แรงงานสรุปบทเรียน รวมกรณี 'เอาแต่ไกล่เกลี่ย ไม่บังคับใช้กฎหมาย' คุยศาลแรงงาน

จี้ ก.แรงงานตรวจสอบสถานประกอบการที่ปิดตัว-เลิกจ้างคนงาน มีปัญหาจริงหรือไม่ เผยพบบางบริษัทปิดแล้วเปิดรับคนงานใหม่ คนงานจวก ก.แรงงานไม่บังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ปล่อยคนงานจัดการเอง

 

(3 เมษายน 2553) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน ร่วมจัดการสัมมนา "สรุปบทเรียนเรื่องเล่าปัญหาแรงงานในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่ห้องประชุมมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมรถไฟมักกะสัน โดยมีคนงานจากสหภาพแรงงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
สหภาพแรงงานแคนาดอล สหภาพแรงงานมิชลิน คนงานเวิร์ลเวลการ์เม้น คนงานทาคาร่า บูติคฯ

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล กรรมการบริหารคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เล่าถึงสถานการณ์ของคนงานบริษัทเวิร์ลเวลการ์เม้นท์ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเสื้อ ผ้าส่งออกต่างประเทศที่ประกาศปิดกิจการไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ว่า ก่อนการปิดกิจการ บริษัทฯ ได้ขอลดเงินเดือนพนักงานโดยอ้างภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ก่อนจะปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าชดเชยจำนวน 2.4 ล้านบาทด้วยเหตุผลเดียวกัน คนงานชุมนุมอยู่ข้างบริษัทหลายเดือน บางส่วนถูกฟ้องคดีบุกรุก จนปัจจุบันคดีแพ่งนายจ้างถอนฟ้องแลกกับการยุติชุมนุม คดีอาญาตำรวจไม่ส่งฟ้อง ทำหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานถึง 9 ฉบับ ทำหนังสือถึงนายกฯ 4 ฉบับ แต่ปัญหาไม่เคยได้รับการแก้ไข กระทรวงแรงงานไม่สามารถบังคับให้บริษัทจ่ายตามกฎหมายได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเพียงการไกล่เกลี่ยเท่านั้น คนงานเคยเสนอให้้รัฐบาลจ่ายแทนนายจ้างก่อน แล้วไปยึดทรัพย์นายจ้างทีหลัง แต่ก็ไม่มีการตอบรับ

สุธาสินี เล่าว่า ล่าสุด เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์เพื่อนำของขายทอดตลาด ก็ปรากฎว่า นายจ้างยื่นคำขาดว่ายึดแล้วต้องขนของออกทันที ทำให้คนงานต้องเสียเงินค่ารถขนของ 4-5 คันคันละ 1,500 บาท ค่าเช่าโกดังเดือนละ 15,000 บาท จนวันนี้ยังขายไม่ได้ทั้งหมด เพราะต้องรอคำสั่งจากศาลก่อน ไม่แน่ใจว่าเมื่อขายได้แล้ว จะได้เงินค่าชดเชยครบหรือไม่

วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน กล่าวว่า เมื่อคนงานต่อสู้เรียกร้องมากๆ นายจ้างจะมีเทคนิคขัดขวางการรวมตัวของคนงานเสมอ โดยเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปเรื่อยๆ ทำให้ขบวนการคนงานเล็กลง เช่น เปลี่ยนไปจ้างเหมาค่าแรง หรือแยกย่อยบริษัทออกไป บางครั้งเมื่อเกิดข้อพิพาทกับคนงาน ก็ใช้วิธีปิดงานแล้วเอาคนงานที่อื่นที่ไม่มีอำนาจต่อรองสวัสดิการมาทำงานแทน ถามว่าเป็นการเลี่ยงการเจรจา เลี่ยงกฎหมายและความรับผิดชอบหรือไม่

วาสนา กล่าวว่า ส่วนนักวิชาการและนักกฎหมายบางคนก็มักเปิดอบรมวิธีต่ิอรองให้นายจ้างจ้างงาน โดยไม่ให้คนงานรวมตัว เรียกร้องสิทธิและสวัสดิการได้ ขณะที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไม่เคยทำงานเชิงรุก กว่าที่กระทรวงฯ จะลงไปดูปัญหาก็จบแล้ว เพราะมีแรงกดดันจากกระแสสังคม สื่อและการรณรงค์ในต่างประเทศ

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดมากขึ้น โดยจะสรุปการเคลื่อนไหวของแต่ละกรณีปัญหาว่ามีความคืบหน้า-ไำม่คืบหน้าอย่าง ไร เพราะอะไร จากนั้นจึงจะกำหนดร่วมกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร นอกจากนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาคดีแรงงานที่ผ่านมา และเข้าพบอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง เพื่อปรึกษาแนวทางช่วยเหลือคนงานต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งในขั้นตอนของกระทรวงแรงงานและศาลก็มักมีการไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างยินยอม รับเงิน มากกว่าที่จะใช้วิธีการพิจารณาคดี ดูข้อมูลข้อเท็จจริงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง อีกทั้งเวลาในการพิจารณาคดียังยาวนานมาก ทำให้กระทบต่อชีวิตของลูกจ้าง เพราะไม่มีเงินค่าเดินทางและใช้ต่อสู้คดี

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน กล่าวถึงการเลิกจ้าง 2 กรณีพิเศษ คือ หนึ่ง กรณีบริษัทที่เป็นกลุ่มทุนข้ามชาติที่ต้องย้ายฐานการผลิตจึงเลิกจ้างหรือปิด กิจการ เขาตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายขั้นต่ำอาจไม่เพียงพอ สอง กรณีกิจการที่เลิกจ้างคนงานโดยอ้างภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เมื่อลูกจ้างรับค่าชดเชยและแยกย้ายกันไปแล้ว กลับปรากฎว่าบริษัทเปิดดำเนินกิจการและจ้างลูกจ้างใหม่เข้ามา ถามว่าจะมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรที่จะตรวจสอบว่า สถานประกอบการมีปัญหาจริงหรือไม่ โดยกระทรวงแรงงานจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น มีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้คนงานที่ได้รับผลกระทบต้องตามฟ้องหรือเรียกร้อง สิทธิตามกฎหมายซึ่งต้องใช้เวลานาน

อนึ่ง กรณีการเลิกกิจการของบริษัทเวิร์ลเวลการ์เม้นท์ สุธาสินี กล่าวเสริมว่า ล่าสุด พบเอกสารการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทลงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ด้วย ทั้งที่บริษัทประกาศปิดกิจการไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 จึงน่าสงสัยว่าเป็นการปิดกิจการจริงหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท