Skip to main content
sharethis
 
 
10 มิ.ย.53 ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา “ฟังนักข่าวเล่าเรื่อง: จากราชดำเนินถึงราชประสงค์” โดยเป็นการฟังประสบการณ์จากนักข่าวภาคสนามที่เกาะติดสถานการณ์การชุมนุมของ นปช.ครั้งที่ผ่านมา จัดโดยศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย (TDW) ดำเนินรายการโดย ผศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1. ทวีชัย เจาวัฒนา ช่างภาพอาวุโส เครือเนชั่น 2. สุรศักดิ์ กล้าหาญ นักข่าวภาคสนาม Bangkok Post 3. ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุวล นักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน 4. สถาพร คงพิพัฒวัฒนา ผู้รายงานข่าวภาคสนาม ทีวีไทย 5. ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ไทยทีวีสีช่องสาม  6. เสถียร วิริยะพรรณพงศา นักข่าว ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น งานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาราวร้อยคนจนล้นห้องประชุม

------------------ เสวนา รอบ 1 -----------------------

ฐปนีย์ จากช่องสาม กล่าวถึงการทำงานภาคสนามโดยเล่ากรณีเหตุการณ์ที่แยกศาลาแดงในคืนที่มีการยิงเอ็ม79 หลังจากนั้นมีกลุ่มวัยรุ่นสร้างสถานการณ์รุนแรง ไม่แน่ว่าเป็นฝ่ายไหน ตำรวจเข้าคุมสถานการณ์และวิ่งไล่ไปจนถึงจุดเกิดเหตุที่มีทหารอยู่และทหารไม่อนุญาตให้ตำรวจวิ่งตามต่อและใช้ปืนข่มขู่ เรื่องดังกล่าวนั้นตำรวจเล่าให้ฟัง พร้อมเอาภาพให้ดู ซึ่งใช้วิจารณญาณแล้วเห็นว่าภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการขอความร่วมมือของศอฉ. ตลอดจนการที่ไม่มีภาพข่าวยืนยัน คงไม่สามารถนำเสนอผ่านทีวีได้และอาจเกิดผลกระทบหลายส่วน จึงใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวในการรายงานซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่ใช้กันโดยปกติเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกับเพื่อนนักข่าว แต่ข้อความของตนก็ถูกนำไปตั้งกระทู้ในพันทิปโดยสร้างความเข้าใจผิดว่าทหารเป็นฝ่ายใช้เอ็ม 79 นอกจากนี้แกนนำได้นำข้อความของตนไปเชื่อมโยงว่าทหารสร้างสถานการณ์ในคืนนั้น นี่จึงเป็นอันตรายอย่างหนึ่งของการใช้สื่อใหม่ที่ถูกนำไปบิดเบือนและเกิดผลกระทบมากมาย มีการขุดคุ้ยประวัติตนเองและกล่าวว่าในทางเสียหาย ซึ่งรู้สึกเสียใจเหมือนกันทั้งที่ทำหน้าที่เต็มที่ ตรงไปตรงมา แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายเมื่อตำรวจออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องจริงแต่น่าจะเป็นความเข้าใจผิดกันระหว่างเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นตนเองก็ถูกคำสั่งห้ามทำข่าวการชุมนุมเนื่องจากความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย กระทั่งสถานการณ์คลี่คลายจึงเริ่มเกาะติดภาคสนามได้อีก
 
สุรศักดิ์ จากบางกอกโพสต์ กล่าวว่า ได้ติดตามทำข่าวมาตั้งแต่การชุมนุมของเสื้อเหลืองจนถึงเสื้อแดง ซึ่งทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถพูดถึงเสื้อแดงได้โดยไม่พูดถึงเสื้อเหลือง เพราะทั้งสองกลุ่มก็ใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวมวลชนในทิศทางเดียวกัน ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างก็มีความต้องการของตน ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นๆ ก็ไม่ค่อยฟังเสื้อแดงเองก็ใช้รูปแบบยุทธวิธีทุกอย่างที่เสื้อเหลืองใช้ สำหรับการเกาะติดในพื้นที่นั้นตนเริ่มในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการสลายการชุมนุม ซึ่งวันที่นักข่าวเริ่มกังวลกันมากคือวันที่เสธ.แดงถูกยิง ช่วงนั้นกอง บ.ก.มีนโยบายว่าไม่บังคับให้นักข่าวต้องลงสนาม แต่ตนก็ยังตัดสินใจเข้าพื้นที่ ส่วนสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือวันที่ 18 พ.ค. ที่นักข่าวต่างจับตาว่าแกนนำจะประนีประนอมหรือไม่ หลัง ส.ว.เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ ขณะที่ส.ว.แถลงข่าวและบอกว่าทหารไม่ได้ตั้งใจยิ่งผู้ชุมนุมนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ชุมนุมมีอารมณ์ต่อต้านที่รุนแรง แกนนำเริ่มคุมไม่ได้แล้ว และตนคิดว่าหากยุติการชุมนุมก็อาจควบคุมอารมณ์ของมวลชนไม่ได้ ด้านแกนนำได้ยืนยันว่ามีความพยายามจะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลจริง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลไม่ยอมคุม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลืองต่างก็ใช้ยุทธวิธีพูดวันต่อวันซึ่งทำให้รัฐบาลไม่เชื่อมั่นก็ได้
 
สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นทั้งเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงต่างก็มีความรู้สึกเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งมากๆ เหมือนกันซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อความบนเวทีด้วย หลังเกิดความสูญเสีย ความรู้สึกนี้จะยิ่งมากขึ้น อย่างเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากที่วัดปทุมมีคนถูกยิงตาย 6 ศพแล้วตนได้ไปคุยกับผู้ชุมนุม พวกเขาเงียบ ไม่รุนแรง แต่รู้ได้เลยว่าเขาโกรธมากหากแต่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถต่อต้านอะไรได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูกวางเพลิงเสียอีก เพราะคนที่เขาโกรธมากเหล่านี้เขากลับไปแล้วจะทำอะไร โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าเรื่องจะจบลงเท่านี้
 
ในสถานการณ์ที่สื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอคติ การทำงานในสนามเป็นเรื่องยากไม่ว่ากับฝ่ายไหน อย่างไรก็ตาม คำถามทั้งวันที่ 7 ต.ค. ว่าตำรวจหรือพันธมิตรฯ กันแน่ที่ทำให้มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือวันที่ 19 พ.ค.ทหารหรือผู้ก่อการร้ายยิงกันแน่ที่ยิงประชาชน ตนไม่มั่นใจ 100% ไม่ว่ากรณีไหน แต่สิ่งที่รู้สึกได้คือการหาความจริงในอนาคตคงไม่ใช่เรื่องง่าย และจากการมีโอกาสเข้าไปในคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ 7 ต.ค.ก็พบว่ากรรมการไม่ได้มีคำถามมากนักและไม่ได้ cross check ข้อมูลอะไรมากมาย
 
สำหรับการทำงานในการชุมนุมของ นปช.ครั้งนี้ช่วงที่ทหารเริ่มกระชับพื้นที่นั้น ยอมรับว่าหวาดกลัวฝ่ายทหารมากกว่าเพราะมีปืนและมีกำลังเยอะ
 
ตวงศักดิ์ จากมติชน กล่าวว่า ในช่วง 6 ต.ค.19 เป็นนักข่าวฝึกงาน ช่วงพ.ค.35 เป็นช่างภาพก็เห็นภาพผู้ชุมนุมถูกยิงหามออกมาเช่นกันแม้ไม่รู้ว่าใครยิง แต่ช่วงนั้นก็เป็นยุค รสช.ชัดเจน จนกระทั่งมาถึงยุคการชุมนุมของเสื้อเหลือง วิวัฒนาการการชุมนุมทางการเมืองก็เปลี่ยนไปจากที่คนชุมนุมไม่มีอาวุธก็เริ่มมีมือที่สามที่มีอาวุธ มีการใช้ปืนสั้นยิงตอบโต้กับตำรวจ แกนนำเสื้อเหลืองปฏิเสธบอกว่าเป็นมือที่สาม พอมาถึงเสื้อแดงจากตอนแรกที่คิดว่าตัวเองเสี่ยงชีวิตมีโอกาสปลอดภัย 50% ในช่วงพ.ค.35 ก็รู้สึกปลอดภัยน้อยลงอีกในช่วงเสื้อเหลือง และเหลือ 0% ในช่วงเสื้อแดง เพราะมีการบอกว่ามีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่เข้ามาช่วยด้วยอาวุธสงคราม
 
ส่วนวันที่ 19 พ.ค.นั้น ไปประจำที่แยกสารสิน เจอรถสายพานลำเลียงของทหาร 3-4 คัน ทหารร้อยกว่าคน ช่วงตีสามทหารบุกหลายจุดแล้ว จน 7 โมงเช้าจึงยึดบริเวณสวนลุม สายๆ ทหารก็เคลียร์ได้หมด ซักพักมีเสียงปืนสั้นยิงมาจากแยกสารสินทหารก็ถอยไปตั้งหลัง แล้วเอารถสายพานลำเลียงดันเข้าไปใหม่ เจอศพคนเสื้อแดง 2 ศพ ไม่ทราบว่าถูกใครยิง แต่หนึ่งในนั้นถูกยิงศีรษะ ส่วนที่ราชประสงค์ก็มีการยิงเอ็ม 79 ลงห่างจากกลุ่มนักข่าวและทหารประมาณ 8 เมตร สักพักก็ตามมาอีก 6-7 ลูก มีทหารแขนขาดที่ต่อมาก็เสียชีวิต ผู้สื่อข่าวฝรั่งที่บาดเจ็บโดยส่วนใหญ่ก็ประเมินไม่ถูก คิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองคงไม่มีการใช้อาวุธ แต่นี่มันเหมือนสงคราม และนักข่าวเองก็มีข้อจำกัดในการรายงาน เพราะอาวุธที่ใช้ก็เป็นอาวุธระยะทำการไกล เรามองไม่เห็นหน้าว่าใครคือคนยิงแม้จะพอประเมินวิถีและจุดที่ยิงได้บ้างก็ตาม
 
ทวีชัย บ.ก.ภาพจากเครือเนชั่น กล่าวว่า เพื่อนร่วมงานโดนยิงที่ต้นขาขวาโดยกระสุนปืนทราโว เขาระบุชัดเจนว่าทหารเป็นคนยิงเขาแน่นอน และถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐ และไม่เคยบอกว่าจะช่วยเหลืออะไร ทั้งที่เขากระดูกแตก หายไป 2 นิ้วและไม่แน่ว่าจะกลับมาถ่ายภาพได้อีก มันสะท้อนว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ค.35 ถึง พ.ค.53 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนอกจากความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มเก่าๆ จะใช้ยุทธวิธีเดิมๆ มีการใช้คนรากหญ้าที่มีปัญหาเรื่องการศึกษาซึ่งที่ผ่านมาก็เขาไม่ได้อะไรเพิ่มเติมมากนักและถูกหยิบฉวยมาใช้ ทุกครั้งที่มีเหตุปะทะต้องมีการเผา กระทั่งเข้าสู่โลกยุคไซเบอร์ นักข่าวซึ่งเก็บกดทำอะไรไม่ได้ก็เริ่มหันมาใช้พื้นที่เหล่านี้ เช่นตนเองก็เริ่มเขียนบล็อก เพราะอย่างที่ทราบว่าบ้านเราไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งหมด แม้แต่ภายในองค์กรเองก็ตาม อย่างไรก็ตาม โลกยุคไฮเทคก็ทำให้อาชีพช่างภาพถูกท้าทายมากเช่นกัน เพราะจากที่รูปภาพเคยเป็นเครื่องยืนยันความจริงได้อย่างดี ปัจจุบันก็เต็มไปด้วยคำถามว่า ภาพจริงไหม ตัดต่อหรือเปล่า ข้อเท็จจริงต่างๆ ถูกแชร์อย่างรวดเร็วกว้างขวางและถูกใช้บิดเบือนได้ง่าย
 
“ตอนนี้พูดไปก็ไม่มีผีที่ไหนเชื่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องเจ็บปวด” ทวีชัยกล่าว
 
ทวีชัยยังระบุว่าในการทำงานภาคสนามนั้นก็ไม่สามารถเอ่ยถึงสังกัดของตนเองได้ เพราะจะถูกกดดันอย่างหนักจากมวลชนไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่าอารมณ์ของมวลชนเสื้อแดงในช่วงหลังนั้นเป็นแบบแพ้ไม่ได้ เช่น กรณีที่ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สั่งปิดเวทีที่บ่อนไก่ก็ถึงกับถูกหินขว้าง เมื่อผู้ชุมนุมขาดแกนนำ เขาก็นำกันเองโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก กรณีเผาช่องสามเกิดขึ้นง่ายๆ เพียงเพราะมีผู้ชุมนุมที่ตะโกนชักชวนไปเผาสถานีโทรทัศน์ที่เขาเห็นว่าเคยด่าเขา ซึ่งตรงนี้น่ากลัวมาก และถือว่าโหดร้ายกับประเทศมาก ที่ผ่านมาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ส่วนข้อมูลต่างๆ นั้นบางทีมันก็สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียจนเราไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก
 
เสถียร จากเครือเนชั่น วิเคราะห์โครงสร้างของคนเสื้อแดงจากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่ยาวนาน โดยแบ่งเป็นส่วนของแกนนำและมวลชน ในส่วนแกนนำเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายสูงมาก ต่างจากกลุ่มเสื้อเหลืองที่มีเอกภาพสูงในแกนนำ 5 คนและอันที่จริงคนหลักก็เป็นเพียงสนธิ ลิ้มทองกุล และจำลอง ศรีเมือง ความหลากหลายของแกนนำเสื้อแดงทำให้การตัดสินใจในการเคลื่อนไหวนั้นมีปัญหามากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ความหลากหลายดังกล่าวอาจแบ่งเป็นเรื่องของวิธีการ บางคนเป็นสายฮาร์ดคอร์ บางคนเป็นสายพิราบ หรืออาจแบ่งเป็นเรื่องเป้าหมาย บางคนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสุดโต่งและกระทันหัน บางคนต้องการแค่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่และใช้เวทีเสื้อแดงหาเสียง บางคนมีความสัมพันธ์กับคุณทักษิณและออกมาให้เห็นเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ นักวิชาการน่าจะลงไปทำวิจัยกลุ่มก้อนทางความคิดเหล่านี้เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนและน่าสนุกมาก
 
เสถียรเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดงว่าเหมือนรถเมล์คันหนึ่งที่บรรทุกคนหลายกลุ่ม ขึ้นจากคนละป้ายและจะลงคนละป้ายด้วย รถคันนี้เลยวิ่งสะเปะสะปะ เราจะเห็นคนคุมรถค่อยๆ ลงไปทีละคน เพราะไม่แน่ใจว่าจุดจบอยู่ตรงไหนในการนำมวลชน และเป็นสาเหตุให้การเจรจาไม่บรรลุผล เพราะเป้าหมายของแกนนำแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้ปัญหาบานปลาย
 
สำหรับมวลชนนั้น ตนมีโอกาสสัมผัสไม่น้อยและพบว่าคนเสื้อแดงไม่ได้มีอะไรมากกว่าความต้องการนโยบายที่ดี จับต้องได้ อิ่มเหมือนสมัยที่ทักษิณเป็นนายกฯ เขาต้องการทักษิณหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ แต่เขาอยากได้อะไรแบบที่ทักษิณทำ พูดอย่างเป็นธรรมเขารู้ด้วยซ้ำว่าทักษิณกับเขาห่างกันไกลแล้ว และเป็นเรื่องยากที่ทักษิณจะกลับมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็พยายามทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อาจมีการเปลี่ยนชื่อบ้าง แต่คนมาชุมนุมเขาติดของเดิม เหมือนติดสินค้าเจ้าแรก
 
แนวทางการแก้ไขปัญหาของัฐบาลจะต้องตอบโจทย์เหล่านี้ มวลชนเสื้อแดงไม่ใช่แค่ที่เห็นเพราะนั่นแค่เพียงตัวแทนของคนเหนือ คนอีสาน ควรมีนโยบายที่จับต้องได้ ทำให้เขาไม่แตกต่างจากคนกรุงเทพฯ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลอาจมองว่า การบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย หรือพวกล้มเจ้า อาจเป็นทางที่ง่ายในการจัดการปัญหา และเรื่องนโยบายที่ดีอาจจะยาก อย่างไรก็ตาม คนเมืองส่วนใหญ่ก็มีทัศนะที่ไม่ดีต่อคนเสื้อแดงด้วย เช่น มองว่าเขาไม่มีการศกึษา เป็นผู้ก่อการร้าย แม้เราต้องเห็นใจคนที่ถูกเผา แต่อยากให้คนเมืองมองให้เห็นที่มาที่ไปของปัญหาที่ทำให้เขามารวมกันด้วย นอกจากนี้การทำมิวสิควิดีโอให้คนรักกัน สามัคคีกันของ ศอฉ.ก็เป็นตัวอย่างการกีดกันพวกเขาที่ชัดเจน เพราะเห็นทุกสีในนั้นยกเว้นสีแดง ซึ่งถ้าตนเป็นคนเสื้อแดงก็อาจคิดได้ว่านี่สามัคคีกันกระทืบฉันหรือเปล่า
 
สถาพร จากทีวีไทย กล่าวยกตัวอย่างการสนทนากับผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดว่าเข้าหน้าฝนแล้วทำไมจึงไม่ทำนา พวกเขาตอบว่าไม่รู้จะทำนาไปทำไม เพราะขายข้าวไปก็ขาดทุน ซึ่งนี่คือคำตอบว่าทำไมคนถึงมาชุมนุม เขาเรียกร้องการยุบสภาเพราะเขาเชื่อว่าชีวิตเขาจะดีขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบ ส่วนในมุมของแกนนำนั้นก็มีความหลากหลายมาก แม้มีมติจากแกนนำหลักออกมาแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะควบคุมได้ทั้งหมด ยุทธวิธีย่อยต่างๆ ของแกนนำระดับย่อยพร้อมจะแทรกแหกมติหลักได้ตลอดเวลา เช่น กรณีการบุกรพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็นปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของแกนนำ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดของการชุมนุม ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็คือ ความชอบธรรม ซึ่งเรื่องนี้ นปช.รู้ดีและพูดมาก่อนแล้ว ท้ายที่สุดแม้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตก่อนเป็นจำนวนมาก แต่พอมีไฟไหม้ก็เสียความชอบธรรมเช่นกัน การไม่เป็นเอกภาพจึงทำให้ขบวนเสียความชอบธรรมได้ง่าย
 
“เราทุกคนต่างก็อยากให้มันจบด้วยสันติวิธี เกิดการปรองดองขึ้นจริงๆ แต่เราก็ทำไม่สำเร็จ เรากระจอก เราไม่สามารถช่วยบ้านเมืองได้ ทั้งที่เรามีโทรทัศน์ มีหนังสือพิมพ์ในมือ” สถาพรกล่าวและว่าโดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าอยากปรองดอง รัฐบาลก็ต้องทำให้ข้าวได้ราคา ทำให้เงื่อนไขที่คนจะออกมาทั้ง พันธมิตรฯ หรือ นปช. หมดไป บ้านเมืองจะได้ไม่เป็นแบบนี้เพราะคนไม่กี่คนทะเลาะกัน ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรายิ่งแก้ปัญหา ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงขึ้น วันที่ 19 พ.ค.เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่โล่งใจที่เรื่องจบ แต่ตนเองรวมถึงเพื่อนผู้สื่อข่าวภาคสนามหลายคนกลับหนักใจ เพราะมีภาระข้างหน้ารออยู่อีกมาก และจะหนักกว่าเดิม เพราะต้นตอของปัญหาทุกอย่างยังไม่ถูกแก้ไขเลย
 
 
-------------------------- ช่วงซักถาม -----------------------
 
วิภา ดาวมณี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ทำไมสื่อทีวีกับสื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอเนื้อหาต่างกัน , ทำไมสื่อต่างประเทศกับสื่อไทยจึงนำเสนอต่างกัน, สื่อการเมืองที่เป็นลักษณณะการเมืองจัดตั้งชัดเจน อย่างเอเอสทีวี ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลที่ล่อแหลมว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สื่อด้วยกันเองจัดการอย่างไร
 
พญ.เยาวลักษณ์ รพ.สมิติเวช : จากการลงไปตรวจรักษาฟรีให้กับชุมนุมบ่อนไก่ ขอบอกกับทุกคนที่สนับสนุนให้มีการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.ไว้เลยว่า ความเจ็บปวดไม่มีทางจาง และไม่มีทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการใช้ความรุนแรงแน่นอน นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้แพทย์ทุกคนประณามการเข่นฆ่าทุกชีวิต ไม่ว่าสีใดก็ตาม หากแพทย์คนใดสนับสนุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้เกิดความทรุนแรงก็ขอเรียกร้องให้เอา นพ. หรือ พญ. ที่นำหน้าชื่อออกเสีย เพื่อไม่ให้วงการแพทย์เสื่อมเสีย ส่วนคำถามคือวันที่ 18 พ.ค. กลุ่มส.ว.ได้ลงไปเจรจากับ นปช.แล้ว ทุกคนโล่งอกเพราะมีแนวโน้มจะประนีประนอมกันได้ แต่เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น ทำไมรัฐบาลกับกองทัพจึงยังคงใช้การสลายการชุมนุม
 
จิรวดี จากสถานทูตเยอรมัน : ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องขอทั้งอย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ จากรัฐบาลในเรื่องการนำเสนอข่าวบ้างหรือไม่
 
ผู้ร่วมฟังเสวนา: การสูญเสียที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้อาวุธทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายเดียว คนชุดดำมีจริงไหม กลุ่มก่อการร้ายมีจริงไหมหรือแค่ข้ออ้าง
 
ผู้ร่วมฟังเสวนา: พูดในฐานะผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่ง นักข่าวย้ำตลอดว่าที่วุ่นวายทุกวันนี้เพราะรากหญ้าเป็นตัวปัญหา ขอถามว่าเอาอะไรมาวัด ส่วนเรื่องความปรองดองนั้น ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต้องการอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างว่า ถ้าดิฉันเดินไปตบหน้าคุณเสถียรซักที แล้วบอกว่าขอโทษนะลูก ไม่ได้ตั้งใจ ถือเป็นการขอโทษด้วยสมานฉันท์ไหม ส่วนเรื่องสองมาตรฐานนั้น จนบัดนี้กษิต ภิรมย์ ซึ่งไม่คู่ควรกับการเป็นรมว.ต่างประเทศโดยสิ้นเชิงก็ยังไม่ถูกดำเนินคดีเสียที
 
ข้าราชการบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการ : ความรุนแรงที่มากขึ้น เป็นเพราะกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเป็นผู้เผา และฆ่าใช่หรือไม่ โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าฝ่ายไหนจะทำได้ แต่น่าจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจนอกเหนือกว่าอำนาจประชาชนทั้งเหลืองและแดง คิดว่าเป็นไปได้ไหม และขอเรียกร้องว่าเราคงแก้ไขอะไรไม่ได้มากนัก จึงอยากให้ช่วยกันทำบุญดีกว่า
 
อดีตนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬา: (มาพร้อมเพื่อนหน่วยกู้ชีพอาสาอีก 3 คน) ขอเรียกร้องความยุติธรรให้หน่วยอาสากู้ชีพ พยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุม ขอถามว่ามีประเทศไหนในโลกที่ยิงคนในวัด
 
ธรรมเนียม: คาดหวังว่าจะได้คำตอบจากคนในเหตุการณ์ แต่ก็ต้องผิดหลัง ในอดีตผู้สื่อข่าวมีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ พวกเขายอมถูกเผาโรงพิมพ์ ติดคุก แต่ก็ไม่กลัวและยังกล้าพูดความจริง ทำไมปี 2553 จึงไม่กล้าพูดความจริงกัน เพราะทุกคนบอกว่า ศอฉ. มีหนังสือขอความร่วมมือไม่ให้เสนอข่าว ทำไมจึงไม่มีจรรยาบรรณ รักษาความเที่ยงธรรม
 
นวลทอง อาสาสมัครกู้ชีพ : วันที่ 18 พ.ค. เป็นคนเรียกให้น้องๆ มาช่วยลำเลียงคนเจ็บเอง เพราะไม่คิดว่าจะมีใครยิงหน่วยกู้ภัย ตนเองเป็นคนกลาง ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมเลย แต่ต้องการช่วยคนเจ็บ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ช่วย แต่ทำไมรถตนจึงโดนเอ็ม 79 จนลอยละลิ่ว โชคดีที่รอดชีวิตมาได้
 
หัวหน้าหน่วยปอเต็กตึ๊ง : ตนสูญเสียลุกน้องไป 2 คน คนหนึ่งที่ซอยงามดูพลี ถูกยิงขณะคลานเข้าไปช่วยคนเจ็บและมือถือธงกาชาด หรือว่าธงกาชาดเป็นสัญลักษณ์ให้โดนยิง เพราะมันเป็นสีแดง เขาคนนี้เป็นอาสาสมัครด้านนี้มาตั้งแต่อายุ 13 ปี และในปีนี้เขาเพิ่งได้บัตรปอเต๊กตึ๊งเป็นปีแรกและเป็นปีสุดท้าย พอเขาโดนยิงข่าวออกเลยว่าเป็นการ์ด นปช. แล้วตนจะพึ่งพาสื่อคนไหนได้ จนกระทั่งต้องไปแถลงข่าวกับจตุพรที่เวที พอเราแย้งไป รัฐบาลก็บอกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายยิง ตอนซีเอ็นเอ็นถามตนว่าใครยิงเพราะทหารบอกไม่ได้ยิง ผมก็บอกว่าคงเป็นหมาสั่งและหมายิง นอกจากนี้วันที่ 13 พ.ค.ตนอยู่ในพื้นที่และได้ทักทหารว่า ออกมาอย่างนี้ทำไมไม่ใช่โล่ กระบอง เขาบอกว่า “หมดเวลาแล้วที่จะใช้” ได้ยินกับหู
 
วสันต์ หน่วยกู้ชีพในเหตุการณ์วัดปทุม : (มีภาพและคลิปประกอบ) กล่าวถึงกรณีของอัครเดช ขันแก้ว ผู้ชุมนุมที่ไปช่วยเป็นอาสาสมัครที่เต๊นท์พยาบาลในวัดปทุมซึ่งถูกยิง และทรมานเป็นชั่วโมง สุดท้ายต้องเสี่ยชีวิตคามือวสันต์ ทั้งที่ได้พยายามประสานรถพยาบาลทุกหน่วยแล้ว แต่ปรากฏว่าได้รับคำตอบว่าทหารไม่ให้เข้า
 
อาจารย์คณะศิปลศาสตร์ มธ. : ฝากถึงสื่อมวลชนภาคสนามว่า ถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่สื่อต้องออกมาขบถต่อองค์กรของตัวเอง ไม่ใช่แค่การปฏิรูปสื่อง่ายๆ อย่างการพูดเรื่องจรรยาบรรณ ต้องหยุดหลอกสังคมเรื่องความเป็นกลางได้แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าตัวเองมีจุดอ่อน
 
 
-------- เสวนา รอบ 2 ----------
 
ฐปนีย์: ต้องยอมรับว่าประชาชนในประเทศมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกแยกกันอย่างรุนแรง ถ้าเราตั้งต้นด้วยความปรองดอง เราต้องพูดคุยโดยปราศจากอคติทางการเมือง ยอมรับข้อเท็จจริง ยอมรับความคิดเห็นของทุกคน ส่วนการทำงานของนักข่าวนั้นมันก็มีข้อจำกัดของมัน ไม่ใช่ไม่มีจรรยาบรรณ เราเอาชีวิตของเราเข้าไปเสี่ยงกระสุน ระเบิดก็เพราะต้องการนำเสนอข่าว นำเสนอข้อเท็จจริงที่เราเห็น ถามว่าทำหน้าที่ต่างกันอย่างไรระหว่างนักข่าวทีวีกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ ทำไมนำเสนอต่างกัน ต้องเข้าใจโครงสร้างสื่อมวลชนในบ้านเรา สื่อกระแสหลักนั้น หนังสือพิมพ์จะค่อนข้างทำงานได้อย่างอิสระในทุกยุค แต่ทีวียังคงอยู่ในการควบคุมของรัฐทุกช่อง แม้เอกชนก็ยังต้องได้รับสัปทานจากรัฐ มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกส่วนสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมา และตอบคำถามได้ว่าทำไมศอฉ.ออกทีวีพูลได้ทุกเวลาไม่จำกัด
 
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เรื่องของเสื้อแดงถูกแทรกแซง ถูกบล็อก มันก็ไม่ต่างจากช่วงที่เสื้อเหลืองชุมนุม หรือช่วงที่ คมช. ร้องขอให้ไม่เสนอภาพทักษิณหรือนปก. ถามว่าทำไมนักข่าวยอม ทุกคนปฏิเสธที่จะยอม และขอใช้วิจารญาณของเราเองว่าเราจะดำรงการทำหน้าที่ของเราอย่างไร และเราต้องใช้วิจารณญาณในการรายงานให้ไม่ไปซ้ำเติมความรุนแรงด้วยเช่นกัน ยืนยันได้ว่าในฐานะนักข่าวสนามทำเต็มที่ที่สุดให้ความถูกต้องตามที่เราเห็น เช่น กรณีบ่อนไก่ ซึ่งเป็นจุดที่รุนแรงที่สุดจุดหนึ่งและมีผู้เสียชีวิตเยอะตนก็ได้ลงไปทำข่าว โดยในวันที่ 14 พ.ค.ที่ลงไปประจำมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่โดยรอบ เห็นการเผายางรถยนต์ มีกลุ่มประชาชนซึ่งไม่แน่ใจกลุ่มไหนเพราะไม่ใส่เสื้อแดงกระจายตัวแต่ละจุด ถามว่าทำไมไม่พูดเลยว่าใครยิง ก็เพราะมันยากมากที่จะทำหน้าที่ชี้ชัดแบบนั้น ทำได้แค่ว่าเราเห็นอะไรก็รายงานไปตามที่เห็นว่า ทหารเริ่มกระชับพื้นที่โดยใช้แก๊ซน้ำตา ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยระเบิดเพลิง และทหารก็มีการยิงตอบโต้โดยใช้กระสุนจริง แต่พูดไม่ได้ว่าพอทหารยิงไปแล้วทำให้ นาย ก. อีกฝั่งหนึ่งตาย เพราะเป็นข้อจำกัดในการรับรู้และการมองเห็น ณ จุดใดจุดหนึ่งของผู้สื่อข่าว แต่เราจะไม่พูดในสิ่งที่ไม่เห็น แม้แต่ตนเองก็ถูกยิงและพูดไม่ได้ว่าใครเป็นคนยิงเพราะไม่เห็น นี่คือความยากของการทำงานยุคนี้ หลายคนพูดว่านี่คือ สงคราม
 
ขณะนั้นมีผู้ร่วมเข้าฟังเสวนา ถามคำถามขึ้นมากลางวงด้วยท่าทีดุดันว่า เห็นคนเสื้อแดงใช้อาวุธปืนยิงหรือไม่ ขอให้ตอบเดี๋ยวนี้ ฐาปนีย์ตอบว่า ยืนยันได้ว่าไม่เห็นคนเสื้อแดงหรือประชาชนที่บ่อนไก่ยิง และที่มีการบอกว่าทหารยิงประชาชนตายก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ตอนที่ทหารยิงเขาก็บอกว่าต้องยิงเพราะมีชุดดำเดินถือปืน แต่เราไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งพื้นที่ก็กว้างใหญ่ไม่รู้ว่าวิถีกระสุนมาจากไหน
 
สุรศักดิ์ จากบางกอกโพสต์ กล่าวว่า ตนพูดในฐานะนักข่าวคนหนึ่งซึ่งไม่สามารถกุมบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีกลุ่มเสื้อเหลืองทำให้เกิดบรรยากาศการในการทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นปีศาจ คนทำงานส่วนหนึ่งก็อาจเห็นด้วยหรือมีใจกับตรงนั้น ทำให้เมื่อถึงเวลาอาจตั้งคำถามน้อยไปทั้งกับกลุ่มเสื้อเหลืองหรือรัฐบาล ขณะที่สื่อเทศนั้นอาจดึงตัวเองออกมาได้มากและมองสถานการณ์ครอบคลุมกว่า อีกทั้งไม่ติดอยู่กับประเด็นดีเลว
 
ถามว่าทำไมไม่กล้าพูดข้อเท็จจริง เท่าที่เห็นตอนนี้ก็ยังไม่มีใครพูดความเท็จ แต่ยังไม่มีใครเห็นความจริงทั้งหมด สำหรับคำถามเรื่องหนังสือของ ศอฉ.นั้น ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ไม่เคยได้รับ แต่ได้รับการบอกกล่าวว่า สื่ออาจตกเป็นเป้าถูกทำร้าย เหมือนบอกกลายๆ ว่าไม่ให้เราลงสนามหรือเปล่า แต่ตนก็ไม่ได้เชื่อตรงนั้น
 
สุรศักดิ์ ย้ำว่า ที่เป็นปัญหาอย่างมากในการรายงานข่าวอีกประการคือ เคอร์ฟิว ซึ่งทำให้สื่อกลับบ้านหมด กรณีของวัดปทุมฯ ก็เหลือผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียง 2-3 คนเท่านั้น ถามว่าการประกาศเคอร์ฟิวนั้นจำเป็นไหม เพราะมันปิดกั้นการทำงานของสื่อและทำให้ต้องนำเสนอข่าวจากการบอกเล่าเป็นหลัก กลายเป็นจุดอ่อนของเหตุการณ์ แม้ไม่มีการปิดปากจากศอฉ.โดยตรงก็ตาม ส่วนกรณีคนตายนั้น สื่อไม่ตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงตาย ทหารใช้อาวุธเป็นเรื่องเหมาะสมไหม นอกจากนี้เรายังยอมรับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเรื่องก่อการร้ายมากไปหรือไม่ ให้พื้นที่เยอะเกินไปหรือไม่
 
“พอมีการสลายการชุมนุม ทุกคนก็ประโคมข่าวการทำความสะอาดราชประสงค์ เป็นความล้มเหลวของสื่อ เพราะไม่ถามเลยว่าทำไมมีเคอร์ฟิว มีคนตาย ใครคือผู้ก่อการร้าย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย” สมศักดิ์กล่าว
 
ส่วนเรื่องรากหญ้าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายนั้น ตนอาจเห็นต่างจากคนอื่นบ้าง เหตุที่ทำให้เขาออกมาชุมนุมอาจเป็นเพราะเขาถูกแย่งชิงสิทธิที่จะได้รับตามระบอบประชาธิปไตย
 
“เสื้อเหลืองแย่งรัฐบาลของเขาไปด้วยวิธิการที่ไม่ชอบ เขาเลยมาแย่งรัฐบาลกลับมาด้วยวิธีเดียวกัน แต่เขาไม่ได้” สมศักดิ์กล่าว
 
ส่วนเรื่องที่ถกเถียงกันนั้น มองว่าไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงอย่างเดียวในสถานการณ์แบบนี้ แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งคำถาม และเราจำเป็นต้องตั้งคำถามที่สำคัญๆ ให้ใหญ่โตอย่างที่ควรจะเป็น
 
ตวงศักดิ์ จากมติชน กล่าวว่า ศอฉ.นั้นสั่งตนไม่ได้แน่นอน ถ้าเขาจะสั่งเขาก็คงสั่งระดับ บ.ก. สิ่งที่อยากบอกคือ การสูญเสียที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และน่าเศร้าใจ
 
ทวีชัย จากเนชั่น กล่าวว่า ถ้าถามว่าใครยิง ตอบตรงๆ ก็คือ ทหาร ประสบการณ์ตรงส่วนตัวและปากคำเพื่อนที่นอนโรงพยาบาลเชื่อว่า คนธรรมดาฝึกอาวุธ สร้างเครือข่ายได้ขนาดนี้เป็นไปไม่ได้ ชุดดำชุดอะไรเป็นเรื่องที่เขาตั้งธงไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ารัฐบาลถูกบีบคั้นอย่างหนัก อีกทั้งเชื่อว่าอภิสิทธิ์ไม่น่าจะมีธรรมชาติที่ก้าวร้าว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่ามีหน่วยทหารหลายหน่วยได้เสียกับงานนี้ ส่วนตำรวจนั้นเท่าที่เช็คข่าวดูเห็นว่างานนี้ตำรวจไม่กล้าวยุ่ง
สิ่งที่น่ากลัวมากคือ ตนเองเดินทางบ่อยและได้เห็นภาพความแตกแยกหนัก หากเราไม่กลับมาคุยกันจริงจัง งานนี้น่าจะเละมากกว่านี้ กระแสการแบ่งภาคปกครองก็เริ่มมีให้ได้ยินเยอะขึ้น เพราะคนคงเริ่มคิดว่า “ทำไมกูโดนอยู่เรื่อย” นอกจากนี้ยังอยากฝากว่าอย่าตั้งเป้าที่สื่อมากไป เพราะโลกการสื่อสารทุกวันนี้เปิดมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับรู้ข่าวสารให้รอบด้าน ส่วนการบล็อกข่าวอีกฝ่ายของรัฐบาลก็รังแต่จะยิ่งทำให้คนเกิดข้อสังสัยเหมือนกรณีพ.ค.35
 
เสถียร จากเครือเนชั่น กล่าวว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายทางการเมืองไม่ชัดพอ ไม่ตอบสนองคนอย่างทั่วถึง ทำให้มีคนจำนวนมากมาร่วมขึ้นรถเมล์คันนี้
 
สถาพร จากทีวีไทย กล่าวว่า คำถามว่าวันที่ 18 พ.ค.เกิดอะไรขึ้น ทำไมรัฐบาลยังจะ “กระชับวงล้อม” จากการพยายามพูดคุยหลายฝ่ายแล้วก็เป็นดังข้อสรุปว่า ปัญหาคือใครจะชอบธรรมมากกว่ากัน หากใครชอบธรรมกว่า ณ ตอนนั้นก็มีสิทธิที่จะไม่เจรจา เวลานั้น นปช.เสียความชอบธรรม เพราะตอบรับโรดแมพช้า แต่รัฐบาลก็ยังมีทางเลือกอื่น แต่เท่าที่สอบถามพบว่า การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ส.ว.จะเดินทางไปยังที่ชุมนุม
 
เรื่องการแทรกแซงเนื้อหานั้น ตนไม่ได้รับการร้องขอใดๆ จากรัฐบาลทั้งแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่บางครั้งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเพราะมีพรก.ฉุกเฉิน เช่น การเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมเยอะๆ นั้นรายงานไม่ได้ตามถ้อยคำตรงๆ แต่ยังสามารถใช้ถ้อยคำอื่นเพื่อนำเสนอนัยยะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าถ้าจะตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสื่อ โดยไม่ตั้งอยู่บนฐานว่าสื่อก็เป็นคนเหมือนกันอาจไม่แฟร์นัก คนรับข้อมูลข่าวสารก็ต้องถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าคุณรับอย่างครบถ้วนรอบด้านไหม  ส่วนเรื่องจรรยาบรรณนั้น ตนก็ยืนยันว่าพูดได้เท่าที่เห็น ตรงไหนมีปัญหาข้อกฎหมายทำให้การรายงานข่าวของเราไปต่อไม่ได้ ตนเลือกจะไปต่อได้แล้วใช้วิจารณญาณเอาว่าจะรายงานมันอย่างไรให้ดีที่สุด โดยเชื่อว่าคนไทยมีวิจารณาญาณในการรับรู้ข่าวสารอยู่แล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net