Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวฯ จัดราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤตความขัดแย้ง” โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกฯ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และนายวีระ มุสิกพงษ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมเป็นวิทยากร อย่างไรก็ตาม การเสวนาครั้งนี้ไม่มีตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลและตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าร่วมแสดงความเห็น โดยนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตร อ้างว่าขอสงวนท่าที

นายวีระ กล่าวว่า อำมาตยาธิปไตยเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอคณะราษฎรแย่งอำนาจมาได้ อำมาตย์ก็มีดึงคืน ทำให้เกิดกบฏหลายครั้ง ไม่เคยคิดว่าประเทศเป็นของประชาชนจนเกิดแตกหักกันในปี 2516 และปี 2535 ปัญหาของประเทศ คือการปฏิวัติ อำมาตย์มองประชาชนเป็นผู้อาศัย สภาฯมาจากการซื้อเสียง ทางแก้คือทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ถ้าประชาชนโง่เง่าอย่างที่อำมาตย์มองก็ปล่อยให้ล้าหลังไปทั้งประเทศ คนเสื้อแดงต่อสู้ที่ท้องสนามหลวงมาหลายปี และยืนหยัดในแนวทางสันติ อหิงสา เมื่อมีแนวร่วมมากขึ้น รัฐบาลก็ต้องรับฟัง ปัญหาคือรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเสียงที่เรียกร้องมากแค่ไหน เนื่องจากการเรียกร้องครั้งนี้มาจากประชาชนทุกชนชั้น ไม่จำกัดอยู่เพียงนักศึกษา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นได้เปรียบกับชนชั้นเสียเปรียบ ฝ่ายได้เปรียบพอใจในกติกาและรัฐบาลชุดนี้ แต่คนที่ร้องโวยวายบนถนนราชดำเนิน คือกลุ่มคนที่เสียเปรียบ

“หากรัฐบาลจะสู้โดยปลุกกลุ่มคนได้เปรียบมาเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดง การนัดชุมนุมของคนเสื้อสีชมพูในวันที่ 2 เม.ย.นี้ หรือแม้แต่การใช้กำลังทหาร ตำรวจ สลายการชุมนุม ก็จะได้เห็นสงครามชนชั้นโดยชาวนา ชาวไร่ นักธุรกิจจะรวมเป็นหนึ่งเดียว รบกันแน่ ผมไม่ได้ขู่ แต่ภาวะดังกล่าวจะเป็นการเร่งประเทศให้เข้าสู่การปฏิวัติยึดอำนาจของ ประชาชน ทางออกคือ ต้องยุบสภาฯคืนอำนาจให้ประชาชน ให้เวลาเป็นปัจจัยในการสร้างประชาธิปไตย ประชาชนอาจรุนแรง แต่ถ้าพวกผมยังอยู่รับรองไม่รุนแรง จะจัดการก็ให้จัดการกับพวกผม” นายวีระ กล่าว

ในช่วงท้าย นายวีระกล่าวตอบข้อซักถามถึงความเป็นไปได้ในการเจราจารอบ 3 ว่า ในตอนท้ายการเจรจารอบ 2 ตนพูดว่า เรื่องของประเทศชาติต้องพูดจากันได้ แต่จะวันไหนเวลาไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลักการทั่วไปคือ ต้องพูดกัน แต่ไม่อยากพูดให้กระทบกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เรื่องการยุบสภาฯคงไม่ใช่ 15 วันและ 9 เดือนแน่ ส่วนจะเป็นกำหนดเวลาเท่าไรนั้น คงต้องเป็นเรื่องของการเจรจา ส่วนกรณีที่มีการหยิบยกการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาอ้างนั้น ไม่ควรเอาเรื่องปราศรัยบนเวทีมาพูดบนโต๊ะเจรจา มิเช่นนั้นเรื่องก็จะไม่จบ อย่างไรก็ตาม การที่ตนประเมินว่า อาจะเกิดความรุนแรงในการชุมนุมใหญ่วันที่ 3 เม.ย.นี้ เป็นการวัดจากความรู้สึกของประชาชน และประสบการณ์การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีความรู้สึกว่าดีกรีร้อนแรง ถ้าไม่รีบจัดการแบบสันติวิธี อาจเกิดเรื่อง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ผู้ที่ถนัดกับการจัดการปัญหายากๆ รู้ดีว่าวิกฤตเป็นโอกาส เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เยอรมันที่เผชิญกับวิกฤตสงครามโลก แต่พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาได้ สำหรับประเทศไทยได้เผชิญวิกฤตมาหลายครั้ง เป็นวิกฤตที่ให้กำไรกับสังคมไทย การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. 2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่า เป็นมือใหม่ พอใช้ได้ กระบวนการยังไม่ดี ควรวางกติกาก่อนเจรจา เช่น ไม่ด่าว่ากัน ไม่เอาเรื่องอดีตมาพูด ไม่ค้นหาว่าใครผิดใครถูก ตั้งประเด็นในการเจรจาโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ถ้ามีกระบวนการปรับทัศนคติที่ดีจะเอื้ออำนวยให้การเจรจาประสบความสำเร็จ

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรพูดคุยกันในวิกฤตความขัดแย้ง คือโรดแมปเพื่อแก้วิกฤตและใช้โอกาสของวิกฤต เป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้านเพื่อ 1 แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการเมืองแบบร่วมคิดร่วมทำ การเจรจาเพื่อยุติสงครามต้องชนะด้วยกัน ถ้าตั้งสติให้ดีคงไม่มีใครคิดว่า การที่เราชนะแล้วอีกฝ่ายแพ้เป็นเรื่องดี ถ้าคิดอย่างนั้นเป็นเพียงความคิดครึ่งทาง คิดสุดทางคือต้องชนะด้วยกัน จึงหวังว่า สิ่งที่จะพูดจากันต่อไปคือ การหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน แม้ว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่สมบูรณ์ เราต้องร่วมกันสร้างการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมคิดร่วมทำ จึงขอให้ใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างการเมืองที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน และความยากจนแบบบูรณาการ ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม สร้างความเป็นมิตรไมตรีในสังคม

“ขณะนี้หลายเวทีจัดสัมมนาหาทางออกให้กับประเทศ พูดกันมากว่า ยุบหรือไม่ยุบสภาฯ ประเทศเปรียบเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่อยู่มานาน ปลวกกินจนชำรุด พี่น้อง 2 คน ทะเลาะกันให้รื้อบ้าน คนหนึ่งให้รื้อใน 15 วัน อีกคนขอรื้อใน 9 เดือน ทั้งที่การรื้อบ้านเป็นเรื่องของคนทั้งครอบครัว จะรื้อหรือปรับปรุงสร้างใหม่เป็นประเด็นที่คนทั้งครอบครัวต้องช่วยกันคิด เช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศที่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไพร่และอำมาตย์” นายไพบูลย์ กล่าว

ทางด้านนายไพโรจน์ กล่าวว่า วิกฤตความขัดแย้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้นำผู้คนในสังคมเข้าสู่การเมือง มีการถกเถียงถึงความแตกต่างทางความคิดเห็นในทุกระดับ สถานการณ์ปัจจุบันท้าทายว่า ความแตกต่างทางความเชื่อจะสามารถลงตัวด้วยสันติวิธีได้หรือไม่ โดยกลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมและตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจฉ้อฉล ทุจริต คอรัปชั่น ขณะที่ฝ่าย นปช.ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจสองมาตรฐาน นี่คือความขัดแย้งใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งเปิดทางให้ตุลาการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ต้องยอมรับว่า โครงสร้างความไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง ปรากฏการณ์เขายายเที่ยง เขาสอยดาว ชี้ว่า คนมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเข้าไปยึดครองที่ดินของรัฐ นอกจากนี้งานวิจัยชี้ว่า โฉนดที่ดินใน 10 จังหวัด ถูกถือครองโดยคนเพียง 25 ราย แต่เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง สวัสดิการประกันสังคมจำกัดอยู่กับคนเพียง 10 ล้านคน ช่องว่างในสังคมจึงถูกหยิบยกมาเป็นสงครามชนชั้น ซึ่งจำเป็นต้องช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหาเฉพาะหน้าและทางออกระยะยาว ไม่ใช่คิดเพียงว่าจะยุบสภาฯในเวลา 3 หรือ 6 เดือน

ด้าน พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาของประเทศทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องการแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัวจนทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ถือโดยคน 11 ตระกูล ใครเข้าถึงอำนาจก็ได้เงินของตัวเองไป จึงไม่แปลกใจว่า คนขับแท็กซี่จึงรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะธนาคารปล่อยกู้ให้กับรายใหญ่เท่านั้น เรามาถึงจุดว่า จะเลือกไปทางไหน เราเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้ แต่วิถีชีวิตยังเป็นแบบตะวันออก เคารพผู้ใหญ่ ยอมให้ผู้ใหญ่จูงเข้ารกเข้าพง เป็นการเมืองที่ไม่มีรากเหง้า นักวิชาการเริ่มพูดให้คนไทยเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นตะวันตก จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะประชาธิปไตยลอกมาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล คำถามคือ คนไทยจะเลิกกราบไหว้ เลิกนับถือกันได้หรือไม่ หากจิตสำนึกในประชาธิปไตยยังเป็นแบบไทยการเมืองก็ไปไม่รอด จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองให้สอดรับกับวิถีชีวิต

“ฝ่าย นปช.ไม่เชื่อมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบสภาฯ เพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล และไม่เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนโดยนักการเมืองจะได้รับการตอบรับจากประชาชน สิ่งที่น่าห่วงคือ การทิ้งช่วงเจรจาไว้นานเกินไป ถ้ามีระเบิดมากขึ้น มีม็อบออกมามากขึ้น โอกาสจบก็ไม่มี หากหยุดไปเที่ยวสงกรานต์กันให้หมด จะไม่มีโอกาสเกิดสงกรานต์เลือด ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การยุบสภาฯเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เร็วที่สุด แต่สำหรับคนที่ชอบจบเร็ว คิดว่า การปฏิวัติล้มกระดานเพื่อกำจัดคนๆ เดียว ดีกับสังคมไทยก็ทำอีกครั้ง การตัดสินคดีของศาลไม่ผิด เพราะตัดสินภายใต้กฎหมายที่เขียนโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีมาตรฐานเลย เลวร้ายยิ่งกว่า 2 มาตรฐาน ซึ่งผมไม่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะแก้ปัญหาของประเทศได้” พล.อ.เอกชัย กล่าว

 

 

 ......................................
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net