สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14 - 20 มิ.ย. 2553

ชุมพรขาดแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก
เสียงใต้รายวัน (18 มิ.ย. 53)
- หอการค้าจังหวัดชุมพร เผยถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรกรรมและประมงขาดแคลนอย่างหนัก สาเหตุเสียค่าใช้จ่ายในการทำพิสูจน์สัญชาติแพงและล่าช้า เป็นผลให้ต้องลดแรงงานต่างด้าวลง ชี้มีบริษัทโบรกเกอร์เสนอนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้อ้างถูกกฎหมายจากกรมการจดหางานในราคาสุดโหด พร้อมเสนอการใช้แรงงานต่างด้าวชุมพรโมเดล ถ้า ตม.ยอม 
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร ณ ห้องประชุมเกาะมัตรา ศาลากลางจังหวัดชุมพร โดยมีนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. หอการค้าจังหวัดชุมพรได้เสนอเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรมและประมงและปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา
นายธงชัย ลิ้มตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ต้องใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและธุรกิจประมง ซึ่งเป็นงานที่หนักและใช้คนจำนวนมาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงหันมาใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่า เนื่องจากหาได้ง่ายและค่าจ้างถูก แต่หลังจากที่กรมการจัดหางานได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ต้องนำแรงงานต่างด้าวของตนเองไปขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สัญชาติประกอบกับขึ้นตอนยุ่งยาก ล่าช้า มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายถึงกับต้องปลดแรงงานต่างด้าวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว แล้วหันไปลักลอบการจ้างแรงงานเถื่อนชาวพม่าแทน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการการใช้แรงงานอยู่ดี เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเกรงกลัวกฎหมายไม่ยอมกลับมาทำงาน
ด้านนายศิริกูล วารีรัตนวิบูลย์ กรรมการหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า หลังจากที่จังหวัดชุมพรขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก ได้มีบริษัทโบรกเกอร์ หัวใสเสนอตัวเข้ามาว่า เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกกฎหมาย โดยจะเป็นผู้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้ทั้งหมด แต่เนื่องจากมาตรวจสอบราคาค่าใช้จ่ายต่อหัว พบว่า บริษัทดังกล่าวมีการเรียกเก็บต่อหัวสูงถึงหัวละกว่า 20,000 บาท ขณะที่บางบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่พันบาท จึงเป็นที่สงสัยว่า มีกติกาหรือกฎเกณฑ์อะไรในการกำหนดราคา และมีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
นายศิริกูล ยังได้เสนอวิธีการใช้แรงงานต่างด้าวตามแนวทาง ชุมพรโมเดล เหมือนกับที่จังหวัดระนองดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างแรงงานเถื่อน ให้ที่ประชุม กรอ.ได้พิจารณา โดยมีขั้นตอนให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวของตนเองไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน (ไม่ดำเนินคดีกับนายจ้าง) แล้วให้อัยการจังหวัดดำเนินการฟ้องร้องศาล พิจารณาโทษตามมาตรา 84 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองทำประวัติบุคคล (ตม.35) และให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจตามมาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในระหว่างรอการส่งกลับ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจขออนุญาตให้แรงงานต่างด้าวไปพักอาศัย อยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวต้องมาพบเจ้าหน้าที่ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกันทั้งประกันตนและหลักประกันก็ได้ ในขั้นตอนสุดท้ายให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน มาขอแจ้งความประสงค์ที่จะรับตัวแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวไปควบคุมกำกับดูแลในระหว่างรอการส่งกลับ และอนุโลมให้ทำงานได้จนกว่าจะมีการส่งตัวกลับ ด้านนางปัทมา ผุดเพชรแก้ว จัดหางานจังหวัดชุมพร ได้ออกมาเปิดเผยถึง บริษัทโบกเกอร์ดังกล่าวว่า บริษัทดังกล่าวไม่สามารถที่จะนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ การนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลจะไม่มีบริษัทจัดหาแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเพียงบริษัทที่อนุญาตให้ทำเรื่องพิสูจน์สัญชาติจากกรมการจัดหางานเท่านั้นไม่ได้ให้ทำเรื่องนำเข้าแรงงาน แต่กรณีที่มีการนำเข้าแรงงานจริง ทางรัฐบาลพม่าจะต้องส่งราชื่อมาให้ก่อน เพื่อให้นายจ้างมาขอใช้แรงงานจากจัดหางานจังหวัดก่อน ซึ่งบริษัทที่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติได้มีเพียง 14 บริษัท ผู้ประกอบการสามารถไปขอดูรายชื่อบริษัทดังกล่าวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ส่วนแผนชุมพรโมเดลก็ต้องอยู่กับดุลยพินิจหลายๆ ฝ่าย แต่โดยปกติแล้ว แรงงานที่เข้ามาจะต้องอยู่ตามวันเวลาตามที่มติ ครม. อนุญาตเท่านั้น
ทางด้านนายไพโรจน์ รกก.ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทางจัดหางานจังหวัดเข้าไปดำเนินการเข้าไปควบคุมดูแลสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ไม่ให้เกิดการแย่งแรงงานกัน และดูแลเรื่องนายจ้างและลูกจ้างที่ผิดประเภทต่างๆ ส่วนเรื่องวิธีการใช้แรงงานต่างด้าวตามแนวทาง ชุมพรโมเดล นั้นจะต้องไปหารือกับหลายๆ ฝ่ายก่อนว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม กรอ. จังหวัดชุมพรครั้งต่อไป
พนง.สัญญาจ้าง มศว ประท้วงมหาวิทยาลัย ยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม นัดรวมตัวแสดงพลัง 18 มิ.ย.นี้
มติชน (18 มิ.ย. 53) -
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนว่า เกิดความไม่พอใจของพนักงานสัญญาจ้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิต (มศว) กว่า 500 คน โดยมีการนัดรวมตัวกันในวันที่ 18 มิถุนายน 2553 เวลา 12.30 น. ที่อาคารการวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มศว ประสานมิตร (ข้างสนามฟุตบอล) เพื่อขอความเป็นธรรมกับฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยฯ
เนื่องจากพนักงานเหล่านี้ได้ทำสัญญาจ้างในการเข้าทำงานเป็นพนักงาน โดยมีเงื่อนไขการบรรจุเป็นข้าราชการหลังจากนั้น 5 ปี แต่พบว่า บางคนมีอายุงานเกือบ 10 ปี ก็ไม่ได้รับการบรรจุ สุดท้ายมหาวิทยาลัย แทนที่จะบรรจุพนักงานตามกฎหมาย กลับหาทางออก ด้วยการยกเลิกระเบียบมหาวิทยาลัย ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2544 และออกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วย พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552 ฉบับ ใหม่ และประกาศใช้ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2552 มีผลให้พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนต้องทำสัญญาจ้าง มีระยะเวลาจ้างครั้งละไม่เกิน 5 ปีงบประมาณ
ทั้งนี้ พนักงานกลุ่มดังกล่าวที่ถูกละเมิดสัญญาจ้าง ไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงาน ไม่มีทางออกมากนัก จึงจำเป็นต้องออกมาร้องขอความเป็นธรรม สำหรับความกังวลและผลกระทบที่ได้รับนั้น มีดังนี้
1.อายุสัญญาจ้างที่จำกัดทำให้พนักงานขาดโอกาสในการขอสินเชื่อและทำนิติกรรมกับสถาบันการเงินหลาย แห่งที่อนุมัติการกู้เงินตามอายุสัญญาจ้าง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ มศว หรือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ พบว่าพนักงานหลายคนถูกปฏิเสธการขอกู้ซื้อบ้าน
2.การเป็นพนักงานตามอายุสัญญาของบุคลากรสายวิชาการ อาจนำไปสู่ การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของ คณาจารย์ที่มีต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นอาจถูกจำกัดด้วยความกังวลว่าจะไม่ได้รับการต่อสัญญา
3.มหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาคนดีคนเก่งไว้ในองค์กร โดยสะท้อนจากข้อมูลอัตราการลาออกที่สูงของพนักงานในปีที่ผ่านมา
4.พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการคุ้มครองความมั่นคงในการทำงาน ดังที่เคยคาดไว้เมื่อเข้าทำงานครั้งแรก ซึ่งหากทราบว่าจะมีการแก้ไขสัญญาจ้างอาจมีผลต่อการพิจารณาเข้าทำงานตั้งแต่ต้น
คนงานเซ็งสปส. ปัดเพิ่มเงิน ปล่อยกู้ซื้อบ้าน
ไทยรัฐ (18 มิ.ย. 53)
- เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์ “ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ไม่เคยคิดและไม่มีการวางแผน ถึงกรณีการนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 10,000 ล้านบาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% คงที่ 5 ปี ต่อยอดโครงการเดิมที่นำเงินกองทุนจำนวน 10,000 ล้านบาทไปฝากกับธนาคารปล่อยกู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สำหรับโครงการเดิมนั้น สปส.จะโอนเงินให้กับธนาคารครบ 10,000 ล้านบาทในสัปดาห์หน้า โดยปล่อยให้ผู้ประกันตนกู้ทั้งสิ้น 9,000 คน ยืนยันว่าไม่ต่อยอดและไม่ได้คิดในโครงการ 2 ตามที่เป็นข่าว ตนไม่ทราบข่าวมาได้อย่างไร
“คิดง่ายๆเงิน 10,000 ล้านบาท สปส.ได้ 1% หรือ 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันถ้าเราเงินจำนวนนี้ไปลงทุนที่อื่นเราจะได้อย่างน้อย 4% ถ้าเอามาลงโครงการนี้ เราหายไป 3% เท่ากับ 5 ปีหายไป 1,500 ล้านบาท ผมเสียดายมั้ยเนี่ย ผมคิดในแง่นั้น 1,500 ล้าน เอามาจ่ายบำนาญได้จำนวนมาก ไม่ใช่บาทสองบาทนะครับ แล้วถ้าคุณเอาเงิน 1,500 ล้านไปลงทุน 20 ปี เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ผมคิดในแง่เศรษฐศาสตร์ ไม่คิดในแง่สังคม คิดในแง่ผลประโยชน์ของผู้ประกันตนระยะยาว”
นายปั้น กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่คนงานระบุว่าตนทำโครงการนี้สนองการเมือง และ ต้องการมุ่งไปที่เห้าอี้ตำแหน่งปลัดกระทรวงนั้น ตนไม่สนใจเพราะมุ่งมั่นทำงานรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานทุกคน ประชาชนทุกคน ทำงานอยู่อย่างนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง วิจารณ์ไป เพราะข้อเท็จจริงมันปรากฎด้วยเนื้องานอยู่แล้ว
ศพคนไทยถูกแทงตาย กลับถึงบ้านเกิดแล้ว
ช่อง
7 (18 มิ.ย. 53) - เช้าวันนี้นายเกรียงศักดิ์ สุดเสน่ห์ น้องชายนายอภิชาติ สุดเสน่ห์ แรงงานไทยที่ถูกคนร้ายแทงเสียชีวิต ได้รับศพของพี่ชาย จากสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ส่งมาจากประเทสแคนาดา เดินทางกลับถึงบ้านเกิด ที่บ้านเขื่อนคำลือ ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ท่ามกลางเสียใจของญาติมิตร โดยเฉพาะนางวาน ผู้เป็นแม่ของนายอภิชาติ ที่พึ่งทราบข่าวก็ร่ำไห้สะอื้นตลอกเวลา โดยญาติยังไม่กำหนดวันเผาศพ
สำหรับคดีที่ประเทศแคนาดา นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อนโทรจากแคนาดา บอกว่า ทางการจับคนร้ายได้แล้ว แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้า ทางคดี ซึ่งหลังจากเสร็จจากงานศพแล้ว จะเดินทางเข้าไปติดต่อกับสถานฑูต อีกครั้ง
ส่วนความช่วยเหลือ ได้เซ็นต์รับเงินประกัน จากบริษัทจัดหางาน เอสพีที ซัพพลายอินเจอร์เนอริ่ง ก่อนหน้านี้แล้วระหว่างที่เข้าไปติดต่อขอรับศพกลับมา
กว่า 400 คนตกงานประท้วงเจรจา1เดือนไร้ผล
กรุงเทพธุรกิจ (17 มิ.ย. 53) -
พนักงานบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด จำนวนกว่า 400 คน ต้องใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนริมถนนหน้าโรงงานในตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง มานานเกือบ 1 เดือน จากการรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างชาวไต้หวัน ปรับเงินเดือน และโบนัส ตามกฎหมายไม่ได้ผล พนักงานต้องผลัดเวรยามทำอาหาร โดยใช้ผักและหอยที่หาได้เองมาปรุงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
นายจารึก บุญยัง พนักงานร่วมประท้วงกล่าวยอมรับว่า การมากินอยู่หลับนอนริมถนน ทั้งอันตรายและลำบาก แต่ก็ต้องทำ เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างให้ยอมทำตามข้อกฏหมาย คือปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน และยอมจ่ายโบนัส เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย
นางเบญจวรรณ ราชวงศ์ บอกว่าการรวมตัวกันประท้วง ทำให้นายจ้างไม่พอใจ สั่งไล่ออกจากหอพัก แต่กลับนำคนงานต่างด้าวเข้าไปสวมอยู่แทน ทำให้พนักงานที่ถูกไล่ออกจากหอเดือดร้อนมาก พากันไปร้องต่อศาล จากนั้นนายจ้างจึงอนุญาติให้เข้าอยู่ได้อีก แต่ไม่ใช่ห้องเดิม ให้ไปอยู่ชั้นล่างของหออยู่กันอยู่อย่างแออัด ทำความลำบากให้พนักงานที่เป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะพนักงานที่อาศัยอยู่ในหอ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน เงินน้อยอยู่แล้ว เมื่อมาประท้วงเกือบเดือน ก็ไม่ได้ค่าแรง ทุกคนลำบากมาก ต้องออกไปหาหอย เก็บผักบุ้งตามคลอง มาทำอาหารกินประทังชีวิต
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทยคูนประเทศไทย มีพนักงานคนไทย 700 คน คนงานต่างด้าว 400 คน มีนายจ้างเป็นชาวไต้หวัน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 คือ 1.ให้พิจารณาปรับขึ้นเดือนของพนักงานทุกคน ขั้นต่ำ 7 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน และจ่ายโบนัสประจำปี 4 เดือน ที่ผ่านมามีการเจรจาแก้ข้อพิพาทรวม 16 ครั้ง แต่ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะนายจ้างอ้างขาดทุน
สอศ.เร่งตั้งสถาบันอาชีวะผ่าตัดระบบผลิตนักศึกษา
คม ชัด ลึก (
17 มิ.ย. 53) - น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงการจัดสถาบันการอาชีวศึกษาว่า จะเริ่มนำร่องในปีนี้โดยเปิดสอน 3 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการบริการ ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาในอนาคต และการผลิตนักศึกษาของทุกแห่ง จะปรับให้เข้ากับความต้องการของในพื้นที่โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันการผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษาไม่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเกษตร เพราะดูจากความพร้อมด้านบุคลากรของวิทยาลัยเป็นหลักมากกว่าดูความต้องการแรงงานในพื้นที่
“จะนำแผนนี้ไปหารือกับ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ และบอร์ด กอศ. หากเห็นชอบจะเร่งดำเนินการโดยในปี 2554 จะนำร่องจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาซึ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือ ด้านปิโตรเคมี ประมง เกษตรโดยเฉพาะข้าว และตามแผนการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ รวมกลุ่มวิทยาลัยแบบกลุ่มจังหวัด หรือแบบกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง และพัฒนาขึ้นมาจากวิทยาลัยแห่งเดียวโดยกรณีที่มีความพร้อมสูงอาจจัดตั้งเหมือนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" น.ส.ศศิธารากล่าว
นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้เลื่อนกำหนดเวลาที่เปิดให้โรงเรียนสังกัดสพฐ. แจ้งยอดนักเรียนที่สละสิทธิ์รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและค่าอุปกรณ์การเรียน ในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะสรุปยอดได้ในวันดังกล่าว
ฉันทนาแปดริ้วโอดนายปิดโรงงานหนีซ้ำยังเบี้ยวจ่ายค่าแรง
โพสต์ทูเดย์ (
16 มิ.ย. 53) - พนักงานของบริษัท อีเกิ้ล แพ็ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ประกอบการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อีเกิ้ล และ บริษัท ซีพีซีพี ( CPCP ) เจ้าของเดิมในเครือของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ตั้งอยู่เลขที่ 55 ม.1 ต.พิมพา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 200 คน ได้เดินทางมารวมตัวที่บริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ชั้น 1 ไร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ให้หาทางช่วยเหลือ เนื่องจากเกิดปัญหา เกี่ยวกับการถูกเลิกจ้าง โดยที่นายจ้างไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และเบี้ยวการจ่ายค่าแรงงานงวดสุดท้าย
นางทองคำ เนติพัฒน์ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 66 ม.3 ต.สิงโตทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า โรงงานอีเกิ้ล ดังกล่าวนี้ เป็นโรงงานรับจ้างผลิต ตัดเย็บเสื้อผ้า ให้แก่บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้า แบรนด์ดังหลายราย ทั้ง SALAMON, RIPCURL, Nike, และ PUMA
โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางโรงงานได้ให้พนักงานหยุดทำงานทั้งโรงงาน เป็นเวลา 2 วัน โดยอ้างว่าต้องการเช็กสต๊อก หลังครบ 2 วันพนักงานได้เดินทางไปทำงานตามปกติ แต่ทางโรงงานได้แจ้งให้ทราบว่าให้พนักงานหยุดงานต่ออีก 3 วัน แต่หลังจากหยุดงานครบ 3 วัน พนักงานได้เดินทางไปทำงานตามปกติอีก ในวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้จึงได้ทราบว่าโรงงานได้ปิดกิจการลงแล้ว ด้วยการนำแผ่นป้ายประกาศเลิกกิจการ มาติดไว้ยังด้านหน้าประตูรั้วของโรงงาน จึงทำให้พนักงานทั้งหมด ถูกลอยแพ ไม่มีงานทำ ตกงาน รวมทั้งยังไม่ได้ค่าจ้างแรงงานในส่วนที่ยังเหลือ ที่ทางโรงงานยังไม่ได้จ่ายค่าแรงอีก 19 วันทำงาน
"ขณะนี้พวกตนจึงได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และยังมาถูกนายจ้างโกงค่าแรงงานอีก ซึ่งในครั้งแรก ทางนายจ้างได้บอกว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างในส่วนที่เหลือให้ ในวันที่ 15 มิ.ย.53 คือวันนี้ แต่ก็ยังถูกเบี้ยวการจ่าย จึงได้มารวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ " นางทองคำ กล่าว
“พล.ต.สนั่น” ขู่คาดโทษ ขรก.นอกรีตช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว
สำนักข่าวไทย (16 มิ.ย. 53) -
ทำเนียบรัฐบาล 16 มิ.ย. - พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปราบปรามจับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา 5 ชุด เพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว โดยเป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ดูแลรับผิดชอบปัญหาแรงงานต่างด้าวในแต่ละพื้นที่ โดยภารกิจแรก คือ ติดตามจับกุมและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ไม่มารายงานตัวกว่าแสนคนและแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ต่ออายุอีกกว่า 3 แสนคน รวมกว่า 5 แสนคน รวมถึงผู้ให้ความช่วยเหลือที่พักอาศัย พร้อมกันนี้ยังกล่าวด้วยว่า ขอเตือนไปยังข้าราชการนอกรีตที่ให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ทั้งนำรถส่วนตัวหรือนำรถที่ใช้ในราชการไปขนแรงงานต่างด้าว จะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องเหล่านี้ จึงขอให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากพบมีการกระทำผิด จะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
ค้านประกันสังคม ใช้ 210 ล้าน พิมพ์ผลงานบอร์ด
ไทยรัฐ (14 มิ.ย.53) -
ผู้บริหารประกันสังคม เตรียมควักเงินกองทุนประกันสังคม 210 ล้านบาท จัดพิมพ์ผลงานบอร์ด 4 แสนเล่ม คนงานระดมล่ารายชื่อค้าน ชี้ไม่เหมาะ ขู่เคลื่อนไหว ด้านรัฐมนตรีคนใหม่รับปากตรวจสอบ พร้อมชะลอโครงการหากส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
หลังจากการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่มีนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติโครงการจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงานและประวัติของคณะกรรมการประกันสังคมในอดีต ตั้งแต่ชุด 1-9 จำนวน 4 แสนเล่ม โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 210 ล้านบาท หนังสือจะถูกเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมกว่า 3 แสนแห่ง ที่มีพนักงานเป็นผู้ประกันตน และมีเป้าหมายที่จะแจกให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว และกำลังรวบรวมรายชื่อของผู้ประกันตนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเอาเงินมาทิ้งโดยใช่เหตุ ควรเอาเงิน 210 ล้านบาท ไปช่วยในส่วนอื่นที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง กับผู้ประกันตนจะดีกว่า อีกทั้งไม่แน่ใจในเรื่องความโปร่งใส หากบอร์ด สปส.ยังยืนยันที่จะดำเนินการ ก็จะหารือกับเครือข่ายและผู้ประกันตนกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวต่อไป
ส่วน น.ส.อรุณี ศรีโต อดีตประธานสหภาพไทยเกรียงและในฐานะผู้ประกันตน มาตรา 39 กล่าวว่า เป็นการใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับจำนวนเงิน 210 ล้านบาท กับจำนวนหนังสือที่จัดพิมพ์ 400,000 เล่ม ถึงแม้จะมีประโยชน์อยู่บ้าง ตามที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นประโยชน์เชิงวิชาการ แต่ในความรู้สึกของคนงาน แม้ สปส. จะมีอายุร่วม 20 ปี แต่สิทธิประโยชน์ ที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลาคลอด หรือสิทธิ์การประกันการว่างงาน ล้วนแต่เกิดขึ้นได้จากการผลักดันของขบวนการแรงงานที่ออกมาเรียกร้องเป็นหลัก โดยความเห็นส่วนตัวผลงานของ สปส.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ประทับใจของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น ควรมีการปรับปรุงการบริหารงานให้ผู้ประกันตน มีสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น และเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องจัดพิมพ์ผลงานบอร์ด สปส.
"หาก บอร์ด สปส. ยืนยันที่จัดพิมพ์ผลงาน ด้วยเงินจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน ตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการก่อตั้งประกันสังคม จะชวนเพื่อนพ้องคนงานให้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ เพราะเงินสะสมทุกบาทในกองทุน สปส.เป็นเงินจากหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงาน"
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดไว้ตั้งแต่วันแรก ที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า หากใครไม่พอใจการบริหารงานในหน่วยงานใด ก็พร้อมรับคำแนะนำ ส่วนเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือผลงานนั้น ขอเวลาศึกษาข้อมูลสักระยะ หากพิจารณาแล้วเห็นความไม่โปร่งใส ก็จะสั่งชะลอโครงการทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท