ข้อสังเกตจากการรายงานข่าวเสื้อแดงบางกรณีของนสพ.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้สื่อข่าวอาวุโส ภายใต้นามปากกา ส. หัตถา ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมสื่อ ในการรายงานข่าวความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในแง่วิชาชีพ และความรอบด้านในประเด็นที่รายงาน ซึ่งพบได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการรายงานข่าวสถานการณ์ใต้ ที่เต็มไปด้วยอคติและเมินเฉยต่อความสูญเสียของประชาชนมากว่าเจ้าหน้าที่รัฐ

ในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง สื่อและนสพ.ไทยถูกวิจารณ์เรื่อยมาว่าไม่ได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพของตนเอง ถูกตำหนิด้วยข้อหาตั้งแต่ว่ารายงานข่าวอย่างลำเอียงและเลือกข้างไปจนถึงเรื่องบิดเบือนข่าวสาร

ในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมามีตัวอย่างสองเรื่องที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของสื่อ

เรื่องแรกคือกรณีการรายงานข่าวการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ดอนเมืองเมื่อวันที่ 28 เมษายน ซึ่งในเหตุการณ์นี้มีทหารเสียชีวิตหนึ่งนาย และมีผู้บาดเจ็บซึ่งตัวเลขจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขวันรุ่งขึ้นระบุว่ามีจำนวน 16 คน ในกลุ่มนี้เป็นทหารสองนาย และเป็นผู้บาดเจ็บสาหัสสามรายที่ยังต้องรับการรักษาตัวในห้องไอซียูในโรงพยาบาล ทั้งสามรายนี้บาดเจ็บด้วยบาดแผลจากกระสุนปืน กล่าวคือคนหนึ่งถูกยิงที่หัว อีกสองรายเจอเข้าที่ท้อง

การรายงานข่าวของนสพ.ในเรื่องการเสียชีวิตของทหารสรุปไว้ว่า จะต้องรอการสอบสวนเพราะไม่ชัดเจนว่าเป็นฝีมือใคร

สื่อต่างประเทศส่วนหนึ่งรายงานตั้งแต่วันเกิดเหตุว่าทหารที่เสียชีวิตถูกเพื่อนทหารด้วยกันยิงเพราะความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนเสื้อแดง ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาล เช่นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือศอฉ.กลับมีท่าทีคลุมเครือขอให้รอการสอบสวน

แม้ว่าในเหตุการณ์ก่อนๆหน้านี้ ศอฉ.และรองนายกรัฐมนตรีนายสุเทพ เทือกสุบรรณมักจะมีบทสรุปที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วเกินคาดเสมอ ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของการยิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่มคนเสื้อหลากสีเมื่อวันที่ 22 เมษายน ก็สามารถระบุได้ทันทีหลังเกิดเหตุโดยไม่ต้องรอการสอบสวน ว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดง

ในบรรดานสพ.ฉบับต่างๆนั้น นสพ.สามฉบับที่คาดว่ายังพอจะรักษาความน่าเชื่อถือไว้ได้บ้างในสายตาของนักสังเกตุการณ์การเมืองเมืองไทยจำนวนหนึ่งในแง่ของการมี “ข้อเท็จจริง” ก็คือ ไทยรัฐ มติชน และข่าวสด ปรากฏว่าไทยรัฐและมติชน เลือกที่จะพาดหัวประเด็นความสูญเสียของทหารเช่นเดียวกันกับนสพ.อื่นๆ

ในเนื้อข่าวรายงานตามคำอธิบายของศอฉ. แม้จะอ้างด้วยว่ามีสื่อต่างประเทศรายงานว่าเป็นการยิงจากเพื่อนทหารด้วยกันแต่ก็เลือกที่จะไม่ลงในรายละเอียด ในขณะที่นสพ.ข่าวสดกลับพาดหัวประเด็นการทำงานพลาดของทหาร และลงรายละเอียดในประเด็นนี้มากกว่าฉบับอื่นๆ

การที่นสพ.สองฉบับแรกไม่ตามประเด็นทหารยิงพลาดอาจเป็นเครื่องหมายแสดงว่าไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ซึ่งก็อาจจะชี้ให้เห็นถึงทัศนะของสื่อที่ดูเสมือนว่าพร้อมจะมองข้ามกรณีที่เป็นการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้คงไม่ใช่เรื่องของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเท่านั้น แต่อาจสะท้อนความผิดพลาดในระดับสั่งการด้วย

ที่สำคัญการยอมรับคำอธิบายเรื่องการทำงานของศอฉ. เห็นได้ชัดว่ามีส่วนทำให้สื่อมองข้ามประเด็นที่แรงกว่า นั่นคือเรื่องการเลือกใช้วิธีการรับมือกับกลุ่มคนเสื้อแดงของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงเกินเหตุ กล่าวคือการใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่หรือพร้อมจะยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ในวันถัดมา ก็ยังไม่ปรากฏว่านสพ.เหล่านี้จะติดตามประเด็นเรื่องของการใช้กระสุนนี้เพิ่มเติมแต่อย่างใด ยังคงไม่มีข้อมูลใดๆเรื่องกลุ่มผู้บาดเจ็บที่ยังอยู่ในรพ. เท่ากับว่าประเด็นของการใช้ความรุนแรงเกินจำเป็นกับผู้ชุมนุมไม่ได้รับการติดตามหรือให้ความสนใจราวกับว่าชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดงนั้นไร้ค่าเต็มที

มีสื่อและนสพ.ไทยน้อยรายที่จะพูดเรื่องนี้ ราวกับว่าพวกเขาพากันเจ็บป่วยจากอาการสายตาพิการรวมหมู่

ในขณะที่ประเด็นที่สื่อให้ความสนใจกันอย่างยิ่ง กลับกลายเป็นเรื่องพฤติกรรมของนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงที่ถูกวิจารณ์ว่ากระทำตัวไม่เหมาะสม นอกจากจะนำพาคนเสื้อแดงไปพบกับความตายแล้ว ในนาทีวิกฤติของการปะทะก็ยังไม่รับผิดชอบทอดทิ้งมวลชนเอาตัวรอด รวมทั้งเรื่องการมีคนเสื้อดำมีอาวุธแอบแฝงอยู่ข้างทางบวกกับการที่คนเสื้อแดงบางคนมีปืนพกตามคลิปข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีร่า

จริงอยู่สิ่งที่นสพ.และสื่อไทยหยิบยกมารายงานแทบทุกเรื่อง ล้วนมีช่วยช่วยเติมข้อมูลให้กับสังคม แต่น่าสนใจว่า การใช้ความเป็นมืออาชีพแบบเลือกสรร กล่าวคือขยายส่วนเลวและผิดพลาดของฝ่ายใดฝ่ายเดียวในความขัดแย้งนี้ และพร้อมที่จะยอมรับคำอธิบายแบบง่ายๆหรือบางครั้งแทบจะไร้ที่มาที่ไปของอีกฝ่ายหนึ่ง ดูจะเป็นวิธีการทำงานของสื่อที่เห็นได้ชัด

วิธีการรายงานข่าวเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนนั้น ความสนใจของสื่อต่อประเด็นเรื่องความตายของคนเสื้อแดง การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกินจริง และการขนอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ากรุงเทพฯมากมายด้วยเจตนาที่มองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่าจะใช้กับฝูงชน ถูกบดบังอย่างสิ้นเชิงด้วยความสนใจที่พุ่งเป้าไปที่ประเด็นการตามหาคนเสื้อดำที่ยิงทหารตายและขัดขวางการสลายการชุมนุม (ด้วยกำลัง) ของเจ้าหน้าที่

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องของการรายงานข่าวกรณีการ์ดนปช.บุกตรวจค้นรพ.จุฬาซึ่งแน่นอนว่าเป็นการกระทำที่สมควรถูกประนามอย่างยิ่งเพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่มีปัญหาเจ็บป่วยอยู่แล้ว และหลายคนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่การรายงานข่าวของสื่อดูจะประสานเสียงกัน ให้ภาพที่สร้างความสะเทือนอารมณ์ประหนึ่งว่าคนเสื้อแดงกลุ่มที่เข้าไปยังรพ.จุฬานั้นไปเพื่อไล่ล่าทำร้ายคนในรพ.อย่างป่าเถื่อน โหดร้าย ลุแก่โทสะ ไม่ยั้งคิด และเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใส่ใจกับชีวิตของคนอื่น เนื่องจากวิธีการนำเสนอข่าวที่เต็มไปด้วยภาพที่แสดงความสุดโต่งของเหตุการณ์

อันที่จริงการรายงานของสื่อในประเด็นความเดือดร้อนของโรงพยาบาลนั้น กล่าวได้ว่าให้รายละเอียดได้มากเป็นอย่างยิ่งจนน่าชื่นชม เพราะมีทั้งแอคชั่นและความเห็นแทบทุกแง่ทุกมุมจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมโดยเฉพาะบุคคลากรต่างๆในรพ.ที่พากันขวัญเสีย แม้กระทั่งความเห็นของผู้สื่อข่าวรายหนึ่งที่อึดอัดคับข้องใจจากการทำข่าวท่ามกลางกลุ่มคนเสื้อแดงและถูกท้าทายจากแกนนำคนเสื้อแดงกรณีมีทหารในโรงพยาบาลจริงหรือไม่และที่ไปออกในบลอคชื่อ “คนสามัญประจำเมือง” ก็มีนสพ.นำไปเล่นกันต่อหลายฉบับ ความน่าเชื่อถือของสื่อคงจะได้รับการหนุนเสริมอีกมาก

แต่หากสื่อจะใช้ความเป็นมืออาชีพของตนในฐานะสื่อสารมวลชน สื่อควรจะต้องรายงานให้รอบด้าน หรืออย่างน้อยก็ควรจะต้องได้ทั้งสองด้านในความขัดแย้งนี้ และด้านหนึ่งที่ดูเหมือนจะตกหล่นไปอย่างสำคัญก็คือคำถามที่ว่า เหตุใดคนเสื้อแดงจึงเชื่อว่ามีทหารอยู่ภายในรพ.ถึงกับต้องลุยเข้าไปตรวจค้นสร้างความแตกตื่นโกลาหลขนาดนั้น

เป็นที่รู้กันว่ารพ.จุฬานั้น แม้บุคคลากรส่วนใหญ่อาจจะพยายามรักษาความเป็นวิชาชีพ ดังที่หลายคนได้นำป้ายมาแสดงเพื่อประท้วงคนเสื้อแดงให้ช่วยเคารพการทำงานของพวกเขา แต่เหตุการณ์หลายอย่างกลับให้ภาพรพ.จุฬาอีกด้านหนึ่ง

ที่รพ.นี้เองที่แพทย์ของรพ.เคยออกมาประกาศว่าจะร่วมมือกับเพื่อนๆบุคคลากรที่เป็นหมอและพยาบาลในรพ.อีกหลายแห่งไม่รับรักษาตำรวจที่บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 7 สค. 2552 ซึ่งเป็นการแสดงอาการของผู้ที่ไม่ได้เคารพในวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริง

แพทย์ในรพ.จุฬายังออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมือง คือ นพ.พีร์ เหมะรัชตะที่ใช้เฟสบุคล่ารายชื่อเพื่อนๆเสนอให้มีการสอบหมอที่ไปช่วยเจาะเลือดคนเสื้อแดงและเร่งให้เอาผิดถึงขนาดจะไม่ได้ใบประกอบโรคศิลป์ ทั้งแกนนำของกลุ่มคนเสื้อหลากสีหรืออันที่จริงก็คือคนเสื้อเหลืองคือนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ก็เป็นแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬา

แม้รพ.จะชี้แจงว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรแต่ก็ยากที่จะไม่ทำให้ภาพขององค์กรกระทบไปด้วย คนเสื้อแดงบางรายยังสงสัยถึงขนาดว่า ต้นตอของจุดยิงระเบิด M 79 ในวันที่ 22 เมษายนซึ่งฝ่ายรัฐบาลชี้นิ้วไปที่ฝ่ายเสื้อแดงนั้นอันที่จริงอาจจะมาจากรพ.จุฬาก็ได้

ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างรพ.จุฬากับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ร้าวฉานและสถานะของรพ.ในสายตาพวกเขาที่ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพ เมื่อบวกกับการที่คนเสื้อแดงรู้สึกว่าตนถูกคุมคามยิ่งย่อมเพิ่มน้ำหนักให้ความสงสัยและกลายเป็นที่มาของพฤติกรรมที่ไม่สามารถจะแก้ตัวได้ในปัจจุบันแม้ว่าอาจจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนักที่จะทำความเข้าใจ

ทว่าในเวลาเดียวกันบทบาทของบุคคลากรในรพ.จุฬาที่ส่งผลกระทบต่อสถานะขององค์กรและวิชาชีพของพวกเขาก็ไม่มีสื่อกล่าวถึงอีกเช่นกัน มีแต่เพียงการยอมรับคำอธิบายของรพ.ที่พูดอย่างแกนๆว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

การนำเสนอข่าวอย่างลำเอียงนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นการบิดเบือนข่าวอย่างโจ๋งครึ่ม แค่การเลือกบางเรื่องบางประเด็น แสร้งลืมบางอย่าง โหมกระพือบางกรณีโดยไม่คำนึงถึงความรอบด้านจนทำให้เกิดอาการเสนอข่าวเฉพาะประเด็นที่ล้นเกินปริมาณที่ควรจะเป็น - out of proportion – โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระทำร่วมกันอย่างเป็นหมู่คณะและไม่มีใครดึงรั้งสติใครกลับได้ จุดนี้จะยิ่งกลายเป็นบูมเมอแรงส่งแรงกระแทกเข้าหาตัวเอง

คนทำสื่อจำนวนหนึ่งบ่นว่าเสรีภาพของสื่อที่ได้ต่อสู้เรียกร้องกันมาอย่างยากเย็นในหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกคุกคามเพราะการกระทำของสื่อทางเลือกที่รายงานข่าวแบบไม่รับผิดชอบทำให้วงการสื่อเสียชื่อ การออกแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวในกรณีที่รัฐบาลสั่งปิดพีทีวียังคงเป็นประเด็นที่สมาชิกหลายคนของสมาคมไม่พอใจ

เห็นได้ชัดว่าความคิดเห็นที่แตกแยกในกลุ่มนสพ.เป็นอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเรื่องจะรับมือเรื่องสื่อทางเลือกอย่างไร หลายคนในหมู่รัฐบาลและสื่อส่วนหนึ่งเห็นไปว่าสื่อทางเลือกคือตัวปัญหา แต่สิ่งที่คนทำสื่อจำนวนหนึ่งไม่ได้ตระหนักหรือว่ายอมรับก็คือ สื่อทางเลือกที่ผลุดโผล่กันเป็นดอกเห็ดในระยะหลังนี้เป็นผลพวงของความด้อยประสิทธิภาพของสื่อกระแสหลักนั่นเอง ซึ่งทำให้ในที่สุดผู้คนในสังคม และไม่ลำพังเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง จำเป็นต้อง DIY/ Do it yourself หรือลุกขึ้นมาทำสื่อเสียเอง

ทั้งนี้เพราะวิธีการนำเสนอข่าวที่ไม่ตอบโจทก์ความปรองดองของสังคมที่บรรดา “มืออาชีพ” ในวงการสื่อกระแสหลักพอใจกันอยู่ทุกวันนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นเช่นภาคใต้

อาการป่วยเพราะไข้สื่อใส่ไฟก็มีสภาพไม่ต่างกันเท่าใดนัก

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรมุสลิมที่ถูกทำให้รู้สึกเป็นอื่นถูกยันไว้ให้มีระยะห่างจากรัฐไทยด้วยประสบการณ์กับสื่อในทำนองเดียวกันกับที่เกิดกับคนเสื้อแดง

ในความสูญเสียคือการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนทั้งพุทธและมุสลิม สื่อเลือกที่จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเดียวคือคนพุทธ แสดงภาพความสูญเสียของพวกเขาอย่างท่วมท้น แต่แทบจะเรียกได้ว่าเฉยเมยต่อความสูญเสียของมุสลิม

ครอบครัวมุสลิมที่ถูกฆ่ายกครอบครัวเก้าศพยังไม่ได้รับความสนใจจากสื่อเทียบเท่ากับศพๆหนึ่งของพุทธ

การสังหารหมู่มุสลิมสิบเอ็ดศพที่หมู่บ้านไอปาร์แย หมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกลในนราธิวาส จนบัดนี้การสืบสวนสอบสวนก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน และไม่มีสื่อรายไหนในกรุงเทพฯที่สนใจติดตามเรื่องคดีของมุสลิมอย่างจริงจังเสมือนว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง

วันนี้สิ่งที่สื่อกระทำในส่วนของรายงานเรื่องคนเสื้อแดงก็ไม่ต่างจากรายงานที่พวกเขาทำในเรื่องราวของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เสียงเรียกร้องให้จัดการปัญหาด้วยความรุนแรง โดยไม่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตประชากรในพื้นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ในกรุงเทพฯ กลุ่มเสื้อหลากสีเริ่มร้องเพลงชาติ ขณะที่รัฐบาลบอกว่าเสื้อแดงมีกลุ่มล้มสถาบันแอบแฝง และพธม.เรียกร้องให้ใช้กฏอัยการศึกจัดการกลุ่มคนเสื้อแดง

ทั้งหมดล้วนบ่งบอกนัยนะว่าคนเสื้อแดงกำลังถูกมองเป็นอื่น เป็นศัตรูไม่ใช่คนไทยและสามารถจะละเลยคุณค่าของชีวิตพวกเขาได้ ด้วยวิธีการนำเสนอข่าวแบบที่ทำอยู่

สื่อกำลังเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้วิธีคิดเช่นนี้

คงไม่ต้องแปลกใจถ้าจะมีคนไม่น้อยเห็นว่า สื่อไทยปัจจุบันเป็นสื่อเสื้อเหลืองและร่วมเล่นเกมช่วยเสื้อเหลือง ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงเองคงจะยิ่งเข้าใกล้ข้อสรุปที่ว่าสื่อกระแสหลักคือศัตรูของพวกเขาเข้าไปทุกขณะ การเลือกข้างของบรรณาธิการยิ่งทำให้การทำงานของนักข่าวภาคสนามลำบากหนักขึ้นเช่นที่เห็นตัวอย่างจากนักข่าวที่อยู่ในวงเสื้อแดง

ไม่วาจะรู้ตัวหรือไม่ พวกเขาก็กำลังช่วยกระพือภาพคนชั้นกลางที่ตนเลือกเป็นกระบอกเสียงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นคนที่ไร้สามัญสำนึกมากขึ้นทุกวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท