Skip to main content
sharethis

19 มิ.ย.53 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดการอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศักยภาพชุมชน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมฟังจำนวนมาก มีกำหนดจัดงานในวันที่ 19-20 มิ.ย.นี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสด และอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ ในฉบับเต็มได้ใน www.peaceandjusticenetwork.org

ในวงเสวนาช่วงบ่าย หัวข้อ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร วิทยากรได้แก่ พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

พฤกษ์ เถาถวิล
จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่เห็นชัดคือเรื่องคนตาย แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นและอาจมองเห็นได้ไม่ชัด คือปฏิกิริยาของคนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การออกใบอนุญาตฆ่า และเมื่อฆ่าแล้วก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และปัจจุบันก็กำลังเห็นดีเห็นงามกับึความปรองดองกำมะลอ
 
นักวิชาการจากม.อุบลราชธานีกล่าวว่า อาการชาด้านและความอำมหิตของชนชั้นกลางมีที่มาซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสองประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงในชนบท ในช่วง 50 ปีผ่านมาโดยเฉพาะ 20 ปีให้หลัง มีการเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างมหาศาล เราพบว่ามันมีโรงงานใหญ่น้อยซึ่งเป็นที่มาของแรงงาน มีการจ้างงานในลักษณะเกษตรพันธะสัญญา ชาวบ้านที่ทำนาให้เห็นนั้นเป็นชาวนาพาร์ทไทม์ ไม่มีใครมีอาชีพทำนาตลอดเวลา โดยเราอาจเรียกคนในชนบทผ่านคำว่า แรงงานนอกระบบ บ้างเรียกว่าชนชั้นกลางระดับล่าง ทั้งนี้คือ พื้นที่ของความเป็นชนบทในอุดมคติที่เราคิด มันอาจจะหาไม่ได้แล้ว
 
พฤกษ์กล่าวว่า ความจริงของชีวิตชาวชนบทในปัจจุบัน คือต้องเข้ามามีความสัมพันธ์กับระบบตลาด ซึ่งกลายเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดชีวิต และธรรมชาติของตลาดก็คือความไม่แน่นอน และสิ่งที่ค้ำความไม่แน่นอนก็คือนโยบายรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม วิถีชีวิตของคนชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และคนชนชทเป็นผู้ที่ต้องตื่นตัว เขาต้องหาวิธีเข้าถึงข่าวสาร ซึ่งก็น่าประหลาดใจที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำยังคงสมัครใจที่จะมองคนชนบทว่า มีชีวิตที่เรียบง่าย
 
 
สร้างภาพแทนคนชนบท เพื่อให้สวามิภักดิ์ต่อรัฐ
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องการยึดติดกับกระบวนการสร้างภาพแทน คือการให้ความหมายต่อคนชนบทเพื่อทำความเข้าใจแบบหนึ่ง อันนำไปสู่การปฏิบัติการต่อพวกเขา พฤกษ์เห็นว่า ถ้าเราจะทำความเข้าใจกระบวนการสร้างภาพแทนที่มีต่อชาวชนบท อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจปฏิบัติการของรัฐในท้องถิ่น ในทางวิชาการมีข้อสรุปที่ว่า ชนบทคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่รัฐต้องการเข้าถึงมาโดยตลอด เพราะการกระด้างกระเดื่องในชนบทมีผลต่อรัฐบาล ดังนั้นหากสังเกตบางพื้นที่ ยกตัวอย่างพื้นที่อีสาน นับแต่อดีตมา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องมาจนระยะหลัง พื้นที่อีสานเป็นพื้นที่ที่รัฐสนใจเข้าไปควบคุมให้อยู่หมัดเพื่อสร้างตัวตนการเมืองให้สวามิภักดิ์ต่อรัฐ ขณะที่ยี่สิบปีให้หลังมานี้ ชาวบ้านมีความเปลี่ยนแปลง มีความตื่นตัวในลักษณะเป็นเสรีชนมากขึ้น หรือปรับตัวเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้น ซึ่งมีผลให้รัฐพะวงว่าการตื่นตัวดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่ออำนาจรัฐ ซึ่งทำให้นำไปสู่กระบวนการทำให้เกิดความเป็นไพร่ (พฤกษ์อ้างถึงพิชญ์ ผู้ริเริ่มใช้คำนี้จากหนังสือ การเมืองของไพร่)
 
พฤกษ์ยกตัวอย่างเรื่องนี้ จากกรณีในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อสามปีก่อน ในสมัยที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เวลานั้นเกิดวาระแห่งชาติขึ้นกับชนบททั่วประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจพออยู่พอกิน แม้โครงการนี้จั่วหัวชื่อเศรษฐกิจ แต่การปฏิบัติการของรัฐไม่มีการวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจเลย ทั้งที่ความยากจนเกิดจากการเสียเปรียบในระบบตลาด แต่การปฏิบัติการของรัฐคือการบอกว่า ความจนเกิดจากการติดอบายมุข เกียจคร้าน ดังนั้นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นก็คือ การจับชาวบ้านมาอบรมศีลธรรม ให้ปลูกผัก และจับชาวบ้านไปสาบานด้วย นี่ไม่ใช่ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ แต่เป็นปฏิบัติการทางการเมือง หรือก็คือการ “กระชับอำนาจในหมู่บ้าน”
 
อีกกรณีที่พฤกษ์ชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหา คือปฏิบัติการของเอ็นจีโอที่ไปลดทอนความเป็นการเมืองออกจากการพัฒนา และเสนอหาทางออกสุดท้ายด้วยการพึ่งตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐก็ไม่ต้องเหนื่อย ส่วนฝ่ายทุนก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร พฤกษ์ยังมองว่า การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอเกิดขึ้นบนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสนจะคับแคบ ประชาชนของเอ็นจีโอก็คือประชาชนกลุ่มที่ไม่มีความเกี่ยวข้อกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เอ็นจีโอส่วนใหญ่รังเกียจการเมืองในระบบ มองว่าเป็นเรื่องสกปรก ดังนั้นอย่าไปยุ่งกับมัน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวง ซึ่งประเด็นสำคัญที่เกิดเป็นปัญหาในตอนนี้ก็คือ วิธีคิดและการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการลากเส้นแบ่งภาคประชาชนขึ้นมา ซึ่งเมื่อลากเส้นแบบนี้ผนวกกับท่าทีที่ผ่านมาต่อการชุมนุม มันจึงไม่แปลกเลยถ้าไปคุยกับชาวบ้านแล้วเขาบอกว่า การคุยกับเอ็นจีโอมันเหมือนกับการคุยกับอำมาตย์
 
พฤกษ์กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองที่เป็นข่าวเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาว่าคือตัวอย่างขั้นสุดยอดของการร่วมมือระหว่างรัฐกับเอ็นจีโอ สิ่งที่เราได้จากการปฏิรูประเทศไทย คือการได้รู้ว่า 30 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาในประเทศไทย คือการทำให้เอ็นจีโอกับอำมาตย์เป็นพวกเดียวกัน และเกิดการลากเส้นแบ่งอย่างมโหฬารของภาคประชาชนที่มีส่วนในการปฏิรูปทางการเมือง
 
“การปฏิรูปประเทศไทยจะไม่เกิดขึ้นเลย นอกจากจะเป็นกระบวนการเบี่ยง ความขัดแย้ง และสร้างการควบคุมประชาชนขนานใหญ่ ก็อาจมีคนอาวุโสมากขึ้น มีเอ็นจีโอเป็นส.ว.มากขึ้น มีปราชญ์ชาวบ้านมากขึ้น และรัฐบาลก็คงได้ไม้ค้ำยันไปได้อีกหลายเดือน” อาจารย์พฤกษ์กล่าว
 
นักวิชาการจากม.อุบลราชธานี ขยายความเรื่องการสร้างภาพแทนให้คนชนบทว่า มีการสร้างภาพ ผลิตซ้ำ และตีแผ่ออกไปในวงกว้าง ยกตัวอย่างเมื่อดูทีวีทั้งรายการข่าว ละคร และเกมโชว์ มันหนีไม่พ้นเรื่องโง่-จน-เจ็บ รายการเกมโชว์หนีไม่พ้นเรื่องปลดหนี้และตามหาพ่อแม่ ละครก็เป็นเรื่องเจ้าพ่อท้องถิ่น นี่คือภาพของสังคมไพร่ที่เขาอยากให้เป็นอยากให้เห็นอยากให้เข้าใจ กรณีเกี่ยวกับปราชญ์ชาวบ้านที่แม้จะมีแค่หนึ่งในล้านก็จะหามาเสนอ เรื่องราวในหมู่บ้านหลังเขาที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่มีมาม่ากิน แม้เพียงหนึ่งในล้านก็จะไปหามา เพื่อให้ดูแล้วมีกำลังใจ
 
แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้คือภาพผลลัพธ์สุดท้ายที่คนชั้นกลางทำความเข้าใจคนชนบท ซึ่งเมื่อมีคนมาชุมนุมแล้วชนชั้นกลางทำความเข้าใจไม่ได้ ก็โยนง่ายๆ ว่าให้ทักษิณรับไป ดังนั้น โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งการออกใบอนุญาตฆ่า ความเร่าร้อนของคนที่ออกมาช้อปปิ้ง คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นและดูเหมือนว่าเราจะต้องเผชิญต่อไป
 
พฤกษ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลกังวล ก็คือการลงใต้ดิน การเผยแพร่ข่าวสารต้องห้าม และการกลับมารวมตัวกันใหม่ และสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำก็คือการบริหารความกลัว เช่นการออกหมายเรียกศอฉ. ซึ่งมีไว้ทำให้กลัว ปฏิบัติการทหารก็ส่อให้เห็นถึงการกลับไปใช้โมเดลสงครามเย็น แต่สิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่นั้นไม่ได้เกิดผลดีอะไรเลย
 
“ผมมีข้อเสนอเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของสังคมไทย รัฐบาลต้องยกเลิกการบริหารความกลัว นายกฯ ต้องเสียสละลาออก ในฐานะที่ท่านเป็นคู่กรณี ท่านไม่สามารถมาดำเนินการปรองดองได้” อาจารย์พฤกษ์กล่าว
 
 
คนกลุ่มใหม่ผุดทั่วหัวเมือง กระชับช่องว่างรับข่าวสาร
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึงคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่าเป็นกลุ่มระดับกลางๆ ทางเศรษฐกิจ เกิดและเติบโตขึ้นในหัวเมืองหลายๆ แห่ง มีวิถีชีวิตคล้ายๆ คนในเมืองหลวง หรืออักนัยหนึ่งคือสังคมไทยอาจจะไม่มี “ชนบท” อีกแล้ว
 
คนกลุ่มดังกล่าวมีการขับเคลื่อนทางการเมือง มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทางการเมือง เกิดแนวทางการสื่อสารและสารสนเทศใหม่ๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและสำนึก สื่อสารสนเทศที่ว่านี้ได้แก่ เคเบิลท้องถิ่น ดาวเทียม ฯลฯ ซึ่งประชาชนเป็นสมาชิกได้โดยอิสระ มีผลในการระดมคนและสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นซ้อนทับกันหลายชั้น บทบาทที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนนี้ทำให้รัฐหนักใจ
 
นักวิชาการด้านสื่อชี้ว่า แนวทางการสื่อสารก็เปลี่ยนไปอย่างมาก การสื่อข่าวเปลี่ยนทิศจากแบบเดิมที่เป็นจากบนลงล่าง มาเป็นการเสนอจากท้องถิ่น พูดด้วยภาษาถิ่น มีความใกล้ชิด เกิดอัตลักษณ์ใหม่ๆ รวมถึงข่าวที่เกิดโดยท้องถี่นนี้ยังพบว่า พิธีกรสื่อนำข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศไปแปลรายงานต่อด้วย ดังนั้น คนในชนบทอาจจะรับข่าวสารไม่ต่างจากคนกรุง และสิ่งที่เคยคิดว่า สังคมไทยมีช่องว่างในการรับข่าวนั้น อาจจะไม่จริงก็ได้
 
อุบลรัตน์เห็นว่า นอกจากเรื่องสารสนเทศที่เปลียนไปนั้น ยังมีค่านิยมทางการศึกษาที่เปลี่ยนไปด้วย ปัจจุบันการศึกษาระดับปริญญาตรี ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏ เกิดขึ้นแล้วทั่วประเทศ ดังนั้น คนกลุ่มใหม่นี้ ไม่ได้มีกระบวนทัศน์ว่าตัวเองว่าโง่ แต่มีความเท่าเทียม และต้องการเกียรติยศไม่ต่างจากคนอื่น
 
 
ม็อบ “ปิดถนน” เรียกร้อง การปรองดองก็ “ปิดถนน” ให้คนช้อป
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในสองประเด็นคำถามหลัก คือ หนึ่ง เราจะหาทฤษฎีอะไรมาอธิบายเรื่องการกระชับพื้นที่ และสอง เราจะหาทฤษฎีอะไรมาอธิบายระบอบอานันท์ ประเวศ อภิสิทธิ์
 
ประเด็นแรก เรื่องการกระชับพื้นที่ คนจำนวนมากเห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ยอมประนีประนอมกับรัฐในช่วงหลังที่มีนโยบายปรองดองออกมาแล้ว มีภาพว่า นายกรัฐมนตรีถอยแล้วทำไมเสื้อแดงไม่ถอย แต่สิ่งที่ไม่มีใครพูดคือ ท่ามกลางการปรองดองนั้น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ถูกยกเลิก และคนในสังคมไทยไม่ได้ช่วยขับเน้นว่า การเจรจาไม่ได้อยู่ที่จะเลิกพระราชกำหนดในกี่วัน แต่เป็นเรื่องจะทำยังไงกับพระราชกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือในการปราบคน
 
พิชญ์ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับประเด็นสันติวิธี ที่เมื่อเสื้อแดงเข้าไปอยู่ในเกมของสันติวิธี พยายามใช้ภาษาสันติวิธี แต่พื้นที่ที่ตัวเองจะอธิบายเรื่องสันติวิธีนั้นไม่มีเลย เมื่อเกิดความรุนแรงมีการยิงกัน คนที่พูดเรื่องสันติวิธีก็หายไปหมด และเมื่อจะมีการพูดเรื่องสันติวิธี ก็ถูกอธิบายจากมุมมองอื่น ที่เข้ามาจับจ้องคนเสื้อแดง
 
พิชญ์กล่าวถึงตรรกะของการจัดการพื้นที่ว่า “พื้นที่” มีความสำคัญต่อชีวิต เมืองมีการบริหารจัดการพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและระบบการบริโภค ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อ “พื้นที่” เป็นที่ที่น่าสนใจที่จะมีคนเข้ามายึด ขณะเดียวกันก็เห็นพลังของทุนมหาศาล ซึ่งพลังนี้ไม่ได้เพียงแค่เกิดจากเม็ดเงิน แต่เกิดจากการที่มีคนจำนวนมากหลงใหลการบริโภค และเมื่อชีวิตประจำวันของการบริโภคอันเป็นวิถีอันเป็นปรกติของเขาถูกขัดถูกสกัด มันจึงเป็นความรู้สึกที่รุนแรงเป็นพิเศษ
 
การร้องเรียนหาชีวิตปกติ และการปรองดองขั้นที่หนึ่ง คือการหาพื้นที่ให้คนช้อปปิ้ง ก็เป็นการหาพื้นที่ที่อันตรายมาก ที่ใช้ตรรกะเดียวกันในการขอคืนพื้นที่ คือไปยกเว้นพื้นที่เพื่อให้คนเอาสินค้าไปขาย คุณต้องปิดถนนให้คนเอาสินค้าไปขาย และคุณต้องปิดถนนเพื่อให้เกิดการล้างคราบบนถนน มันไม่สามารถเกิดความยุติธรรมได้เลยเมื่อคุณกำลังใช้อำนาจรัฐจัดการพื้นที่ทั้งสองแบบเพื่อนำไปสู่การบริโภค คุณบริโภคไม่ได้ คุณก็เอารถถังมาไล่เขา พอคุณต้องการกระตุ้นให้คนบริโภค คุณก็ใช้กฎหมายพิเศษในการขอยกเว้น วันนี้ฉันอยากจะปิดถนนสีลม ฉันก็ปิด ตรระกะของการที่ทุนกับการบริโภคมันทำงานบนอำนาจของรัฐซึ่งใช้อำนาจที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยในการจัดการพื้นที่และสร้างข้อยกเว้น นี่เป็นเรื่องปกติมาก และก็สร้างความหมายว่าพื้นที่นี้มีไว้ใช้บรอโภค ใช้อย่างอื่นไม่ได้ นี่ก็คือตรรกะของการขอคืนพื้นที่ ขอกระชับพื้นที่ เพื่อให้เกิดชีวิตอันเป็นปรกติ
 
หนีให้พ้นความกลวงเปล่า ใต้ระบอบ อานันท์ ประเวศ อภิสิทธิ์
ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับการทำความเข้าใจระบอบอานันท์-ประเวศ-อภิสิทธิ์ ซึ่งนี่คือภาพอุดมคติสูงสุดของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ นั่นคือ “ทหาร-ศาล-ราชสำนัก” ประเด็นคือเราเห็นความสัมพันธ์ที่พึงปรารถนาที่สุดของการเมืองไทย เป็นภาพที่ไอ้พวกฝ่ายซ้ายตายไปซะ ภาคธุรกิจกับภาคประชาชนจับมือกันแก้ปัญหาประเทศภายใต้การเมืองที่เลวร้าย นี่เป็นภาพอุดมคติสูงสุดของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ คำว่าอำมาตย์ยังไม่พอสำหรับกลุ่มนี้ แต่มันคือเป็นภาพจากภาคธุรกิจและประชาชนที่จับมือกัน เป็นภาพอุดมคติของการเมืองเสรีนิยมใหม่ นี่คืออุดมคติของสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคมที่ต้องการสร้างอะไรที่น่าสนใจเข้ามาเชื่อมโยงกับความเป็นชาติ
 
พิชญ์กล่าวว่า ถ้ามองแบบทฤษฎีชาตินิยม ตามอาจารย์เบน แอนเดอร์สันที่ว่า ชาติเกิดขึ้นในเวลาที่ว่างเปล่าแต่เป็นเวลาเดียวกันหมด เราอยู่ในความกลวงเปล่าซึ่งทุกคนอยู่ร่วมกันได้ มันคือ “พื้นที่หนึ่ง เวลาเดียวกันหมด” อยากให้มีแนวคิดอะไรก็ยัดเข้าไปในพื้นที่นี้ อยากแต่งเพลงแนวคิดอะไรก็ยัดเข้าไปในพื้นที่นี้ พื้นที่นี้ถูกรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง (Centralized) ผ่านการกระชับอำนาจให้เกิดระบบราชการด้วยเอ็นจีโอไทย ผ่านเงินภาษีบาปจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สสส. พัฒนาเอ็นจีโอไทย พัฒนาให้เกิดสภาชุมชน เชื่อมโยงให้เกิด Homogeneous Empty Time (สุญกาลสหมิติ: ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเมื่อไร ก็รับเรื่องราวชุดเดียวกัน - ประชาไท) นี่เป็นภาพอุดมคติ ทุกคนอยู่ร่วมกัน มีชุดเวลาเดียว แบบแผนปฏิบัติเดียวตามสามเหลี่ยมเขยิ้อนภูเขา มีหลักการให้ท่อง เช่นต้องมีที่ดินเท่าไร ต้องงดเหล้า ฯลฯ เพื่อจะได้อยู่ในเวลาที่กลวงเปล่าด้วยกันหมด
 
พิชญ์กล่าวว่า ทฤษฎีที่จะไปให้พ้นจากสิ่งนี้ คือ ทฤษฎีเรื่องการเมืองของไพร่ (The Politics of the Governed) เป็นการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในเวลาช่วงเดียวกัน แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ไปพ้นจาก Civil Society (ประชาสังคม) แต่ไปให้ถึง Political Society (การเมืองของไพร่)การเมืองของการต่อรอง มีการเจรจา มีการเลือกตั้ง เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริง การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะไม่มีทางทำได้ เอ็นจีโอก็ทำอะไรได้ไม่มาก ทำให้สายพอเพียงมาแรง ประชาชนถูกเรียกร้องให้ดูแลตัวเอง เพราะถ้าเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการแล้วไม่มีทางดูแลได้จริง ดังนั้น สำหรับพลเมืองก็มีสองทางเลือก คือ พัฒนาจิตให้ไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และอีกแนวทางคือ ใช้การเมืองบี้ให้ตัวเองได้มากที่สุด โดยระบบเลือกตั้งทำหน้าที่นี้ และนำไปสู่คำว่า ประชานิยม ทีเกิดขึ้น
 
“มันคือชีวิตมหาศาลของผู้คน มันเป็นความหวังว่าถ้าเลือกคนนี้แล้วจะได้ ถ้าใช้ศัพท์โบราณ มันก็คือคนข้างมากที่เห็นแก่ตัว แต่ถ้าทำความเข้าใจ มันคือการดิ้นรน เพราะระบบมันทำให้คนอยู่ไม่ได้” ดร.พิชญ์กล่าว
 
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า เพราะเรารู้ว่า มันมีสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ มันจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการ Political Society หรือการเมืองของไพร่ ที่การเลือกตั้งไม่ใช่ระบบอันเป็นอุดมคติที่ต้องการคนดีมาปกครองบ้านเมือง แต่มันคือระบบการต่อรองเพื่อให้ได้คนที่ต้องการมามากที่สุด และเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่เราต้องตั้งคำถามต่อ Civil Society ด้วย
 
พิชญ์กล่าวถึงคำถามดั้งเดิมที่มักถามกันว่า ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีเสถียรภาพ เงื่อนไขสำคัญคือ ชนชั้นนำต้องยอมสละอำนาจและประนีประนอมกับชนชั้นล่าง ต้องดูว่าต้นทุนในการอยู่ในอำนาจมันสูงกว่าการประนีประนอมในอำนาจไหม เราบอกว่าการเลือกตั้งซื้อเสียงมันใช้เงินไปละลาย แต่ไอ้ระบอบที่ไม่มีการตรวจสอบนี้ ต้นทุนมันสูงกว่าไหม
 
พิชญ์กล่าวปิดท้ายว่า สังคมไทยถูกผลักให้เข้าไปเผชิญปัญหาใหญ่เรื่องกฎหมาย รัฐบาลบอกว่ามีหน้าที่ทำตามกฎหมาย แต่รัฐบาลละเมิดกฎหมายด้วยการละเมิดประชาชนที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย วิธีคิดของรัฐบาลคือ กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐบาล แต่ในสังคมอารยะ สังคมประชาธิปไตย กฎหมายเป็นสิ่งที่ประชาชนออก ประชาชนมีสิทธิเปลี่ยน ต้องเป็น Rule of Law ไม่ใช่ Rule by Law สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่รัฐบาลพยายามออกกฎหมายเองโดยไม่ผ่านสภา และเรากำลังเผชิญปัญหาที่เราไม่สามารถทำความเข้าใจในการตัดสินคดีของศาล เราจะไปหาความยุติธรรมที่ไหน เรากำลังเผชิญปัญหาระหว่างการเมืองกับศาล
 
 
ผ่ายีนส์สังคมไทย คุ้นเคยกับการฆ่า ติดกับระบบตายตัว กลัวการเปลี่ยนแปลง
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ความรุนแรงพฤษภาคม 2553 เกิดขึ้นมาหลังจากมีการต่อสู้ทางการเมืองหลายระดับมาก่อนหน้า ในช่วงแรกของการชุมนุมที่ประชาชนเคลื่อนขบวนมาจากต่างจังหวัดจนเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่นั้น มันทำให้คนรู้สึกว่ามีคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมาอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองแบบใหม่ และนิยามการเมืองแบบใหม่ๆ ด้วย การชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงแรกที่ถนนราชดำเนิน สิ่งที่เสื้อแดงทำและทำให้นักทฤษฎีเรียกว่า เป็นการสร้างระบบความหมายการเมืองแบบใหม่ คือการพูดเรื่องไพร่กับอำมาตย์ อันนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม และตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับจากอดีต และยังพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองแบบทางเลือกด้วย คนเสื้อแดงได้สร้างความหมายของการเมืองในชุดหนึ่งขึ้นมา และพูดอย่างเปิดเผยทุกวัน ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเรามาก่อน
 
ตัวอย่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านเวทีเสื้อแดง เช่นการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าเกิดขึ้นจากสามัญชน ไม่ใช่โดยรัชกาลที่ 7 และยังเสริมด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่พร้อม แต่เป็นชนชั้นนำต่างหากที่ไม่พร้อม ซึ่งการสร้างความหมายใหม่แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การสร้างความหมายใหม่นี้เกิดปัญหา เมื่อมันมาพร้อมกับการพยายามสร้างเจตจำนงทางการเมืองใหม่ มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง มากับแนวคิดที่ว่าให้คนเดินถนนเป็นผู้ตัดสินใจ และยังมาสั่นคลอนความคิดความเชื่อของคนในสังคม ลักษณะนี้ สำหรับชนชั้นนำจำนวนมากที่แม้ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับทักษิณโดยตรง เช่น อานันท์ ปันยารชุน และ ประเวศ วะสี ต่างรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นกำลังเป็นเรื่องที่คลุ้มคลั่ง เป็นประชาธิปไตยที่คุมไม่ได้ ทำให้ชนชั้นนำไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับทักษิณโดยตรงต้องเลือกข้าง และมีความรู้สึกว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงกำลังจะทำมันไกลเกินไปแล้ว สภาวะแบบนี้ทำให้ชนชั้นนำหันไปยอมรับการใช้เครื่องมือบางอย่าง ยอมรับให้มีการใช้อำนาจพิเศษบางแบบ มีการพูดถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจศอฉ. ที่ออกมาแล้วระงับรัฐธรรมนูญไป
 
ศิโรตม์ กลับไปย้ำถึงหลักการพื้นฐานที่ว่า ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งอำนาจอธิปัตย์ต้องไม่ผูกขาดที่รัฐ แล้วถ้าคนในสังคมจำนวนหนึ่งมีความเห็นพ้องที่จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เขามีสิทธิ์ที่จะสถาปนาพื้นที่บางแบบ หรือถ้าพูดก่อน 19 กันยา 2549 คือ ประชาชนมีสิทธิ์ล้มรัฐบาลได้ แต่ในปัจจุบัน คำพูดนี้คงพูดไม่ได้แล้ว
 
ศิโรตม์ชี้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยอาจเคยชินกับการมองการเมืองไทยในแบบระบบตายตัว จนใครที่จะเปลี่ยนระบบเป็นความผิด เห็นได้ชัดว่าหลายต่อหลายครั้งที่มีการเรียกร้องทางการเมือง มันนำไปสู่การประหัตประหารชีวิต ซึ่งนี่อาจจะมาจากยีนส์ของคนไทยที่อยู่และเคยชินในสังคมที่มีความรุนแรงและฆ่ากันอยู่ตลอด การฆ่าคือส่วนหนึ่งของชีวิตทางการเมืองของสังคมไทย แล้วจะทำอย่างไรเราถึงจะไม่สามารถยอมรับการฆ่าได้ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยที่มักจบลงด้วยการถูกปราบ
 
นอกจากนี้เขายังตั้งเสนอว่า เวลาที่คนในสังคมการเมืองพบว่า เขามีชีวิตที่หดหู่และอยากเปลี่ยนสังคม เขาควรจะทำได้ แต่เราจะทำอย่างไร เมื่อสังคมไทยอยู่ในแบบแผนที่คิดว่า คนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจะคิดว่าการสู้ไปก็ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น
 
แล้วการสมานฉันท์หรือการปรองดอง ที่เกิดขึ้นมักเกิดขึ้นหลังความรุนแรงขนาดใหญ่ แต่เมื่อคณะกรรมการถูกตั้งด้วยรัฐบาล มันไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ มันไม่อิสระ มันมีเพื่อทำให้รัฐบาลไม่ผิด คณะกรรมการฯ ไม่สนใจเรื่องการสอบสวน พูดคำว่าปรองดองและปฏิรูปสังคม ซึ่งเจตจำนงก็คือการบอกว่าอย่าพูดเรื่องการเมืองมากเกินไป และการฆ่าในสังคมไทย เป็นการฆ่าแบบมีอารยะ เป็นการฆ่าด้วยกฎหมาย 
 
เขาล่าวเสริมว่า หากดูประสบการณ์เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่ระบอบกึ่งอำนาจนิยมแล้ว และต้องเตรียมทำใจว่า เราจะอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกยาวนาน
 
“โจทย์ตอนนี้คือ ทำยังไงให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่าไปคิดว่าจะรอพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วค่อยทำอะไร เขาไม่เลิกแน่ เพราะเมื่อมีพ.ร.ก.ก็มีอำนาจเด็ดขาด แล้วไม่มีใครว่าอะไรสักแอะ” ศิโรตม์กล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net