Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

              เมื่อเอ่ยถึง “ความมั่นคง”เมื่อใด ก็ย่อมสะท้อนถึงความรวนเรของสิ่งที่ไม่อยากเพรียกหาในคู่ตรงข้ามของมันเอง นั่นคือ การพยายามต่อสู้ “ความไม่มั่นคง” ภายในตัวของมันเองอยู่ทุกขณะ เมื่อมีการอ้างถึง “ความมั่นคง”

ภายใต้กรอบคิดแบบ “เส้นตรง” (คำว่า “เส้นตรง” ผิวเผิน ดูน่าชอบใจในฐานที่เป็นสัญญะแห่ง ความเที่ยง?) ที่นักกฎหมายมักลุ่มหลง ว่า ตนเองนั้น ตรงไปตรงมา และการปรากฏแห่ง “อำนาจดุลยพินิจทางตุลาการ” ได้สถาปนา “ผลลัพธ์” ตามพยานหลักฐาน เพื่อสะท้อนสู่ “คำพิพากษา”อย่างหมดจรด
 
มายาคติดังกล่าวนี้ ตอกย้ำถึง “ความบิดพลิ้ว” อันไร้ร่องรอย ผ่านจิตไร้สำนึกของนักกฎหมาย หรือปัญญาชน ทั้งที่รู้ตัว เช่น ความสะใจ ผ่านมาตรการที่สนองจุดยืนทางการเมืองภายใต้ “ความบิดพลิ้ว”นี้ และทั้งที่ไม่รู้ตัว เช่น ความเชื่อที่ “ตนเองเป็นองค์ประธานแห่งความยุติธรรม” ฉะนั้น “ความต่าง” เป็นเรื่องเลว? การไม่สำรวจ “จิตไร้สำนึก” เพราะ ไม่เคย “ถูกสร้างรหัส” ให้เกิด การสื่อสัญญะ “สำนึก” ในชุดการรับรู้นอกเหนือการรับรู้ผ่านสัญญะที่ปรากฏถูกรวมศูนย์อย่างเป็นเอกเทศ และไม่เป็นธรรมชาติ (อะไรคือ ธรรมชาติ?) ในจิตไร้สำนึก ตรึกว่าเป็น "ธรรมชาติของสิ่งนั้น" ภายใต้การกดปิดด้วยความสะเทือนใจผ่านภาพ เสียง เป็น “ภาษา” จากอำนาจรัฐ ในนามกฎหมาย
 
ในสัญญะแห่งกฎหมาย “ความมั่นคง” และการ “ปิดกั้น” ชุดการรับรู้อื่นอันหลากหลาย ในการประทับตราว่า “บิดเบือน” เสื่อมเสียศีลธรรมนั้น ดูเหมือนจะถูกผู้เล่นในสถานการณ์ร่วมมือของการรวมขั้วฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ฝ่ายบริหารบางยุค กับ ฝ่ายตุลาการทุกครา) ได้ “รับลูกเป็นอย่างดี” ใน “ภัย” , “ความมั่นคง” , “ก่อการร้าย” เป็นต้น ในการน้อมรับความถูกต้องชอบธรรม ใน “การสถาปนาอำนาจพิเศษ” ที่ไม่แปลกประหลาด ทั้งๆที่ “พิเศษ” นั้น มันน่าจะต้องแปลก หรือถูกลดทอนลงไป แต่ครั้น เรียก “อำนาจปกติ” ก็จะเข้าใจว่า เป็นปกติ คือ ดีกว่า “ไม่ปกติ”
 
ภายใต้กรอบคิดเช่นนี้ แม้จะเห็นว่า ความแน่นอนของคำพิพากษาหรือกฎหมาย ก็คือ ไม่มี “ความแน่นอน” ของคำพิพากษา ก็ตาม แต่ผู้เขียนได้ใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ๒๓/๒๕๕๓ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้ถูกฟ้องที่๑ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ถูกฟ้องที่๒ เรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และมาตรการที่เกินความจำเป็น, เกินสมควรกว่าเหตุ, ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้มาตรการดังกล่าวได้ เป็นต้น และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อสำรวจสถิติแห่งความ “แน่นอน” ดังกล่าว
 
“ความแน่นอน” น่าจะสะท้อนอะไรที่ “เหมือนกัน”?
 
อะไรคือ ความเหมือน?
 
"เหมือน"ในแต่ละคน ,แต่ละกลุ่ม เป็น "เหมือนกัน" หรือไม่?
 
ภายในความไม่แน่นอนนั้น ก็สะท้อนความแน่นอนที่มันย่อมไม่แน่นอน ในตัวของมัน ซึ่งแปรไปตาม “ผู้ทรงอิทธิพลต่อผู้ทรงอำนาจรัฐ” และ “ผู้ทรงอำนาจรัฐ” ในฐานะผู้สร้าง หรือ ผูกขาด Narrative (เรื่องเล่าข้อมูล) ในหมู่ชนภายใต้บังคับ การเป็นกระบอกเสียงนี้มีพลังในความที่มันสามารถเปล่ง ในสิ่งที่เรียกว่า “เสียง” ในการ “เล่า” หรือ “พรรณนา” เรื่องราวต่างๆ ภายใต้กรอบจำกัดผูกขาด “การเล่า” นี้ ทำให้การรับรู้ถูกจำกัด หรือเป็นเพียงการกระซิบกระซาบ และเมื่อพยายามเปล่งเสียงขึ้นบ้าง ก็ย่อมถูกทำให้เป็นเสมือนเสียงที่ปราศจากเสียง , ภาษา(ภาพ , ถ้อยคำ , การเคลื่อน เป็น สัญญะต่างๆ) ก็ถูกปฏิเสธการดำรงอยู่บนปริมณฑลของการสื่อสาร
 
การเฉยเมยต่อการรับรู้ เพื่อพยายามแสดง “บางภาพ” ที่สะท้อนสิ่งที่ ผู้ทรงอิทธิพล (เช่น สื่อมวลชน ในความหมายแบบลดหลั่น) พยายามสร้าง “สัญญะ” ในฐานะผู้กำหนด “การรับรู้” จากภาพ หรือภาษาที่ปรากฏ ในบริบทของ “ความร่วมมือ ใน ความมั่นคง” ของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งทุกๆคน ในสังคมแห่งมายาคติ ล้วนมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ภายใต้การครอบงำในอัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ “ความรู้” ที่พยายามถ่ายทอด เพื่อครอบงำ คนอื่นๆ ในบริบท “ความครอบงำ” ตามความหมาย ในแบบกลางๆ(ไม่ใช่เชิงบวก หรือเชิงลบ)
 
ในภาวะ(รักษา)ความมั่นคง (ของใคร?) การสร้างเสียง ภาพ ให้ถูกอ่านหรือถ่ายทอด แสดงชุดความคิดของกลุ่ม(ต่าง)ร่วมผลประโยชน์ ที่ยึดครองพื้นที่การสนทนาหลักๆ เพื่อผลิตชุดความคิด หรือ ความกลัว เพื่อตอกย้ำจุดแห่งอัตตาของผู้อ่าน(สื่อมวลชน) บันดาลให้ “ส่วนเกินในสายตาของ(กลุ่ม)ตน” กลายเป็นโจรผู้ร้ายหรืออาชญากร ด้วยความช่ำชองใน “สัญญะ” ที่จะนำเสนอภาพ(ชุดหนึ่ง)แห่งความเลวทรามสูญเสีย ตอกย้ำเป็นภาษา เพื่อเปล่งเสียง “พิพากษา” สู่ผู้รับการถ่ายทอด/ผู้อ่าน
 
ขณะที่ “การตอกย้ำสัญญะ” ที่เหลื่อมล้ำในพฤติการณ์ของกลุ่มชนบางกลุ่ม ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงหรือเลวร้ายกว่า เหล่านี้ ล้วนถูกผลิตซ้ำกระแสนิยมภายใต้นิยาม “ความดี” ในสังคมไทยของ “ผู้ทรงอิทธิพล”(ในความหมายอย่างกว้าง) ที่ผูกขาดการสร้าง “อภิมหาพรรณนา” ขึ้น(Meta-Narrative) และในนามแห่งความขึงขัง คล้ายคำประกาศิตจากพระเจ้า สั่งสมความชอบธรรมของ “ความมั่นคง” ในการแสดงสัญญะของสถานการณ์ผ่าน “กฎหมายความมั่นคง” สำหรับกดปิดชุดการรับรู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็น “การสร้าง” ชุดการรับรู้ และสะกดผู้พิพากษาไปในตัว ซึ่งเป็นหนึ่งใน “หมู่ชน” ภายใต้การ“บังคับ” การรับ “ชุดการรับรู้” และ“อภิมหาพรรณนา” อย่างงอมแงมจากความเคยชินที่จะไม่ตั้งคำถามในอภิมหาพรรณนา(Meta- Narrative) ของสังคมไทย ณ ทุกจุดเวลา ผ่านการใช้อำนาจตุลาการ หรือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการกฎหมายไทย ที่ศิโรราปต่อ “เรื่องเล่า” อย่างไม่สู้เดียงสา แต่ในบางแง่มุมก็สะท้อน “ความกลัว” จากอำนาจรัฐที่ปัจเจกชน จะคอยตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ไม่เคยถูกถ่ายทอดในระบบการสื่อสารในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่ง “ความเงียบ” ที่ค้างคาอย่างยาวนานนี้ แม้จะเคยสะดุดหยุดลงไปบ้างในระยะสั้น “ความเงียบ และ ความกลัว”ในระบบการสื่อสาร ยังคงดำรงเป็นเงาแฝงกรายที่เด่นชัดหลอกหลอนนักคิดเชิงวิพากษ์ ที่ “ดำรงอยู่ หรือ เผยแพร่” การสื่อสารอันนำไปสู่ “ความรู้” ของตนได้แม้ในแวดวงวิชาการก็ตาม ในนามของจารีตประเพณี(ประดิษฐ์) ผ่านสายตาแห่งการรวมศูนย์การรับรู้ สู่ “ความกลัว”
 
สัญญะแห่งการไม่รับรู้ ความเงียบ ความกลัว การถูกทำให้น่าหวาดกลัวตาม อภิมหาพรรณนา(Meta- Narrative) ของสังคมไทย ดูจะเป็นความเงียบสงบในความพิทักษ์ของ “กฎหมายความมั่นคง” ที่บังคับใช้ในสถานการณ์ปิดกั้นภายใน ผ่านการสื่อสาร เช่น การพูด , การฟัง , การเขียน , การอ่าน , การแสดงกิริยา , การชุมนุม เป็นต้น เหล่านี้ เป็น “ภาษา” ที่ห้ามแสดง หรือ แปล อย่างหลากหลาย(ไม่หยุดนิ่ง) โดยรวมศูนย์ “การอ่าน” จากการแสดงภาษา โดยการเปล่งเสียงของรัฐ เพียงถ่ายเดียว ในนามตัวแทนที่ดูคล้ายดำรงอยู่อย่างเอกชนปราศจากอุดมการณ์การครอบงำ ภายใต้ “การประกาศเนื้อในแห่งความเป็นกลาง” (ในความไม่มี “กลาง” อันตอกย้ำถึง “ศูนย์แห่งอัตตา”) เป็น “สัญญะ”ของ การเรียกร้องไว้เนื้อเชื่อใจ และผูกขาดความถูกต้องอย่างเป็นเอกภาพ ขณะที่ “การประกาศฝักฝ่ายที่ชัดเจนทางอุดมการณ์ทางการเมือง”(ที่ตนกำลังนำเสนอ) กลับเป็น “สัญญะ” ที่อุดมไปด้วย “อคติ” (?)
 
            ภายใต้ สภาวะของความมั่นคง ในสายตาของนักกฎหมายไทย ที่ขึงขังใน “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและตอกย้ำสภาวะของ “การดำรงอยู่แห่งการกดปิด” ในนามของความมั่นคง โดยปราศจากการตั้งคำถามต่อมายาคติในอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้พิพากษา ที่ห้ามการท้าทายต่ออำนาจตุลาการ ซึ่งน่าตั้งความหวังที่อำนาจตุลาการจะไม่ตอกย้ำการทำลายสารัตถะแห่งสิทธิเสรีภาพของพลเมือง(ที่ถูกนับ เพื่อที่จะไม่นับรวมเข้ามาเป็น “ส่วน”ของสังคม) ซึ่งเป็น “หน้าที่” ที่ผู้พิพากษาในปวงชน จะพิทักษ์ไว้ ในมายาคติอย่างเสรีประชาธิปไตย
 
            ความแสดงความหลากหลายอย่างไร้เอกภาพทางพฤติกรรม แต่สะท้อนเอกภาพในทาง “วัตถุประสงค์” ที่แสดงสภาวะของการ “ไม่ถูกนับ” เพื่อจะให้ “นับเสียงแห่งความเป็นมนุษย์” มิใช่เพียง “เสียงของสัตว์” ในหมู่ผู้ชุมนุมประท้วง เหล่านี้ ความไม่เป็นเอกภาพของ “พฤติกรรม” หรือ “ข้อเรียกร้องประการย่อยๆ” ในมายาคติแห่งความไม่รวมศูนย์ และหลากหลายนี้ กลับถูกปฏิเสธในมายาคติที่ “กลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายตรงข้าม/ผู้ทรงอิทธิพลในความหมายอย่างกว้าง” เรียกหา ความสามัคคี ที่ดูแข็งแกร่ง ร่วมใจ แต่อีกนัยก็แสดงพลังแห่งการ “ปิดเสียง” หรือ “กลืน”ไปในสังคมของ ผู้ครอบครอบการ “เล่า” และผู้ตกอยู่ในความลุ่มหลงแห่ง “เรื่องเล่า” อันเป็น “อภิมหาเรื่องเล่า” ที่ครอบงำสังคมไทย มองความหลากหลาย การโต้แย้ง การเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ให้เป็นเรื่องของการทำลาย ขณะเดียวกัน “ความไม่หลากหลาย” ก็ได้ดำรงการทำลาย “ความหลากหลาย” อยู่ในทุกขณะแห่งความเงียบ ในนามของความสงบเรียบร้อย
 
            การบังคับใช้ “กฎหมายความมั่นคง” ก็คือ สัญญะแห่ง “การทำให้เงียบ” , ความกลัว , ข้อยกเว้น , ความตาย...
           
            ตราบที่ “การเมือง” ถูกทำให้เป็นเรื่องของผู้ทรงคุณธรรม หรือจริยศาสตร์ ตามมโนทัศน์ที่ถูกผลิตซ้ำในการเมืองของคนดี - คนเลว , คนฉลาด – คนโง่ , ไม่ใช่คนไทย , คอมมิวนิสต์ , หรือ ถ่ายโอนในสัญญะแห่ง “สีเสื้อ” ในการสร้างสังกัดการรับรู้ทางการเมือง และผนวกการกระทบกระเทือนผลประโยชน์หรืออำนาจของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกนิยามว่า “ชาติ” เพื่อปฏิเสธ "การนับรวมส่วน" ขณะเดียวกันก็ผูกขาดการ “สื่อสาร” ในหลายๆเรื่อง ก็เป็นการปิดกั้น “นิยาม” อันหลากหลายของการเมือง ผ่านกฎหมาย ซึ่งเป็นสาวใช้ของการเมืองหรือเผด็จการมาหลายสมัย
 
อะไรกันฤา คือ กฎหมาย ในพยัญชนะหรือตัวบท ที่ไม่อาจถูกเปล่งเสียงได้ด้วยตัวของมันเอง
 
การนองเลือดโดยการประกาศกร้าว ที่เจ้าพนักงานรัฐจะถืออาวุธจริง เพื่อป้องกันตนเอง เหล่านี้ เป็นการใช้ตรรกะภาษาแห่งความโรแมนติค และสมานฉันท์ ขณะที่ปฏิเสธการ “ป้องกันตนเอง” ของปัจเจกชนผู้ประท้วงอำนาจรัฐ ใน “เสียงที่ไม่ถูกนับในรวมเป็นส่วน” การไม่ยอมสยบนี้ นำมาสู่ การชำระสะสางอย่างสาสม ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มผลประโยชน์(ในความหมายอย่างกว้าง) ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในนามกฎหมาย เดียวกับรัฐบาลดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
 
ความยุติธรรม แห่งความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ตรวจสอบในนามร่างทรงของ “กฎหมาย” ได้ตอกย้ำสภาพความเหลื่อมล้ำ ของ “สิทธิของการสื่อสาร” บนความกระหายเลือด และ ขอคืนพื้นที่ (การ "ส่งเสียง") จาก “ส่วนเกิน” (?) ของสังคม ในมายาคติภายใต้เรื่องเล่าผูกขาด ในความขึงขังของบรรดานักกฎหมาย , ตุลาการ ที่บังคับตามหรือยอมจำนน ต่อ “เสียง”(ของ...) และ “อัตตา” ใน "ดินแดนที่ไม่เคยถูกกล่าวถึง"(Terra incognita)
 
มายาคติที่ดูจะน่าเห็นใจประเด็นสุดท้ายสำหรับบทความนี้ คือ "ยุบสภา ปัญหาก็ไม่จบ" หากสืบไปยัง “ปัญหา” พอจะรวบรัดได้ว่า “ปัญหาที่ไม่จบนั้น” เกิดจาก การไม่ยอมรับใน "ผลการเลือกตั้ง ของปวงชน" มิใช่หรือ? ท่าน อภิมนุษย์ทั้งหลาย!
 
 
 
 
 
บรรณานุกรม
จรัญ โฆษณานันท์ , นิติปรัชญา , พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ , (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ; กรุงเทพ) ๒๕๕๐.
 
จรัญโฆษณานันท์ , นิติปรัชญาแนววิพากษ์ , (สำนักพิมพ์นิติธรรม ; กรุงเทพ) ๒๕๕๐.
 
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร , ฌาคส์ ร็องซีแยร์กับสุนทรียศาสตร์ของการเมือง , (สำนักพิมพ์สมมติ ; กรุงเทพ) ๒๕๕๓.
 
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร , Semiology , Structuralism , Post- Structuralism of Political Science , (สำนักพิมพ์วิภาษา ; กรุงเทพ ) ๒๕๔๕.
 
ไชยันต์ ไชยพร , POSTMODERN: ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ , (สำนักพิมพ์ Openbooks ; กรุงเทพ) ๒๕๕๐.
 
ธเนศ วงศ์ยานนาวา , รายงานวิจัยเรื่องบทวิพากษ์ปรัชญา/ตรรกะของระบอบเสรีประชาธิปไตย (Critique on Liberal Democracy), (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ๒๕๕๑.
โรล็องค์ บาร์ตส์ (ผู้เขียน) , วรรณพิมล อังคศิริสรรพ(ผู้แปลจากภาษาฝรั่งเศส), มายาคติ , พิมพ์ครั้งที่๓ , (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ ; กรุงเทพ) ๒๕๕๑.
 
บวรศักดิ์ อุวรรโณ , กฎหมายมหาชนเล่ม๓ ที่มาและนิติวิธี , (สำนักพิมพ์นิติธรรม ; กรุงเทพ) ๒๕๓๘.
 
สมเกียรติ ตั้งนะโม , Deconstruction , http://www.reocities.com/middata/newpage6.html (ออนไลน์).
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net