เสวนา “70 ปีประเทศไทย: ประชาชน ประชาชาติ กับประชาธิปไตย” (ตอนที่ 1)

เสวนาในโอกาสครบรอบ 78 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ “อานันท์ กาญจนพันธุ์” เสนอไปให้พ้นกรอบชาตินิยมไปสู่โลกไร้พรมแดน และใช้ปัญญาใหม่พัฒนาประชาธิปไตย “ยศ สันตะสมบัติ” เปิดประเด็น เมื่อชนชั้นกลางสมาทานคณาธิปไตย และการยึดอำนาจรอบล่าสุด ส่วน “ธเนศวร์ เจริญเมือง” ชี้ประชาธิปไตยติดขัดอยู่ที่รัฐรวมศูนย์อำนาจ พร้อมเสนอสรุปบทเรียน "19 พฤษภาคม 53" ยกโมเดล “18 พฤษภาคม 23” ที่กวางจู

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 78 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร และครบรอบ 70 ปีเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงการเสวนาทางวิชาการ “70 ปีประเทศไทย: ประชาชน ประชาชาติ กับประชาธิปไตย” โดยช่วงเช้า มีปาฐกถานำเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์กับความขัดแย้งในสังคมไทย โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ไปให้พ้นชาตินิยมสู่โลกไร้พรมแดน และใช้ปัญญาใหม่พัฒนาประชาธิปไตย

อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวปาฐกถาว่า การเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยที่ทุกคนต่างแสวงหาเสรีภาพอย่างแท้จริงยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะทุกฝ่ายได้มองความขัดแย้งว่าเป็นปัญหา แท้จริงแล้วความขัดแย้งเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาที่ต้องค้นหา คือ สาเหตุในก้นบึงของปัญหาที่เกิดจากการครอบงำซึ่งทำให้ มองสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงลบ ถ้านำหลักคิดทางด้านสังคมศาสตร์เพื่อให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระบอบประชาธิปไตยว่ามีปัญหาบางอย่างที่ฝั่งรากลึกในการครอบงำสังคมไทยอยู่ 3 ประการ

ประการแรก การมองความขัดแย้งเป็นปัญหาผลกระทบด้านเดียวที่เกิดจากการครอบงำ มองความขัดแย้งเป็นเชิงลบด้านเดียวโดยไม่มีการสร้างสรรค์เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาไม่ให้เรามองเห็นอะไรได้เลย ที่จริงแล้วความขัดแย้งเป็นเพียงปรากฏการณ์ของปัญหาหรือปลายเหตุของปัญหา ทำให้เราไม่เข้าใจว่าปัญหาที่เจออยู่คืออะไร

ในสังคมไทยมีปัญหาที่ซ้อนอยู่อีก สังคมไทยปล่อยให้มีการตักตวงเอาส่วนเกินออกไปจากสังคมมากเกินไป กล่าวคือมีคนได้ประโยชน์จากคนจำนวนมาก ทั้งจากระบบภาษีที่บิดเบือน นโยบายที่เบี่ยงเบน เช่น มีการค้าอย่างเสรีแต่ไม่เน้นความเป็นธรรม ทำให้เกิดการบิดเบือนในระบบทุนนิยมแบบเสรี มีการค้าที่เสรีแต่ไม่เป็นธรรม การใช้ทุนนิยมมากเกินไปจะนำสังคมเข้าสู่ภาวะความเจ็บ ซึ่งเป็นความเจ็บที่เกิดจาก มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ มิใช่ธรรมชาติที่ทำให้เกิด ผลกระทบจากคนบางส่วนที่ไม่รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุเช่น การลงทุนที่มาบตาพุดที่บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาลงทุน ต่างก็ได้รับผลประโยชน์แต่ผู้ที่เดือดร้อนคือคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงคนบางส่วนในสังคมหลุดออกไปจากความเข้าใจของคนทั่วไปในสังคม ซึ่งในอดีตที่มีชนชั้นสูง ชนชั้นต่ำ ชาวไร่ชาวนาจะมีบทบาทที่ชัดเจน แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เรากลับมองไม่เห็นเช่นในอดีตชนบทที่มีแต่ชาวไร่ชาวนาแต่เดี๋ยวนี้มีคนงาน หรือที่เราเรียกคนงานนอกระบบซึ่งไม่อยู่ในสายตา กลุ่มคนเหล่านี้จึงกลายเป็นมนุษย์ล่องหน ที่บางกลุ่มเกิดความไม่ใยดีกับเขาเพราะเพียงแต่ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เรามองไม่เห็นจึงเป็นปัญหาในสังคมไทย

ประการที่สอง ขณะที่เกิดปัญหา ก็ยังใช้มรดกเดิมจากสถาบันเก่าในการแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นการครอบงำ ของสถาบันแบบเดิม ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน หรือเรียกย่อๆ ว่า บวร. ซึ่งเราพูดง่ายๆ มีอะไรใหม่ๆ บ้างไหม ส่วนข้อเสนอในเรื่องชุมชน ก็เป็นชุมชนดั้งเดิม ไม่ได้ลองใช้สถาบันใหม่เช่น ระบบภาษีที่เป็นธรรมระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน เช่น คนรวยที่มีการซื้อที่ดินต่างกักตุนไว้มีการจ่ายภาษีที่น้อยต้นทุนต่ำเราต้องแก้ที่สถาบันการเสียภาษีที่มีความไม่ถูกต้องไปปรับปรุงระบบกรรมสิทธิ์ คือ ทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐและเอกชนเท่านั้นรัฐก็ไม่สามารถควบคุมได้นำไปสู่การทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาลกลไกที่มีอยู่มันผุกร่อนไม่สามารถแก้ไขระบบเสี่ยงนี้ได้ อีกระบบคือตุลากรเวลานี้เราปล่อยให้รัฐเป็นผู้เสียหายหลักประชาชนเป็นผู้เสียหายไม่ได้นั้นประชาชนต้องเป็นผู้เสียหายให้ได้ให้มีศาลที่ให้ประชาชน เป็นผู้ที่ยื่นฟ้องในความไม่ถูกต้องได้การมีปัญหาแล้วพึ่งสถาบันเดิมมันเป็นสิ่งที่ครอบงำต้องมีสถาบันใหม่เพื่อให้สถาบันก้าวหน้าได้

ประการที่สาม เรามีปัญหาเพิ่มจากเรื่องของสถาบันเดิม นั่นเป็นอันที่ 3 คือ ความเป็นบ้าชาตินิยม ทำให้เห็นสังคมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเห็นแบบนี้แล้วปรองดองกันไม่ได้ ถ้าคิดแต่เรื่องอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้น ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ก็คือ ชาตินิยม

ซึ่งเราต้องยอมรับความหลากหลาย เพราะความเป็นไทยแท้ถือเป็นการครอบงำมหาศาล ทำให้เราไม่ยอมรับความแตกต่างของความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มาจากหลักคิดของเสรีนิยม แม้เราไม่เห็นด้วยกับเขา ก็ต้องให้โอกาสเขาได้พูดออกมาในสังคมไทย แต่ในสังคมไทย ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ออกทีวี และถ้าเราไม่สามารถคิดได้อย่างเสรี เพราะเราติดอยู่ในรากเหง้าของชาตินิยม ซึ่งจริงๆ แล้ว สังคมเราเป็นโลกไร้พรมแดน แต่ว่าสังคมไทยยังยึดติดกับพรมแดน ขณะที่สังคมกำลังเคลื่อนไปสู่ภูมิภาคและโลก ส่วนประเทศของเรายังยึดติดพรมแดน ดังนั้นก็ต้องหลุดพ้นพรมแดนในการครอบงำของชาตินิยม

ซึ่งสังคมประชาธิปไตยคือการนำความขัดแย้งที่มีมาสร้างความคิด ปัญญาใหม่ในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทยเมื่อเกิดความขัดแย้งก็ปัดมันทิ้งซึ่งสิ่งที่พูดไปใน 3 ข้อคือสิ่งที่ครอบงำการพัฒนาหรืออาจทำให้เรากลับมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาการมองตามหลักสังคมศาสตร์มาพลิกแพลงโดยต้องลงสู่เนื้ออย่ายึดติดกับรูปแบบ การมีประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับสติปัญญา ประชาธิปไตยที่มืดบอดไร้จิตวิญญาณคงจะไม่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวเดินตามความต้องการของประชาชนได้ อานันท์กล่าว

 

ยศ สันตสมบัติชี้หลัง 24 มิ.ย. ยังเป็นได้แค่คณาธิปไตย มีการผลิตซ้ำระบอบเดิม

ต่อมามีการอภิปราย หัวข้อ “จากสยามเป็นไทย: ประชาธิปไตยไปถึงไหนแล้ว?” โดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำเนินรายการโดย รศ.ดร. วัฒนา สุกัณศีล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยศ สันตสมบัติ เริ่มต้นอภิปรายโดยกล่าวถึงการทำ “โพลส่วนตัว” ว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ถามนักเรียนมัธยมปลายกลุ่มหนึ่ง และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชั้นปีที่ปีหนึ่ง ว่าเดือนมิถุนายนสำคัญกับชีวิตอย่างไร คำตอบทั้งหมดมาเรียงได้คือ รับน้องขึ้นดอย ไมเคิล แจ็คสันตาย

ยศอภิปรายต่อไปว่า โพลนี้บอกกับผมว่าระบบการศึกษาบ้านเรามันแย่ ไม่มีใครพูดถึง 24 มิถุนา มันถูกปล้นไปจากสังคมไทย ไปจากความทรงจำของเด็กรุ่นใหม่ ไม่มีใครพูดถึงคณะราษฎร พูดแค่วันที่ 10 ธันวาคม ไม่ได้พูดถึงอุดมการณ์ของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างและใช้ในสังคมไทย โดยสิ่งที่ทำให้อุดมการณ์คณะราษฎรล้มเหลวมีปัจจัยอยู่ 2 อย่างคือ

หนึ่ง คณะราษฎรที่ประกอบด้วยชนชั้นนำใหม่ ได้แก่ ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ผลิตซ้ำระบบเดิม มีการแย่งอำนาจกัน การทะเลาะกันเอง ทำให้การปูพื้นฐานหรือสร้างประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ยาก คณะราษฎร์ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการเมืองได้ สังคมไทยถูกครอบอุดมการณ์บุญกรรมมากกว่าเรื่องประชาธิปไตย ไม่มีกระบวนการที่จะสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ที่จะสร้างความหมายให้แก่สังคมได้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยเป็นได้แค่ คณาธิปไตย เกิดวัฒนธรรมการเมืองแบบรัฐข้าราชการ คือมีข้าราชการเป็นตัวนำ ในด้านของการพัฒนาประเทศ ยิ่งเริ่มมีการพัฒนาเป็นต้นมา การผลิตมูลค่าส่วนเกินก็มากขึ้น และสร้างความลักลั่นของรูปแบบและเนื้อหาของระบบการเมือง คนไทยถูกบอกมานานแล้วว่าประชาธิปไตยมันคือการเลือกตั้งเท่านั้น

ยศเสนอว่า ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ระบบการเมืองของเราเป็นคณาธิปไตย เป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ 20 กว่าปี รากเหง้าของเผด็จการทำลายหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไปจนหมด แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เคยพูดถึง

พอถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ เป็นยุคของการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ แบบที่ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เคยเขียนหนังสือกล่าวไว้ นั่นก็คือผลิตซ้ำอุดมการณ์ผู้มีบุญ ทหารกับราชสำนักแยกกันไม่ออกในเรื่องของการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียนในทางทฤษฎีว่าด้วย รัฐของไทยเป็นแบบนาฏลักษณ์ ในลักษณะรัฐพิธีกรรมเหมือนการแสดง และลักษณะของมันดาลา (Mandala) ซึ่งแสดงขอบเขตของอำนาจทางอาณาจักรของไทย และระบอบเทวราชา หรือทฤษฎีมหาบุรุษ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 78 ปีของความพยายามสถาปนาประชาธิปไตย โดยสลับกับคณาธิปไตย กับชนชั้นนำกลุ่มเดิม และสื่อมวลชน ก็อยู่ในชะเงื้อมของรัฐบาล

สิ่งที่เราได้เรียนในวิชาประวัติศาสตร์ อุดมการณ์พวกนี้ได้รับการสถาปนาใหม่ จนปี 2516 ที่ว่ามีการท้าทายของระบบเผด็จการทหาร แต่ความจริงไม่ใช่ทหารทะเลาะกันเอง แต่ชนชั้นนำใช้เงื่อนไขการชุมนุม ของนักศึกษาเพื่อล้มจอมพลถนอม และพอปี 2519 รัฐบาลทหารก็ทวงคืนอำนาจกลับมาอีก

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้นักการเมืองอาชีพ ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีอำนาจมากขึ้น เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า 2 นครา สิทธิล้มรัฐบาลถูกผูกขาดโดยคนกทม.มา นาน เมื่อคนบ้านนอกจะล้มบ้างก็ไม่ยอม ไล่คนบ้านนอกกลับไป

ในช่วงพลเอกเปรม 8 ปี ที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กทม.โตเร็ว อาศัยความได้เปรียบไปดึง ทรัพยากรจากชนบทมาเลี้ยง กทม. เกิดปรากฎการณ์รวยกระจุกจนกระจาย

 

เมื่อชนชั้นกลางสมาทานคณาธิปไตย และการยึดอำนาจรอบล่าสุด

78 ปี ก็ เรียกว่า คณาธิปไตย ชนชั้นนำเป็นคนกลุ่มเดิม นักธุรกิจ นักการเมือง และสื่อมวลชนก็อยู่ภายใต้รัฐอย่างแนบแน่น เราเห็นความ เสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เกิดสภาวะด้อยโอกาส ในทุกด้าน ทรัพยากรพวกนี้มาจากภาษีของชนบท กทม.กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว เกษตรกร เปลี่ยนจากกระดูกสันหลัง เป็นพวกบ้านนอก โง่ จนเจ็บ รอบรับคำสั่งจากศูนย์กลาง 20 ปี ทนไม่ไหว ก็เริ่มออกไปเป็นแรงงานรับ จ้าง คนเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพราะหนี้สินจากการเกษตรมันเยอะ

คนชนบทเริ่มแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับตัวเอง เกิดอาชีพใหม่ๆ เกิดจินตนาการอนาคต เกิดชนชั้นกลางระดับล่าง ชนชั้นใหม่เริ่มพัฒนาจิตสำนึกขึ้นมา ที่จนเพราะไร้สิทธิ และถูกกีดกันการมีส่วนร่วม แต่ คนกทม.ก็ยังยึดติดวาทกรรม คนบ้านนอก พวกตาสีตาสา สกปรกมอมแมม ในบริบทแบบนี้ นักการเมืองอย่างทักษิณสามารถฉกฉวยจินตนาการใหม่ของชนบทมาเป็นนโยบายการเมือง เช่น กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป เป็นต้น มันเข้าได้กับความเปลี่ยนแปลงชนบท เป็นปัจจัยที่ สำคัญกว่าเงิน เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การ เมืองไทยที่จัดตั้งพรรครัฐบาลพรรคเดียวได้

คนชั้นกลางมีศรัทธาต่อการใช้ชีวิตอยู่กับคณาธิปไตย ใช้วิธีการแบบเดิมๆ คือยึดอำนาจ การยึดอำนาจครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองไทย เพราะจบลงด้วยการมีการเลือกตั้ง ฉากที่สองที่จบเมื่อพฤษภาคม 53 ตอนนี้กำลังเริ่มฉากที่สาม ดังนั้นสิ่งที่รียกว่า ประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น มีแต่คณาธิปไตยที่ติดฉลากประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาหยิบยื่นให้เรา หากเราไม่สร้างขึ้นมาเอง มีคำถามฝากไว้ว่าเราควรจะถามตัวเองว่า ท่ามกลางบริบทการเมืองที่ชนกันระหว่างชนชั้นนำ เราอยู่ตรงไหน เราจะเลือกข้างเพราะชนชั้นนำไปทำไม คนพวกนี้มาแล้วก็ไป 78 ปี เราต้องลุก ขึ้นมาเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร

ยศ เสนอประเด็นที่อยากให้ผลักดันร่วมกันมี 4 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง พลิกระบบการศึกษาที่ห่วยแตก สอนให้เด็กคิดเป็น ให้หวงแหนเสรีภาพ ถ้าคนเห็นความยุติธรรมแล้วรู้สึกโกรธ เราก็เป็นเพื่อนกันได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้สึกอะไร สอง สื่อที่เปิดกว้าง และเสรีมากกว่าที่เป็นอยู่ สาม สังคมไทยถึงเวลาต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สี่การแบ่งพื้นที่ในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่การกระจายอำนาจ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการแบ่งจากส่วนกลาง เช่น ภาคใต้ ที่เรียกว่า พื้นที่ยกเว้น ซึ่งจะต้องมีการอาศัยความรู้เข้าไป

ทั้งนี้ยศกล่าวสรุปว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับการหยิบยื่นถ้าเราไม่ได้สร้างประชาธิปไตย และประชาชนต่างหากที่เป็นคนสร้างสรรค์สังคม

 

"วรวิทย์" โยงปัญหาการเมืองกับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ด้าน วรวิทย์ เจริญเลิศ กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ ที่เขามองว่าเป็นปัญหาการเมือง ก็คือ เรื่องโครงสร้างของแรงงานที่มีความโยงใยกับโลกาภิวัฒน์ กัน คือ ตั้งแต่ปี 2540 ในเรื่องการเงิน และต่อมาวิกฤติปี 2550 ทำให้เกิดการเลิกจ้างกันมาก จนเกิดแรงงานนอกระบบ และการจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่น และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวิกฤติการเมืองเกิดขึ้น กับคนงานเขามองกันอย่างไร คือ ส่วนใหญ่มองว่า ผลที่เกิดจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง แล้วก็เกิดผลกระทบต่อคนงาน ที่ถูกเผาตึกห้าง และร้าน แล้วทำให้เกิดโครงการแรงงานเป็นการเยียวยาดังกล่าว ซึ่งการมองอย่างนี้ คือ การมองปรากฏการณ์เฉพาะหน้า ไม่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของต้นเหตุการณ์ และชีวิตคนที่สูญเสีย และการไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐ

อยากตั้งคำถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิด ถี่ขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ และการเคลื่อนย้ายทุน  ซึ่งสหประชาชาติบอกว่ามันเป็นการขยายความเหลือมล้ำ ถ้ามองให้ลึกไปแล้วความเหลื่อม ล้ำนั้นเป็นปัญหาของสังคมไทยมาตลอด มีการกระจุกตัวของรายได้อยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง ช่อง ว่างขยายตัวยิ่งขึ้น เมื่อมีการเร่งรัดการพัฒนาและการส่งออก เพราะฉะนั้นข้อมูลนี้ก็ชี้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีมาก่อนกระแสโลกาภิวัตน์ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีคนงานจำนวนหนึ่งไม่ได้กลับชนบท แต่ได้ผันตัวเองมาเป็นคนจนเมือง

เหล่านี้ก็มีปัญหาในวิธีคิด โยงไปสู่การตั้งคำถาม ในเรื่องที่ว่า ปัญหาความเลื่อมล้ำมาจากไหน สำหรับผม การกำหนดของการกระจายรายได้อยู่ที่การเมือง และมันอยู่กับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และปัญหาการเมืองจากรัฐรวมศูนย์ ซึ่งผมรู้สึกว่า รัฐรวมศูนย์แบบสมบูรณ์ (absolute) และการดึงคนเข้าร่วม (co-opt) กับคน โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นยุคเริ่มต้น ทั้งการครอบงำ และการกระทำ มันจะต้องมีการใช้อำนาจ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนเกิน หรือทุนในการปราบปราม

ทั้งนี้ รศ.ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเรื่องของความคิด ถ้าเป็นความขัดแย้งธรรมดา ก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ยอมใคร ซึ่งผมได้คุยกับคนงานบางกลุ่ม ที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทางความคิดกับตัวเอง แน่ละ ประชาธิปไตยที่กินได้ ย่อมเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับ หนึ่ง ปัญหาความยากจน และ สอง ปัญหาในเรื่องสองมาตรฐาน เพราะฉะนั้น อุดมการณ์ในการต่อสู้ คือ ปัญหาความยากจน และ สองมาตรฐาน เป็นอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และประเด็นสุดท้าย เรามีรัฐรวมศูนย์ ก็ผ่านผู้ว่าราชการไปปกครองพวกเรา จึงต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงก็ได้ เป็นขั้นตอนหนึ่งสำหรับประชาธิปไตย

 

"ไชยันต์ รัชชกูล" ตั้งคำถามจะรักกันอย่างไร เพราะข่าวเขาใหญ่กลบกรณี 90 ศพ

ด้าน ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่าจะอภิปรายสองประเด็น ประเด็นแรก คือการมองย้อนเข้าไปในอดีต หรือ เรามองปัจจุบันจากความเข้าใจอดีต และประเด็นที่สองมีข้อคิดอะไรบ้างกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยประเด็นแรก วันที่ 19 พฤษภาคม เขาเรียกว่า กระชับวงล้อม ก็ตายไปไม่รู้กี่คน ซึ่งผมเชื่อว่า เรารู้สึกหดหู่ว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่ว่าการประเมินเช่นนี้เป็นการประเมินช่วงสั้น ทำนองเดียวกับการประเมินเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 คือ เมื่อสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจก็ประเมินว่าเป็นการปิดฉากคณะราษฎร จนกระทั่งในสมัย 2516 ก็มีการกลับมาประเมินเรื่อง 2475 และล่าสุดในการเมืองสมัยปัจจุบัน บนเวทีการชุมนุมก็มีการปราศรัยเรื่องคณะราษฎร มีการกล่าวถึงปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแสดงว่า เราก็ได้ประเมิน 2475 ไปตามเวลาเช่นเดียวกับเหตุการณ์วันนี้

ไชยันต์กล่าวต่อไปว่า มรดกความคิดของการเปลี่ยนแปลง หรือ พลวัต อาจจะแสดงในอนาคต เหมือนเราประเมิน 2475 ได้ดีกว่าคณะราษฎร และสมมติว่า วิญญาณปรีดี ส่องกล้องมาจากสวรรค์ ซึ่งอาจารย์ปรีดี มองว่าตอนนั้นฉันทำอย่างนี้ไม่ได้ และคนก็น้อยมากสำหรับคณะราษฎร สื่อก็จำกัด ซึ่งผิดกับยุคปัจจุบันที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีสื่อมากขึ้น อาจถือว่าการขยายเรื่องประชาธิปไตย ของประชาชนก็ขยายกลุ่มคนไปแล้วขบวนการประชาธิปไตยก็สืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

ไชยันต์กล่าวด้วยว่า ความแตกแยกในสังคมไทยเกิดขึ้นในทุกหน่วย ไม่มีหน่วยไหนที่ไม่แตกแยกทางความคิด แม้โดนอบรมสั่งสอนเยอะ แต่ไม่มีผล กลับเชื่อหนักขึ้น ในสังคมไทยไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ ถามว่าดีหรือไมดี บางคนก็บอกว่าต้องรักกัน เมื่อต้องปฏิรูปประเทศไทย เราจะรักกัน ข่าวตัดต้นไม้เขา ใหญ่มันกลบ 90 ศพ คนอีกนับพันที่พิการ ก็ถูกลบไปเลย คำถามเดิมแล้วเราจะรักกันได้อย่างไร คณะกรรมการ "ปูดอง" จะเห็นปัญหานี้หรือไม่

บทความของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เล่าถึงตอนที่คนเสื้อแดงไปที่ รพ.จุฬา (อ่านบทความของธงชัย) มีคนมองว่า คนเสื้อแดงเป็นเชื้อโรคที่ต้องกำจัด จุดนี้ถือเป็นจุดพลิก ที่คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงอย่างมาก มองคนเสื้อแดงเป็นส่วนเกินของสังคมไทย สกปรก ผ้าขี้ริ้ว เป็นบ้านนอก ต้องกำจัด หลังสลายการชุมนุมมีการกวาดล้างที่ราชประสงค์ ไม่มีการทำบุญให้คนตาย แต่ทำบุญเพื่อกำจัดเสนียดที่ราชประสงค์ คำถามเดิม คือ เราจะรักกันได้อย่างไร

คำถามของสังคมไทยคือขัดแย้งกันมาตลอด ไม่ใช่ดีกัน รักกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งแล้วก็จะใช้วิธีปราบปราม ซึ่งไม่ถูกต้อง ความหมายของปรองดอง หมายความว่าอย่างไร เราต้องตั้งคำถาม ถามต่อไปอีก ภาษาที่ใช้กับความเป็นจริงด้วยกันหรือไม่ เช่นขอคืนพื้นที่กระชับวงล้อม หมายความว่าอย่างไร ปรองดอง หมายความว่า คำพูดเป็นอย่างหนึ่ง ความเป็นจริงเป็นอย่างหนึ่ง กระนั้นหรือ

ส่วนเรื่องความขัดแย้งคืออะไร ซึ่งสังคมไทยก็ต้องหาคำตอบมากกว่าจะบอกว่าให้รักกัน ซึ่งจะเห็นว่าความขัดแย้งของการชุมนุมที่ผ่านมามีทั้งความขัดแย้งทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ดังนั้นถ้าคำว่า "ปรองดอง" ใช้ตรงความหมายจริงๆ ไม่ใช่แปลว่า "กดเอาไว้ไม่ให้หือ" หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ เป็นการสร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นมา ใครเป็นคนสร้าง ก็จะเห็นว่าใครคือผู้ก่อการร้ายตัวจริง เพราะคนที่สร้างบรรยากาศความกลัวคือรัฐบาลไม่ใช่หรือใครกันแน่คือผู้ก่อการร้ายต้องถาม

 

"ธเนศวร์ เจริญเมือง" ชวนมองรัฐรวมศูนย์อำนาจ ต้นตอปัญหาประชาธิปไตย

ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า เมื่อประมาณสามเดือนที่แล้วมีผู้ส่งจดหมายมาให้ เป็นเรื่องของหญิงสาวที่เขียนถึงแม่ระดับดาวมหาวิทยาลัย พูดถึงความรักที่มีต่อแม่ พูดถึงความรักต่อสามี และฆ่าตัวตาย แม่ก็เขียนถึงลูกว่าลูกน่ารัก แม่ดูแลอย่างดีทุกอย่าง เรียนหนังสือเก่ง นี่คือชะตากรรมของหญิง สาวที่ไม่เคยเผชิญความทุกข์ยากลำบากใดๆ เลย เรื่องนี้ตนคิดว่ามีความเกี่ยวพันกับสังคมไทย หญิงสาวนี้คือสังคมไทย เราเป็นสังคมที่ไม่เคยทุกข์ยาก ไม่เคยมีประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง มีความขัดแย้งกัน เมืองไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน ก็เราไม่รู้ว่าฝรั่ง ซึ่งนิสัยไม่ดีอย่างไร แล้วเราไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมือง และเราไม่ได้เผชิญความขัดแย้งแบบอาณานิคมและสังคมกึ่งเมืองขึ้น ซึ่งทุกอย่างดีตลอดมา และหลังสนธิสัญญาเบาวริ่ง ชนชั้นนำดิ้นรนเอาตัวรอด ซึ่งสถาบันชนชั้นนำเขาปรับตัวเอง คือ ด้านหนึ่งเล่นเกมกับนักล่าเมืองขึ้น คือเอาอีสาน ล้านนา มาเป็นเมืองขึ้น และดูดกลืนทีละขั้น ให้ภูมิภาคนี้เป็นสยามประเทศอย่างนุ่มนวล สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีเอกสารบางชิ้นระบุว่า เมื่อรัชกาลที่ 6 นั่งช้างมาเชียงใหม่และพระองค์ฟังภาษาเหนือไม่ออกเลย ก็รู้สึกว่ามาเชียงใหม่เหมือนกับต่างประเทศ และเมื่อ พ.ศ. 2453 ก็เป็นการสถาปนารัฐรวมศูนย์ แล้ววัดหายไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ คือ สถาบันสีเหลือง และ สถาบันสีเขียว คือ กองทัพ

ระบบราชการใหญ่โตขึ้นจากความเป็นรัฐรวมศูนย์ การเป็นรัฐรวมศูนย์แข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2453 จนถึง 2475 ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ เมื่อคณะราษฎรเข้ามา แต่อีกฝั่งหนึ่งแข็งแกร่งกว่ามาก เพราะได้พัฒนารัฐรวมศูนย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำลายความเป็นท้องถิ่นอย่างราบคาบ เรื่องนี้มีการพูดถึงน้อยมาก ดังนั้น คณะราษฎรจึงเชิญปัญหามากมาย คือการสถาปนาระบบราชการส่วนภูมิภาค กลายเป็นมือเท้าของส่วนกลางอย่างชัดเจน

อีกเรื่องคือระบบการศึกษาไม่ให้ความสนใจเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เลย เราไม่รู้จัก 24 มิถุนายน วัฒนธรรมอำมาตย์ก็โตวันโตคืนมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจากนี้แล้วเราก็ต้องพูดถึง และที่สำคัญคือในทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา จีน เวียดนาม กัมพูชา ยุโรปตะวันออก กลายเป็นสังคมนิยม ในเวลาถ้าไทยมีขบวนการแข็งแกร่ง ไทยก็อาจจะเป็นสังคมนิยม แต่เราเป็นหญิงสาวที่อ่อนเยาว์ สหรัฐอเมริกาก็เข้ามา สถาปนาอำมาตย์มาจนถึงปัจจุบันกล่อมเกลาให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาเราศึกษาบทเรียนต่างประเทศน้อยไป เราต้องรู้ว่า EU กับ สหรัฐ จีน คิดกับเราอย่างไร ทำไมกัมพูชาหันไปสนับสนุนรัฐบาลเพราะอะไร สหรัฐที่มีผลประโยชน์ในประเทศไทยอย่างมหาศาล ถ้าจะเปลี่ยนแผ่นดิน เขาต้องคิดว่ามวยคู่นี้ เขาจะยืนอยู่ตรงไหน สรุปคือเราต้องศึกษาปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อประเทศไทยด้วย

ธเนศวร์ อภิปรายต่อว่า การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วย การที่วัฒนธรรมของนักศึกษาเป็นเช่นนี้ กล่าวคือนักศึกษาไม่สนใจเรื่องการเมือง เราจะไปกันอย่างไร เราจะต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมในบ้านเราในสถาบันการศึกษาด้วย ซึ่งเราต้องคุยกันให้มาก อีกอย่างคือสถาบันศาสนา เราจะจัดการและแก้ไขอย่างไร

ธเนศวร์ ยังกล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่มีในระดับชาติ แต่ต้องมีในระดับท้องถิ่นด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยดูแลประชาธิปไตยให้อยู่ได้ ไม่ใช่ไล่ล่าเสื้อแดง

 

เสนอสรุปบทเรียน 19 พฤษภาคม ยกกรณี 18 พฤษภาคม ที่กวางจู

ทั้งนี้ธเนศวร์ กล่าวด้วยว่า ประทับใจเหตุการณ์หนึ่ง คือเรื่องการระลึกถึงการสังหารหมู่ที่เมืองกวางจู ในปี 2523 ที่เกาหลีใต้ ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งได้ดำเนินการไต่สวน แล้วนายทหารเกาหลีก็ถูกตัดสินประหารชีวิต มีการจัดพิธีใหญ่บนสถานที่สังหารประชาชน มีการระลึกถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2523 และถ่ายทอดเรื่องนี้ไปสู่ทั่วโลก มีการทำหนังสือ History of 18 May uprising ในนั้นมีข้อมูลละเอียดมาก บทวิเคราะห์ละเอียดมาก มีประสบการณ์ของพี่น้อง ก็คือเขาไม่ลืมเลือนเลย และเขาต้องการสรุปบทเรียนนี้ ส่วนของไทยเราพึ่งระลึกถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมผ่านไปหนึ่งเดือนเอง แต่เขาสามสิบปี เป็นหนังสือสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ก็เหมือนกับประเทศไทย ที่น่าจะทำไว้สำหรับวันนี้ ซึ่งเราต้องเตรียมพร้อมการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่มันก็ล้มแล้วล้มอีก โดยถ้าเราสรุปบทเรียนดีๆ ที่บรรพชนทำไว้ยังไม่ดี และผมคิดว่าสำคัญ คือ คนเราทำงานในสถาบันการศึกษา จะทำให้อุดมการณ์บ้านเมืองดีขึ้น แล้วลูกหลานเราไม่เหน็ดเหนื่อย

หลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานคือความเท่าเทียมกันด้านปกครอง สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ของแปลกปลอมจากต่างประเทศ มันอาจมาจากต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศเขาเกิดประชาธิปไตยก่อน เพราะความไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากเห็นความเท่าเทียมกันไม่มีสองมาตรฐาน คนเราต้องมีเลือดเนื้อมีชีวิตเท่านั้นเอง และมันจะสร้างประเทศของตัวเอง ไม่ใช่การลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ

เราเห็นต่างกันได้ไม่มีปัญหา คนไม่มีสี เพราะไม่ค่อย active ก็ไม่เป็นไรก็อยู่ไป คนที่มีสีก็เป็นพลเมืองเข้มแข็ง ประเด็นที่ว่าคือไม่พอใจการเรียกร้องของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเอาลูกปืนไปให้ ดังนั้น ปัญหาของอำมาตยาธิปไตยคือการไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท