“อภิสิทธิ์” ยันยังไม่ขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 8% ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ระบุขณะนี้ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ผ่าน ครม.แล้ว ขณะนี้รอเข้าสภาฯ ย้ำยังไม่มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่มีความจำเป็น แค่อยู่ในขั้นตอนศึกษา ชี้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ ตอนเริ่มต้นว่าจะใช้ชั่วคราว แต่ก็ใช้มา 11 ปีแล้ว

วานนี้ (12ก.ค.) เวลา 13.50 น. ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงถึงกรณีการปรับโครงสร้างภาษีว่า ขณะนี้งานด้านภาษีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเบื้องต้นมีเรื่องภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าได้ข้อยุติคือผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนปัญหาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั้นยังอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงการคลังกำลังศึกษา เนื่องจากต้องการให้ฐานภาษีกว้างขึ้น และภาษีมีความสลับซับซ้อนน้อยลง อาทิ ขณะนี้มีระบบของการส่งเสริมการลงทุนจึงกลายเป็นว่าคนที่ได้รับยกเว้นภาษีก็ได้รับยกเว้นเลย ส่วนคนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมก็เสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทั้งเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและจะเกี่ยวโยงไปถึงภาษีในส่วนอื่นๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ทั้งนี้ ตนได้หารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาอย่างต่อเนื่อง และคิดว่ายังต้องใช้เวลาในการหาข้อยุติ 

ส่วนจะมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เปอร์เซ็นต์ตามที่มีการศึกษาหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีการขึ้นภาษี และในเวลานี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะอยู่ในช่วงกำลังประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นคงยังไม่มีการเพิ่มขึ้น เพียงแต่เป็นข้อเท็จจริงคือภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ตอนเริ่มต้นระบุว่าจะใช้ชั่วคราว แต่ก็ใช้มา 11 ปีแล้ว 

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในปีหน้า (พ.ศ.2554) ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวก็จะยังไม่ปรับเพิ่ม รวมทั้งต้องดูทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีทั้งหมดก่อน ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีมีหลายส่วน เพราะมีทั้งเรื่องท้องถิ่นด้วย เหมือนภาษีที่ดินที่ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน หรือเพื่อความเป็นธรรมเท่านั้น แต่จะต้องดูโครงสร้างในแง่ของรายได้ท้องถิ่นเทียบกับรายได้ส่วนกลางด้วย ดังนั้นจึงมีหลายประเด็นที่จะต้องศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น เรื่องการเปิดการค้าเสรี เรื่องภาษีบาปที่ถูกนำมาใช้เป็นระบบกึ่งนอกงบประมาณ ทั้งนี้ จากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปี 

ส่วนที่ว่าการปรับโครงสร้างภาษีสอดรับกับทิศทางเรื่องการสร้างสวัสดิการจึงจำเป็นต้องสร้างระบบภาษี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะตามที่เคยระบุแล้วว่า มาตรการที่ออกไป และไปวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการคลังก็จะเห็นได้ชัดว่าที่บริหารมาฐานะทางการคลังดีกว่าที่มีการประมาณการไว้ และค่าใช้จ่ายขณะนี้จะมีการคำนวณล่วงหน้าแล้ว และเมื่อมีข้อมูลเรื่องสำมะโนประชากรที่แม่นยำมากขึ้น ก็จะยิ่งเตรียมการได้ดียิ่งขึ้น 

“ยืนยันว่าถึงอย่างไรเราก็ต้องเดินทางไปสู่สังคมที่คนไทยทุกคนมีหลักประกันความมั่นคง แต่คงไม่ใช่ในลักษณะที่รับเพียงอย่างเดียว และแนวที่รัฐบาลจัดทำเรื่องกองทุนเงินออมเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้อย่างดีที่สุดว่า เราไม่ได้คิดที่จะให้อย่างเดียว แต่ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม” นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมระบุว่ารัฐบาลไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเพิ่มสวัสดิการแล้วจะต้องเพิ่มภาษี แต่ดูในเชิงโครงสร้าง ความเป็นธรรม ลดความสลับซับซ้อนเพื่อจะเพิ่มหรือขยายฐานภาษีให้คนเสียภาษีถูกต้องมากขึ้น และลดช่องว่างการทุจริตของเจ้าหน้าที่ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับเพิ่มภาษีจะต้องเน้นให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้นำเรื่องนี้มาเป็นตัวตั้ง แต่ใช้โครงสร้างที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ และเพียงพอที่จะมีบริการพื้นฐาน ซึ่งเวลานี้เราคำนวณตัวเลขอยู่ ในโครงสร้างปัจจุบันก็ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่เห็นว่าน่าจะทำให้ดียิ่งขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้น 

ส่วนบทสรุป นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้สอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นระยะๆ ก็มีความคืบหน้าไปพอสมควร จึงอาจจะน่าได้ข้อสรุปประมาณสิ้นปี ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จก็ต้องมาศึกษาดูขั้นตอนที่จะทำในแต่ละเรื่องว่าจะต้องดำเนินการเรื่องอะไรก่อนหรือหลัง รวมทั้งจะต้องแก้ไขกฎหมายอย่างไร 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับรายจ่ายภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งเน้นเป็นรัฐสวัสดิการ และมุ่งหวังป้องกันผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง โดยการพิจารณาจะต้องจัดทำในภาพรวมคือเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายส่วนใดบ้าง และหนึ่งในข้อเสนอของ สศค.เพื่อเพิ่มรายได้คือจัดเก็บเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 7% ของมูลค่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งหากขึ้นภาษีส่วนนี้แค่ 1% จะจัดเก็บเพิ่มได้ 50,000 ล้านบาท โดยเวลาที่เหมาะสมที่ควรปรับขึ้นคือช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ

สศค.ระบุว่า ปัจจุบันหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่าVAT ของไทยจัดเก็บในระดับต่ำ โดยสิงคโปร์อยู่ที่ 7% อินโดนีเซีย เวียดนามเก็บที่ 10% ฟิลิป ปินส์ 12% อินเดีย 13% จีน 17% อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย 20% ส่วนประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการเช่น นอร์เวย์ สวีเดน เดน มาร์ก อยู่ที่ 25% แต่จะยกเลิกการลดหย่อนหรือเพิ่มVATหรือไม่นั้นถือเป็นนโยบายรัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง สศค.เพียงแต่จะเสนอ ผลการศึกษาและข้อดี ข้อเสียเท่านั้น ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของรัฐบาลไทยมาจาก VAT ประมาณ 30% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 27% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14% ภาษีสรรพสามิต 20% ภาษีศุลกากร รายได้จากรัฐวิสาหกิจและรายได้อื่น ๆ อยู่ที่ 5%

 

เรียบเรียงจาก: กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก และ มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท