Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิวาทะของนักวิชาการน้ำดีระหว่าง รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และพวกรวม 5 คน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กรณีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์คุณทักษิณ 4.6 หมื่นล้านที่คุณสมเกียรติเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องและเป็นพยานสำคัญที่ศาลใช้อ้างอิงในการยึดทรัพย์ ได้กลายประเด็นสำคัญในวงสนทนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการในช่วงที่ผ่านมา

ฝ่ายที่ชื่นชอบคุณวรเจตน์ก็บอกว่านี่คือการสอนมวยนักเศรษฐศาสตร์ได้อย่างหนักแน่น แต่ในทำนองกลับกันผู้ที่ชื่นชอบคุณสมเกียรติก็จะบอกว่านักกฎหมายจะไปรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ดีกว่าผู้ที่ร่ำเรียนมาโดยตรงได้อย่างไร ส่วนผู้ที่ชื่นชอบทั้งคุณวรเจตน์และคุณสมเกียรติก็บอกว่าพออ่านหรือฟังคุณวรเจตน์ ก็เชื่อคุณวรเจตน์แต่พอฟังคุณสมเกียรติก็ดูดีมีเหตุผลก็เชื่อคุณสมเกียรติ เลยไม่รู้ว่าตกลงจริงๆแล้วควรจะเชื่อใครในประเด็นไหน อย่างไร

แต่ก่อนที่จะจะตัดสินใจเราลองมาพิจารณาข้อมูลของทั้งสองฝ่ายก่อน

คุณวรเจตน์กล่าวว่า “ผมเห็นไม่ตรงกับอาจารย์สมเกียรติในส่วนเรื่องการกีดกันและ เอื้อประโยชน์ในส่วนโทรคมนาคม เพราะดูจากตัวสัญญาระหว่างบริษัทมือถือต่างๆที่ทำกับรัฐวิสาหกิจ ของรัฐและในส่วนกฎหมายออกมา วัตถุประสงค์ของภาษีสรรพสามิต ยังไม่พบว่าเป็นการกีดกันรายใหม่ แต่อย่างใด เรื่องต้นทุนประกอบกิจการก็ไม่น่าจะมีผลเป็นการกีดกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับรายใหม่กับรายเก่าแล้ว ต้นทุนในส่วนที่จะต้องชำระส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับรายใหม่ที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบวกกับภาษีสรรพสามิตด้วย ของรายเก่าก็สูงกว่าอยู่ดี”

“ผมเชื่อในหลักการ และอยากจะบอกแบบนี้ว่า ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจำนวนมากเข้าร่วมลงต่อสู้ก็มีวิธีการหลายวิธี เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลด้านเดียว การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่างๆเหล่านี้ทำกันมา คนๆหนึ่งอาจจะทำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่ออาจทำให้คนเชื่อว่าไอ้หมอนี่ทำ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย ถ้าคุณจะเชื่ออย่างไรนั้นก็ว่ากันทางการเมือง”

“ถ้าคุณอยากยึดทรัพย์คุณทักษิณ คุณรัฐประหารล้มเขาแล้ว คุณออกประกาศยึดไปเลย ส่วนในอนาคตข้างถ้าเขาจะกลับมานิรโทษกรรมอะไร ก็เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายก็ต้องมีเหตุผล”

ในส่วนของคุณสมเกียรติกล่าวว่า “มีประเด็นที่อาจารย์(วรเจตน์)พาดพิงผมเล็กน้อยว่า ผมคิดเอาเองหรือฟังผู้ประกอบการบ้างหรือเปล่า ไม่ได้ฟังอีกซีกหนึ่ง ผมเล่าให้ฟังว่า ผมทำงานวิจัยนโยบาย จะมีคนมาเจอผมเยอะมาก และเจอด้วยหลายจุดประสงค์ ถ้าพูดภาษาบ้านๆหน่อยก็คือมาล็อบบี ซึ่งลอบบีไม่ได้แปลว่าอะไรมีดี แต่คือการให้ข้อมูลในมุมของเขา ฉะนั้น ผมอยู่เฉยๆก็จะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เข้ามาให้ข้อมูลเต็มไปหมด”

“มีโอปะเรเตอร์มาคุยกับผมด้วย ฉะนั้น ผมไม่ได้นั่งอยู่ในตู้หรือนั่งเดา ล่าสุดเมื่อมี คำพิพากษาออกมา มีผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของโอปะเรเตอร์บอกกับผมว่า อาจารย์วิเคราะห์ได้ถูกต้องเรื่องกีดกันการแข่งขัน”

“อาจารย์วรเจตน์บอกว่ามันต้องเอาหลักฐานและห้ามมีความเชื่อเลย ผมคิดว่าเป็นเวอร์ชันที่เป็นไปไม่ได้เลย มีคดีไหนบ้างที่ศาลไม่ต้องใช้ความเชื่อในการตัดสินเลย แล้วมันเป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ แล้วการตีความข้อเท็จจริงมันคือความเชื่อทั้งสิ้น พูดแบบโพสต์โมเดิร์นนะ”

“ผมไม่ไปเคลมว่าผมถูกกว่าหรืออาจารย์วรเจตน์ถูกกว่า ผมคิดว่าให้คนดูตัดสิน ให้คนอ่านหนังสือพิมพ์ตัดสิน ผมเสนอในมุมของผม อาจารย์วรเจตน์เสนอในมุมของท่าน มุมของผม ผมเชื่อว่าพยานหลักฐานมันหนักแน่นพอ การที่ผมติดตามวงการโทรคมนาคมมา ผมเห็นหลักฐานแวดล้อม เห็นอะไรสารพัด”

แล้วคุณล่ะเชื่อใคร

คำตอบของผมก็คือ ผมเชื่อทั้งคุณวรเจตน์และคุณสมเกียรติ แต่เชื่อในคนละประเด็น

ผมเชื่อคุณสมเกียรติในประเด็นข้อเท็จจริงว่าคุณทักษิณยังคงถือหุ้นในชินคอร์ปอยู่และ กีดกันผู้อื่นจริง และผมก็เชื่อว่าคุณทักษิณนั้นซุกหุ้นตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ(2537) รองนายกรัฐมนตรี(2540)และนายกรัฐมนตรี(2544-2549) โดยใช้วิธีการที่แยบยลซุกหุ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมาโดยตลอด

ผมเชื่อคุณวรเจตน์ในประเด็นข้อกฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร หลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หลักดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ ประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุปก็คือผมเชื่อว่าคุณทักษิณซุกหุ้นและกีดกันผู้อื่นเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนจริง แต่การเอาผิดย่อมมิใช่การรัฐประหารแล้วออกกระบวนการพิเศษเช่น คตส.มาดำเนินการ แต่ต้องเป็นการใช้กระบวนการตามปกติที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น ปปช. ศาลอาญาหรือศาลรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยนั่นเอง

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 เมษายน 2553   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net