Skip to main content
sharethis

กองทัพรัฐฉานจัดรำลึกครบรอบ 10 ปีสภากอบกู้รัฐฉาน และ 52 ปีวันกองทัพรัฐฉาน “เจ้ายอดศึก” เรียกร้องทุกชนชาติในรัฐฉานและพม่าสามัคคีกันโค่นรัฐบาลทหารพม่า อัดการเลือกตั้งพม่าใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่ร่างโดยทหาร ถ้ามีการเลือกตั้งจะเป็นการเลือกทหารพวกเดียวกันเอง พร้อมเรียกร้องให้ “เอ็นแอลดี” และ “เอสเอ็นแอลดี” บอยคอตเลือกตั้ง

 

พล.ท.เจ้า ยอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน และผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) ระหว่างพิธีวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 52 เมื่อ 21 พ.ค. ที่ดอยไตแลง ฐานทัพของ SSA ทางตอนใต้ของรัฐฉาน สหภาพพม่า ตรงข้ามกับ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน


ประชาชน ชาวไทใหญ่ ระหว่างพิธีวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 52 เมื่อ 21 พ.ค. ที่ดอยไตแลง ฐานทัพของ SSA ทางตอนใต้ของรัฐฉาน สหภาพพม่า ธงสีฟ้าในภาพคือธงของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 10 ปีของสภากอบกู้รัฐฉานด้วย

ทหาร กองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างพิธีวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 52 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค. โดยวันนี้เมื่อ 52 ปีที่แล้ว หรือในปี พ.ศ. 2503 ชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งได้ตั้งกองกำลัง “หนุ่มศึกหาญ” เพื่อเรียกร้องเอกราชจากพม่า และวันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉานด้วย

 

วาน นี้ (21 พ.ค. 53) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) จัดงานวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 52 ณ ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีชาวไทใหญ่มาร่วมงานหลายร้อยคน โดยพิธีเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า มีการแสดงทักษะการใช้อาวุธและการสวนสนามของทหารไทใหญ่ที่สำเร็จการฝึกทหาร นอกจากนี้ในวันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉานด้วย 

พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS กล่าวระหว่างแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ในโอกาส 10 ปี ของสภากอบกู้รัฐฉาน งานหลักของสภากอบกู้รัฐฉาน คือพยายามเอาการเมืองแก้ปัญหาในพม่า สอง ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนไม่ว่าเผ่าไหน ไม่ว่าชาติไหนในรัฐฉานหรือสหภาพพม่าให้สามัคคีกัน ร่วมมือกันต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลทหารพม่าหรือ SPDC ให้ได้ และสาม ต้องพยายามสะสมกำลังทหารให้เข้มแข็ง เพื่อป้องกันประเทศของเราให้ได้ 

พล.ท.เจ้า ยอดศึก ยังกล่าวถึงแผนการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่าในปีนี้ว่า ถ้ารัฐบาลทหารพม่ายังดื้อรั้นจัดการเลือกตั้ง และบีบบังคับให้กลุ่มหยุดยิงในรัฐต่างๆ เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้การควบคุมของทหารพม่า จะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองทุกหนทุกแห่ง และทำให้ประชาชนประสบความลำบาก

ประธาน RCSS กล่าวว่า การเลือกตั้งนี้จะไม่มีผลอะไรและจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับประชาชน ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในปี 2010 ไม่ได้แปลว่าต่อต้านการเลือกตั้ง แต่ต่อต้านความพยายามของทหารพม่าที่จะจัดเลือกตั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่า ร่าง ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะเป็นการเลือกกันเองของคนในกองทัพพม่า

โดย พล.ท.เจ้ายอดศึกเสนอว่า ถ้าสองพรรคการเมืองใหญ่คือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และพรรคสันนิบาติแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ไม่ลงเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่จะจัดโดยรัฐบาลทหารพม่าก็จะไม่มีผลอะไร ส่วนพรรคเล็กที่ตั้งขึ้นใหม่ไปลงเลือกตั้ง จะทำการรณรงค์ดึงดูดให้คนมาเลือกได้อย่างไร พรรคเล็กๆ ในการเลือกตั้งจึงไม่มีพื้นที่เปรียบเหมือนนกในกรงจะบินไปที่ไหน จึงขอเสนอให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งให้หมด จะเป็นการล้มรัฐบาลทหารพม่า

พล.ท.เจ้า ยอดศึก ยังกล่าวว่า เชื่อมั่นว่าชาวไทใหญ่และคนทุกเผ่าในรัฐฉานว่ายังรักชาติ และเชื่อว่าสักวันแต่ละกลุ่มต้องมาร่วมมือกัน ถ้ามีอุดมการณ์การเมืองจะมาร่วมมือกัน แต่ถ้าไม่มี คงไปรวมกับพม่านานแล้ว ไม่อย่างนั้นก็คงสลายกองกำลัง อย่างที่เจ้าจายยี่ ผู้นำกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (SSNA) มาร่วมเมื่อปี 2548 ก็เพราะเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองจึงมาร่วมกับกองทัพรัฐฉานและมาต่อสู้จนถึง ปัจจุบันนี้

ส่วนกรณีกองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ (SSA-N) ยังไม่ตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงมาเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนนั้น พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวว่า ยังเชื่อว่าเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าการอดทนของเขาจะอดทนได้เท่าไหร่ และดูว่าวิธีต่อสู้ทางการเมืองของเขาและจุดยืนของเขาจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

สำหรับ วันที่ 21 พ.ค. ของทุกปี ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าถือเอาวันนี้เป็นวันรำลึกการต่อต้านทหารพม่า โดยวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นที่เมืองหาง เขตอำเภอเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยเริ่มต้นมีกำลังพล 30 นาย

โดยในปี 2501 นี้ ถือเป็นปีครบกำหนดที่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานและชนกลุ่มน้อยในรัฐอื่นของพม่า สามารถใช้ “สิทธิแยกตัว” (Right of Secession) ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ระบุว่าหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไปแล้ว 10 ปี หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช โดยสามารถจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที อย่างไรก็ตามไม่มีชนกลุ่มน้อยรัฐใดในรัฐฉานมีโอกาสใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกเป็นอิสระ และทหารพม่ารุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของรัฐชนกลุ่มน้อย

ปัจจุบันในรัฐ ฉาน มีกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าคือกองทัพรัฐฉาน หรือ SSA นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งแยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่ หลังจากที่ขุนส่านำกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army หรือ MTA) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2539

และต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2548 กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army – SSNA) ซึ่งได้แยกตัวจากขุนส่า เมื่อปี 2538 และทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่านั้น ได้เลิกสัญญาหยุดยิงและ พ.อ.เจ้าจายยี่ ผู้นำ SSNA ได้นำกำลังมารวมกับกองทัพรัฐฉาน SSA

ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉาน SSA มีพื้นที่อิทธิพลในเขตรัฐฉานตอนใต้ ขนานชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่ด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ผ่าน อ.เวียงแหง และ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงชายแดนไทยพม่าด้านตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net