Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความเรียงสะเปะสะปะนี้ เขียนขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553
หลังจากที่เสียงปืนจากการปะทะ สงบลงแล้ว หากแต่กลิ่นของความตายยังคงอบอวล
ร่วมในนิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องเล่า "ประชาธิปไตย, การฝ่าผ่าน, ชีวิต, จิตวิญญาณ,"
19 มิถุนายน 2010 เวลา 9:30 - 21:30
สวนเงินมีมา 666 เจริญนคร 22 ถ.เจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กทม.

 

เสื้อแดง:
ในตู้เสื้อผ้าของฉันไม่มีเสื้อสีแดง เพราะฉันชอบสีชมพูเป็นชีวิตจิตใจใครๆ ก็รู้
เรื่องสีเป็นรสนิยมส่วนตัว ที่เราจะชอบสีไหนเป็นสิทธิที่เราเลือกได้
เช่นเดียวกับความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งถ้าหากมีใครถามว่าฉันมีรสนิยมทางการเมืองอย่างไร ฉันก็จะตอบไปด้วยประโยคที่มีสีเข้ามาเกี่ยวข้องว่า ‘วันหนึ่งท้องฟ้าจะกลายเป็นสีทองผ่องอำไพ’

อภิสิทธิ์:
‘ขอพื้นที่คืน’ เป็นคำสวยหรูของคนคารมเป็นต่อและรูปหล่ออย่างเขา
หากแต่ฉันฟังด้วยอาการปั้นปึ่ง
สิ่งที่เขาเข้าใจถูกคือ นายกรัฐมนตรีของประเทศควรจะ ‘ขอ’ มากกว่าที่จะ ’บังคับ’ประชาชน แต่สิ่งที่เขาเข้าใจผิดอย่างไม่น่าให้อภัยคือ ‘การขอ’ ควรกระทำโดยปราศจากอาวุธและรถถัง แต่อาจเป็นเพราะว่าชื่อของเขาคือ ‘อภิสิทธิ์’ กระมัง มันอธิบายและบ่งบอก ที่มาที่ไปของเขาได้เป็นอย่างดี

รถถัง:
ถนนสายนี้ชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’ มันเริ่มตั้งแต่แยกวิสุทธิกษัตริย์ ตัดตรงผ่านวัดตรีทศเทพ ยกตัวสูงเป็นสะพาน ก่อนจะสิ้นสุดที่แยกสะพานวันชาติ ทหารจำนวนมากโดยสารอยู่บนรถถังที่วิ่งผ่านถนนสายนี้ และนั่นทำให้ฉันรู้ว่าฉันควร ‘ปิดทีวี’ และออกไปเห็นด้วยตาของตัวเอง

เฮลิคอปเตอร์:
เสียงใบพัดของเฮลิคอปเตอร์บนท้องฟ้าทำให้ฉันหวาดกลัวและรู้สึกอึดอัด เหมือนเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม มันบินวนไปวนมาหลายรอบ ฉันคิดว่านั่นเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ชุมนุมแบบหนึ่ง เพราะคนเราจะรู้สึกเหมือนถูกกดขี่และไม่ปลอดภัยเวลามีอะไรอยู่เหนือหัว

แก๊สน้ำตา:
ฉันร้องไห้ เพราะถูกละอองแก๊สน้ำตา เพิ่งรู้ว่าแก๊สน้ำตามันเป็นอย่างนี้นี่เอง คุณเคยผัดพริกแกงไหม? นั่นแหละ แต่ว่ามันแสบตา แสบจมูกและผิวหน้ามากกว่าราวๆ 7 เท่า น้ำตาฉันไหลออกมาไม่หยุด ต้องหาน้ำล้างหน้าและใช้ผ้าที่พกไปด้วยอุดจมูกไว้ ฉันร้องไห้ไป 3 ครั้งกับแก๊สน้ำตาของฝ่ายทหาร และฉันน้ำตาตกในไปหลายครั้งเมื่อเห็นคนที่เป็นฐานของพีระมิดกำลังฆ่ากันเอง

ปืน:
ฉันเห็นแววตาของทหารเหล่านั้น เขาไม่ได้อยากจับปืน แต่นั่นคือหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งและเขาเป็นเพียงผู้น้อยที่ต้องต้อยตาม เขาคงไม่อยากฆ่าใคร ด้วยรู้ดีว่าพี่น้องที่กำลังประจันหน้าอยู่ คือคนระดับเดียวกัน บางทีญาติพี่น้องของเขาอาจจะกำลังขูดมะละกอ ตำพริกเพื่อเตรียมอาหารเย็นให้กับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ทหารเหล่านั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ที่บางคนอาจเป็นลูกหลานของผู้ชุมนุม บางทีพวกเขาอาจอยากทิ้งปืน อยากกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ลูกเมีย ด้วยอวัยวะที่ครบ 32

สงคราม:
เวลาเราดูหนังสงคราม สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือตัวเอกของเรื่องมักรอดชีวิต ในขณะที่ทหารแนวหน้าที่ถูกเรียกว่าทหารชั้นเลวมักตายเรียบเสมอ ไม่ต่างจากการสลายชุมนุมในครั้งนี้ หากแต่ตัวเอกของเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในไม่ช้า

ศพ:
สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร และหากสงครามที่ว่าจบแล้ว กรุณานับศพประชาชนด้วย นับในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนมนุษย์ อย่าบิดเบือนตัวเลขและอย่าโกหกหน้าด้านๆ

ความเหลื่อมล้ำ:
การประทะกันที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ฉันเข้าใจว่า คนที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งการปราบปรามอย่างรุนแรงนี้ มองคนตัวเล็กๆ เป็นเพียงเศษชีวิตที่ด้อยคุณค่า ทั้งทหารและประชาชนที่กำลังประทะกันนี้ เป็นเพียงเศษชีวิตที่จะกองทับถมกันให้ฐานของความเหลื่อมล้ำมันสูงยิ่งขึ้น

ถนนราชดำเนิน:
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ไม่น่าตกใจหรอกที่เกิดเหตุการณ์วันนี้ ก็ในเมื่อชื่อของถนนและชื่อของอนุสาวรีย์มันแปลความซ้อนทับกัน

ความตาย:
รถถังกลับไป รถพยาบาลวิ่งกันให้วุ่น เสียงปืนซาลงไปแล้ว หากแต่เสียงไซเรนของรถพยาบาลยังคงกังวานอยู่
นั่น! คุณเห็นไหม รอยเลือดสดๆ ที่คุณกระหาย
นี่! คุณได้ยินรึเปล่า เสียงของความตายที่มันกำลังกู่ร้องโหยหวน
หรือคุณรู้สึกว่ามันไพเราะเสนาะหู

ประชาธิปไตย:
หากจอห์น เลนนอนมาเห็นในสิ่งที่ฉันเห็นในวันนี้ เขาก็คงร้องเพลงอิมเมจิ้นไม่ออก
เขาคงนั่งตรงนั้นและร้องไห้ต่อหน้าอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยของเรา
ประชาธิปไตยที่ทหารถืออาวุธ และรถถังวิ่งบนท้องถนน
ประชาธิปไตยที่ไม่เคยมีจริงในประเทศนี้

 

---------------------------
หมายเหตุ: ความเรียงนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ค ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตเจ้าของงานมานำเสนออีกครั้ง

 

--------------------------
กิจกรรมรำลึกถึงผู้จากไป: In Memory of Lost People
"We make invisible visible"

วันเสาร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ สถานที่ สวนเงินมีมา ถนนเจริญนคร ระหว่างซอย ๒๐ และ ๒๒ กรุงเทพฯ
จัดโดย ศูนย์อำนวยการเยียวยาสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอย.)

๐๘๓๐ - ๐๙๐๐ น.
ศาสนพิธี พุทธ คริสต์ อิสลาม

๐๙๐๐ - ๐๙๑๕ น.
ตัวบทกวีนำ โดยจิรนันท์ พิตรปรีชา

๐๙๑๕ - ๑๐๐๐ น.
ปาฐกถา “ความรุนแรงโดยรัฐและการต่อสู้ด้วยสันติวิธี”
โดย ภิกษุณีธรรมนันทา วัตรทรงธรรมกัลยาณี

๑๐๐๐ - ๑๐๒๐ น.
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวสรุปและขอบคุณ

๑๐๒๐ - ๑๐๓๐ น.
อ่านบทกวี โดย อาจารย์สกุล บุณยทัต

๑๐๓๐ - ๑๒๓๐ น.
เสวนา “ประวัติศาสตร์ชาติไทย: ความทรงจำสั้นความรุนแรงยืนยาว
แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร”
ฟังนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ และสังคมมานุษยวิทยาเล่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนเจ้าของประเทศย้อนตั้งแต่ ๒๔๙๐ ถึงปัจจุบัน

๑๒๓๐ - ๑๓๐๐ น.
ศิลปะการแสดงสดและขับบทกวี

๑๓๐๐ - ๑๔๓๐ น.
เสวนา “เบื้องหน้าและเบื้องหลังการทำข่าวภาคสนามในสถานการณ์ฉุกเฉิน” นักข่าวภาคสนามกับความจริงอันขมขื่น แม้ไม่เลือกข้างก็ถูกกล่าวหาว่าเข้าข้าง

๑๔๔๕ - ๑๖๑๕ น.
เสวนา “ปากคำผู้สูญเสียและการช่วยเหลือเยียวยา”
ผู้ร่วมเสวนา ญาติผู้สูญเสีย หรือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ และ ๒๕๕๓, ทนายอาสา จากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.), ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และ
อาสาสมัครเพื่อนรับฟัง เครือข่ายสันติวิธี เล่าความเป็นมาของการสูญเสีย และ
การช่วยเหลือเยียวยา
ร่วมด้วยอังคณา นีละไพจิตร ดำเนินรายการโดยณาตยา แวววีรคุปต์

๑๖๑๕ - ๑๖๓๐ น.
เริงระบำกับเงาแห่งชีวิต: Dance with your life shadow โดย นฤมล จันทรศรี
เป็นการได้เฝ้าเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิต ด้วยการเรียนรู้การเคลื่อนไหวแห่งกาย ซึ่งยังคงดำรงสติในรูปแบบต่างๆ

๑๖๓๐ - ๑๖๔๕ น.
กิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วม
“ปลดปล่อยความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง แต่เราจะไม่มีวันลืม”
เขียนข้อความแทนสิ่งที่อยากจะปลดปล่อยบนลูกโป่ง แล้วปล่อยขึ้นฟ้าพร้อมกัน

๑๖๔๕ - ๑๗๐๐ น. ศิลปะการแสดงสดและขับบทกวี

๑๗๐๐ - ๑๙๐๐ น. การแสดงดนตรี โดยศิลปินไร้สังกัด
Surapongmancodecode, BBB (Buriram Brothers Band),
กิตติเดช บัวศรี, ต้น บัวดิน
Hamer Salwala, ทองม้วน บุญมาและตี๋ ภูธร

๑๙๐๐ น. ภาพยนตร์กลางแปลง
หนังสั้น คืนนี้ดูน่ากลัว และ Balloon โดย ฮาเมอร์ ซาลวาลา /
อย่าลืมฉัน โดยมานัสศักดิ์ ดอกไม้ และ
Waltz with Bashir an Ari Folman film

ผู้รับผิดชอบโครงการ
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการเยียวยาสถานการณ์ฉุกเฉิน

* หมายเหตุ วิทยากรทั้งหมดอยู่ในระหว่างประสานงาน
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ บริการอาหารและเครื่องดื่มฟรีตลอดงาน และ
มีการจำหน่ายสินค้าเพื่อสมทบทุนการจัดกิจกรรม
ถ่ายทอดสดผ่าน Website ตลอดงาน

"We could forgive but we could not forget"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net