Skip to main content
sharethis
 
ชื่อเดิม: ประมวลวิสัยทัศน์ผลงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการรับมือการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก ใน 5 ประเด็น
 
 
 
ข้อเขียนชิ้นนี้ เขียนขึ้นโดยตัดประเด็นเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมในเรื่องที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ออกไปก่อน โดยพิจารณาเฉพาะผลงานในการแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของคนจำนวนมากนับแสน ว่ามีวิสัยทัศน์ และเป็นไปด้วยความเหมาะสมชอบธรรมเพียงใด
 
 
ประเด็นที่ 1  ผลงานในเรื่องการเจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุม
รัฐบาลประสบความสำเร็จในการใช้ท่าทีอ่อนนุ่มในการเจรจาถ่ายทอดสดผ่านทีวี ทำให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลกำลังพยายามใช้เหตุใช้ผลเพื่อคุยกับผู้ชุมนุม แต่เมื่อพิจารณาจากคำถามว่า "รัฐบาลมีความตั้งใจจะเจรจาจริงหรือไม่?" ทำให้เกิดข้อสงสัยคลางแคลงใจ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมตระหนักดีว่า ถ้าจะเจรจาอย่าง "หวังผล" จริง ๆ  จะต้องเป็นการปิดห้องเพื่อคุยกันอย่าง "เปิดอก" เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดกันทุกเรื่องผ่านกล้องทีวี (หากจำไม่ผิด ก่อนการเจรจา อภิสิทธิ์เคยยกคำพูดของพิชัย รัตตกุลซึ่งเคยแนะนำ “ไอ้หลานชาย” มากล่าวซ้ำว่า การเจรจาควรจะต้องปิดลับ) อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการเจรจาขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายดูเหมือนจะพอใจที่มีการถ่ายทอดสด
 
แม้ว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์จะใช้ท่าทีอ่อนนุ่มในการเจรจา แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับท่าทีของสุเทพ เทือกสุบรรณ, โฆษกรัฐบาล และสื่อในกำกับดูแลของรัฐบาล หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาล ที่ล้วนแล้วแต่ขัดแย้งสวนทางกับท่าทีของอภิสิทธิ์ เวชาชีวะที่ใช้ในการเจรจา  จึงเชื่อไม่ได้ว่า รัฐบาล "มีความตั้งใจจริง" ที่จะเจรจา แต่น่าจะเชื่อได้ว่า รัฐบาลหวังจะแก้ไขสถานะความชอบธรรมของรัฐบาลให้เป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยการเจรจา โดยอาศัย "โวหาร" ของนายกรัฐมนตรีที่มีเหนือคู่เจรจา ถ่ายทอดสดเพื่อโน้มนำคนทั่วประเทศมากกว่า
 
ดังนั้น การเจรจาครั้งนี้ จึงไม่ใช่การเจรจากันระหว่างรัฐบาล และ แกนนำ นปช. โดยตรง แต่เป็นการที่ทั้ง 2 ฝ่ายกำลัง "ต่อรอง" กันผ่าน "กระแสสังคม" โดยต่อมาฝ่าย นปช. ตัดสินใจ ถอนตัวออกจากการเจรจา ซึ่งน่าจะมีเหตุผลหลัก ๆ 2 ข้อ คือ หนึ่ง การต่อรองผ่าน "กระแสสังคม" ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนหลัก ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนหลายฝ่ายที่ "เสียงดัง" กว่าคนอื่นในสังคมนั้น เป็นการเสียเปรียบจนเกินไป  สอง การที่ฝ่ายรัฐบาลเอาประเด็น "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เข้ามาอยู่ในการเจรจา และพยายามลากไปเป็นประเด็นหลักนั้น ทำให้ประเด็นข้อเรียกร้องของ นปช. (ที่เห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในเรื่องที่มา) ไขว้เขวไป และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น
 
แม้การเจรจาจะล้มเหลว แต่ก็ทำให้เห็นเส้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายขีดไว้ คือ 15 วัน กับ 9 เดือน ซึ่งต้องถือว่าเส้นที่ขีดไว้นี้ ก็ทำให้ฝ่ายอื่นๆ ในสังคมเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ได้สะดวกขึ้น เช่น ข้อเสนอยุบสภาภายใน 3 เดือนของนักวิชาการ และดูเหมือนว่า ท่าทีจากฝ่าย นปช. เอง ก็ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาต่อรองในเรื่องเงื่อนเวลานี้ของฝ่ายอื่น ๆ
 
 
ประเด็นที่ 2  การแก้ปัญหาการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์
ในขณะที่สังคมกำลังอยู่ในบรรยากาศของการพยายามหาทางต่อรอง (15 วัน - 9 เดือน) เมื่อมีการปิดถนนชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ รัฐบาลซึ่งแสดงท่าทีรับฟังเสียงต่างๆ ในสังคม ก็เปลี่ยนท่าทีเป็นแข็งกร้าวในทันที
 
ท่าทีของรัฐบาลตั้งแต่ นปช. มาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ จนถึงเวลาที่ รบ.ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น มีลักษณะผิดไปจากปรกติที่รัฐบาลทั่ว ๆ ไปจะพึงมีในการแก้ปัญหา คือ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดปัญหาใดขึ้น รัฐบาลจะต้องหาทางค่อยๆ แก้ปัญหาไปตามขั้นตอน ต่อเมื่อถูกกระแสสังคมกดดัน หรือปัญหาบานปลาย จึงออกมาตรการที่เด็ดขาดเป็นลำดับ กล่าวให้ฟังง่าย ๆ คือ เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะพยายามสร้างกระแส "กดดัน" ตัวเองให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลมักจะพยายามโน้มน้าวสังคมให้อย่าตื่นตระหนก หรือมองเห็นปัญหาใหญ่โตกว่าความเป็นจริง รัฐบาลโดยส่วนใหญ่ (รวมถึง รบ.อภิสิทธิในกรณีอื่น ๆ) มักจะเลือกโน้มน้าวหรือหาทางผ่อนปรนกระแสสังคมให้ลดความกดดันรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เกิดในกรณีปิดสี่แยกราชประสงค์นั้นกลับกัน คือ รัฐบาลดูเหมือนจะเป็นฝ่ายพยายาม "สร้าง" กระแสกดดันเสียเอง ด้วยการแถลงให้สังคมเห็นว่าการยึดแยกราชประสงค์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ และพยายามชักจูงให้สังคมเห็นตามรัฐบาล รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดกระแสกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหากรณีนี้ และกล่าวอ้างกระแสดังกล่าวอยู่ตลอดว่ารัฐบาลถูกกดดันให้ผลักดันผู้ชุมนุมออกจากแยกราชประสงค์
 
ท่าทีเช่นนี้จึงเป็นท่าทีที่แปลกประหลาด และไม่ได้เป็นการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
 
 
ประเด็นที่ 3  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง
ไม่แต่เพียงคนเสื้อแดงเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่หลังจากฟังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ต่างก็งุนงงสงสัยว่าสิ่งใดคือความ “ฉุกเฉิน” ในสายตาของรัฐบาล รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่สังคมยังไม่ได้มีความตื่นตระหนกใด ๆ หรือมีสถานการณ์ใดที่ทำให้รู้สึกว่ามีเหตุอันตรายน่ากลัว แม้ว่าการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ของ นปช. จะสร้างผลกระทบและความเดือดร้อนให้คนจำนวนไม่น้อย และแน่นอนว่าย่อมต้องมีผู้ไม่พอใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเฝ้ามองการชุมนุมมองเพื่อจะดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไร มากกว่าจะออกมาก่อจลาจลเพราะยอมรับไม่ได้
 
สุ้มเสียงส่วนใหญ่ที่พบเห็นในสื่อกระแสหลัก ก็บ่งชี้ว่า สังคมกำลังคาดหวังที่จะเห็น "การเจรจา" อีกรอบ มากกว่าเห็น "รัฐบาลสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง" แต่สิ่งที่รัฐบาลทำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
 
รัฐบาลใช้อำนาจปิดสถานีโทรทัศน์ของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และหว่านแหปิดเว็บไซต์จำนวนมาก พร้อมทั้งส่งจดหมายกำกับการทำงานไปยังสื่อมวลชน การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลจึงมีผลทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น และบั่นทอนความคาดหวังที่จะเห็นการเจรจาของสังคม และทำให้เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล เป้าประสงค์ที่แท้จริงก็คือต้องการปิดกั้นข่าวสาร
 
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่รัฐบาลจะออกมาตรการที่ทำให้ปัญหาคลี่คลายไป รัฐบาลกลับใช้มาตรการที่เพิ่มความตึงเครียด และทำให้ปัญหาหนักขึ้น รัฐบาลได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นโดยไม่จำเป็น ใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดกั้นข่าวสาร แต่ในขณะเดียวกัน สื่อในกำกับดูแลของรัฐบาล และสื่อที่ดูเหมือนว่าจะสนับสนุนรัฐบาลในทางการเมือง ยังคงเสนอข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง และความแตกแยกอย่างต่อเนื่อง สภาพการเสนอข่าวด้านเดียวและกดบังคับให้รับชมนี้ ย่อมทำให้การต่อต้านรัฐบาลของประชาชนลุกลามออกไปยิ่งขึ้น และทำให้ประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ไม่มีความไว้วางใจรัฐบาลอีกต่อไป
 
 
ประเด็นที่ 4  การออกมาตรการบรรเทาปัญหา
รัฐบาลมีทางเลือกมากมายก่อนที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม รวมถึงการเจรจา แต่รัฐบาลก็ทำลายหนทางการเจรจาด้วยการปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกถูกคุกคามถูกขับต้อน และไม่ต้องการเจรจากับรัฐบาล
 
รัฐบาลสามารถเปิดการเจรจา "เฉพาะกรณีราชประสงค์" ได้ หรืออย่างน้อยออกมาตรการบรรเทาปัญหาและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการเจรจา 3 ฝ่าย (รบ., ผู้ประกอบการบริเวณแยกราชประสงค์, นปช.) ได้ หรือแม้แต่พยายามสนับสนุนการเจรจาระหว่างผู้ประกอบการบริเวณแยกราชประสงค์และแกนนำ นปช.  โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนกลาง เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชุมนุม เป็นการบรรเทาปัญหาไปก่อนในระหว่างที่รัฐบาลคิดหาทางให้ผู้ชุมนุมออกไปจากแยกราชประสงค์ ซึ่งหากรัฐบาลใช้ท่าทีดังกล่าวตั้งแต่วันแรก ๆ ย่อมมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเพราะฝ่าย นปช.ก็แสดงท่าทีว่าต้องการเจรจากับผู้ประกอบการ บรรดาห้างใหญ่ ๆ และร้านค้าบริเวณดังกล่าวก็อาจจะสามารถเปิดดำเนินการตามปรกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งก็จะเท่ากับจำกัดผลกระทบให้อยู่ที่ความไม่สะดวก และรถติดมากขึ้นเท่านั้น
 
เมื่อมองจากจุดยืนของการพยายามบรรเทาปัญหาและการจำกัดผลกระทบแล้ว มาตรการและท่าทีของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ "เลวร้ายมาก" คือ นอกจากไม่พยายามบรรเทา ไม่พยายามแก้ปัญหาแล้ว ยังขัดขวางการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าที่พอกระทำได้ ยังซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น ทั้งการปิดสถานีโทรทัศน์ที่เป็นการกระตุ้นผู้ชุมนุมให้ลุกฮือและออกเดินทางมาสมทบการชุมนุมมากขึ้น และการสลายการชุมนุมอย่างป่าเถื่อนในที่สุด
 
การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากจะทำเพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดความตึงเครียดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และมีส่วนในการ "ลดทอน" "ทำลาย" ความปรกติที่บริเวณแยกราชประสงค์โดยตรง
 
ผมอยากให้ลองย้อนดูข่าว ดูเหตุการณ์ตอนปิดสนามบินเปรียบเทียบ ในเวลานั้น รัฐบาลสมชาย (ซึ่งผมเห็นว่า แก้ปัญหาผลกระทบจากการยึดปิดสนามบิน ได้ล่าช้า และไร้ประสิทธิภาพ) ก็ยังมีมาตรการต่าง ๆ ในการบรรเทาผลกระทบ ไม่ว่าจะในเรื่องการดูแลผู้โดยสารตกค้าง การเตรียมห้องพักในโรงแรม การจ่ายค่าชดเชย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนี้ กล่าวได้ว่าเลวทรามกว่าอย่างยิ่ง คือ ไม่ออกมาตรการอะไรที่จะบรรเทาความเดือดร้อนที่ราชประสงค์เลย หากรัฐบาลเห็นว่าผลกระทบจากการปิดแยกราชประสงค์เป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลจะต้องออกมาตรการ “บรรเทา” ปัญหาออกมาด้วย ไม่ใช่นั่งรอที่จะ “สลายการชุมนุม” หรือ “ออกแถลงการณ์” ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่อย่างเดียว อย่างน้อย รัฐบาลต้องหาทางเจรจาให้ห้างใหญ่ ๆ เปิดได้ตามปรกติระหว่างที่ยังผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ไม่ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือตรงกันข้าม ทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้แก้ปัญหาด้วยปากเป็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาผลกระทบจากการชุมนุมแม้แต่น้อย
 
ตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาล และขอกล่าวย้ำอีกครั้งคือ กรณีการเปิด-ปิดดำเนินการของห้างร้านบริเวณแยกราชประสงค์ แทนที่รัฐบาลจะหาทางออกมาตรการที่ทำให้เกิดความรู้สึก “ปลอดภัย” และ “มั่นใจ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดหรือปิดห้าง แทนที่รัฐบาลจะสนับสนุนการเจรจาต่อรองที่จะช่วยให้ห้างร้านต่าง ๆ เปิดดำเนินการได้ตามปรกติ รัฐบาลกลับออกมาตรการที่ทำลาย “ความปลอดภัย” และ “ความมั่นใจ” ในการเปิดห้างลงไปแทน เช่นนำกำลังทหารเข้าไปใกล้ผู้ชุมนุมโดยอ้างเพื่อการดูแลการปลอดภัย ทำให้ผู้ชุมนุมตื่นตระหนก แต่แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ออกมาตรการต่าง ๆ และกระทำตรงกันข้ามดังที่กล่าวมา กระนั้น ก็มีแนวโน้มว่าห้างจะเริ่มเปิดตามปรกติ โดยในวันที่ 10 หลายห้างก็เปิดดำเนินการแล้ว แต่สุดท้าย ห้างที่เริ่มเปิดก็ต้องปิดลงทันทีด้วยมาตรการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของรัฐบาล
 
จากพฤติกรรมทั้งหมดของรัฐบาล ทำให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะ “แก้ปัญหา” สิ่งที่รัฐบาลสนใจมากกว่าคือสถานะความมั่นคงของตัวเอง รัฐบาลออกมาตรการเพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงของคณะรัฐมนตรีเองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ กลุ่ม นปช. ชุมนุมอยู่ที่แยกราชประสงค์นั้น ตลาดหุ้นก็ยังขึ้นอยู่ บรรยากาศทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปรกติ และการท่องเที่ยวก็ตกไม่มาก แต่หลังจากรัฐบาลสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต หุ้นตกทันที นักลงทุนต่างชาติเทขาย และการท่องเที่ยวทรุดหนัก ต่างชาติประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้เดินทางมาประเทศไทย งานรื่นเริงสำคัญ ๆ ในเทศกาลสงกรานต์ เช่น ที่ถนนข้าวสารก็ต้องยกเลิก การท่องเที่ยวถูกกระทบอย่างหนักไม่ใช่เพราะการชุมนุม แต่เพราะความรุนแรงที่เกิดจากมาตรการแก้ปัญหาแบบสิ้นคิดของรัฐบาลโดยแท้
 
 
ประเด็นที่ 5  การสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารและอาวุธสงคราม
สิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำในตอนบ่ายวันที่ 10 เมษายน นั้น ไม่ใช่การสลายการชุมนุมตามหลักสากล แต่เป็นการดำเนินการที่ “มั่ว” ไร้ขั้นตอน และไร้ระเบียบ รัฐบาลแถลงโดยตลอดให้ผู้ชุมนุมออกจากสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับส่งกำลังไปสลายที่ถนนราชดำเนิน ขั้นตอนสำคัญของการสลายการชุมนุมคือการแจ้งเตือน บอกกล่าวผู้ชุมนุมล่วงหน้าว่าจะเข้าสลาย เพื่อให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเกิดความเตรียมพร้อม และตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นโดยการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ แต่พฤติกรรมของรัฐบาลกลับแสดงราวกับกำลังเล่นเล่ห์เพทุบาย เตือนตรงนั้นสลายตรงนี้ ใช้อุบายราวกับการสลายการชุมนุมเป็นการเล่นเกมมากกว่าปฏิบัติการที่ต้องเข้มงวดและคำนึงถึงความสูญเสียเป็นหลัก พฤติกรรมของรัฐบาลเช่นนี้ยากที่จะกล่าวว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสากล และที่สำคัญมีการยิงอาวุธสงครามในการสลายในช่วงบ่าย (มัฆวาร-แยก จปร.) ดังที่ผู้สื่อข่าวไทยทีวีได้แสดงปลอกกระสุนที่พบ และรูกระสุนบนรถที่จอดอยู่ในบริเวณ
 
การยิงปืนและโดยเฉพาะอาวุธสงคราม แม้จะอ้างว่ายิงขึ้นฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การยิงขึ้นฟ้าลูกกระสุนที่ตกลงมาก็สามารถทำอันตรายคนจนเสียชีวิตได้เช่นกัน เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์พกพาอาวุธสงครามเข้ามาสลายการชุมนุม หากต้องการเสียงปืนในทางจิตวิทยา ก็สามารถใช้ปืนแก๊ป หรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียงชนิดอื่นได้ แต่ต้องไม่ใช่อาวุธสงคราม การให้เจ้าหน้าแม้เพียงบางส่วน พกพาอาวุธสงครามเข้ามาสลายการชุมนุม บ่งบอกถึงความป่าเถื่อนโหดร้ายของรัฐบาล และแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีวิธีคิดที่มองเห็นประชาชนเป็นศัตรู
 
ปฏิบัติการณ์ของทหารบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสี่แยกคอกวัวในช่วงเย็นจนถึงค่ำวันที่ 10 เมษายนเป็นสิ่งที่ต่ำช้าสามานย์ และไม่ใช่พฤติกรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ลำพังเพียง 2 ข้อหลักๆ คือ 1. ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม (ปืนกล รถสายพานหุ้มเกราะติดปืนกลหนัก ฯลฯ) 2. ปฏิบัติการณ์ตอนกลางคืน  เพียง 2 ข้อนี้ รัฐบาลก็มีความผิด ไม่รู้จักคิด และไม่สมควรบริหารประเทศต่อไปแล้ว แต่นี่กลับปรากฏว่าในปฏิบัติการของรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รัฐบาลนี้นอกจากจะต้องออกจากตำแหน่งโดยเร็วแล้ว ยังสมควรจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย
 
ไม่ว่าฝ่ายที่สูญเสียชีวิตจะเป็นใคร เป็นทหาร หรือพลเรือน ต้นเหตุของความเลวร้ายทั้งหมดคือการตัดสินใจเข้าสลายในเงื่อนไขแบบ “สิ้นคิด” ดังที่กล่าวมาข้างต้นของรัฐบาล พฤติกรรมนี้ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคือพฤติกรรมของรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นพฤติกรรมทรราช ไม่มีสิทธิ์บริหารประเทศต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียว และต้องชดใช้ความผิด การอ้างผู้ก่อการร้ายเป็นมือที่สาม ไม่สามารถช่วยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบนี้ได้
 
รัฐบาลรู้ทั้งรู้ว่ามีผู้ก่อการคอยยิงระเบิดยังสถานที่ต่างๆ แต่ยังส่งกำลังทหารติดอาวุธสงครามเข้าสลายผู้ชุมนุมในเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มือที่สามก่อการ การกระทำเยี่ยงนี้คิดได้แต่เพียงประการเดียวคือ รัฐบาลกระหายเลือด และต้องการสร้างความวุ่นวายจลาจลให้เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net