Skip to main content
sharethis

สนง.ทรัพย์สินฯ งดเก็บค่าเช่า 3 เดือน ช่วยผู้ค้า 5,573 ราย ในพื้นที่ที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ด้าน ครม.อนุมัติช่วยไฟไหม้ 5 หมื่นกู้ 1 ล้านไม่ต้องค้ำประกัน

 

 

สนง.ทรัพย์สินฯ งดเก็บค่าเช่า 3 เดือน ช่วยผู้ค้า 5,573 ราย
นายสมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพย์สินฯได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้เช่า ในพื้นที่ที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ทั้งในเขตปทุมวัน คลองเตย บางรัก และราชเทวี จึงได้หาแนวทางช่วยเหลือ โดยยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นไป ซึ่งมีผู้เช่าได้รับความช่วยเหลือ 5,573 ราย

นอกจากนี้ จะให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมอาคารบริเวณภายนอกที่เสียหายให้กลับคืนสภาพเดิมโดยเร็วที่สุด  ซึ่งมีสถานที่เช่าที่ได้รับความเสียหายรวม 58 แห่ง  และหากสถานที่เช่าของผู้เช่ารายใดถูกเพลิงไหม้เสียหายจนใช้งานไม่ได้ ซึ่งตามปกติสัญญาเช่า จะถูกระงับลงทันที แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ เห็นควรยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ โดยให้สิทธิคงไว้ตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งจัดหาสถานที่ชั่วคราวให้ขายสินค้า

ส่วนผู้เช่ารายใหญ่หรือที่มีสัญญาเช่าพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินฯ จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นกรณี ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ จะมีหนังสือแจ้งผู้เช่าทราบถึงความช่วยเหลือ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อโดยตรงได้ที่กองบริการลูกค้า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โทรศัพท์ 02-6873370-72 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00 – 16.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้  นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พิจารณาแนวทางการจัดหาสถานที่ค้าขายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ย่านราชประสงค์ สยามสแควร์ และย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ครม.ช่วยเบื้องต้นไฟไหม้ให้รายละ 5 หมื่น ร้านค้าให้กู้ 1 ล้านไม่ต้องค้ำประกัน
เมื่อเวลา 13.50 น.วันที่ 25 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เรื่องมาตรการในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม โดยในส่วนของการฟื้นฟูชุมชนต่างๆ นั้น ครม.มีมติให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปประสานงานกับ กทม.ในการจะเข้าไปแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชนดินแดงและพื้นที่อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ประสบปัญหาไฟไหม้และไม่มีสถานที่ที่จะไปทำมาค้าขาย ครม.จึงมีมติในเรื่องมาตรการช่วยเหลือแล้วโดย

1.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะมอบให้รายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นไปตามที่มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม

2.การช่วยเหลือเรื่องพื้นที่ค้าขายนั้นแบ่งเป็นกลุ่มแรก คือกลุ่มสยามสแควร์ นั้นทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมแผนการณ์รองรับไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเปิดให้มีการขายชั่วคราว โดยมีสิ่งปลูกสร้างกึ่งชั่วคราว กึ่งถาวรในพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งมีระยะเวลาเป็นปี โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำอาคารนี้ขึ้นในพื้นที่ 2 ซอยของสยามสแควร์ ซึ่งจะทำให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ต้องเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าขาย ซึ่งเป็นข้อยุติที่ชัดเจน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในกลุ่มของเซ็นทรัลเวิลด์นั้นอยู่ในระหว่างการเจรจาว่าหากทางกลุ่มนี้ทั้งหมดจะย้ายไปขายที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยกลุ่มเซ็นทรัลฯ จะไปเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในเงื่อนไขที่จะให้เปิดขายเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้ทางกระทรวงคมนาคมไปดูเรื่องความเป็นไปได้ หากเป็นไปไม่ได้หรือตกลงกันไม่ได้ กลุ่มของเซ็นทรัลเวิลด์ และกลุ่มของเซ็นเตอร์วัน จะมีแนวทางที่รัฐบาลหรือ กทม.จะไปหาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแล้วใช้วิธีเดียวกับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้แก้ปัญหาที่สยามสแควร์ น่าจะได้ข้อยุติที่ค่อนข้างเร็ว เพราะในช่วงบ่ายวันที่ 25 พฤษภาคม คณะกรรมการเยียวยาชุดที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้รับการขยายมาดูแลเรื่องนี้ด้วยก็จะเร่งหาข้อยุติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนนั้น มาตรการเดิมที่กระทรวงการคลังมีอยู่แล้วเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ผ่านธนาคารเอสเอ็มอี ได้ปรับเงื่อนไขเรื่องการยืดเวลาเรื่องหนี้และเรื่องของดอกเบี้ย ที่จะเก็บในอัตราร้อยละ 3 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะมาช่วยการชดเชยของรัฐบาลให้ดอกเบี้ยลงมาเหลือร้อยละ 3 กรณีที่ไม่มีหลักประกันเลย นอกจากนั้นเฉพาะกลุ่มที่ถูกไฟไหม้และไม่มีที่ค้าขายวงเงิน 1 ล้านบาทนั้น 3 แสนบาทแรกจะเป็นเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ยเลยและไม่ต้องชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะเท่ากับว่ามีเงินทุน 3 แสนบาทไปทำงานได้อีก 1 ปี

นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเปิดบัญชีสำหรับรับบริจาคจากประชาชนควบคู่ไปกับการกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการช่วยเหลือว่าผู้ที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือนั้นจะเป็นใครอย่างไร ส่วนผู้ประกอบการที่มีปัญหาในเรื่องการค้าขายตลอด 2 เดือนตั้งแต่มีการชุมนุมที่เวทีผ่านฟ้าลีลาสเป็นต้นมานั้นได้มีการอนุมัติหลักการเรื่องการช่วยเหลือลูกจ้าง โดยคนที่ตกงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับการช่วยเหลือจากระบบประกันสังคมอยู่แล้วและจะมีการจ่ายเงินสมทบอีกส่วนหนึ่งจากภาครัฐเป็นกรณีพิเศษ

ส่วนในกรณีของบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม นั้นจะได้รับเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่เราสมทบกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะมีการสอบทานตัวเลขครั้งสุดท้ายอีกครั้ง แต่เบื้องต้นน่าจะประมาณ 7,500 บาท ตามเกณฑ์ที่จะทำให้นำไปสู่การมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท ส่วนของผู้ประกอบการณ์รายย่อยที่มีปัญหาต้องปิดกิจการหรือค้าขายไม่ได้ในช่วงการชุมนุม โดยรัฐบาลจะไปเจรจาให้ผู้ให้เช่าไม่เก็บค่าเช่า 1 เดือนแล้วรัฐบาลจะไปเจรจากับผู้ให้เช่าว่าจะชดเชยช่วยเหลือกันอย่างไร

เมื่อถามถึงจำนวนเงินในแผนมาตรการการเยียวยา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถคำนวนได้ อย่างเรื่องค่าเช่า ค่าชดเชย ค่าเงินเดือนต่างๆ อย่างที่จุฬาลงกรณ์ก็ต้องใช้ประมาณ 90 ล้านบาท หรือเงินชดเชยเงินเดือนก็ประมาณ 400 ล้านบาท จึงต้องคำนวณและประเมินให้รอบคอบก่อน

ปล่อยกู้ไม่เกิน 1 ล้านไม่ต้องมีหลักประกัน-คนค้ำประกัน
ทางด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเรื่องไฟไหม้เผาทำลายร้านค้าจนหมดสิ้น รายละ 50,000 บาท และจัดหาสถานที่ขายสินค้าให้ใหม่ ส่วนการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(รายกลางและรายย่อย) ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งเดิมครม.อนุมัติวงเงินไว้แล้ว 5,000 ล้านบาทนั้น

ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วงเงินปล่อยสินใหม่ เป็นวงเงินรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักประกันและผู้ค้ำประกัน ขยายระยะเวลาการชำระเงินต้น เพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ส่วนระยะเวลาการกู้เงิน ขยายเพิ่มจาก 5 ปีเป็น 6 ปี โดยผู้ประกอบการที่ร้านค้าถูกเพลิงเผาไหม้จะได้รับการปลอดดอกเบี้ย 0% ในวงเงิน 300,000 บาทแรก เงินกู้ที่เหลือ 700,000 บาท จะเสียดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 3% ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ แต่ร้านค้าไม่ได้ถูกเผาไหม้จะได้รับสิทธิการช่วยเหลือด้านสินเชื่อวงเงินเท่ากัน แต่คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ของวงเงินกู้ทั้งก้อนคือ 1 ล้านบาท

นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประสบปัญหา ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ฝากข้อเสนอไว้ว่า หากมีการจัดตั้งกองทุนเกิดขึ้นจริง ผู้ที่บริจาคเงินเข้ามา สามารถนำไปใช้คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับการคุ้มครองจากการประกันภัย และได้รับสินไหมทดแทน จะไม่ถูกหักภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิการชดเชยอย่างเต็มที่ ส่วนการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จะมีการสรุปรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยคณะกรรมการช่วยเหลือชุดที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เรียกประชุมใน

ทั้งนี้เบื้องต้นที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบหลักการที่จะให้มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมให้กับลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันตนที่ได้รับสิทธิการชดเชยการว่างงาน ตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน เดือนละประมาณ 7,500 บาท ไม่เกิน 6 เดือน เพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง อาทิ หากลูกจ้างได้รับสิทธิชดเชยจำนวน 1 เดือน ได้รับเงิน 7,500 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้อีก 7,500 บาท

ส่วนลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันตนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่งแผงลอยที่สูญเสียรายได้ก็จะได้รับสิทธิการขอรับความช่วยเหลือจำนวน 7,500 บาท เช่นกัน แต่ในส่วนการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำตัวเลขการจ่ายเงินเดือนพนักงานมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อยภาษี ได้ 2 เท่า ที่ประชุมไม่เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการช่วยผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ต้องรอฟังความชัดเจนจากคณะกรรมการฯ ชุดของนายกอร์ปศักดิ์ อีกครั้ง

นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือเรื่องประกันภัย ให้กับผู้ประกอบการ ที่ประชุม ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ไปพิจารณารายละเอียดมาเสนออีกครั้ง

“ปณิธาน” ฟุ้งเอกชนติดต่อขอบริจาคเงิน
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนรายใหญ่เพื่อขอบริจาคเงินให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเป็นวงเงินหลายล้านบาท โดยภาคเอกชนให้เหตุผล 3 ข้อคือ

1. ถ้าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูโดยเร็ว เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวตาม
2. เป็นการแสดงจุดยืนว่าผู้ประกอบรายใหญ่เห็นใจผู้ประกอบรายย่อย และไม่มีการแบ่งแยก และ
3. เป็นการแสดงให้เห็นว่าหากจะมีการชุมนุมครั้งต่อไป ภาคเอกชนไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องกลไกให้ความช่วยเหลือว่าจะทำเป็นรูปแบบกองทุน หรือการเปิดบัญชีพิเศษ

“นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้กำชับในที่ประชุมครม. ว่าจะต้องนำคนที่ไว้ใจได้มาเป็นผู้บริหารจัดการเงินช่วยเหลือก้อนนี้ เพื่อไม่ให้เป็นที่กังวลต่อสังคม และสามารถเดินหน้าบริหารจัดการได้เหมือนสมัยรัฐบาลพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี” นายปณิธานกล่าว

ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net