Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก Benedict Anderson, “Why is the role of Public Intellectuals in decline?” ปาฐกถาเพื่อฉลองวาระครบรอบ 10 ปีโครงการ Public Intellectuals Project ของ Nippon Foundation ที่มหาวิทยาลัย Ateneo de Manila, 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

 
ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเพลิดเพลินกับการอ่านเอกสารวิชาการประจำปีของมูลนิธิ Nippon Foundation งานเขียนส่วนใหญ่ให้ความรู้เปิดหูเปิดตา ไม่ใช่แค่ในด้านคุณภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความกว้างขวางในการเปรียบเทียบ และประตูที่เปิดออกสู่เครือข่ายประชาชนมากมายหลายเครือข่าย ซึ่งใส่ใจเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของนโยบายรัฐที่มีมากมายเป็นบัญชีหางว่าว กระนั้นก็ตาม โดยรวมแล้ว งานเขียนเหล่านี้สะกิดความความไม่สบายใจบางอย่างขึ้นมาในใจผม คงเป็นเพราะผมเคยใช้เวลาหลายปีในมหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการที่เรียกกันว่า “นักรัฐศาสตร์”

ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ ค.ศ. 1998-2008 (พ.ศ. 2541-2551) เป็นช่วงเวลาที่เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ไม่เพียงเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มูลนิธิ Nippon Foundation สนใจศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงโลกทั้งหมดด้วยทศวรรษนี้ลงเอยด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อทศวรรษ 1930 และเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคนี้เมื่อค.ศ. 1997-1998 (พ.ศ. 2540-2541)

กล่าวในด้านการเมืองนั้น ทศวรรษนี้เริ่มต้นด้วยการปะทุขึ้นมาของการเมืองแบบปฏิรูปที่น่าชื่นชม แต่ลงท้ายอย่างน่าผิดหวังด้วยการลงหลักปักฐานของระบอบคณาธิปไตยในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศไทยและมาเลเซีย ในทุกประเทศที่กล่าวมานี้ ระดับของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และการที่รัฐเข้าไปควบคุมสื่อมวลชนนับวันจะยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่สะดุดใจผมเมื่ออ่านเอกสารจำนวนมากในรายงานประจำปีของมูลนิธิก็คือ ความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งหมดนี้กลับแทบไม่ปรากฏให้เห็นเลย ลองยกประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ตอนนี้ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นยาวนาน ซึ่งมีสัญญาณส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นศตวรรษใหม่ แต่เอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยแทบไม่เอ่ยชื่อของทักษิณชินวัตร ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ หรือปัญหาอันน่าขมขื่นของการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมพูดภาษามลายู ในเอกสารเหล่านี้ไม่มีคำเตือนถึงการเกิดขึ้นของขบวนการคนเสื้อแดงที่เราอ่านเจอทุกวันในหน้าหนังสือพิมพ์ เราสามารถอ่านเอกสารเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ โดยไม่ได้ความเข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับความหายนะที่เกิดจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนางกลอเรียมาคาปากัล อาร์โรโย ฯลฯ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

เราอาจเริ่มต้นที่ความเสื่อมถอยระยะยาวของจารีตปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งมีผู้อ่านหรือผู้ชมคือสาธารณชนทั่วไปในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ปัญญาชนสาธารณะที่มีอิทธิพลมากที่สุดในฟิลิปปินส์คือเรนาโต คอนสตันติโน (Renato Constantino) เขาเขียนงานด้านประวัติศาสตร์ไว้มากมาย โดยมีบุคลิกแบบชาตินิยมฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน และแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า “จิตใจแบบอาณานิคม” ที่ตกค้างอยู่ในเพื่อนร่วมชาติ เขาไม่ใช่คนเดียวที่มีลักษณะแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น วิลเลียม เฮนรี สกอตต์ (William Henry Scott) ชาวอเมริกันโปรเตสแตนท์ ก็เขียนหนังสือที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของฟิลิปปินส์ และการละเมิดสิทธิ์ชนเผ่ากลุ่มน้อยในเขตกอร์ดีเยราของเกาะลูซอน ทั้งสองคนนี้ไม่ใช่นักวิชาการหรือนักหนังสือพิมพ์อาชีพ ทุกวันนี้ คนที่มีบารมีแบบนี้แทบไม่มีเหลืออีกแล้วไม่มีชาวอินโดนีเซียคนไหนที่มีผลงานยิ่งใหญ่เทียบชั้นได้กับปรามูเดีย อนันตา ตูร์ผู้ล่วงลับ ทั้งๆ ที่ปรามูเดียเรียนไม่จบไฮสกูลด้วยซ้ำ แต่เขาฝากผลงานนวนิยายและเรื่องสั้นอันวิเศษไว้ให้แก่สาธารณชน ถึงแม้ต้องใช้เวลาถึง 13 ปีอยู่ในคุก จนถึงบัดนี้ เขาก็ยังไม่มีผู้สืบทอด

ในประเทศไทย สุลักษณ์ ศิวรักษ์คือนักวิจารณ์สังคม-การเมืองที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศมาหลายทศวรรษ และโดนข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายต่อหลายครั้ง สุลักษณ์ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการและไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ ตอนนี้เขาอยู่ในช่วงวัยเจ็ดสิบปีและไม่มีผู้สืบทอดที่ชัดเจน

มาเลเซียมีคนแบบนี้อยู่คนหนึ่ง ซึ่งยังค่อนข้างหนุ่ม เป็นนักเสียดสี บรรณาธิการ นักเขียนความเรียงและนักสร้างภาพยนตร์ที่โดดเด่น เขาชื่ออามีร์มูฮัมมัด (Amir Muhammad) ก็อีกนั่นแหละ เขาไม่ใช่นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์หรือข้าราชการแต่เขาก็ค่อนข้างโดดเดี่ยวเช่นกัน

เพื่อนๆ คงสังเกตเห็นแล้วว่า ผมจงใจเน้นย้ำการขาดหายไปของอาชีพนักวิชาการ จากประเด็นนี้ ผมต้องการชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งสองประการ ซึ่งทำให้การดำรงอยู่ของปัญญาชนสาธารณะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประการแรกคือ การสร้างความเป็นวิชาชีพของมหาวิทยาลัย โดยใช้แนวทางตามอย่างอเมริกัน ซึ่งหยิบยืมลอกแบบมาจากเยอรมนีสมัยศตวรรษที่ 19 อีกทีหนึ่งการสร้างความเป็นวิชาชีพ (professionalisation) นี้เริ่มก่อตัวขึ้นมาจากการแยกสาขาวิชาอันกลายมาเป็นสถาบันที่ทรงพลัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การแบ่งแยกความรู้และการศึกษาออกเป็นส่วนๆ ตามตรรกะของการแบ่งงานกันทำ การแบ่งแยกเช่นนี้กีดกันไม่ให้นักประวัติศาสตร์สนใจมานุษยวิทยาหรือนักเศรษฐศาสตร์สนใจสังคมวิทยา แต่มันมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ผู้อาวุโสในสาขาวิชาต่างๆ จะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดชี้ชะตาความสำเร็จทางวิชาการของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ด้วย

อนึ่ง การสร้างความเป็นวิชาชีพยังส่งเสริมการพัฒนาศัพท์เทคนิคที่เข้าใจกันเฉพาะในหมู่นักวิชาการที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวกัน นี่หมายความว่ามันยิ่งทำให้นักวิชาการเขียนให้นักวิชาการด้วยกันเองอ่าน ตีพิมพ์ใน “วารสารทางวิชาการ” และในสื่อสิ่งพิมพ์ของมหาวิทยาลัยแนวโน้มเช่นนี้ทำให้สาธารณชนทั่วไปถูกกีดกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ การเขียนหนังสือให้คนทั่วไปอ่านมักถูกตีตราว่าตื้นเขินและไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ภาษาที่สละสลวยได้รับการยกย่องน้อยลงๆ

อย่างไรก็ตาม อเมริกามีลักษณะเฉพาะในบางแง่มุม ประการแรกสุด อเมริกาไม่มีมหาวิทยาลัยรัฐในระดับชาติ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เกือบทุกประเทศทั่วโลก มหาวิทยาลัยระดับสุดยอดของอเมริกาเกือบทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ประการที่สอง อเมริกาพัฒนามหาวิทยาลัยขึ้นมาหลายพันแห่งเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมหาชน ในยุคสมัยที่ถือกันว่าปริญญาบัตรคือเงื่อนไขในการหางานรายได้ดี ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ประการที่สาม ประเทศนี้มีจารีตยาวนานของความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อปัญญาชนมหาวิทยาลัยโดยรวม นั่นหมายความว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอิทธิพลเชื่อมโยงกับชนชั้นนำทางการเมืองหรือสื่อมวลชน

แต่ตัวอย่างของอเมริกาก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากการครองความเป็นใหญ่ในโลกระหว่างและหลังจากสงครามเย็น เยาวชนหลายหมื่นคนจากหลายๆ ส่วนของโลกที่เรียกว่า “โลกเสรี” ได้รับเชิญให้มาศึกษาต่อขั้นสูงที่อเมริกา และได้รับทุนอุดหนุนเหลือเฟือจากมูลนิธิเอกชนและหน่วยงานรัฐเมื่อกลับไปบ้าน คนหนุ่มสาวเหล่านี้มักเจริญรอยตามตัวอย่างของอาจารย์และสร้างชีวิตมหาวิทยาลัยขึ้นมาตามต้นแบบ โดยมักได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการเมืองจากอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาก็ประกอบภารกิจนี้ได้เพียงบางส่วน อันเนื่องมาจากลักษณะของสังคมบ้านเกิดของคนหนุ่มสาวเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยระดับสุดยอดมักเป็นของรัฐ และคณาจารย์เป็นข้าราชการในแบบใดแบบหนึ่ง มีจารีตยาวนานของการเคารพผู้มีการศึกษาสูง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระเบียบสังคมทั้งในยุคก่อนอาณานิคมและยุคอาณานิคม ความเคารพต่อผู้มีการศึกษาสูงนี้ได้รับการตอกย้ำจากการมีเส้นสายเชื่อมโยงกับรัฐอย่างเหนียวแน่น อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงชนชั้นนำทางการเมืองและสื่อมวลชนในลักษณะที่นึกคิดแทบไม่ออกเลยในสหรัฐอเมริกา ในอีกด้านหนึ่ง สถานะทางสังคมของพวกเขามักสวนทางกับการสนับสนุนทางการเงินที่พวกเขาได้รับ ในสหรัฐอเมริกาอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าตอบแทนสูงมาก ศาสตราจารย์อาวุโสหลายคนมีรายได้ถึง 100,000 ดอลลาร์ (3.2 ล้านบาท) ขึ้นไปต่อปี ตรงกันข้าม ในอุษาคเนย์นั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมีรายได้ต่ำ จึงต้องหาทางออกด้วยการรับงานโครงการวิจัยของรัฐที่ไร้ประโยชน์ หาลำไพ่พิเศษด้วยการสอนที่มหาวิทยาลัยอื่น เก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และอาศัยช่องทางต่างๆ ในสื่อมวลชน เช่น เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ ทำรายการทีวี ฯลฯ อาจารย์เหล่านี้จึงมักละเลยหรือไม่สนใจนักศึกษา หรือไม่ก็ปฏิบัติต่อนักศึกษาแบบราชการนักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่ยอมสอนหนังสือเลย แต่เลือกไปกินตำแหน่งในสถาบันวิจัยที่แทบไม่มีผลงานใดๆ นี่คือเหตุผลที่นักศึกษาเก่งๆ จำนวนมากมักศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองและดูแคลนอาจารย์เพียงในนามเหล่านี้

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นักวิชาการหลายคนจึงแสวงหาความสำเร็จด้วยการเข้าข้างชนชั้นนำทางการเมือง หรือไม่ก็แข่งขันแย่งชิงทุนจากหน่วยงานต่างๆ ของประเทศร่ำรวย ซึ่งก็มีวาระแฝงเร้นของตนเอง แนวโน้มแบบนี้มีข้อเสียในตัวมันเอง ผมจำได้ดีถึงเจ้าหน้าที่สตรีผู้ขยันขันแข็งอย่างยิ่งคนหนึ่ง ซึ่งคอยจัดการการให้ทุนของมูลนิธิโตโยต้าแก่สถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอบอกว่าเธอรู้สึกตกใจจริงๆ ที่พบว่า นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ที่มาร่วมการประชุมสัมมนาที่มูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนให้จัดขึ้น พวกเขาไม่เพียงคาดหวังว่ามูลนิธิต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่ถึงขนาดเรียกร้องเงินสดตอบแทนการมาร่วมประชุมด้วย เงินตอบแทนมักถูกใช้ไปกับการช้อปปิ้งสินค้าราคาแพง

การหาลำไพ่พิเศษกับสื่อมวลชนก็มีปัญหาในแบบของมันการออกทีวีได้รับค่าตอบแทนดี แต่ไม่ว่าใครก็มักมีเวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งไม่เพียงพอที่จะอธิบายสาระสำคัญอะไรได้ การเขียนคอลัมน์อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยกระตุ้นให้นักวิชาการเขียนให้สาธารณชนในวงกว้างอ่าน แต่นักวิชาการที่จริงจังย่อมไม่สามารถเขียนอะไรออกมาได้ทุกสัปดาห์ โดยไม่พูดซ้ำซากวนไปวนมา หรือพูดถึงแต่ตัวเอง แถมยังต้องเชื่อฟังคำชี้นำของบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์อีกต่างหาก นักวิชาการเหล่านี้กลายเป็นลูกจ้าง ลูกจ้างของรัฐ ของมูลนิธิต่างประเทศ หรือไม่ก็เป็นลูกจ้างของเจ้าพ่อหนังสือพิมพ์และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาจึงมีเวลาน้อยมากที่จะทำงานวิจัยอย่างจริงจัง เขียนหนังสือที่มีความสำคัญ หรือท้าทายอะไรบางอย่างอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำ พวกเขายังปิดหูปิดตาตัวเองอย่างประหลาดด้วย

ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง สองสามปีก่อน ผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพฯให้อาจารย์และนักศึกษาราว 300 คนฟัง ในระหว่างการบรรยายนั้น ผมกล่าวยืดยาวพอควรเกี่ยวกับอัจฉริยะแท้จริงคนแรกที่ประเทศไทยผลิตขึ้นมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 นั่นคือ นักสร้างภาพยนตร์ชั้นยอดอย่างอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งได้รับรางวัลใหญ่สองรางวัลที่เมืองคานส์ในช่วงเวลาแค่สามปี อีกทั้งยังได้รับรางวัลมากมายทั่วทั้งโลกภาพยนตร์ด้วย ในตอนท้าย ผมถามผู้ฟังว่าใครเคยได้ยินชื่ออภิชาติพงศ์ขอให้ยกมือขึ้น มีคนยกมือประมาณ 10 คน เป็นนักศึกษาทั้งหมด มีกี่คนที่เคยดูภาพยนตร์ของเขา? มีประมาณ 6 คน นักศึกษาทั้งหมดเช่นกัน

ชั่วขณะนั้นเองที่ผมตระหนักถึงการปิดหูปิดตาตัวเองอย่างโง่เขลาของเหล่าอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งคงดูแต่หนังฮอลลีวู้ด และความหยิ่งจองหองของพวกเขา ก็นักสร้างภาพยนตร์ไม่มีปริญญามหาวิทยาลัยน่ะสิ! แทบไม่มีสะพานเชื่อมระหว่างอาจารย์กับนักสร้างภาพยนตร์ นักเขียนนวนิยายและจิตรกรฯลฯ ไม่น่าแปลกใจที่นักสร้างภาพยนตร์และนักเขียนนวนิยายเองก็มีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย มีเพียงนักศึกษาที่ยังไม่มีวิชาชีพเท่านั้นที่เชื่อมโยงระหว่างโลกทั้งสอง ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นเหตุผลบางประการว่าทำไมเราจึงไม่ค่อยพบปัญญาชนสาธารณะในมหาวิทยาลัย ถึงแม้มีข้อยกเว้นสำคัญอยู่เสมอก็ตาม ความเป็นวิชาชีพ สถานะข้าราชการ ความใกล้ชิดกับชนชั้นนำทางการเมือง ความไร้วัฒนธรรม การดูถูกดูแคลนนักศึกษา ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่มีบทบาททั้งสิ้น

แต่เราไม่สามารถกล่าวโทษมหาวิทยาลัยโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของมัน ผมจึงขอกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการที่สองที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของปัญญาชนสาธารณะ ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจนิยามได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของชนชั้นนำและวิธีการที่พวกเขาใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐ

เรื่องแรกที่น่าสังเกตคือค่านิยมของชนชั้นนำที่มักส่งลูกหลานเรียนชั้นประถมและมัธยมในโรงเรียนที่เรียกว่า “โรงเรียนนานาชาติ” ในประเทศของตัวเอง จากนั้นก็ส่งไปต่างประเทศเพื่อทำปริญญาในสาขาต่างๆ ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และอังกฤษ ตลอดจนฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ ทัศนคติเช่นนี้มีความหมายชัดเจนคือความไม่แยแสหรือถึงขั้นดูถูกสถาบันการศึกษาในประเทศของตัวเอง ด้วยเหตุผลนี้ ชนชั้นนำจึงไม่ค่อยมีความสะดุ้งสะเทือนกับอิทธิพลทางการเมืองที่แทรกแซงชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก ถึงที่สุดแล้ว มีแต่ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศเท่านั้นที่มีเกียรติภูมิอย่างแท้จริง

สถานการณ์นี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยได้เอกราชใหม่ๆ เมื่อทุกคนภาคภูมิใจกับโรงเรียนของตัวเอง และครูบาอาจารย์ก็ยังเป็นที่เคารพยกย่อง พวกลูกหลานชนชั้นนำไปเรียนอะไรมา ถ้าหากว่าพวกเขายอมเรียนหนังสือบ้าง? คุณแน่ใจได้เลยว่าปริญญาบัตรส่วนใหญ่ที่พวกเขาได้มามักเป็นสาขาวิชาชีพเชิงพาณิชย์ เช่น บริหารธุรกิจ การตลาด เศรษฐศาสตร์ไอที ฯลฯ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ วรรณคดี มานุษยวิทยาหรือจิตวิทยาแน่ๆ เพราะสาขาวิชาเหล่านี้มักถูกมองว่า “ไร้ประโยชน์” และไม่ตรงกับความต้องการสำหรับ “ลูกหลานของเรา” ซึ่งจะต้องกลับมาสืบทอดตำแหน่งของพ่อแม่ในระบบการเมืองที่การเล่นพรรคเล่นพวกได้รับการส่งเสริมอย่างไร้ยางอายมากขึ้นทุกทีๆ

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ: ครั้งล่าสุดที่ผมได้คุยกับอามีร์มูฮัมมัด เขาบอกผมว่า สำนักพิมพ์เล็กๆ ของเขาเพิ่งตีพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนเกย์และเลสเบี้ยน เนื่องจากทราบดีว่า มาเลเซียมีกฎหมายลงโทษความสัมพันธ์ทางเพศที่ “อปกติ” ค่อนข้างหนักหน่วงทีเดียว ผมจึงถามเขาว่า เขาไม่กริ่งเกรงการลงโทษหรือ “ไม่เลย” เขาพูดกลั้วหัวเราะ “ชนชั้นปกครองของเราไม่เคยอ่านหนังสือ อย่างมากก็อ่านแค่คำแนะนำด้านนโยบายสองหน้ากระดาษกับหนังสือพิมพ์เท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ค่อยถนัดอยู่แล้ว”

ตัวอย่างที่สะท้อนภาพให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการยาวนานของซูฮาร์โต ในค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) มีเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศลุกฮือขึ้นแข็งข้อต่อรัฐบาล ซึ่งก็ถูกปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำทางปัญญาส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบัน Technical Institute of Bandung (ในภาษาอินโดนีเซียคือ Institut Teknologi Bandung--ITB) อันทรงเกียรติ แต่ในการลุกฮือขึ้นต่อต้านซูฮาร์โตใน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) หรืออีกยี่สิบปีต่อมา สถาบันนี้กลับไม่หลงเหลือบทบาทและไม่ทำอะไรเลย ทำไม? เหตุผลนั้นง่ายมาก ซูฮาร์โตต้องการการพัฒนาโดยไม่ต้องพะวงกับเสียงคัดค้าน รัฐบาลของเขาจึงจ้างบัณฑิตจาก ITB จำนวนมาก และมักส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาทำงานในกระทรวงต่างๆ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ซึ่งต่อมาไม่นาน กระทรวงเหล่านี้ก็ขึ้นชื่อฉาวโฉ่ในด้านการเล่นพรรคเล่นพวกและการคอร์รัปชั่นผู้นำเผด็จการรู้ดีว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ภัยคุกคาม พวกเขาไม่มีฐานทางการเมืองหรือต้นทุนทางศีลธรรมในสังคมอินโดนีเซียอีกแล้ว นักศึกษาที่มาแทนที่คนเหล่านี้มาจากมหาวิทยาลัย “ชั้นสอง” ซึ่งมักเป็นมหาวิทยาลัยด้านศาสนาและมหาวิทยาลัยเอกชน

รัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อผมยื่นขอวีซ่าสำหรับนักวิจัยใน ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ผมต้องรอถึงเก้าเดือนกว่าวีซ่าจะได้รับอนุมัติ เหตุผลหลักคือความเกียจคร้านของระบบราชการ แต่ก็มีความกลัวที่เข้าใจได้ด้วยว่า นักวิจัยต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาอาจเป็นสายลับของซีไอเอภายใต้รัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งเป็นคนโปรดของสหรัฐฯ มีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลซูฮาร์โตต้องการมีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จเหนือนักศึกษาต่างชาติทุกคน โดยสั่งห้ามไม่ให้ศึกษาเรื่องอะไรก็ตามที่รัฐบาลถือว่า “อ่อนไหว” การควบคุมนี้อยู่ภายใต้หน่วยสืบราชการลับของรัฐ โดยอาศัยหน้าฉากของสถาบันที่เคยดูเหมือนใจกว้าง นั่นคือ สถาบัน Indonesian Institute for the Sciences (ภาษาอินโดนีเซียคือ Lembaga Ilmu Pengetahuan Indonesia—LIPI) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้คือนักวิจัยที่รัฐไว้วางใจ ซึ่งแทบไม่เคยสอนนักศึกษาและมีความเชื่อมโยงกับนักศึกษาน้อยมาก เทคนิคการบริหารจัดการแบบนี้แพร่ไปถึงมาเลเซียและประเทศไทย และมีบ้างเล็กน้อยในฟิลิปปินส์ อำนาจการยับยั้งของหน่วยงานสืบราชการลับในประเทศเหล่านี้มีมากถึงขนาดที่นักศึกษาที่มาขอวีซ่าวิจัยต้องหันไปหาโครงการที่ปลอดภัยไม่มีพิษมีภัย หรือไม่ก็เรียนรู้วิธีการโกหกอย่างฉลาดปราดเปรื่อง

นักศึกษาต่างประเทศส่วนใหญ่ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิเอกชนหรือรัฐบาลในต่างประเทศ สถาบันเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสัญชาติอเมริกัน ญี่ปุ่น ดัทช์ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ฯลฯ ต่างก็มีเป้าหมายระยะยาวในใจ และมีนักศึกษาหลายสิบหรืออาจถึงหลายร้อยคนที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันดังกล่าว รัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งมีผลประโยชน์มากมายทับซ้อนอยู่ในประเทศต่างๆ เช่นอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย ย่อมต้องคิดอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความบาดหมางกับรัฐบาลในประเทศนั้นๆ มูลนิธิเอกชนก็เผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน กล่าวคือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดี ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างความขุ่นเคืองหรือไม่พอใจต่อกลไกรัฐ ถ้ากล้าหาญเกินไป ก็อาจถูกสั่งห้าม โครงการถูกสกัดขัดขวาง ความสัมพันธ์ที่มีกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และเหนืออื่นใดคือหน่วยสืบราชการลับทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยลูกล่อลูกชนอย่างมาก ภายใต้ความกดดันเช่นนี้ เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่หน่วยงานและมูลนิธิเหล่านี้รู้สึกจำเป็นต้องรอบคอบระแวดระวังและอนุรักษ์นิยม ดังนั้น เห็นได้โดยง่ายว่า เหตุใดโครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่ดีมักไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อปัญญาชนสาธารณะ แต่มักเน้นโครงการวิจัยแบบเทคโนแครตหรือโครงการขนาดเล็กๆ ที่ไม่น่าจะสร้างปัญหา ทั้งต่อหน่วยงานและมูลนิธิเอง รวมทั้งเยาวชนที่พวกเขาส่งเสริมและให้ทุนสนับสนุนด้วย

ภายในรัฐหรือกลุ่มพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัฐ มักมีกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจในการยับยั้ง (veto-groups) ซึ่งเราควรให้ความสนใจ ผมขอยกตัวอย่างจากแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการศึกษาของมูลนิธิ Nippon Foundation ในอินโดนีเซีย กลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจยับยั้งกลุ่มสำคัญคือกองทัพและนักการเมืองมุสลิม ผมคิดไม่ออกเลยว่ามีหนังสือดีๆ ที่เขียนเกี่ยวกับกองทัพอินโดนีเซีย (ในระดับชาติ) สักเล่มเดียวตีพิมพ์ออกมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเขียนโดยนักวิชาการชาวอินโดนีเซียหรือชาวต่างประเทศ งานเขียนที่ดีที่สุดส่วนใหญ่เท่าที่มีอยู่มาจากโลกของเอ็นจีโอ เช่น องค์กรนิรโทษกรรมสากล องค์กร Indonesia Watch ตลอดจนเอ็นจีโอท้องถิ่นเล็กๆ แต่งานเขียนเหล่านี้ไม่เป็นระบบมากนักและมักเน้นไปที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับต่างๆ และในท้องที่ต่างๆ มากกว่า แต่การศึกษาอาณาจักรธุรกิจอันกว้างใหญ่ของกองทัพ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เป็นเรื่องต้องห้ามไม่มากก็น้อย คุณอาจคิดว่า มันน่าสนใจที่จะศึกษาสภาพการณ์อันแปลกประหลาดของอินโดนีเซีย ประเทศที่อ้างว่ามีคนมุสลิมถึง 90% แต่คะแนนเสียงรวมกันของพรรคการเมืองมุสลิมทั้งหมดในช่วงสิบปีที่ผ่านมาไม่เคยเกินครึ่ง หรือทำไมทั้งๆ ที่อิทธิพลของศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่เกียรติภูมิของนักการเมืองมุสลิมกลับตกต่ำอย่างที่สุด? มีแต่ความเงียบเป็นคำตอบ

ในประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจยับยั้งมากที่สุดคือศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งประสบความสำเร็จเสมอมาในการสกัดยับยั้งกฎหมายการหย่าร้างที่ก้าวหน้า ทำให้การแยกทางของคู่สมรสนับไม่ถ้วนสร้างความลำบากยากแค้นแสนสาหัสต่อผู้หญิงและเด็ก ศาสนจักรยังขัดขวางการเผยแพร่วิธีการและเครื่องมือในการคุมกำเนิด ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดปัญหาการขยายตัวของประชากรจนควบคุมไม่ได้ในประเทศที่ยากจนข้นแค้นและมีการอพยพของแรงงานจำนวนมาก แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ด้วย ทรัพย์สินทั้งหมดและงบประมาณภายในของพระคาทอลิกเป็นความลับที่เก็บงำมิดชิด ผมนึกไม่ออกว่ามีหนังสือแม้สักเล่มเดียวที่ตรวจสอบผลประโยชน์และนโยบายของศาสนจักรอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย

ในประเทศมาเลเซีย กลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจยับยั้งอย่างสำคัญคือกลุ่มคณาธิปไตยภายในพรรคอัมโน ซึ่งครองอำนาจมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มนี้อาศัยกฎหมาย “ความมั่นคง” ภายในที่เข้มงวดเด็ดขาด ซึ่งเป็นสิ่งตกค้างจากยุคอาณานิคมอังกฤษ แต่มีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้กดขี่ฝ่ายกบฏ ผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้ไม่พอใจรัฐบาล ทั้งหมดนี้อาศัยข้ออ้างบังหน้าในการรักษาความสงบของสังคม ความรู้รักสามัคคีของชาติและความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ จริงอยู่ ทุกวันนี้พรรคอัมโนอยู่ในภาวะตกต่ำ สืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง กลุ่มผู้นำที่ไร้ความสามารถและฉ้อฉล รวมไปถึงความเบื่อหน่ายของประชาชนจริงอยู่ มีเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่กระตือรือร้น มีเอ็นจีโอที่ทำงานต่อต้านการกีดกันด้านเชื้อชาติ โดยเฉพาะกับคนกลุ่มใหญ่ชาวอินเดียที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ฯลฯ แต่การโจมตีซึ่งหน้าต่อปัญหาการคอร์รัปชั่น ความไร้ประสิทธิภาพ ความหน้าไหว้หลังหลอก ทัศนคติแบบเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ของชนชั้นนำในพรรคอัมโนเองนั้น ยังไม่มีหรอก ถึงแม้ว่านักวิชาการจะมีความกล้ามากขึ้นทีละน้อยๆ ก็ตาม

ท้ายที่สุดคือประเทศไทยกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจยับยั้งในประเทศนี้คือ กลุ่มที่อยู่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดเฉียบขาด

-----------------------------------------------------skip--------------------------------------------------------

แต่ผลกระทบที่ลึกซึ้งกว่านั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดในโลกวิชาการ ตัวอย่างเล็กๆ แต่บอกอะไรเรามากมายตัวอย่างหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่จัดทำใส่กรอบสวยงามวิจิตรบรรจงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยนับตั้งแต่ต้นกำเนิดอันคลุมเครือเมื่อ 800 ปีก่อนมาจนถึงปัจจุบันเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างแท้จริงก็คือ นิทรรศการถาวรนี้ถวายเป็นเกียรติแด่บุคคลเพียงสี่ห้าคน และทุกพระองค์คือพระมหากษัตริย์อันทรงเป็นที่เคารพรักยิ่ง ไม่มีนักเขียน นายพล นายแพทย์ กวี นักวิทยาศาสตร์ พระ ผู้พิพากษา นักปรัชญา นักสังคมสงเคราะห์หรือจิตรกรแม้แต่คนเดียว ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงผู้หญิง นิทรรศการเช่นนี้เป็นสิ่งที่นึกคิดไม่ได้เลยในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์หรือกระทั่งในมาเลเซียเรื่องแบบเดียวกันนี้ แต่ในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่า สามารถพบเห็นได้ในสาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าในประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วรรณคดีประจำชาติ รัฐศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา ฯลฯ แน่นอน มีวิญญาณเสรีอยู่บ้าง รวมทั้งอาจารย์บางคนที่อาวุโสจนน่าจะเกษียณได้แล้ว แต่ภาพรวมยังห่างไกลจากความน่ายินดี

เมื่อได้สาธยายเหตุผลข้างต้นไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นท้าทายให้เกิดข้อถกเถียง เหตุผลที่ว่าการสร้างความเป็นวิชาชีพและความเป็นพาณิชย์นิยมของมหาวิทยาลัย อำนาจที่เพิ่มพูนมากขึ้นของระบบราชการและหน่วยงานตรวจพิจารณาข่าวสาร (เซนเซอร์) รวมทั้งแนวโน้มของคณาธิปไตยในชนชั้นนำระดับรัฐ-ชาติ พื้นที่ที่เหลือให้ปัญญาชนสาธารณะจึงค่อนข้างจำกัดมาก อย่างน้อยก็ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ผมขอพูดสรุปสั้นๆ อีกสักเล็กน้อยว่าทำไมสำหรับปัญญาชนสาธารณะ หนังสือยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์กับข้อเขียนในคอลัมน์เป็นงานเขียนที่มีอายุสั้น มันถูกกลืนหายไปทันทีที่ฉบับวันต่อไปออกมา โทรทัศน์อาจมีช่วงขณะที่มีชีวิตชีวาแจ่มชัด แต่ไม่มีใครดูรายการของปีที่แล้วหรอก บางครั้งภาพยนตร์ก็เป็นสื่อที่ยอดเยี่ยม แต่นอกจากผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน คนส่วนใหญ่ก็ดูหนังแต่ละเรื่องแค่ครั้งสองครั้ง อินเทอร์เน็ตให้ชั่วขณะที่ปลดเปลื้องจากพันธนาการ แต่การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารมีมากเกินไป อีกทั้งข้อความในบล็อกเฟซบุ๊ก ฯลฯ ก็คงอยู่ได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว มีความหมายเฉพาะชั่วขณะนั้นๆ แต่หนังสือที่ดีสามารถอ่านซ้ำได้ครั้งแล้วครั้งเล่า หนังสือสามารถคงอยู่ คืนชีวิตได้ตลอดระยะเวลายาวนาน เรายังคงสามารถอ่านผลงานของท่านผู้หญิงมูราซากิด้วยความเพลิดเพลินและได้คติสอนใจ เช่นเดียวกับงานประพันธ์ของโฮเซริซัล, มิลตัน, ฮาฟิซ, วอลแตร์ ฯลฯ หนังสือให้พื้นที่ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ซับซ้อนและยอกย้อน สามารถอ่านเงียบๆ ในใจ และไม่ระบุเจาะจงผู้อ่านไว้ล่วงหน้า ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้จากหนังสือ ณ ที่นี้ ผมอยากกล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายดังที่มูลนิธิ Nippon Foundation สนับสนุนนั้น เป็นสิ่งที่ควรแก่การยกย่องและมีคุณค่าอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม มันมีความหมายเฉพาะในกลุ่มที่เข้าใจกันเองและมีความคิดเกี่ยวกับปัญหาคล้ายๆ กันเท่านั้น แต่ในทัศนะของผม นี่ก็ยังไม่เหมือนกับคุณูปการของปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งโดยหลักการแล้วย่อมพูดกับใครก็ได้และพูดกับทุกๆ คน ปัญญาชนสาธารณะมีผู้อ่าน ซึ่งอาจไม่เหมือนกับการมีเครือข่ายที่ใกล้ชิดแนบแน่น แต่ทุกสังคมพึงมีทั้งสองอย่าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net