ชาวสะเอียบ เผาหุ่นเสธ.หนั่น ประท้วงฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น

ชาวสะเอียบ เผาหุ่นเสธ.หนั่น ประท้วงฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น หนุนนโยบายผู้ว่าแพร่ สร้างฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อน ยื่นจดหมายถึงนายก แจงเหตุที่ไม่ควรสร้างเขื่อน และทางเลือกในการจัดการน้ำ

 
 
19 มิ.ย. 53 - ชาวบ้านกว่าพันคนตำบลสะเอียบ ได้ร่วมกันเผาหุ่นพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ ผาอิง ริมแม่น้ำยม ต.สะเอียบ จ.แพร่ จากนั้นทำพิธีเรียกวิญญาณเข้าหม้อถ่วงน้ำ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่พลตรีสนั่นได้ออกมาให้สัมภาษณ์ที่จะฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น
จากการที่พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ ภายในสมัยที่ตนเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องน้ำในสมัยรัฐบาลนี้ ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์ในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นร่วมกันในวันนี้ และได้ทำการเผาหุ่นเรียกวิญญาณถ่วงน้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบ้าน
นายอุดม ศรีคำภา แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเผาหุ่นเสธ.หนั่นว่า “ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเสธ.หนั่นได้ประกาศที่จะรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาสร้างให้ได้ ตนและชาวบ้านตำบลสะเอียบเห็นว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวต่างเป็นเดือดเป็นร้อนและเห็นว่าต้องมีมาตรการตอบโต้ เมื่อคิดไม่ดีมาเราก็ต้องเผาต้องสาปแช่งซึ่งเป็นการตอบโต้ให้เสธ.หนั่นได้รับรู้และเข้าใจว่าชาวบ้านจะต่อสู้จนถึงที่สุด จะไม่ยอมให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรามีทั้งทางออกทางเลือกในการจัดการน้ำหลายแนวทางแต่ฝ่ายการเมืองก็จะสร้างแต่เขื่อนทั้งที่เขื่อนทั้งประเทศก็กำลังเกิดวิกฤตแทบจะไม่มีน้ำอยู่แล้ว”
น.ส.กัลยานี โสมแจง ตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ว่าชาวบ้านตำบลสะเอียบยืนยันที่จะปกป้องป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ ไว้ไห้ลูกหลานและคนทั้งประเทศ และจะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ถึงที่สุด และยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด โดยให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น “เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมนั้นต้องร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่จะมาทำลายป่าสักทองเพื่อสร้างเขื่อน เมื่อฝนไม่ตกเขื่อนก็แห้งดั่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเห็นด้วยกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ที่มีนโยบายในการผลักดันโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าเมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล” น.ส.กัลยานี กล่าว
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยหนังสือระบุถึง เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และทางเลือกทางออกในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่นการจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม การขุดลอกตะกอนแม่น้ำอันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การปรับปรุงประสิทธิภาพ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การพัฒนาระบบประปา ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อม
นายศรชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง ตำบลสะเอียบ กล่าวถึงความเป็นมาของชุมชนสะเอียบ ว่า “กว่า 200 ปี ที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบ ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างบ้าน สร้างเมือง มาจนถึงทุกวันนี้ มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างสอดคล้องและสมดุล ป่าเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของพวกเรา เป็นแหล่งหากิน เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ เก็บผัก สมุนไพร หาอยู่หากินกันตามอัตภาพ มีความสุข ความเจริญสืบเนื่องมา ยังมีผู้คิดทำลายป่าสักทองธรรมชาติ ทำลายชุมชน ทำลายวิถีชีวิต ชุมชนของชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านได้พยายามเสนอทางเลือกทางออก ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งทางเลือก ทางออกต่างๆ ใช้งบประมาณน้อยกว่า และกระทบกับป่า กระทบกับชุมชน น้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น”
การประกาศเจตนารมชองชาวสะเอียบในครั้งนี้ ยังจะได้มีการรื้อฟื้นกฎของชุมชนขึ้นมาใช้อีกครั้งหนึ่ง คือ การประกาศห้ามกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา และนักการเมืองที่ไม่หวังดีต่อป่าสักทองเข้าพื้นที่ โดยชุมชนสะเอียบจะไม่รับรองความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นชาวบ้านจึงได้แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย

 
คำประกาศเจตนารมณ์
สะเอียบ ยืนหยัดปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น
ใช้มาตรการเข้ม ฟื้นกฎชุมชน ห้าม กรมชล บริษัทปัญญา นักการเมืองขี้ฉ้อ เข้าพื้นที่
 
พวกเราชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มราษฎรรักษ์ป่ามายาวนานเกือบยี่สิบปี ทำหน้าที่ ปกป้อง รักษา ป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ณ อุทยานแห่งชาติแม่ยมแห่งนี้ มาอย่างต่อเนื่อง การสำรวจป่า ราดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานในการปกป้องรักษาป่า การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าชุมชน อีกทั้งการสร้างฝายทดน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ก็ได้สร้างอาหาร ผัก เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร ตอบแทนพวกเราตลอดมา เปรียบดังซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน
มาบัดนี้ มีผู้คิดร้าย หวังทำลายป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น เพื่อสร้างเขื่อน ทั้งที่เขื่อนทั้งประเทศก็ไม่มีน้ำ เพราะไม่มีป่า ยังมีคนมืดบอดคิดทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อนอีก พวกเราจึงขอประณาม สาปแช่งผู้คิดร้ายต่อป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ให้มีอันเป็นไป อย่าได้ผุดได้เกิด
ปัจจุบัน จังหวัดแพร่มีนโยบายในการผลักดันโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น และในปีนี้ได้ดำเนินการมาแล้วกว่าสามหมื่นฝาย พวกเราขอสนับสนุนนโยบายของจังหวัดแพร่ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเต็มที่ต่อไป
พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราจะปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้นตลอดไป ไม่ยอมให้ผู้ใดมาทำลายเป็นเด็ดขาด พวกเราจึงมีความจำเป็นต้องนำมาตรการกฎของชุมชนมาใช้อย่างเข้มข้นนับต่อจากนี้ไป เราขอประกาศว่า ห้ามกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา และนักการเมืองผู้ไม่หวังดีต่อป่าสักทองเข้ามาในพื้นที่ชุมชนของพวกเราอีกต่อไป โดยเราจะไม่รับรองความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการชาวบ้าน กลุ่มราษฎรรักป่า ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่
19 มิถุนายน 2553 ณ ผาอิง ริมน้ำยม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่
 

 
ศูนย์ประสานงานชุมชน บ้านดอนชัย หมู่ 1
ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120
วันที่ 19 มิถุนายน 2553
เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด
 
 
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายอำเภอสอง จังหวัดแพร่
ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ได้มีแนวคิดในการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ขณะที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนทุกเขื่อนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งนโยบายของจังหวัดแพร่กำลังเร่งสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทดแทนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ที่ได้ประโยชน์จริงในพื้นที่ อีกทั้งไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการใช้สถานการณ์น้ำแล้งมาเป็นข้ออ้างและเร่งผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวความคิดที่ผิดพลาดและควรจะสรุปบทเรียนจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้
1.การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ
2.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
3.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ
4.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
5.การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพตามที่โครงการกล่าวอ้างไว้
6.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
7.การพัฒนาระบบประปา ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
8.ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมามีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ
1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง
2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์
3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ดังนั้นคณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเรียกร้อง ดังนี้
1.ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของชุมชนและคนทั้งชาติ
2.การดำเนินการ โครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
3.ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า
เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ เราขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด
 
ขอแสดงความนับถือ
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท