Skip to main content
sharethis

14 พ.ค. 53 - องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ต่อความรุนแรงในการปะทะกันในวันนี้

 

 

แถลงการณ์โดย กลุ่มสันติประชาธรรม  (๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓) Santi prachatham Communigue

สังคมต้องการเจตน์จำนงอันแน่วแน่ และแผนปรองดองแห่งชาติ

เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง  ที่ความพยายามที่จะประนีประนอม  ระหว่างรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง ที่ดำรงอยู่ในขณะนี้  ต้องพังทลายลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย  เงามืดของความรุนแรง  การนองเลือด  กำลังก่อตัวเข้าปกคลุมพื้นที่ของผู้ชุมนุมอย่างน่ากลัว  ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงการขาดเอกภาพในหมู่แกนนำ นปช.   แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการขาดเจตน์จำนงอันแน่วแน่ของฝ่ายรัฐบาล  ที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางประชาธิปไตย-เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ  และสันติวิธี

เมื่อแกนนำ นปช. ปฏิเสธ  ที่จะสลายการชุมนุมในทันทีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เสนอเงื่อนไขให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน และยุบสภาระหว่างวันที่ 16-30 กันยายนได้ทำให้ภาพพจน์ของนปช. กลายเป็นฝ่ายที่บิดพริ้วข้อตกลง ต้องการให้เกิดการแตกหัก  พร้อมจะเอามวลชนเข้าแลก  บ้างก็ว่าเพื่อฟื้นฟูผลประโยชน์ของอดีต นรม. ทักษิณ  บ้างก็ว่า นปช. เป็นพวกได้คืบ  จะเอาศอก  รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ อุตส่าห์เข้ารายงานตัวต่อกรมสอบสอนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้ว  นปช.ก็ยังไม่พอใจ  กลับเปลี่ยนเงื่อนไขให้นายสุเทพเข้ามอบตัวต่อตำรวจแทน  สำหรับผู้ที่ไม่ชอบมวลชนคนเสื้อแดง   ปฏิกิริยาดังกล่าวของ นปช. ย่อมตีความเป็นอื่นไม่ได้

แต่หากวิเคราะห์ข้อเรียกร้องที่ให้นายสุเทพเข้ามอบตัวต่อตำรวจแทน DSI  ก็จะพบว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว  แยกไม่ออกจากความแค้นเคืองต่อเหตุการณ์ 10 เมษา  ที่ยังฝังแน่นอยู่ในสำนึกของมวลชนคนเสื้อแดง ที่จนกระทั่งบัดนี้  ก็ไม่มีแม้แต่คำกล่าวขอโทษจากนายอภิสิทธิ์  เสมือนว่าการตายและบาดเจ็บจำนวนมากในวันนั้น  เกิดขึ้นกับชีวิตของพลเมืองที่ไร้ค่าของประเทศนี้  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมไทย โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลัก  ปฏิบัติต่อความตายของคนเสื้อแดงนั้น  แตกต่างราวฟ้ากับดินกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับมวลชนเสื้อเหลือง  เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551  นี่คือภาวะ “สองมาตรฐาน” อีกประการหนึ่ง  ที่สังคมใช้กับคนเสื้อแดง

ฉะนั้น ก่อนที่จะประกาศให้มวลชนแยกย้ายกันกลับบ้าน  แกนนำ นปช. จำเป็นต้องแสดงให้มวลชนของตนเห็นว่า   เมื่อได้สิ่งที่ต้องประสงค์คือการยุบสภาและเลือกตั้งแล้ว  พวกเขาจะไม่เดินข้ามศพมวลชนของตนไปอย่างรวดเร็ว  แต่พวกเขาต้องการความยุติธรรมเพื่อยืนยันสิทธิในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บเฉกเช่นประชาชนชาวไทยทุกผู้ทุกนามจะพึงมีโดยเสมอเหมือนกัน

นอกจากนี้  เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศรับแผนปรองดองของรัฐบาล   ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่มวลชนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย  ที่เจ็บแค้นอย่างมากต่อเหตุการณ์ 10 เมษายน นี่คือสิ่งที่สื่อกระแสหลังมองไม่เห็นและไม่เข้าใจ

จริงอยู่ ไม่ว่านายสุเทพ  จะมอบตัวกับ DSI หรือตำรวจ  ทุกฝ่ายรู้ดีว่านายสุเทพ  จะไม่มีวันถูกจับกุมคุมขัง  ตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่  แต่อย่างน้อยประชาชนเสื้อแดง  ก็มีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า DSI ในยุคของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ข้อเรียกร้องให้นายสุเทพ  เข้ามอบตัวต่อตำรวจจึงเป็นเสมือนพิธีกรรม  ว่าการดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนในอาชญากรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้เริ่มขึ้นแล้ว  เป็นพิธีกรรมเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของมวลชนเสื้อแดงที่แกนนำ “สายพิราบ” นำตัดสินใจจะยุติการชุมนุม

ปัญหาคือ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  ยอมรับพิธีกรรมง่าย ๆ เช่นว่านี้ไม่ได้เชียวหรือ  ทำไมจึงปล่อยให้ประเด็นปลีกย่อยเช่นนี้  มาทำลายเป้าหมายทางการเมือง  ที่สำคัญกว่าหลายเท่า ได้อย่างง่ายดาย  ทำไมเจตน์จำนงที่จะให้เกิดการปรองดองแห่งชาติ  ของนายอภิสิทธิ์จึงอ่อนแอได้อย่างไม่น่าเชื่อ  หรือจริง ๆ แล้วนายอภิสิทธิ์ไม่เคยเชื่อในแผนปรองดองแห่งชาติของตนจริง ๆ เลย  แต่เป็นเพียงกลอุบาย  เพื่อซื้อเวลาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลต่อไปเท่านั้น

สิ่งนี้สอดคล้องกับความเข้าใจทั่วไปว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  ปรารถนาที่จะให้มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด  แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจ  จึงต้องหันมาใช้แผนปรองดองแห่งชาติ  แต่เมื่อแกนนำ นปช. พลาดท่าเสียทีทางการเมือง สูญเสียความชอบธรรมในสายตาสาธารณชน (โดยมีสื่อกระแสหลักเป็นตัวหนุนช่วย) นายอภิสิทธิ์ก็พร้อมที่จะบอกยกเลิกสัญญาในทันที

ฉะนั้น กลุ่มสันติประชาธรรม  จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อทั้งฝ่าย นปช. และรัฐบาลดังนี้

1. แกนนำ นปช. ที่เป็นฝ่ายช่วงชิงและยึดกุมการนำอยู่ในขณะนี้  ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดที่รักษาชีวิตของผู้ชุมนุมให้ได้  โดยจะต้องยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด  แม้ว่าแกนนำบางส่วนของ นปช. จะไม่ได้รับการประกันตัวตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ตาม

2. รัฐบาลจะต้องมีความอดกลั้นและความมุ่งมั่น  ที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีให้มากขึ้น นายอภิสิทธิ์ต้องไม่ใช้เรื่องการปรองดอง  เพียงเพื่อสร้างภาพพจน์และซื้อเวลาให้กับตนเอง  รัฐบาลจะต้องยุติความพยายามใช้กำลังเข้าสลายและปราบปรามผู้ชุมนุม

3. รัฐบาลจะต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  เพื่อเป็นหลักประกันว่าแกนนำและมวลชนของ นปช. จะต้องได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน”โดยเด็ดขาด

ผู้คนทั่วโลก  กำลังเฝ้าดูว่าความล้มเหลวของแนวทางการเมืองในขณะนี้  จะนำไปสู่ความตายอีกกี่ศพ  บาดเจ็บอีกกี่พันคน คนจำนวนไม่น้อยอาจสะใจหรือไม่รู้สึกรู้สมกับความตายของคนเสื้อแดง  แต่บรรดาผู้ที่เรียกร้องให้มีการปราบปรามประชาชน  โปรดตระหนักด้วยว่าคนจำนวนมหาศาล  จะยิ่งรู้สึกเคียดแค้นกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น  ความเคียดแค้นนี้จะสั่งสมและซ้ำเติมสังคมไทยจนยากที่จะเยียวยาได้  ความคับแค้นนี้จะไม่มีวันสลายตัวไปได้  ตราบเท่าที่สังคมนี้ยังปฏิบัติต่อประชาชนเสื้อแดงด้วย “สองมาตรฐาน” ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ต้องตระหนักว่าลำพังแค่เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ตนก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำต่อไป  แต่สมควรลาออกและประกาศยุบสภาในทันทีภายหลังเหตุการณ์นั้นแล้ว  หากนายอภิสิทธิ์ตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง  และมีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นอีก  นายอภิสิทธิ์จะเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง  ที่จะถูกประณามและถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ร่วมกับเผด็จการทั้งหลายทั้งปวงในบ้านนี้เมืองนี้

 

"ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว
ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี...
การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น
แม้จะสำเร็จ อาจจะได้ผลลัพธ์เพียงชั่วครู่ชั่วยาม
จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร
เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้ว
อีกฝ่ายหนึ่งแพ้  ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ
เมื่ออาวุธปะทะกันแล้ว จะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร"

(ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี” 2515)

 

 


 

ข้อเรียกร้องต่อเพื่อนมนุษย์ จากเพื่อนมนุษย์ ในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน

วันศุกร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

                ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ มีแนวโน้มที่จะมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่มีทิศทางที่เป็นทางออกอื่นอย่างเป็นรูปธรรม

                พวกเรา ผู้มีรายนามท้ายข้อเรียกร้องนี้ มีความเชื่อว่าประชาชนทุกคนยังสามารถรักษาความเชื่อและอุดมการณ์ต่างๆของตนต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องแลกด้วยชีวิตของตนเองและผู้อื่น จึงมีข้อเรียกร้องที่เชื่อว่าจะบรรเทาสถานการณ์หรือเป็นทางออกที่หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องประชาชน โดยไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างผู้ที่มีความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันมากไปกว่านี้ ดังนี้

                ๑. ขอเรียกร้องให้พี่น้องเสื้อแดงยอมยุติการชุมนุมลงชั่วคราวและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา เพื่อกำหนดทิศทางและเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวในวันข้างหน้า ตามความเชื่อและอุดมการณ์ของตนเอง

                ๒. ขอเรียกร้องให้แกนนำ นปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตอบโต้รัฐด้วยความรุนแรง ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อและความรู้สึกของตนเอง โดยสื่อสารกับผู้ชุมนุมอย่างจริงใจ และหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติของแกนนำได้ ขอให้ลาออกจากการเป็นแกนนำ นปช. เพื่อรักษาชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม

                ๓. ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนเสื้อหลากสีและผู้ที่ไม่พอใจการชุมนุมของ นปช. ยึดมั่นในความอดทนอดกลั้น อันเป็นคุณธรรมที่รักษาความหลากหลายในสังคมที่เจริญแล้ว และมีสติขณะรับข่าวสารและตัดสินใจจะทำสิ่งใด

                ๔. ขอให้รัฐบาลคงแผนปรองดองทุกข้อที่เสนอไว้ดังเดิม แสดงความจริงใจในการขับเคลื่อนแผน และคงไว้ซึ่งกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓

                ด้วยความศรัทธาในเพื่อนมนุษย์

ลงชื่อ

๑. นายสุธัมมะ ธรรมศักดิ์
๒. นายพัชรวีร์ พรหมวงศ์
๓. นายขุนกลาง ขุขันธิน
๔. นายจุลศักดิ์  แก้วกาญจน์
๕. นายกัญจน์ แสงจันทร์
๖. นายไพรัตน์ กล่ำทอง
๗. นางสาวเมตตา ราศีจันทร์
๘. นายกิตติศักดิ์ โมทย์วารีศรี
๙. นายณัฐสุชน อินทราวุธ
๑๐. นายรุจิภาส จรรยาศรี
๑๑. นางสาวปารีณา ประยุกต์วงศ์
๑๒. นางสาวฐานิยา โชติสิงห์
๑๓. นายอิศรา  เน้นแสงธรรม
๑๔. สุเชาว์  เชาว์วัชรินทร์
๑๕. โศร์ภิษฐ์ บุญเยี่ยม
๑๖. นางสาววนิสา สุรพิพิธ
๑๗. นางสาวโชโนรส มูลสภา
๑๘. นายธีระพจน์ คำรณฤทธิศร
๑๙. นางสาวณัฐพร อาจหาญ
๒๐. นายเกษม พันธุ์สิน
๒๑. นายมนต์ชัย บุญเลิศ
๒๒. นายปริญญา ปิ่นแก้ว
๒๓. นางสาวนาบุญ ฤทธิ์รักษ์
๒๔. นางสาวกฤตยา ศรีสรรพกิจ
๒๕. นายสมชาย สัมพันธ์ชัยวสุ
๒๖. นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ
๒๗. นางจันทร์เพ็ญ พยัคฆ์เกษม
๒๘. นางลมัย ผลพิบูลย์

 

 

 

                                                                                        แถลงการณ์

ขอประณามมาตรการสังหารประชาชน
ร่วมกดดันรัฐบาลทรราชย์
องค์กรสิทธิมนุษยชนไทยอย่าเพิกเฉย

 

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่  13  พฤษภาคม 2553  รัฐบาลอภิสิทธิ์ หุ่นเชิดระบอบอำมาตย์และศอฉ.  ได้ประกาศใช้มาตรการปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยแนวทางสันติ  อสิงหา ปราศจากอาวุธ  มิใช้ผู้ก่อการร้าย และขบวนการล้มสถาบันแต่อย่างใด

รัฐบาลอภิสิทธิ์และศอฉ. ได้ใช้เป็นมาตรการขั้นรุนแรงโดยให้ทหารใช้อาวุธจริง  ลอบสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหดจนต้องสูญเสียชีวิตคนจำนวน  3 คน  มีการดำเนินการปิดล้อมการชุมนุมคนเสื้อแดงทุกทาง และสกัดไม่ให้คนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุม

ทั้งๆที่เหตุการณ์วิปโยคเมื่อวันที่ 10 เมษายน เดือนที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้ใช้นโยบายปราบปรามคนเสื้อแดง และได้สร้างโศกนาฎกรรมทางการเมืองที่รัฐไทยก่ออาชญากรรมต่อประชาชนคนในประเทศตนเองจนทำให้ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวน 31 คนและบาดเจ็บนับพันคน มาแล้ว และได้กลายเป็น”ทรราชย์ และฆาตรกรฆ่าประชาชน”ไปแล้ว

ดังนั้น  นโยบายการปราบปรามเข่นฆ่าสังหารคนเสื้อแดงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงเป็นการตอกย้ำความโหดอำมาหิตของรัฐบาลอภิสิทธิ์อีกคำรบหนึ่ง จึงเป็นการเริ่มต้นสงครามที่เกิดจากรัฐเองที่มีความตั้งใจเจตนาปราบปรามประชาชน  และมีแต่รัฐที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย และเป็นรัฐทรราชย์เผด็จการเท่านั้นที่กระหายเลือดต่อประชาชนของตนเอง

เราขอเรียกร้องให้สังคมไทยและสากล  สื่อมวลชน  นักวิชาการ ผู้รักความเป็นธรรม  ผู้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ผู้รักประชาธิปไตย ประชาชนผู้ไม่ปรารถนาสงครามและผู้มีหัวจิตหัวใจรักคุณค่าชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย 

ตลอดทั้งขอทวงถามและเรียกร้อง จริยธรรมขององค์กรสิทธิมนุษยชนไทย  ผู้ทรงคุณธรรม เป็นการเฉพาะร่วมกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หยุดเข่นฆ่าสังหารประชาชนโดยทันที  

“ อำมาตยาธิปไตย  จงพินาศ  ประชาธิปไตย จงเจริญ” 

1. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
2. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน (คอซ.)
3. เครือข่ายองค์กรชวาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)
4. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย
5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
6. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
7. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี
8. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
9. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์
10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี
11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร
12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ
13. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น
15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ
16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม
17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร
18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
19. แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)
20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก
22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)
23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)
24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย
25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.
26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด
28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
29.กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้
30.กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net