Skip to main content
sharethis
คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้รัฐบาลแก้ค่าครองชีพไม่ตรงจุด
ครอบครัวข่าว (27 มิ.ย. 53)
- นักวิชาการ ชี้รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพด้วยการตรึงค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม และ เอ็นจีวี ไปถึงปีหน้า เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องลดค่าครองชีพให้ประชาชน
นางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมต่ออายุมาตรการ ตรึงค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี และราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ เอ็นจีวี ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ตรงจุด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เพราะกลุ่มที่มีปัญหาค่าครองชีพส่วนใหญ่ มักจะเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่อยู่อาศัยในห้องพัก ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าไฟตามมิเตอร์ แต่จะจ่ายค่าไฟคงที่กับเจ้าของห้องพัก โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มคนชั้นกลาง ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพ ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ เอ็นจีวี จะมีผู้ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม คือกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และกลุ่มที่ให้บริการด้านขนส่ง เช่น กลุ่มแท็กซี่ และรถตู้ เท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เช่น กลุ่มแรงงาน และเกษตรกรที่ยากไร้ กลับไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการต่ออายุมาตรการชุดนี้ ทั้งนี้มองว่าการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไป ถือเป็นมาตรการที่มีประโยชน์ที่สุด เพราะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าการที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตถึง 6 % แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังสามารถแบกรับภาระได้ ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาขยับราคาต้นทุนต่างๆ ให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลกก่อน แต่หากเห็นว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ควรเข้าไปแบกรับภาระแทนประชาชน เพราะแม้การต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่ถูกลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถการแข่งขันด้านส่งออกได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และยังมีความเปราะบาง แต่ก็จะทำให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมหาศาล
ศปคม.แห่งชาติ ตั้งทีมสางปัญหาแรงงาน "กานดา" แนะขจัดเรื่องใต้โต๊ะ หากไม่เร่งแก้ปัญหาเราอาจจะตกอันดับไปอีกในปีหน้า
ไทยรัฐ (
26 มิ.ย. 53) - จากกรณีที่รายงานประจำปี 2010 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุถึงประเทศไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องถูกจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีไทยเป็นทั้งแหล่งที่มา จุดหมายปลายทาง และเป็นจุดส่งผ่านการค้ามนุษย์ มีชนกลุ่มน้อยและเหยื่อในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เรื่องการบังคับใช้แรงงานหรือล่วงละเมิดทางเพศนั้น นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะจุดอ่อนคือเรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่มีระบบจัดการปัญหาที่ชัดเจน เนื่องจากมี ความไม่โปร่งใส ทั้งกระบวนการจ้างงาน การนำแรงงานมาใช้ โดยไม่ดูแลสิทธิพื้นฐานที่แรงงานควรได้รับ การเอารัดเอาเปรียบโดยมีกระบวนการนายหน้าที่เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ (ศปคม.แห่งชาติ) กำลังหาแนวทางแก้ปัญหา โดยตั้งคณะอนุกรรมการดูแลแก้ปัญหาแรงงานทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานนอกประเทศ และแรงงานต่างด้าวที่เข้าทำงานในไทย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการแก้ปัญหาของเรายังไม่มีความชัดเจน เพราะมีบางอย่างที่ยังอยู่ใต้โต๊ะ
ด้าน ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานอนุกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและหญิงของสหประชาชาติ กล่าวว่า ปีที่แล้วไทยก็ตกอันดับ เพราะเราพยายามทำความสะอาดประเทศ รับการประชุมเอเปค ด้วยการนำเครื่องบินขนแรงงานเขมรกลับประเทศ โดยไม่ได้มีการ ตรวจสอบว่าคนเหล่านั้นเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ และปีนี้ก็มีการเนรเทศคนเขมรกลับไปอีกโดยไม่ได้ตรวจสอบเช่นเดิม นอกจากนี้ ยังมีปัญหานายหน้าที่เอาแรงงานออกนอกประเทศ โดยมีการเก็บค่านายหน้าที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่น กำหนด 6 หมื่นบาท แต่เก็บถึง 3 แสนบาท เมื่อแรงงานเหล่านี้เดินทางเข้าต่างประเทศจะถูกสอบถาม จึงถูกมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ ขณะที่กระทรวงแรงงานไทยกลับอ้างไม่พบหลักฐานจึงไม่สามารถเอาผิดได้ 2 ประเด็นนี้ทำให้ประเทศไทยโด่งดังมากเรื่องค้ามนุษย์ หากไม่เร่งแก้ปัญหาเราอาจจะตกอันดับไปอีกในปีหน้า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาแรงงานประมงเป็นปัญหาใหญ่มาก
อีสานแชมป์ว่างงานเดือน เม.ย.
เดลินิวส์ (
26 มิ.ย. 53) - นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานล่าสุดในเดือน เม.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.51 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% ลดลงจากปีก่อน3.66 แสนคนและอัตราว่างงานลดลง 0.9%แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคือ มี.ค. 53 พบว่ามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 83,000 คน โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตถึง 1.14 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 90,000 คน และภาคเกษตรกรรม 79,000 คน
ทั้งนี้จำนวนผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวน 2.83 แสนคนซึ่งลดลงจากปีก่อน 3.19 แสนคน ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 1.68 แสนคน และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานเป็นรายภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดเท่ากันคือ 1.6% รองลงมาเป็นภาคกลาง 1% กรุงเทพฯ 0.8% ส่วนภาคเหนือมีอัตราว่างงาน0.6% และทุกภาคมีอัตราว่างงานลดลงจากปีก่อน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุด 1.3% รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ 1.0%ภาคเหนือลดลง 0.9% ภาคกลาง 0.8%และภาคใต้ 0.7%
นางจีราวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าอัตราว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ15-24 ปี ประมาณ 4.7% ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คนในกลุ่มนี้จะมีอัตราการว่างงานสูงแต่ลดลงจากปีก่อน 3.4% ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราว่างงาน0.6% ลดลง 0.6%
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำมีทั้งสิ้น 37.26 ล้านคนและยังมีผู้รอฤดูกาลอีก 4.20 ล้านคนส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 15.21 ล้านคน รวมกับผู้ว่างงาน 4.51 แสนคนแล้วทำให้มีผู้อยู่ในวัยทำงานหรือมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 53.34 ล้านคน ซึ่งผู้มีงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 แสนคนหรือเพิ่มขึ้น 0.5% โดยเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 1.5 แสนคน จาก 12.33 ล้านคน เป็น 12.48 ล้านคน
นายกฯชงเอกชนปรับค่าแรงขั้นต่ำ แลกรัฐลด"ภาษี"
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
26 มิ.ย. 53) - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งในการประชุมใหญ่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาค 5 ภาค ในหัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปรองดองแห่งชาติ" วานนี้ (25 มิ.ย.) จัดโดย หอการค้าไทย ว่า อยากฝากข้อคิดบางประการให้ภาคเอกชนช่วยกันคิด เรื่องแรกคือ หากบอกว่าสังคมของเรายังมีความแตกต่างทางความคิด แต่บางครั้งเรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวเราเกิน และเรามองข้ามมานาน เช่น กรณีความสัมพันธ์ของลูกจ้างกับนายจ้าง ที่มีมุมมองหลายอย่างต่างกัน และกรณีค้าปลีกระหว่างรายใหญ่กับรายย่อย แบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน แต่ไม่เคยทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความราบรื่น
นอกจากนี้ที่ไกลออกไป เราอาจต้องมีความพยายามที่จะหาแนวทางแก้จุดที่นำสู่ไปความแตกแยกในภาคธุรกิจ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจกับชุมชน กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ว่า ปัญหาที่คิดว่าแก้ทีละเรื่องนั้นนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะจุดร่วมมีมากกว่าจุดต่าง เหมือนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายดำเนินการ และจะเสร็จอีก 2-3 วันข้างหน้า
ประเด็นที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ในสังคม บางคนว่าเรื่องนี้พูดเกินเลย เพราะความจริงตัวเลขกระจายรายได้ การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน แม้จะมีความเหลื่อมล้ำมาก แต่ก็ไม่มากกว่าหลายประเทศที่พัฒนาในระดับเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ บางเรื่องที่ชัดเจน เช่น การถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นโจทก์ใหญ่ที่ต้องสร้างระบบสวัสดิการที่มั่นคง และแก้ไขความไม่เป็นธรรมของภาษี เช่น ที่ดิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้ภาคธุรกิจคิดจริงจังในบางแง่มุม ประการแรก คือให้ความสำคัญกับภาคเกษตร และจะแสวงหาโอกาสความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานได้อย่างไร โดยต้องดูว่ามีโครงสร้างใดที่จะเอื้อให้คนต้องการทำงานภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโต แต่ทำไมคนที่อยู่ในภาคการผลิตและอยู่ในระบบประกันสังคมมีน้อยกว่าคนอยู่นอกระบบประกันสังคม ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านั้นมีอาชีพค้าขาย ถือเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเช่นกัน
นอกจากนี้หลายเรื่องที่มีมุมมองว่า จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น กลัวค่าแรงขั้นต่ำสูงเกินไป หรือ ทำไมจึงพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศ เพราะบางครั้งอาจเกิดจากเศรษฐกิจภายในไม่เข้มแข็ง เนื่องจากค่าแรงงานต่ำ เช่นเดียวกับความสามารถแข่งขัน คนของเราขาดทักษะ เพราะไม่ยกระดับความสามารถแข่งขันต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
"ผมได้มอบให้กระทรวงการคลังไปคิดแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน โดยคิดเป็นตุ๊กตาๆ ว่าจะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดแลกกับการลดภาษีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีความเห็นหลากหลาย และต้องฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน แต่ระยะสั้นภาคเอกชนต้องมีบทบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย เพราะอัตราขยายตัวไปดี แต่ 2-3 เดือนข้างหน้ารายได้จะหดหายจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งหวังว่าท่านจะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ "
ส่วนปัญหาคอร์รัปชัน ที่นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบปัญหากัดกร่อนทุกวงการ เพราะวิกฤติการเมืองที่ลุกลามเกิดจากปัญหาคอร์รัปชันด้วยซ้ำ เพราะการทุจริตที่มากับอำนาจมีผลประโยชน์เพิ่มพูนมหาศาล
คนงานฮึ่มขอขึ้นค่าแรงค่าครองชีพสูงของแพงสู้ไม่ไหว
เว็บไซต์คมชัดลึก (
24 มิ.ย. 53) - น.ส.วิไลวรรณแซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเตรียมปรับเงินเดือนราชการ 4-5 % ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับข้าราชการ แต่จริงๆแล้วคนภาคแรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็สมควรที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างด้วย เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น อีกไม่นานเมื่อมีข่าวอย่างนี้สินค้าหลายอย่างก็จะแพงขึ้นไปด้วย ดังนั้นอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบันใน กทม.วันละ 200 บาทนั้นไม่เพียงพอ ไหนจะค่าเดินทางไปทำงาน ค่าเช่าห้อง ค่านมลูก ค่าโรงเรียนลูก กินอยู่จะไม่เพียงพอ ทำให้บางคนก็กู้หนี้ ยืมสิน มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานพิจารณาด้วย
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อัตราค่าจ้างของลูกจ้างปัจจุบันถือว่าเหมาะสมแล้ว และเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนการจะปรับขึ้นนั้นกระทรวงแรงงานมีคณะกรรมการทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดในการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง (บอร์ดค่าจ้าง) โดยจะดูจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ความสามารถการจ่ายเงินของนายจ้างด้วย
ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับเพื่อขอให้พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานใหม่ทั้งระบบนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานก่อน ก่อนที่จะประสานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางกระทรวงการคลังแต่อย่างใด เพราะการขึ้นค่าแรงมันต้องดูในหลายปัจจัย ไม่ใช่อยากจะขึ้นก็ขึ้นได้ทันที
กมธ.แรงงานเบรก สปส.ใช้เงิน200ล.พิมพ์หนังสือ
แนวหน้า (24 มิ.ย. 53) -
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน คณะกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุเมธ ฤทธาคนี เป็นประธาน ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่ใช้งบถึง 210 ล้านบาท จนถูกคนงานคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเป็นการใช้เงินไม่เหมาะสม โดยนายสถาพร มณีรัตน์ รองประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการมีมติไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากบอร์ด สปส.ไม่มีความจำเป็นต้องจัดพิมพ์หนังสือผลงาน และเป็นการใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ เพราะมองว่าเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนได้อีกมาก
"กรรมาธิการจะทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และจะแจ้งไปยังบอร์ดประกันสังคมให้ทบทวนโครงการดังกล่าว โดยเสนอให้เปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น การบันทึกข้อมูลเป็นซีดี ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำกว่า และสามารถแจกจ่ายให้ผู้ประกันตนได้ทุกคน"นายสถาพร กล่าว
รง.ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บึ้มคนงานเจ็บ 20
เว็บไซต์คมชัดลึก (24 มิ.ย. 53) -
ตู้อบโรงงานผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชลบุรี เกิดระเบิด สารเคมีรั่วไหล ไฟไหม้ คนงานหนีตายอลหม่าน บาดเจ็บกว่า 20 คน คนงานเผยแรงดันขึ้นสูงผิดปกติ ขณะไปตามช่างมาดูเกิดบึ้มขึ้นก่อน เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน พ.ต.ท.กันตพัฒน์ เนติพิชยาพงศ์ สวญ.สภ.หนองขาม รับแจ้งเหตุตู้อบโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท พีซีบีเซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์หนองขาม เลขที่ 684-685 ซอยสุขาภิบาล 8 หมู่ 11 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจากถูกเพลิงไหม้หลายสิบคน หลังรับแจ้งจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบ แล้วเดินทางไปตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุเป็นอาคารอยู่ด้านหลังบริษัท พีซีบีเซ็นเตอร์ จำกัด เป็นห้องเก็บสารซัลฟูริกซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ พบเพลิงลุกไหม้โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลตำบลบางละมุง นำรถน้ำกว่า 30 คัน ระดมฉีดน้ำเพื่อสกัดกั้นเพลิงและสารเคมีที่ ฟุ้งกระจายส่งกลิ่นเหม็นจนแสบตา แสบจมูก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองขาม และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชา ช่วยกันกระจายข่าวและอพยพพนักงานออกจากโรงงานกันอลหม่าน รวมทั้งพนักงานโรงงานใกล้เคียง เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีอันตรายถึงกับทำให้ตาบอดได้ เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชาได้กระจายกันนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 16 ราย คือ น.ส.สายพิณ คุณธรรม อายุ 28 ปี น.ส.ณัฐนิชา อินทร์ภิวาส นายสีนวน ตันสิริ น.ส.ยุพา พุ่มพวง อายุ 34 ปี น.ส.ศันสนีย์ มะโนศรี น.ส.คนึงนิตย์ แซ่ซึง นายชินกร คอกไทสง น.ส.วรรณา ชูกลิ่น น.ส.พรนิภา จันทิชัย น.ส.อุมาลี ศรรักษา นางอัมพิกา นัยทอง จำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 5 คน คือน.ส.สายฝน แป้นเหมือน นายสมคิด แสนสะอาด นายสมบัติ เรืองฤทธิ์ นายสันทัด บุญมา นายสุรชัย ชื่นสำโรง และที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 4 คน คือ นายวีรวัฒน์ กวินยรรยง อายุ 28 ปี นายกิตติพงษ์ ตาเขียว อายุ 35 ปี นางหนึ่งนุช เกตุงาม อายุ 32 ปี น.ส.ประไพ กระโทกกลาง อายุ 30 ปี
พนักงานที่อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวว่า ตู้อบงานแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เกิดแรงดันขึ้นสูงผิดปกติ พนักงานได้ไปตามช่างมาดู แต่ตู้อบเกิดระเบิดขึ้นเสียก่อน ทำให้พนักงานที่อยู่ใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บถูกไฟไหม้และไฟลวกตามร่างกายกว่า 20 คน นอนร้องครวญครางอยู่ภายในห้องที่เกิดระเบิด และยังเกิดสารเคมีรั่วไหล ซึ่งเป็นสารซัลฟูริกออกมาอีก พนักงานต่างพากันหนีตายอลหม่าน เนื่องจากมีอาการคลื่นเหียนอาเจียน รวมทั้งผู้บาดเจ็บต่างก็พากันวิ่งออกมาจากห้องเกิดเหตุ ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าความเสียหายในครั้งนี้กว่า 10 ล้านบาท
ไฟใหม้ โรงงานกระดาษย่านเอกชัย
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ (
22 มิ.ย. 53) - เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตบางบอน ระดมรถน้ำกว่า 20 คัน ฉีดน้ำสกัดเพลิงที่โหมลุกไหม้โรงงานผลิตกล่องกระดาษของ บริษัท รุ่งทวีเกษตรกร จำกัด และบริษัท วินเนอร์แพ็ค จำกัด เลขที่ 143/365 หมู่ 3 ซอยเอกชัย 124 ถนนเอกชัย แขวงและเขตบางบอน แต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นซอยแคบและห่างจากถนนใหญ่ถึงครึ่งกิโลเมตร นายโชคชัย แซ่โล้ว เจ้าของโรงงาน ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท เป็นของตน ขณะเกิดเหตุไม่มีคนงานอยู่ภายใน ส่วนสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากตัวอาคารและสายไฟมีอายุการใช้งานมานานกว่า 7 ปี ประกอบกับตนไม่เคยมีปัญหากับคนงานหรือชาวบ้าน จึงไม่น่าเป็นเรื่องการวางเพลิง ส่วนความเสียหายมากกว่า 5 ล้านบาท เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกันอาคารทั้ง 2 คูหา เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามเข้า เพราะเกรงว่า ตัวอาคารจะถล่มลงมา
ธนาคารเจ้าหนี้บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ อ่วมเจอลูกจ้างร่วม 600 คน ประท้วงขอเงินชดเชยเลิกกิจการ
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ (
22 มิ.ย. 53) - ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้ากีฬา ได้ขาดสภาพคล่องอย่างหนักตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหลายจึงเข้าไปแปลงหนี้เป็นทุนและฟื้นฟูกิจการ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับชำระหนี้กลับมา ทางผู้ถือหุ้นจึงมีมติปิดกิจการ
"ในที่ประชุมกรรมการ ธนาคารโหวตคัดค้านเรื่องปิดกิจการ แต่เสียงสู้ผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่ได้" นายสงคราม กล่าว
บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ มีเจ้าหนี้ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาธนาคารกรุงเทพ ซีไอเอ็มบีไทยนครหลวงไทย บริษัท สินทรัพย์กรุงเทพพานิชย์การ และธนาคารเครดิตอะกริกอล อินโดสุเอซ
ทั้งนี้ ลูกจ้างบริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป กว่า 600 คน ซึ่งถูกบริษัทบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ได้รวมตัวกันเดินทางไปประท้วงที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เมื่อวานนี้ ในฐานะเจ้าหนี้บริษัทซึ่งได้แปลงมาเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อเรียกร้องให้ชี้แจงสาเหตุการปิดกิจการทำให้คนตกงาน และขอให้จ่ายเงินชดเชยโดยเร่งด่วน
นางนันทา ภู่เณร ตัวแทนลูกจ้างบริษัท วงศ์ไพฑูรย์ กรุ๊ป กล่าวว่าบริษัทแจ้งปิดกิจการวันที่ 20 พ.ค.โดยให้มีผลเลิกจ้างทันทีวันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นไป โดยนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าชดเชย และยังค้างจ่ายค่าจ้างวันที่ 1-7 พ.ค. และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง75% ของค่าจ้างช่วงที่สั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-19 พ.ค. ซึ่งการปิดกิจการทำให้มีคนตกงานทันที793 คน ซึ่งทุกคนต้องการเดินทางมาเรียกร้องแต่มีรถไม่พอ จึงมาได้กว่า 600 คน
"คนงานทำงานด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี ถูกลดค่าจ้างคนละ 10% ก็ไม่เคยออกมาเรียกร้อง ค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 206 บาทไม่มีสวัสดิการ ถูกสั่งหยุดงานบ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้างบ้าง อ้างว่าบริษัทขาดทุน ลูกค้า Reebok กำลังถอนออร์เดอร์ ได้แบงก์มาเป็นผู้ถือหุ้นนึกว่าบริษัทจะมั่นคง คิดว่าจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น" นางนันทา กล่าว
สำหรับสาเหตุที่ไปประท้วงธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับ 2 คือ นายวิจักษ์ สิริสิงห์ เจ้าของโรงงาน โดยเชื่อว่าธนาคารซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นต้องมีส่วนรู้เห็นเรื่องการปิดกิจการ ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งนัดเจรจาอีกครั้งวันที่ 22 มิ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ พนักงานตรวจสอบแรงงานมีคำสั่งให้บริษัท วงศ์ไพฑูรย์จ่ายค่าชดเชยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจ่ายชดเชยวันหยุดงาน จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวม793 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 59 ล้านบาทแต่พนักงานก็ยังไม่ได้รับการชดเชยเงินแต่อย่างใด
เตือนภัยมิจฉาชีพตุ๋นไปทำงานที่เฮติ
พิมพ์ไทย (
22 มิ.ย. 53) - นายเกษม สุทธิรักษ์ จัดหางานจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งเตือนว่า มีกลุ่มบุคคลที่รับสมัครงานเพื่อเดินทางไปทำงาน ที่ ประเทศเฮติ โดยอ้างว่ากองทัพได้รับการประสานจากสหประชาชาติ ให้จัดบุคลากรเข้าไปช่วยฟื้นฟูประเทศเฮติ ผู้ที่ไปทำงานจะได้รับรายได้คนละ 5,280 บาทต่อวันแต่ต้องเสียค่าบริการ และค่าใช้จ่ายเป็นเงินคนละประมาณ 30,000 บาท และเมื่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบแล้ว กองทัพไทย แจ้งว่า กองทัพไทย ยังไม่ได้รับมอบหมายและไม่เคยจัดหาบุคคล หรือ เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดหาคนงาน เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศเฮติ รวมทั้งสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ยังแจ้งว่า ไม่มีบริษัทจัดหางาน หรือบุคคล กลุ่มบุคคลใด ขออนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเฮติ จึงแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงกลของมิจฉาชีพเหล่านี้
ไทย-พม่าจับมือตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ
เว็บไซต์ข่าวสด (
22 มิ.ย. 53) - ระนอง - นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายอู อ่องเตียน เอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย และนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับแรงงานพม่าที่จังหวัดระนอง บริเวณแพปลาโกฟุก อยู่ในซอยชาวประมง ย่านสะพานปลาระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งจะทำให้แรงงานสัญชาติพม่าที่ได้ยื่นเอกสารการพิสูจน์สัญชาติแล้วได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย
รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ที่จังหวัดระนอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า ทางฝ่ายไทยมีความเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของแรงงานที่ต้องเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติฝั่งพม่าในช่วงฤดูมรสุม จึงเสนอให้ทางการพม่าส่งเจ้าหน้าที่มายังฝั่งไทย ทางการพม่าได้รับข้อเสนอ ส่งเจ้าหน้าที่มาดูสถานที่และประชุมร่วมกัน คาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะเริ่มเปิดบริการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนองประมาณ 20 คน สามารถพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 800 คน ส่วนในอนาคตจะมีการขยายเวลาหรือไม่ต้องมีการหารือกันต่อไป และอาจจะเป็นการนำไปสู่การตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และอ.แม่สาย จ.เชียงราย ในอนาคต
รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2552 จำนวนทั้งสิ้น 1,079,991 คน มีแรงงานขอรับใบอนุญาตทำงาน และยื่นแบบพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 833,013 คน ได้รับหนังสือเดินทางแล้ว จำนวน 94,000 คน ยังไม่ได้รับหนังสือเดินทางประมาณ 739,900 คน ส่วนมีแรงงานที่ยังไม่เข้าระบบการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 246,978 คน ทางมหาดไทยกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เลขาฯ หอการค้าอีสาน แฉโคราชวิกฤตแรงงานขาดแคลน ต้นตอโรงงานอุตฯ เลี่ยงรับพนักงานโดยตรงโพสต์ทูเดย์ (22 มิ.ย. 53) - นายทวิสันต์ โลณานุลักษณ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่าหมื่นตำแหน่ง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ยอมรับพนักงานโดยตรงแต่หันไปจ้างผ่านบริษัทรับเหมาซึ่งเลี่ยงรับผิดชอบสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานส่งผลให้แรงงานไม่สนใจรับจ้าง
นายทวิสันต์ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้วจากข้อมูลของหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงพบว่าปัจจุบันมีนักศึกษาที่จบใหม่ซึ่งอยู่ในภาวะว่างงานและตกงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนต่อปี นอกจากนี้ยังมีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่แย่งกันเข้าสมัครงานในตำแหน่งเดียวกันหลายพันคนต่อตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง
"การขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาที่ไม่มีแรงงานรองรับ แต่กลับเป็นปัญหาที่แรงงานไม่สามารถทนรับกับการเอารัดเอาเปรียบของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ เพราะทางสถานประกอบการหลีกเลี่ยงที่จะรับพนักงานตรงแต่หันไปรับภาคแรงงานผ่านผู้รับเหมา ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันในการทำงาน จึงไม่สนใจที่จะขายแรงงานให้กับโรงงานต่างๆ ในรูปแบบดังกล่าว" นายทวิสันต์ กล่าว
เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า หากผู้ประกอบการมีหลักประกันให้กับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือมีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาการว่างงานหรือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
"เฉลิมชัย" เผยเวที ILO เข้มห้ามใช้แรงงานเด็ก เตรียมชงนำเข้าแรงงานพม่าแบบรัฐต่อรัฐ
เว็บไซต์แนวหน้า (21 มิ.ย. 53) -
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีแรงงานโลก ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตนไปในนามตัวแทนประเทศไทย ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เน้นในเรื่องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานในการทำงานและการสร้างสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ว่าต่อไปจะต้องมีมาตรการกวดขันไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กในประเทศต่างๆอย่างผิดกฎหมาย และแนวโน้มสถานการณ์โรคเอดส์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานโลก โดยจะต้องให้ความรู้และวิธีป้องกันโรคเอดส์ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคมากไปกว่าเดิม รวมถึงต้องมีขั้นตอนการตรวจสุขภาพมากขึ้น
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ตนได้หารือกับ รมช.แรงงานของประเทศสหภาพพม่าในการลดขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ การตรวจคนเข้าเมือง การนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย โดยใช้วิธีการแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนได้ดี เพราะที่ผ่านมาแรงงานเถื่อนมักจะทำให้เกิดปัญหา หากทำแบบถูกกฎหมายจะช่วยให้สามารถตรวจสอบประวัติของแรงงานได้ ไม่ใช่เป็นแรงงานเถื่อนเข้ามาพอมีปัญหาก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใครมาจากไหน โดยตนจะนำผลการประชุมรมว.แรงงานโลกครั้งนี้ไปรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้
ศรีไทยฯไฟไหม้เสียหายกว่า 400ล. ยันไม่มีการปลดพนักงานออกแถมยังต้องการเพิ่มอีกกว่า 100 คน
ฐานเศรษฐกิจ (21 มิ.ย. 53) -
บอสใหญ่ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ประเมินผลกระทบจากไฟไหม้เบื้องต้นเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ย้ำไม่มีการปลดแรงงานออกแม้แต่คนเดียว และยังมีความต้องการพนักงานใหม่เพิ่มอีกกว่า 100 คน ประกาศชัด ไม่กระทบแผนจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก มั่นใจการจำหน่ายปีนี้ยังเป็นยอด 5,600 ล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้ประเมินผลกระทบจากไฟไหม้ที่โรงงานอมตะนคร ชลบุรี เมื่อเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 03.00 น.ที่ผ่านมาว่าในเบื้องต้นคาดว่าจะเสียหายมากกว่า300 ล้านบาท โดยเพลิงไหม้เกิดในบริเวณที่เป็นคลังสินค้าและส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่การผลิต ซึ่งเครื่องจักรกว่า 90% ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ โดยบริษัทมีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญด้านเครื่องจักร โครงสร้างอาคารโรงงาน และระบบไฟฟ้าและน้ำ เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขจนโรงงานอมตะนคร ชลบุรี สามารถแยกส่วนพื้นที่ปลอดภัยและเริ่มการผลิตได้แล้ว ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ส่วนพื้นที่ที่เสียหายหนัก ก็ได้กำหนดและกันบริเวณไว้เพื่อความปลอดภัย และจะต้องฟื้นฟูสภาพภายในโรงงานให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า
ทั้งนี้ ในส่วนมูลค่าความเสียหายของวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ตลอดจนอาคารโรงงาน ก็อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งการสอบสวนสาเหตุ ตลอดจนการประเมินความเสียหายรวม ทำให้ตัวเลขความเสียหายยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความมั่นใจว่า มูลค่าความคุ้มครองในทรัพย์สินที่บริษัททำประกันภัยไว้สำหรับโรงงานอมตะนคร ชลบุรี จำนวน 3,200 ล้านบาท จะสามารถครอบคลุมมูลค่าความเสียหายได้ทั้งหมด
นายสนั่นกล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานอมตะนคร ชลบุรี มีพนักงานทั้งหมด 1,400 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมดของบริษัท โดยจำนวนพนักงานดังกล่าวแบ่งเป็นพนักงานรายเดือนจำนวน 400 คน และพนักงานรายวันจำนวน 1,000 คน   พนักงานทั้งหมดของโรงงานอมตะนคร ชลบุรี ได้กลับเข้ามาเริ่มทำงานแล้วตั้งแต่วันนี้ ซึ่งบริษัทใช้เวลาเพียง 2 วัน โรงงานก็สามารถเปิดให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานตามปกติได้แล้ว โดยพนักงานดังกล่าวได้รับค่าแรงและสวัสดิการเต็มตามปกติในช่วงเวลาหยุดทำการ 2 วันดังกล่าว และบริษัทขอเรียนแจ้งว่า บริษัทจะไม่มีการปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว   ทั้งนี้ บริษัทยังมีความต้องการพนักงานเพิ่มเติมอีกร่วม 100 กว่าคนด้วย
ส่วนแผนจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกจะไม่กระทบและมั่นใจว่าการจำหน่ายปีนี้ยังเป็นยอด 5,600 ล้านบาท   เนื่องจากเพลิงไหม้ไม่ได้อยู่ในจุดพื้นที่ที่เป็นการผลิตหลัก และคุณภาพของสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและมีจุดแข็งในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนความไว้วางใจและการให้การสนับสนุนของลูกค้าที่มีต่อบริษัทและบริษัทก็ความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ขณะเดียวกันถึงแม้บริษัทจะมีรายได้หลักจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่องานอุตสาหกรรม แต่บริษัทก็ยังมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากเมลามีนและธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทก็มียอดขายสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่แล้ว และถึงแม้ว่าครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายนคาดว่ายอดขายจะหายไปประมาณ 150 ล้านบาท แต่เมื่อรวมยอดขาย 2 ไตรมาสแรกของปี ก็จะยังมียอดขายบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนในครึ่งปีหลัง ก็จะสามารถเร่งยอดขายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของปีนี้ที่จำนวน 5,600 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตจากยอดขายปี 2552 ที่มียอดขาย 4,793 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17%
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเมลามีนและ ผลิตภัณฑ์พลาสติกในครึ่งปีหลังปี 2553 นั้นผลิตภัณฑ์เมลามีน ยังมีความต้องการในตัวสินค้าสูงเกินกว่ากำลังการผลิตของบริษัท และแนวโน้มในอีก 5 ข้างหน้า ความต้องการในตัวสินค้าก็ยังมีการขยายตัวได้อีกมาก   ส่วนผลิตภัณฑ์พลาสติก บริษัทจะยังคงมีการสั่งซื้อและนำเข้าเครื่องจักรใหม่เข้ามาเพื่อให้บริษัทมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในตัวสินค้าที่ยังสูงอยู่
อนึ่งโรงงานอมตะนคร ชลบุรี เป็นสาขาโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่องานอุตสาหกรรมนอกเหนือจากโรงงานสาขาบางปูและโรงงานสุขสวัสดิ์ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากเมลามีนจะผลิตโดยโรงงานสาขาโคราชที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี   จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้จึงเป็นของสินค้าพลาสติกและเฉพาะที่สาขาอมตะนครเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พัลเลต ลังบรรจุขวด ถังสี และถังขยะ
ส.อ.ท.กุมขมับแรงงานขาดล้านคน
เว็บไซต์ข่าวสด (
21 มิ.ย. 53) - นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานคนใหม่ เพื่อหารือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ผู้ผลิตไม่สามารถรับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะแรงงานในภาคผลิตมีไม่เพียงพอทั้งในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ รองเท้า พบว่ายังมีความต้องการแรงงาน 5-6 แสนคน และมีแนวโน้มว่าหากไม่เร่งแก้ปัญหาปล่อยทิ้งไว้ถึงปี"54 ภาวะการขาดแคลนแรงงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน
ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงแรงงานเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างเร่งด่วนด้วยการเปิดรับแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงงานบางแห่งจ่ายค่าจ้างมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ไม่มีคนมาสมัครงาน ทำให้ต้องปฏิเสธออร์เดอร์ไปจึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะออร์เดอร์ที่กำลังเข้ามาในไทยนั้นจะเป็นออร์เดอร์ระยะยาวซื้อขายระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 1-3 ปี หากแก้ปัญหาแรงงานได้ภาคส่งออกอีก 1-3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
.แรงงานอนุมัติงบเพิ่มอีก 2 ล้านเร่งช่วย'ผู้ประสบภัยแล้ง'โคราช
พิมพ์ไทย (21 มิ.ย. 53) -
สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เร่งจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานประจำจังหวัด โดยมี นายวิทยา กามนต์รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม และนายเพทาย คมขำ แรงงานจังหวัดเป็นคณะกรรมการและเลขานุการ
จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบภัยแล้งครอบคลุมทั่วทุกอำเภอ ทำให้ราษฎรประสบปัญหาภัยแล้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดนครราชสีมา (เพิ่มเติมอีก) เป็นเงิน 2,000,000 บาท สำนักงานแรงงานจังหวัดจึงได้ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ จังหวัดนครราชสีมาเพื่อพิจารณาปรับแผนงาน โครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับโดย "เน้นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำ" เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งในปีต่อไปโดยมีโครงการที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ จำนวน 45 โครงการ ราษฎรได้รับการจ้างงาน 1,428 คนซึ่งสำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับอนุมัติต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net