Skip to main content
sharethis

"ไพโรจน์ พลเพชร" ถอนตัวจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยปฏิเสธการทาบทามตั้งแต่ต้น ชี้ไม่แถลงข่าวแต่พร้อมแจง ย้ำขอทำงานคู่ขนาน เกื้อหนุน-ตรวจสอบกัน 

วานนี้ (8 ก.ค.53) นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวถึงกรณีมีรายชื่อเป็น 1 ใน 9 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ว่า เมื่อเร็วๆ ได้ประสานงานไปทางนายคณิต เพื่อถอนตัวจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ส่วนตัวได้ทำงานคู่ขนานในการสืบค้นข้อเท็จจริงในฐานะที่เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน จากการดำเนินงานของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) ซึ่งทำหน้าที่ในเรื่องเดียวกันนี้อยู่แล้ว 

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่าเขาได้ปฏิเสธการทาบทามให้เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น แต่อาจเนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาดจึงทำให้ยังมีชื่อไปปรากฏในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งเมื่อทราบข่าวครั้งแรกก็รู้สึกตกใจ ทั้งนี้ เมื่อมีการสื่อสารไปยังนายคณิตแล้ว ในส่วนคณะกรรมการอิสระฯ จะมีการทาบทามคนใหม่ หรือคงจำนวนคณะกรรมการที่เหลืออยู่ไว้นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของนายคณิตซึ่งเป็นประธานที่จะดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามเขาจะไม่แถลงข่าวต่อกรณีการถอนตัวดังกล่าว แต่พร้อมจะให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของนักข่าว

ต่อเรื่องการสืบค้นความจริงในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น นายไพโรจน์แสดงความเห็นว่า เป็นประเด็นที่สังคมควรให้การสนับสนุน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม องค์กร สถาบันต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำหน้าที่สืบหาข้อมูล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน ในส่วนคณะกรรมการอิสระนั้นทางกลุ่มเองก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมาโดยตลอด นับจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งก็รู้สึกยินดีที่มีคนมาทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนที่จะเข้ามา อาจถูกกล่าวจากหลายๆ ฝ่าย และต้องเผชิญหน้ากับความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ ในภาวะที่สังคม มีความขัดแย้งรุนแรง

ส่วนคำถามถึงการเข้าถึงข้อมูลของ คอป.ที่อาจมีปัญหาความหวาดระแวงจากคนบางกลุ่ม เนื่องมาจากได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล นายไพโรจน์แสดงความเห็นว่า หากจะมีคนหวาดระแวงก็เป็นเรื่องธรรมดาในภาวะที่เราต้องเผชิญปัญหาร่วมกันในสังคมตอนนี้ อย่างไรก็ตาม การทำงานดังกล่าวจะมีข้อเด่นในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เพราะรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งในส่วนงบประมาณและข้อมูล อีกทั้งคณะกรรมการอิสระ ดังกล่าวยังถูกจับตามมองจากทั้งในและนอกประเทศ ถึงความเป็นอิสระว่ามีจริงหรือไม่ และรัฐจะเกื้อหนุนให้สามารถทำงานได้เต็มที่จริงหรือไม่ 

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานในส่วนของ ศรส.น่าจะเป็นการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่คู่ขนานกันไปกับภาคส่วนอื่นๆ โดยอาจมีส่วนช่วยเกื้อหนุน ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เข้ามาทำงานตรงนี้จากมีความสามารถในการเปิดพื้นที่ของข้อมูลที่แตกต่างกัน หรืออาจทำหน้าที่ในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความชอบธรรมของแต่ละองค์กร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อกรรมการที่นายคณิตเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย นายกิติพงษ์ กิตติยารัตน์ (อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม) นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (นักวิชาการ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ) นายเดชา สังขละวรรณ (อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นายไพโรจน์ พลเพชร (เอ็นจีโอ) นายมานิจ สุขสมจิตร (สื่อมวลชน สสร.50) นายรณชัย คงสกนธ์ (รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) นายสมชาย หอมละออ (เอ็นจีโอ) เเละนายสุรชัย ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราช) โดยอายุการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีอายุไม่เกินสองปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net