Skip to main content
sharethis

บทสนทนาถึงการเปลี่ยนผ่านของชีวิตและสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำหลังจากออกจากคุกซึ่งจองจำเขาไว้เป็นเวลาเกือบปีครึ่ง ด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

วันที่ 11 ก.ค. ทีมข่าวพิเศษ ประชาไทมีโอกาสสนทนากับพระเขมจิตโต (สุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งผ่านการอุปสมบทในช่วงเช้าของวันเดียวกันวัดชลธารบุญญาวาส ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม

เราสนทนาถึงการเปลี่ยนผ่านของชีวิตและสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำหลังจากออกจากคุกซึ่งจองจำเขาไว้เป็นเวลาเกือบปีครึ่ง ด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

พระเขมจิตโตกล่าวตั้งแต่ช่วงแรกของการสนทนาว่า “ในทางโลก(เรื่องการเมือง) อาตมาก็จะไม่ขอพูดอะไรอีก เพราะอะไรก็ได้รู้ได้เห็นกันหมดแล้ว” พร้อมกล่าวถึงหน้าที่ของตนเองขณะนี้ว่า “ของชาวพุทธคือการเผยแพร่ธรรมะเป็นธรรมทาน เพราะถือว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ธรรมะคือหนทางพ้นทุกข์ การช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นทุกข์คือกุศลบุญที่ยิ่งใหญ่”

 IMG_0920

ประชาไท: ที่หลวงพี่ว่าการช่วยคนจากความทุกข์เป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่นั้น สำหรับคนที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์เรื่องการเมืองจะช่วยได้ไหม ช่วยอย่างไร

พระเขมจิตโต: ความจริงแล้วพุทธศาสนาสอนไม่ให้เอาทุกข์เข้ามาใส่ตัวหรืออยู่กับทุกข์แต่ไม่ให้ทุกข์ พูดง่ายๆ คืออย่าเอาความทุกข์ของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตน แต่สิ่งที่อาตมายังคิดเป็นนิวรณ์อยู่บ้าง(กิเลสระดับกลางที่เป็นอุปสรรคของผู้ปฏิบัติ) คือ สงสารคนที่ยังอยู่ในความทุกข์จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะพวกเขาคือประชาชนผู้บริสุทธิ์แต่กลับต้องมารับเคราะห์อย่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก การช่วยเหลือพวกเขาให้ลดหรือพ้นจากความทุกข์ คือ มหากุศลบุญ

สิ่งที่หลวงพี่จะช่วยได้คือ อยากให้พวกเขาเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง ชีวิตเราเป็นของไม่เที่ยง เป็นของสมมุติ ยึดติดมากก็ทุกข์มาก เมื่อเราไม่ยึดติดเราก็จะไม่ทุกข์ สรุปคือต้องยอมรับกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้น จากการสูญเสียอิสรภาพ พิการ สูญเสียคนที่รัก ฯลฯ ให้พิจารณาถึงโลกธรรม 8 คือธรรมทีอยู่คู่โลกที่ทุกคนจะต้องประสบ ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เราไม่มีทางหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ไปได้เพราะมันเป็นธรรมชาติของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นก็ให้พิจารณามาเป็นสิ่งที่สมมุติให้เป็นเพราะเรากำลังอยู่ในโลกของการสมมุติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเราคิดได้เช่นนี้เราก็ก็ปล่อยวางจากมัน อย่าไปทุกข์กับมัน ให้ถือว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเป็นเวรกรรมของเราเอง เมื่อได้ใช้แล้วก็หมดเวรกันไป และขอให้อโหสิกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำต่อเรา เพื่อเราจะได้สบายใจและมุ่งหน้าปฏิบัติธรรมต่อไป

 

ประชาไท: หลวงพี่เคยกล่าวว่าหากออกจากคุกได้แล้วก็จะบวช เมื่อได้บวชแล้วท่านรู้สึกอย่างไร
พระเขมจิตโต: ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตอาตมาก็ได้มาถึง คือการได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์จะได้ปฏิบัติธรรมเต็มที่ คือการเดินมรรค 8 เต็มกำลังในสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การปฎิบัติธรรม หลวงพี่จะต้องตัดจากทางโลกโดยสิ้นเชิงเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (อริยทรัพย์) คือการเดินขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต แต่ก็ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาประกอบกันด้วย ทางโลกและทางธรรมมันจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทางโลกผู้คนจะแข่งกันเพิ่มกิเลส (ความอยาก) และอาหารที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสคือการก่อธรรมต่างๆ แต่ทางธรรมนักปฏิบัติธรรม (นักรบกิเลส) จะแข่งกันฆ่าทำลายล้างกิเลส ชัดเจนว่ามันจะเดินสวนทางกัน

 

ประชาไท: สิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไปคืออะไร
พระเขมจิตโต: ไม่อยากพูดถึงอนาคต เพราะพุทธศาสนาคือปัจจุบัน หน้าที่ขณะนี้ ชาวพุทธคือเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นธรรมทาน การให้ธรรมทานเป็นการให้ที่สูงสุด เป็นการให้อริยทรัพย์ ถ้าได้กลับออกมาก็คงจะเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป ตอนนี้พยายามดึงญาติพี่น้องเดินเข้าสู่ทางธรรม ยอมรับว่าให้คนเห็นธรรมเป็นเรื่องที่ยากมาก หากเขาสร้างบุญบารมีมาก่อนจะไม่มีทางได้เห็นธรรมหรอก อาจจะมืดไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตก็ยังมีให้เห็นมากต่อมาก ส่วนมากเราก็ต้องปล่อยวางไป ทุกวันนี้อาตมาอยากจะหนีไปสู่ที่สงบอยางเดียว การปฏิธรรมในที่ไม่สัปปายะก็เหมือนขับเรืออยู่ในคลื่นลมแรง แต่พระที่เก่งแล้วก็คือจะอยู่อย่างไรก็ได้ ส่วนยังคงไร้เดียงสาอยู่มาก

 

ประชาไท: น้องชายบอกว่า หลวงพี่เปลี่ยนไปเยอะ
พระเขมจิตโต: เห็นธรรมแล้วก็อยู่เป็น ถึงจะอยู่ในทุกข์แต่จะไม่เอาทุกข์ ปกติทางธรรมจะเดินสวนทางกับทางโลก คือ ทางโลกเป็นการสะสมกิเลสซึ่งจะเข้ามาได้ทุกทิศทุกทาง หากเปรียบจิตเป็นเหมือนบ้านกิเลสก็คือขโมยที่จ้องจะเข้าบ้านอยู่ตลอดเวลาเมื่อใดที่เราเผลอ ในทางโลก ที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น คือเป็นการแข่งขันกันสร้างกิเลส ตัวหล่อเลี้ยงกิเลสก็คือสร้างเวรกรรม แต่ในทางพุทธศาสนาเดินในทางตรงกันข้าม คือนักปฏิบัติธรรมจะแข่งกันทำลายล้างกิเลส ด้วยเหตุนี้จิตใจของเราจะต้องเดินสวนทางกับเขา แต่จะทำอย่างไรถึงจะอยู่กลมกลืนด้วยกัน ทุกวันนี้ถึงเราจะไม่มีงานทำเราก็ไม่ทุกข์ใจเลยเพราะรู้จักพอ พูดง่ายๆ คืออยู่เป็น คนรวยก็คือคนที่รู้พอ คนจนก็คือคนที่ไม่รู้จักพอ

 

ประชาไท: สังคมไทยบอกว่าเป็นสังคมพุทธ แต่มีความเกลียดแค้นกันมาก
พระเขมจิตโต: ซึ่งก็ไม่ใช่พุทธจริง พุทธศาสนาสอนให้ทำลายกิเลส แต่อำนาจคือตัวกิเลสที่หยาบที่สุด ใยผู้คนมุ่งแสวงหาอำนาจกันเล่า อำนาจให้คนทำได้ทุกอย่าง ทำให้ฆ่าคนได้ ต้นเหตุปัญหาของมันคือ กิเลสอำนาจ ประชาชนที่รับเคราะห์เป็นปลายเหตุของปัญหาหรือพูดง่ายๆคือเหยื่อ เขาไม่รู้เรื่องอะไร แต่กลับต้องมารับความทุกข์เต็มๆ ก็เลยคิดว่าใครที่ช่วยให้คนเหล่านี้พ้นทุกข์ก็จะเป็นกุศลผลบุญที่ยิ่งใหญ่

 

ประชาไท: ที่ว่าช่วยประชาชนนั้น ต้องช่วยอย่างไร
พระเขมจิตโต: ในขั้นต้นเขาต้องช่วยตัวเองให้หลุดจากความทุกข์คือเข้าถึงธรรม แค่นี้ความทุกข์ก็จะบางเบาลงไปมาก แต่คนที่มีอำนาจในการช่วยเขาให้เขาพ้นทุกข์ ก็คือช่วยเยียวยา ปลดปล่อยเขาสู่อิสรภาพ และเยียวยาผู้รับผลกระทบ ทั้งความตาย ความพิการ การสูญเสียคนที่รักไป ถ้าทำได้ก็เป็นกุศลผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ยังไงเราก็เป็นเพื่อนมนุษย์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน
ในทางกลับกัน คนที่ไปทำบาปกับพวกเขาก็จะได้อกุศลผลบุญตอบกลับมาเหมือนกันเพราะไม่มีใครหนีพ้นกฎแห่งกรรมไปได้
วิธีการแก้ไขปัญหาที่ง่ายและดีที่สุด คือการเอาคำสอนท่านพุธทาสมาปฏิบัติ คือ มองในส่งดี “เขาจะดีบ้าง เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอาสิ่งที่ดี เขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู สิ่งที่ชั่วอย่าไปรู้เรื่องเขาเลย หากจะเที่ยวหาส่วนดี แต่ฝ่ายเดียว อย่าเที่ยวหาเหนื่อยเปล่าสหายเอย เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง สรุปง่ายๆๆ คือ หากคนเราคุยแต่เรื่องดีๆของกันและกัน ก็จะไม่ทะเลาะและมีปัญหากัน สังคมก็จะสงบสุขไปเอง

 

หมายเหตุ ติดตามคลิปสัมภาษณ์พิเศษ พระเขมจิตโต “ธรรมจากคุก” ได้ที่ประชาไท เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net