่อโดยวิธีลงคะแนนลับ และเมื่อได้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 3 ชื่อแล้ว ให้ดำเนินการตามวรรคสาม

ข้อ 4 ในการลงคะแนนให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ให้ใช้บัตรลงคะแนนตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และระยะเวลาในการลงคะแนน ให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมกำหนด

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาลงคะแนนแล้ว ให้ประธานในที่ประชุมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจนับคะแนน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามมาตรา 6 วรรคสอง

ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมจัดให้มีการลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันตามวิธีการที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสองอีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังคงได้รับคะแนนเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลากโดยประธานในที่ประชุมเป็นผู้จับ

ข้อ 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามข้อ 3 วรรคสอง หรือตามข้อ 4 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี

000

หมายเหตุ

[1] เกี่ยวกับผู้เขียน:

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้, อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ; วิทยาลัยชุมชนสงขลา, ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา shukur2003@yahoo.co.ukhttp://www.oknation.net/blog/shukur 

[2] ประมวลภาพพิธีฝังศพ ท่านจุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ที่มัสยิด ฮุสนา หนองจอก มีนบุรี กรุงเทพมหานคร http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?page=content&category=109&id=8410

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net