Skip to main content
sharethis

"รองปลัดกระทรวงพลังงาน" ชี้หากต้องใช้ "แอลเอ็นจี" ผลิตไฟฟ้าแทนสร้าง "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และอาจมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เหตุราคาแอลเอ็นจีมีแนวโน้มเพิ่มตามราคาน้ำมันตลาดโลก

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของ ประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (พีดีพี 2010) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างศึกษาแผนสำรองเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตามแผนพีดีพี เชื้อเพลิงทางเลือกที่น่าจะทดแทนได้คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และอาจมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจากราคาแอลเอ็นจีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสะท้อนตามราคาน้ำมันตลาดโลก

ทั้งนี้ ตามแผนพีดีพี 2010 ในระยะ 20 ปีข้างหน้า กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หรือ 5,000 เมกะวัตต์ โดยแห่งแรกจะเริ่มในปี 2563 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากต้องใช้แอลเอ็นจีมาทดแทน คงต้องหารือกับบริษัท ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี ว่าจะสามารถบริหารจัดการปริมาณแอลเอ็นจีจากต่างประเทศได้เพียงพอหรือไม่

นายธนากร พูลทวี รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในแผนพีดีพี กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในปี 2553-2573 จะประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆดังนี้ 1.โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 4,617 เมกะวัตต์ 2.โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 7,137 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 16,000 เมกะวัตต์ 4.โรงไฟฟ้าพลังน้ำ (ปรับปรุงเขื่อนบางลาง และโครงการสูบกลับเขื่อนลำตะคอง) 512 เมกะวัตต์ 5.การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11,600 เมกะวัตต์ 6.โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ และ 7.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์
 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net