Skip to main content
sharethis

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬายอดนิยมอย่าง “ฟุตบอล” นั้นมีอิทธิพลต่อคนในสังคมสูง ซึ่งจะให้ไม่ไปข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั้นคงแทบที่จะเป็นไปไม่ได้ ฟอร์มอันย่ำแย่ของ “ไนจีเรีย” และ “ฝรั่งเศส” จึงต้องทำให้ “ท่านผู้นำ” ออกโรงมาแทรกแซง-สร้างภาพเพื่อเรียกทั้ง “ความนิยมจากแฟนบอล” และ “คะแนนเสียง”

 
Goodluck Jonathan ประธานาธิบดีผู้มอบความโชคร้ายให้กับฟุตบอลไนจีเรีย
หลังจากที่ทีมมีผลงานที่ย่ำแย่ในฟุตบอลโลกหนนี้ เมื่อกลับบ้านยังถูกเรื่องของ “การเมือง” ซ้ำเติมเข้าไปอีก สำหรับอย่างทีมฝรั่งเศสและไนจีเรีย
Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้เรียก Thierry Henry กองหน้าของทีมไปพูดคุยด้วยทันทีหลังที่พวกเขาหอบกระเป๋าถึงบ้านเกิด รวมถึงสั่งการให้ Roselyne Bachelot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกีฬาไปพบกับนักฟุตบอลเพื่อสอบเหตุถึงความล้มเหลวของฝรั่งเศส นอกจากนี้ Sarkozy ยังได้เรียกร้องต่อสาธารณะให้ Jean-Pierre Escalettes ประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ลาออกจากตำแหน่ง
FIFA มองปฏิกิริยาของ Sarkozy ครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องของ “คนการเมือง” ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงวงการฟุตบอล ทั้งนี้ FIFA ระบุว่าการเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งกับวงการฟุตบอล และได้มีจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกีฬาของฝรั่งเศส เพื่อขอยืนยันว่าไม่มีการบีบให้ใครลาออก โดย FIFA จะเฝ้าจับตามองกรณีนี้อย่างใกล้ชิด
Sepp Blatter ประธาน FIFA ยังให้ความเห็นว่าการที่ Sarkozy มาวุ่นวายกับทีมชาติฝรั่งเศส อาจส่งผลพวกเขาถูกห้ามแข่งขันทั่วโลกและระบุว่า "พวกเราไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง กฎของกีฬาระหว่างประเทศมีทางออกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง"
แต่ล่าสุด Escalettes ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของฝรั่งเศสในฟุตบอลโลกหนนี้ รวมถึงเขาและ Raymond Domenech ผู้จัดการทีมชาติฝรั่งเศสก็ต้องเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมของสภาแห่งชาติ เพื่อชี้แจงถึงปัญหาภายในของสหพันธ์ฟุตบอลและทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งท้ายสุด FIFA เองก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ มาลงโทษฝรั่งเศส
ที่ไนจีเรีย ประธานาธิบดี Goodluck Jonathan ก็ได้ออกมาแทรกแซงสมาคมฟุตบอลของประเทศ ด้วยการประกาศจะไม่ส่งทีมเข้าแข่งขันรายการระดับชาติใดๆ ทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ปี (หรือจนถึงปี 2012) โดยเขาได้อ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการจัดระบบฟุตบอลของไนจีเรียใหม่ หลังจากที่ทีมทำผลงานได้ไม่ดีนักในฟุตบอลโลกหนนี้ โดยไนจีเรียได้อันดับสุดท้ายของกลุ่ม B (แพ้อาร์เจนตินา 0-1 แพ้กรีซ 1-2 และเสมอเกาหลีใต้ 2-2)
นโยบายเกี่ยวกับฟุตบอลของ Jonathan ในครั้งนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก FIFA ลงโทษ โดย FIFA ได้ส่งจดหมายให้ Jonathan ยกเลิกคำสั่งแบนทีมชาติของตัวเองภายใน 48 ชม. คือภายในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. (อนึ่ง ขณะเขียนต้นฉบับเสร็จในวันที่ 6 ก.ค. 53 ยังไม่มีข่าวว่าไนจีเรียมีท่าทีอย่างไรต่อคำเตือนของ FIFA และ FIFA มีบทลงโทษใดต่อไนจีเรีย) มิฉะนั้นอาจจะแบนไนจีเรียออกจากการแข่งขันระดับนานาชาติแบบถาวรไปเลย โดย Jerome Valcke เลขาธิการทั่วไปของ FIFA ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า FIFA มีชาติสมาชิก 208 ประเทศ แต่ถ้าชาติใดชาติละเมิดข้อบังคับหรือระบบ มันจะทำให้พีรามิดของฟุตบอลอยู่ในสภาวะอันตราย
ทั้งนี้ Jonathan ขึ้นสู่อำนาจด้วยการเป็นรักษาการประธานาธิบดีแทน Umaru Yar'Adua ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจนต้องออกไปรักษาตัวที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อหลังจากที่ Yar'Adua เสียชีวิต
ทั้งนี้พลังแห่งตุลากาลภิวัฒน์ไม่ได้ฮิตแค่ในบ้านเราที่เดียว เพราะการขึ้นสู่ตำแหน่งของ Jonathan นั้นศาลมีส่วนสำคัญในการแทรกแซงการเมือง โดยก่อนหน้านั้นการเมืองไนจีเรียต้องเผชิญกับภาวะสุญญากาศ เพราะประธานาธิบดี Yar'Adua ที่ไปรักษาตัวต่างประเทศและไม่ได้มอบอำนาจในการรักษาการบริหารประเทศให้กับ Jonathan ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี
การเมืองไนจีเรียจึงเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกในคณะรัฐมนตรี มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนฝ่ายนิติบัญญัติต้องวอนให้ฝ่ายตุลาการออกมาชี้ขาดว่า Yar'Adua ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ไม่มอบอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีขณะที่ตนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจขณะรักษาตัวอยู่ในต่างประเทศ
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลของไนจีเรียได้ตัดสินว่า Yar'Adua ไม่ได้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ไม่ได้ส่งมอบอำนาจให้กับรองประธานาธิบดี แต่ก็ดีชี้ว่าการที่ประธานาธิบดีไม่ได้แจ้งต่อสภาถึงการเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้รองประธานาธิบดีไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีได้
หลังจากนั้นศาลสูงสุดของไนจีเรียได้ให้เวลาคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 14 วัน เพื่อตัดสินใจว่าจะให้ Yar'Adua อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ และที่สุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาไนจีเรียก็มีมติให้ Jonathan ขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไนจีเรีย ในวาระที่เหลือของ Yar'Adua แต่ขณะนั้นก่อนที่ Yar'Adua จะเสียชีวิตเขาก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าเขามีอาการดีขึ้นและต้องการเดินทางกลับไปเป็นประธานาธิบดี และในวันที่ 24 ก.พ. 2010 เขาก็กระเสือกกระสนเดินทางกลับไนจีเรียได้ แต่ Jonathan ก็ไม่ได้คืนอำนาจให้แก่เขา และหลังจากนั้นไม่กี่วัน (5 พ.ค. 2010) เขาก็เสียชีวิตลง และ Jonathan ก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว
โดย Jonathan หลังได้ขึ้นรักษาการแทน Yar'Adua ใหม่ๆ นั้นได้ประกาศแผนปรองดอง ลั่นวาจาว่าจะเดินหน้าการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มติดอาวุธในบริเวณสามเหลี่ยมไนเจอร์เพื่อให้ยุติการโจมตีท่อส่งน้ำมัน ที่เป็นปัญหาที่สาหัสอันหนึ่งของประเทศ
ผู้นำการเมืองกับเรื่อง “ฟุตบอล-การเมือง”
Kwame Nkruma อดีตผู้นำทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของกาน่า และถือว่าเป็นบิดาผู้ก่อกำเนิดทีมดาวดำ (The Black Stars) ฉายาของทีมฟุตบอลกาน่า โดย Nkruma ตั้งชื่อตาชื่อตามเรือของ Marcus Garvey ที่ทำสัญญาเช่ามาในปี 1922 เพื่อนำชาวอเมริกันผิวดำกลับคืนสู่ถิ่นแอฟริกา
หลังจากที่กานาได้รับเอกราชในปี 1957 Nkruma ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก เขานำทีมชาติกานาออกทัวร์ลงเตะกับทีมดังๆ ในยุโรป ช่วงปี 1962 – 1963 ส่งผลให้พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกัน (Africa Cup of Nations) 2 สมัยซ้อน ในปี 1963 และปี 1965
ในด้านแนวคิดทางการเมืองของ Nkruma นั้น เขามีความเชื่อในอุดมการณ์รวมชาติแอฟริกัน (Pan-Africanism) มากกว่าแนวคิดชาตินิยม (Nationalism) และก็เหมือนผู้นำประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมในประเทศโลกที่สามทั้งหลาย เขาถูกกองทัพยึดอำนาจในปี 1966
Mobutu Sese Seko ผู้นำซาอีร์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) อาจเป็นด้านกลับของ Nkruma ทั้งการขึ้นสู่อำนาจ (เขาเป็นผู้นำจากการรัฐประหาร) และการที่เขาเห็นฟุตบอลเป็นแค่เครื่องเล่นเสริมบารมีแก่ตนเอง โดยวิธีการใช้เงินอย่างมหาศาล เขาจ้างชาวยูโกสลาฟมาเป็นหัวหน้าโค้ช และดึงนักเตะที่มีเชื้อชาติซาอีร์ในเบลเยียมกลับมารับใช้บ้านเกิด
Mobutu เปลี่ยนฉายาทีมชาติจาก “สิงห์” มาเป็น “เสือดาว” ด้วยเหตุผลที่ต้องการเสริมบารมีของตนเองเพราะว่าหมวกประจำตัวของเขาทำจากหนังเสือดาว แต่กระนั้นทีมชาติซาอีร์ไปได้ไกลกว่ากานามากมายนัก ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกัน ในปี 1968 และ 1974 และในปี 1974 นั้นเองพวกเขาสามารถเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพได้
เรื่องของฟุตบอลซาอีร์ในยุคของ Mobutu กลับจบด้วยความเศร้า เมื่อทีมโชว์ผลงานย่ำแย่ในฟุตบอลโลก 1974 ที่เยอรมัน พวกเขาพ่ายแพ้ทุกเกม และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการพ่ายแพ้ต่อยูโกสลาเวียไป 0-9 Mobutu รู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างมาก เขาประกาศต่อสาธารณะชนว่านักเตะทีมชาติชุดนี้จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากเขาอีกต่อไป และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ก่อนที่เขาจะไปหาของเล่นชิ้นใหม่ด้วยการทุ่มเงินจัดการแข่งขันชกมวยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลก นั่นก็คือศึก “Rumble in the Jungle” ระหว่าง Muhammad Ali กับ George Foreman
ตัวอย่างสุดท้ายเป็นสุดยอดความเลวร้ายยิ่งกว่า Mobutu ที่ปฏิบัติต่อนักเตะทีมชาติของตนเองเมื่อทีมประสบความล้มเหลว นั่นคือการทำทีมบอลของ Uday Hussein ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ Saddam Hussein อดีตผู้นำอิรัก
เช่นเดียวกับผู้พ่อ เขามีสไตล์การทำงานที่ดุดัน ครั้งหนึ่งเขาเคยให้โอวาทแก่นักเตะทีมชาติอิรักก่อนไปแข่งขันนอกบ้านว่าถ้าหากทีมแพ้เขาจะระเบิดเครื่องบินขากลับทิ้งเสีย แต่นั่นเป็นเพียงคำขู่ เพราะเมื่ออิรักตกรอบคัดเลือกไม่ได้ไปฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1994 เขานำนักเตะมาซ้อมแบบเข้มข้นแทนที่การระเบิดเครื่องบิน ด้วยการหล่อลูกฟุตบอลด้วยคอนกรีตแล้วให้พวกเขาเตะมันแทนลูกหนัง
หนึ่งในนักเตะชุดนั้นเล่าว่า “ผมถูกทรมานหลังแข่งขันเสร็จอยู่ 4 ครั้ง ครั้งหนึ่งหลังนัดกระชับมิตรกับจอร์แดนที่กรุงอัมมานที่เราแพ้ 0-2 Uday สั่งให้เอาผมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนไปขังคุก พอไปถึงพวกนั้นก็จับเราถอดเสื้อ มัดเท้าเราติดกันและจับขาเราพาดกับท่อนไม้ ขณะที่นอนหงายหลัง แล้วพวกนั้นก็ลากเราไปตามพื้นทางเดินและคอนกรีต จนแผ่นหลังเราถลอกปอกเปิก จากนั้นพวกมันก็ลากเราไปยังแอ่งทรายและเอาทรายถูหลังเรา สุดท้ายพวกมันก็ให้เราปีนขึ้นบันไดและโดดลงไปในโถส้วม”
 
แหล่งข้อมูล:
ฟุตบอล ประเด็นเล็ก สะท้านโลก (ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปลจาก Trigger Issue: Football, Cris Brazier, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2552)
การเมืองวุ่นๆในแอฟริกา (ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 25 - 27 ก.พ. 2010)
Fifa chief warns French president (BBC, 29-6-2010)
Nigeria: Nation Risks Fifa Ban (allafrica.com, 1-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Nigeria_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Goodluck_Jonathan (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Ghana_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Congo_DR_national_football_team
(เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Iraq_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net