Skip to main content
sharethis

ร้องแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน ชี้สำนักงานประกันสังคมกีดกันผลักภาระให้คนงาน พร้อมจวกแนวคิดกองทุนเงินทดแทนพิเศษให้เอกชนจัดการละเมิดเจตนารมณ์กฎหมายแรงงาน-รัฐธรรมนูญ-ปฏิญญาสากลฯ

วานนี้ (12 ก.ค.53) เวลา 14.00 น.ที่กระทรวงแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรแรงงานไทยและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือในข้อห่วงใยต่อนโยบายการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทน (กองทุนพิเศษ) สำหรับแรงงานข้ามชาติในรูปแบบของการประกันชีวิตที่ให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเสนอให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน

ทั้งนี้ หนังสือเรื่องขอให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระบุว่า จากการทำกิจกรรมของ สรส. มสพ. คสรท. องค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ประสบอันตรายจากการทำงาน และข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานถูกปฏิเสธไม่สามารถรับเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ 

โดยทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้อ้างเงื่อนไขตามหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม ที่ รส.0711/ว751 ลงวันที่ 25 ต.ค.2544 เรื่อง การให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยตามหนังสือเวียนดังกล่าว แรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ก็ต่อเมื่อมี 1) ใบอนุญาตทำงาน 2) หนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 3) นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน 4) แรงงานข้ามชาติต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้ นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างเอง โดยที่ลูกจ้างจะขอรับเงินทดแทนและสิทธิใดจากกองทุนเงินทดแทนไม่ได้ 

เงื่อนไขตามหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ทำให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้ โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักไม่ได้รับเงินทดแทนจาก นายจ้าง หรือได้รับในจำนวนที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนดเป็นอย่างมาก อีกทั้ง กระบวนการ ขั้นตอนในการเรียกร้องสิทธิที่ไม่ชัดเจนและเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิ รวมทั้งการไม่มีสภาพบังคับเพียงพอของคำสั่งของ สปส.ทำให้แรงงานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยตนเอง หรือไม่ได้รับเงินทดแทนแต่อย่างใด

สรส. มสพ. คสรท. องค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชน จึงเห็นว่าการกำหนดแนวปฏิบัติของ สปส.ที่มีลักษณะกีดกันแรงงานข้ามชาติ และนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ให้เข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน และผลักให้แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติเองก็สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้ประเทศไทย และสมควรที่จะได้รับความมั่นคงในชีวิตนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ แนวปฏิบัติดังกล่าวยังขัดต่อเจตนารมณ์และขัดกับกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ 

หนังสือระบุด้วยว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคนอย่างเคร่งครัดและไม่เลือกปฏิบัติ และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายแรงงานของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี จึงเรียนเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณาดำเนินการ หรือสั่งการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 

1.ทบทวน แก้ไข และเพิกถอนระเบียบอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนของ สปส. 2.หาแนวทางร่วมกันกับกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนได้ทุกคน 3.กำหนดนโยบายของสำนักงานประกันสังคมที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม สำหรับแนวทางการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารประกอบคำร้องทั้งนี้เพื่อลดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเอกสารประกอบ และกำหนดหน่วยงานที่แปลและรับรองเอกสารที่แปลแล้ว โดยเฉพาะในกรณีที่ทายาทของผู้เสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน อาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง ผู้ที่รับมอบอำนาจจะพบอุปสรรคด้านเอกสารทำให้ไม่สามารถดำเนินการแทนได้ หรือต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะสามารถดำเนินการได้

4.ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน สปส.ควรมีนโยบายที่จะผ่อนผันให้แก่ญาติ หรือทายาทของผู้เสียชีวิตเพื่อที่จะรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากประเทศต้นทางโดยให้ สปส. ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนก่อน และจ่ายเงินทดแทนให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตเมื่อสามารถนำเอกสารมาแสดงได้ 5.กำหนดนโยบายของสำนักงานประกันสังคม ให้เอื้อต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อการพิจารณาคำร้องของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริง หรือหลักฐานที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาด้วยตนเอง 6.กำหนดนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานข้ามชาติ เช่น การมีเอกสารเผยแพร่ความรู้เป็นภาษาของแรงงาน และการมีล่ามภาษาของแรงงานข้ามชาติในสำนักงานเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถแจ้งเรื่องได้

7.กำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างสำนักงานประกันสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมการจัดหางาน เพื่อประกันให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ได้รับอวัยวะเทียม และการฝึกอาชีพเพื่อสามารถประกอบอาชีพใหม่ ในกรณีที่อาการบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานแบบเดิมได้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการหางานใหม่ 8.กำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติโดยโรงพยาบาลทุกแห่ง สำหรับกรณีที่ลูกจ้างทั้งแรงงานในชาติและแรงงานข้ามชาติ เข้ารักษาพยาบาลเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานนั้น ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง แต่เป็นหน้าที่ของนายจ้างและสำนักงานประกันสังคม หรือโรงพยาบาล ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลนี้แทนลูกจ้าง กล่าวคือ การที่แรงงานข้ามชาติ (รวมทั้งแรงงานไทย) ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน (ต้องให้นายจ้าง สปส.หรือโรงพยาบาลเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปก่อน)

9.กำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และตำรวจ เพื่อให้มีการส่งเรื่องโดยอัตโนมัติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน โดยให้ส่งเรื่องไปที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและตำรวจสำหรับการสืบสวนสอบสวน/การฟ้องร้องดำเนินคดี และส่งเรื่องต่อไปยัง สปส. สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับเงินทดแทน 10.กำหนดนโยบายร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผ่อนผันให้สิทธิอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงานข้ามชาติที่พิการเนื่องจากอุบัติเหตุจากการทำงาน และให้มีสิทธิในการพำนักอย่างถาวรในประเทศไทยจนกว่าประเทศต้นทางจะสามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของผู้พิการได้อย่างเหมาะสม

11.ให้มีการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายด้านการคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และเพื่อเป็นการตรวจสอบนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวะอนามัยในการทำงาน 12.กำหนดนโยบายจากกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการระดมความเห็นระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้เพื่อเสนอแนะยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนั้นยังมีการออกแถลงการณ์เรื่องให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน โดยระบุว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะหาทางออกด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่แรงงานข้ามชาติโดยให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนเข้ามาบริหารจัดการกองทุนตามแนวคิดแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานทุกฉบับ และ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และปฏิญญาสกลขององค์การสหประชาชาติ

แถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ทบทวน แก้ไข และเพิกถอนระเบียบอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน 2.หาแนวทางร่วมกันจากภาคส่วนต่างเพื่อหาแนวปฏิบัติและแก้ไขปัญหาเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิของกองทุนเงินทดแทน 3.ให้ยกเลิกกระบวนการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติเพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย

 

 
แถลงการณ์เรื่อง ให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน
 
ด้วยสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในขณะนี้อยู่ในภาวะที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในหลายกรณีและประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังถูกนานาชาติติดตามอย่างใกล้ชิดและมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่รัฐบาลไทยปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน
 
กองทุนเงินทดแทนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.๒๕๓๗ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างโดยไม่จำกัดว่าเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานให้แก่นายจ้างไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนสำหรับการบริหาร การจัดการและการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ เสียชีวิต รวมทั้งการกำหนดโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ดูเหมือนพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองลูกจ้างกำลังมีการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์และแปรความกฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายละเมิดสิทธิแรงงานของลูกจ้าง
 
แรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นลูกจ้างและจะต้องได้รับการคุ้มครองเสมอแรงงานไทยอันเป็นหลักการที่กฎหมายแรงงานทุกฉบับ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้เรื่องความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเป็นชนชาติไหนที่มาอาศัยหรือทำงานในประเทศไทย รวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งเป็นหลักการใหญ่ที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม แต่ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติถูกปฏิเสธไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้ โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้อ้างเงื่อนไขหนังสือเวียนที่ รส.๐๗๑๑/ว๗๕๑ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจะได้รับเงินทดแทนได้ก็ต่อเมื่อมี ๑)ใบอนุญาตทำงาน ๒)หนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ๓)นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ๔)แรงงานข้ามชาติต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเองซึ่งข้อมูลจากการสำรวจพบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง และไม่สามารถรับเงินทดแทนและสิทธิใด ๆ จากกองทุนเงินทดแทน และทำให้แรงงานข้ามชาติกว่า ๒ ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของกองทุนเงินทดแทนได้ และแม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ทร. ๓๘/๑ มีบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดยกรมจัดหางานแล้วก็ตาม แต่สำนักงานประกันสังคมก็ยังคงปฏิเสธสิทธิกองทุนเงินทดแทนของแรงงานข้ามชาติ
 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมากระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะหาทางออกด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่แรงงานข้ามชาติโดยให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนเข้ามาบริหารจัดการกองทุนตามแนวคิดแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานทุกฉบับ และ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และปฏิญญาสกลขององค์การสหประชาชาติตามที่กล่าวมา
 
ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทยจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้
 
๑.ทบทวน แก้ไข และเพิกถอนระเบียบอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม
 
๒.หาแนวทางร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆทั้งรัฐบาล องค์การแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนแรงงานข้ามชาติเองเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ และการแก้ไขปัญหาเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน
 
๓.ให้ยกเลิกกระบวนการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเพราะเป็นการละเมิดกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ด้วยความสมานฉันท์
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF-Thai)
สหพันธ์แรงงานการบริการและสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ (PSI-Thai)
สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป (ICEM-Thai)
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมเหล็กโลหะระหว่างประเทศ (IMF-Thai)
เครือข่ายสหภาพแรงานสากล (UNI-Thai)
สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและไม้ระหว่างประเทศ (BWI-Thai)
กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (R.A.T.G.)
กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คสรพ.)
สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา (USCRI)
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (M.W.R.N.)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net