Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี แปลจาก Franklin Foer, “Afterword: How to Win the World Cup,” The Thinking Fan’s Guide to the World Cup, Edited by Matt Weiland and Sean Wilsey, Harper Collins e-books, 2006.

 

โลกเรามีการปฏิวัติกันมาหลายครั้งเพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยม ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการอำนาจนิยม แต่ยังเหลือการปฏิวัติอีกอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติพึงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อชีวิตอย่างยิ่งประการหนึ่ง หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตที่ดีก็ได้ นั่นคือ การมีทีมฟุตบอลที่ชนะฟุตบอลโลก

ถ้าหากเราต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อเหตุผลนี้ เราควรสู้เพื่อสถาปนารัฐบาลแบบไหนดี? ถึงแม้ทฤษฎีการเมืองทั้งหลายชอบพูดถึงความเท่าเทียมและคุณธรรม แต่แปลกที่มันมักบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบคำถามนี้เสียที แต่หลังจากบอลโลกจัดไปแล้ว 17 ครั้ง (ตามจำนวนเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกมา ถ้านับถึงปัจจุบันก็ 19 ครั้ง--ผู้แปล) ตอนนี้เราก็มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมาย และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาพิเคราะห์ด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนที่สุดเท่าที่มีอยู่ เราก็สามารถกำหนดเงื่อนไขด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความรุ่งโรจน์ในกีฬาฟุตบอล

ขั้นแรกสุด เราต้องล้วงลึกลงไปในถังขยะประวัติศาสตร์ ระบอบคอมมิวนิสต์ถึงจะมีค่ายกักกันและนักโทษการเมือง แต่ระบอบนี้ก็ผลิตนักบอลเยี่ยม ๆ และทีมแข็ง ๆ ออกมาได้ ทีมฮังการีในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งที่ไม่เคยชนะถ้วยรางวัลอะไรเลย ไม่กี่ทศวรรษให้หลัง ใน ค.ศ. 1982 ทีมโปแลนด์ก้าวเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศบอลโลก โดยเสมอกับทีมอิตาลีของเปาโล รอสซี่และเอาชนะทีมฝรั่งเศสของมิเชล พลาตินีมาได้ ชัยชนะเหล่านี้สะท้อนออกมาในสถิติโดยรวม ในบอลโลกนัดที่แข่งกับประเทศที่ไม่ใช่ระบอบคอมมิวนิสต์ ทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้จากระบอบทุนนิยมได้มากกว่า นั่นคือ ชนะ 46 เสมอ 32 แพ้ 40

แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่า ประเทศคอมมิวนิสต์ไม่เคยชนะถ้วยเวิลด์คัพเลยสักครั้ง หลังจากดูทีมประเทศคอมมิวนิสต์เล่นได้ดีมีประสิทธิภาพในรอบแรก ๆ ของทัวร์นาเมนท์แล้ว คุณมั่นใจได้เลยว่า ทีมพวกนี้จะแพ้เมื่อเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ มีคำอธิบายมากมายว่าทำไมทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์ไม่เคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดกว่านี้ ประการแรกสุดคือ มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวแปรโลบานอฟสกี” ซึ่งมาจากชื่อของ วาเลอรี โลบานอฟสกี โค้ชผู้ยิ่งใหญ่ชาวโซเวียตและยูเครนในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 เขาเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบพื้นฐานทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลได้ เขาจึงส่งนักเทคนิคไปดูทุก ๆ เกมเพื่อประเมินนักเตะ โดยใช้พื้นฐานการคำนวณจากตัวเลข “ปฏิบัติการ” ของนักเตะ นั่นคือ การสกัด การผ่านบอล การยิง ฯลฯ การประเมินตัวเลขเหล่านี้ให้ผลลัพธ์ที่พิลึก เพราะมันทำให้การสกัดอย่างบ้าคลั่งมีความสำคัญเหนือกว่าการสร้างสรรค์เกมรุก วิธีการของโลบานอฟสกีสะท้อนให้เห็นผลเสียที่ความแข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่นของลัทธิมาร์กซิสต์ครอบงำความคิดจิตใจของคนในซีกยุโรปตะวันออก ความแข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่นแบบนี้อาจสร้างนักวิ่งหรือนักยิมนาสติกชั้นยอดได้ แต่มันไม่เอื้อต่อการสร้างผู้ชนะในกีฬาที่ต้องการการคิดเร็วทำเร็วและกล้าเสี่ยงของปัจเจกบุคคล ประการต่อมาคือความยากลำบากของการใช้ชีวิตภายใต้สัญลักษณ์ค้อนกับเคียว ยกตัวอย่างเช่น ฮังการีไม่สามารถเหนี่ยวรั้งนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างลาซโล คูบาลาและแฟแรนช์ ปุชกาช ไม่ให้หนีไปอยู่สเปนในช่วงทศวรรษ 1950

หากข้อมูลข้างต้นทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ไม่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่เป็นต่อด้านฟุตบอล ระบอบฟาสซิสต์ก็ยิ่งยากที่จะเสนอตัวมาเป็นทางเลือก รัฐบาลฟาสซิสต์เชี่ยวชาญในการสร้างสำนึกถึงความรู้รักสามัคคีในชาติ และเหนือกว่านั้นคือความรู้สึกถึงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของตน ทัศนคติเช่นนี้แม้จะไม่ค่อยน่าดึงดูดใจนักในสายตาของคนที่เป็นห่วงบ่วงใยในสิทธิมนุษยชน แต่มันช่วยสร้างบรรยากาศที่สมบูรณ์แบบสำหรับการชิงถ้วยฟุตบอลโลกทีเดียว ไม่เพียงแต่มันสามารถสร้างความเชื่อมั่นอย่างเข้มแข็งแล้ว มันยังสร้างความกลัวการพ่ายแพ้ที่ทรงพลังด้วย ใครล่ะจะอยากสร้างความผิดหวังให้ประเทศชาติที่คุกรุ่นไปด้วยความรู้สึกเร่าร้อนรุนแรงแบบนี้? หรือพูดให้ชัด ๆ ก็คือ ใครกันจะกล้าสร้างความผิดหวังให้ผู้นำประเทศที่อาจหักแขนขาคุณและจับยายคุณไปขังคุก? ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลฟาสซิสต์มักคลั่งไคล้บูชาความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย รัฐบาลพวกนี้จึงเต็มใจทุ่มเททรัพยากรในชาติจำนวนมากให้โครงการด้านกีฬา ส่วนสถิติของระบอบฟาสซิสต์ก็บอกอะไรได้ด้วยตัวมันเอง ในช่วงทศวรรษ 1930 อิตาลีของท่านผู้นำคว้าถ้วยบอลโลกมาได้สองครั้ง ฮังการีในยุคสัญลักษณ์กากบาทได้ตำแหน่งรองชนะเลิศใน ค.ศ. 1938 และเยอรมนีได้ที่สามใน ค.ศ. 1934 เช่นเดียวกับบราซิลใน ค.ศ. 1938 (ในยุคของประธานาธิบดีเชตูลิอู วาร์กัส บราซิลปกครองในระบอบกึ่งฟาสซิสต์หรือจะว่าเป็นฟาสซิสต์แท้ ๆ ก็แล้วแต่คุณไปถามใคร) โดยรวมแล้ว ระบอบฟาสซิสต์สะสมสถิติในทศวรรษนั้นอยู่ที่ชนะ 17 เสมอ 4 แพ้ 5

แต่หลังจากการล่มสลายของกลุ่มอักษะ ทีมฟุตบอลประเทศฟาสซิสต์ก็มีผลการแข่งขันที่ย่ำแย่มาก ทีมฟุตบอลของรัฐบาลหน่ออ่อนฟาสซิสต์ เช่น ทีมสเปนของนายพลฟรังโก หรือทีมอาร์เจนตินาของประธานาธิบดีเปรอง คือช่วงที่ทีมเหล่านี้ทำผลงานไม่เข้าเป้าอย่างมากในประวัติศาสตร์ของกีฬาฟุตบอล เป็นไปได้อย่างไรที่คุณเอาความสามารถของนักฟุตบอลอย่างอัลเฟรโด ดี สเตฟาโน ไปทำเสียของหมด? ทีมโปรตุเกสของนายกรัฐมนตรีซาลาซาร์ก็ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเพียงครั้งเดียวตลอดระยะเวลาที่เขาครองตำแหน่งนานถึง 36 ปี (แน่นอน โปรตุเกสสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม โดยมียูเซบิโอพาทีมไปได้ที่สาม แต่หากย้อนกลับไปในยุคของมุสโสลินีและฮิตเลอร์ จอมเผด็จการฟาสซิสต์ขนานแท้ย่อมเห็นว่าผลลัพธ์เช่นนี้เป็นเรื่องน่าขายหน้า และคงไม่ยอมอนุญาตให้ยูเซบิโอลงเล่นอยู่ในทีมไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม) อะไรคือคำอธิบายของความตกต่ำนี้? ในช่วงทศวรรษ 1930 ประเทศฟาสซิสต์เป็นมหาอำนาจที่มีอิสระในโลก เป็นระบอบการปกครองที่มีพลังดุดันที่สุดบนพื้นพิภพ แต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ความกร่างนี้ก็หายเหือดไปหมด อำนาจของกลุ่มประเทศฟาสซิสต์ต้องอาศัยการผูกพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา เมื่อไรก็ตามที่คุณกลายเป็นหมาน้อยของพวกอเมริกัน ก็ยากที่จะกระตุ้นเจตจำนงอยากเอาชนะแบบเดิม ๆ กลับคืนมา

มีผลลัพธ์สำคัญอีกประการที่ตามมาจากการค้นพบนี้ ไม่มีประเทศไหนเคยชนะถ้วยเวิลด์คัพขณะที่กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือเตรียมตัวเข้าสู่ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนในชาติ ทีมเยอรมนีและยูโกสลาเวียต่างก็ล้มลุกคลุกคลานในช่วงก่อนการสังหารหมู่ประชาชน (ทีมไทยเพิ่งตกรอบแรกซีเกมส์ครั้งล่าสุดใช่ไหม—ผู้แปล) ในฟุตบอลโลกปี 1938 ทีมเยอรมนีแข่งไม่ชนะเลยแม้แต่เกมเดียว ทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลของยูโกสลาเวียแพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศในบอลโลก 1990 เห็นได้ชัดว่า ความกระหายหาเลือดของชาวยิวและชาวมุสลิมได้ดูดเอาพลังชีวิตไปจากภารกิจการล่าประตูในนัดที่แข่งกับอาร์เจนตินาและอิตาลีไปเสียหมด

ตอนนี้ เราได้พิจารณารูปแบบที่พบเจอมากที่สุดสองรูปแบบของระบบเศรษฐกิจแบบสั่งการรวมศูนย์ไปแล้ว คราวนี้ก็เหลือแบบที่สาม นั่นคือ รัฐบาลทหารแบบโบราณนั่นเอง คุณไม่ค่อยเจอระบอบการปกครองแบบนี้มากนักในโลกปัจจุบัน แต่รัฐบาลทหารมีประวัติศาสตร์อันยอดเยี่ยมในการคว้าถ้วยบอลโลก รัฐบาลทหารบราซิลและอาร์เจนตินาประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทัวร์นาเมนท์บอลโลกในช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่รัฐบาลทหารจะโดดเด่นในแง่นี้ เพราะรัฐบาลทหารเป็นการปกครองโดยหมู่คณะ (กองทัพ) ซึ่งชายชาติชาตรีผู้เข้มแข็งคือส่วนหนึ่งของกลไกในระดับที่ใหญ่กว่าอยู่แล้ว ทีมฟุตบอลที่ดีนั้น ในแง่หนึ่งก็คือรัฐบาลทหารนั่นเอง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารมีสถิติที่ดีมาก นั่นคือ คว้าถ้วยฟุตบอลโลกมาได้ถึงสามครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถอ้างว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากการขาดความเข้มข้น เพราะในบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารนั้น ยังมีกลุ่มที่ล้าหลังอยู่มาก เช่น ปารากวัยและเอลซัลวาดอร์ เมื่อเทียบกันโดยปริมาณแล้ว ความสำเร็จของรัฐบาลทหารก็ยังสู้ไม่ได้กับรัฐบาลฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยรู้จักกันมา นั่นคือ รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมากกว่ารัฐบาลทหาร นั่นคือ 6 ครั้งด้วยกัน แม้แต่ทีมสังคมนิยมประชาธิปไตยที่แย่ที่สุด เช่น เบลเยียม ฟินแลนด์ ก็ยังชนะเกมการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอกว่าทีมจากประเทศอำนาจนิยม

เพื่อเข้าใจความสำเร็จนี้ เราต้องทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตยมีรากเหง้ามาจากสังคมอุตสาหกรรมหนัก และนี่เป็นข้อได้เปรียบมาก ทุกประเทศที่ชนะถ้วยเวิลด์คัพล้วนแล้วแต่มีฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่แน่นหนา ฐานอุตสาหกรรมนี้คือแหล่งที่รวมของชนชั้นกรรมาชีพในเมืองจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นแหล่งป้อนนักเตะให้ทีมฟุตบอลต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมยังผลิตความมั่งคั่งได้มาก กลายเป็นแหล่งทุนสนับสนุนการแข่งขันระดับสโมสรในประเทศ ทำให้นักเตะในประเทศเหล่านี้พัฒนาตัวเองภายใต้การแข่งขันที่มีคุณภาพสูง แม้ว่าบุคลิกแบบรัฐบาลทหารอาจนำไปใช้ได้ดีในสนามแข่งขัน แต่ทัศนคติแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยกลับจับคู่กับฟุตบอลได้เหมาะเหม็งยิ่งกว่า ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยยกย่องความเป็นปัจเจกบุคคลนิยม ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนสำนึกของความสมานฉันท์สามัคคีอย่างไม่มีเสื่อมคลาย ช่างเอื้อต่อการสร้างทีมฟุตบอลที่เหนียวแน่นพร้อมกับมีช่องว่างสำหรับนักเตะระดับสตาร์

กรอบกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านทฤษฎีการเมืองที่นำเสนอไปข้างต้น ไม่เพียงใช้เป็นคู่มือเพื่อการปฏิวัติได้เท่านั้น ยังสามารถใช้เติมคำทำนายทีมชนะในแต่ละทัวร์นาเมนท์ได้ด้วย ผู้เขียนขอเสนอว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขันแต่ละนัดในฟุตบอลโลกนั้น สามารถพยากรณ์ได้ด้วยการวิเคราะห์เงื่อนไขด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศคู่แข่งในสนาม นี่ไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่ไม่มีทางผิดพลาด แต่ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นวิธีการพยากรณ์การแข่งขันแบบใดที่ดีไปกว่านี้ นอกเหนือจากการใช้ลำดับชั้นข้างต้นเป็นแนวทางในการเลือกทีมชนะ กล่าวคือ ทีมประเทศฟาสซิสต์จะชนะคอมมิวนิสต์ รัฐบาลทหารจะชนะฟาสซิสต์ สังคมนิยมประชาธิปไตยจะชนะรัฐบาลทหาร ยังมีกฎเหล็กอื่น ๆ อีกหลายข้อที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ดังนี้:


1. EU ย่อมาจาก Experience Unlimited (ประสบการณ์ไร้ขีดจำกัด)
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1992 สหภาพยุโรป (อียู) ก็ทำสถิติมีชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลโลกถึง 44 นัด เสมอ 24 และแพ้ 36 นัด แน่นอน ยุโรปตะวันตกครองความเป็นใหญ่ในทัวร์นาเมนท์เสมอ แต่การแข่งขันในระยะหลังมีสถิติที่ดีกว่าในอดีตขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟีฟ่าขยายทีมเข้ารอบสุดท้ายจาก 24 ทีมเป็น 32 ทีม มหาอำนาจโลกเก่าทั้งหลายก็เลยมีปลาเล็กให้ไล่กินมากขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ด้วย ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้ารอบสุดท้ายมาได้มักมีนักเตะมาเล่นอยู่ในสเปน อิตาลีและอังกฤษ แต่ประเทศยุโรปเล็ก ๆ ก็ได้อานิสงส์จากการที่ลีกใหญ่ ๆ เปิดกว้างให้นักเตะต่างชาติที่มีพรสวรรค์ (แน่นอน ชาติแอฟริกาและละตินอเมริกาก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่น้อยกว่าหน่อย) เดี๋ยวนี้ประเทศอย่างสวีเดน นักเตะตัวหลักทั้ง 11 คนแทบไม่มีคนไหนเลยที่เล่นอยู่ในทีมสโมสรของสวีเดน การอพยพไปทำงานต่างถิ่นของนักฟุตบอลเก่ง ๆ และการได้สัมผัสกับการแข่งขันในลีกที่ใหญ่กว่า ทำให้ประเทศยุโรปที่ไม่เคยมีประวัติว่าประสบความสำเร็จด้านฟุตบอลมากนัก กลับสามารถเปลี่ยนโฉมแปลงกายไปเป็นทีมที่เล่นได้อย่างน่าทึ่งในเวลารวดเร็ว


2. การปลดแอกและอยู่ในอารมณ์ของผู้ชนะ

ประเทศที่เพิ่งปลดแอกจากระบอบคอมมิวนิสต์หรือระบอบกดขี่แบบอำนาจนิยมมักมาแรงแซงทางโค้ง ฟุตบอลโลกปี 1990 และ 1994 คือข้อพิสูจน์ เมื่อทีมบัลแกเรียและโรมาเนียหลังยุคคอมมิวนิสต์สามารถทะลุเข้าไปในรอบน็อคเอาท์ลึก ๆ ได้ ทีมโปแลนด์มีช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดในฟุตบอลโลก 1982 สมัยที่ขบวนการโซลิดาริตี้กำลังมีบทบาทเป็นฉากหลัง และทีมเยอรมนีชนะถ้วยเวิลด์คัพครั้งสุดท้ายในระหว่างที่กำลังรวมประเทศ


3. เจ้าอาณานิคมย่อมเหนือกว่าประเทศใต้อาณานิคม

การแข่งขันระหว่างคู่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละทัวร์นาเมนท์ สเปนมักต้องแข่งกับทีมจากละตินอเมริกาที่เป็นอาณานิคมเก่าของตน ฝรั่งเศสก็มักเจอกับทีมอย่างเซเนกัลหรือแคเมอรูน โปรตุเกสก็ต้องปะทะกับบราซิล เมื่อเจ้าจักรวรรดินิยมพวกนี้ต้องต่อกรกับข้าทาสเก่าของตน คุณคงคาดหวังว่าประเทศใต้อาณานิคมน่าจะเล่นได้ดีกว่า เพราะถึงอย่างไร ลัทธิจักรวรรดินิยมก็เป็นโครงการที่มีชะตาลิขิตอยู่ในตัวมันเองแล้วว่าต้องพังไม่เป็นท่า ไม่เคยมีเจ้าอาณานิคมรายไหนสามารถต้านทานเสียงเรียกร้องเอกราชของข้าทาสได้ชั่วกัลปาวสาน แต่ความเป็นจริงทางการเมืองนั้นกลับใช้ไม่ได้กับฟุตบอล อันที่จริง ถ้ายกเว้นชัยชนะที่เซเนกัลมีเหนือฝรั่งเศสในเกมเปิดสนามฟุตบอลโลก 2002 แล้ว ตามสถิติในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมมักเป็นฝ่ายชนะมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่าบรรดาเจ้าอาณานิคมอยากหาอะไรชดเชยให้ความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดจากการสูญเสียจักรวรรดิและความตกต่ำทางการเมืองของตัวเอง คุณอาจถามว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นแนวโน้มแบบนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ เจ้าจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมาสิ? จริง ๆ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ปัญหาคืออังกฤษดันไปปลูกฝังรักบี้กับคริกเก็ตในดินแดนใต้อาณานิคมมากกว่าฟุตบอล ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่อังกฤษจะแข่งทั้งทัวร์นาเมนท์โดยไม่เคยเจอะเจอกับประเทศในเครือจักรภพของตัวเองเลย

4. อย่าฝากความหวังไว้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันเด็ดขาด
ประเทศใดก็ตามที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ไม่ว่าไนจีเรีย รัสเซีย เม็กซิโก นอร์เว กลุ่มประเทศอาหรับ อิหร่าน ประเทศพวกนี้มักประสบความสำเร็จต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเสมอ ระบบเศรษฐกิจใดก็ตามที่สร้างความมั่งคั่งได้ง่าย ๆ ต่อให้ความมั่งคั่งนั้นไหลเข้ากระเป๋าอภิชนาธิปไตยกลุ่มน้อยนิดก็ตาม ประเทศนั้นก็มักเกียจคร้าน คิดแต่ว่าความร่ำรวยจะไหลมาง่าย ๆ ร่ำไป นักรัฐศาสตร์มักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปฏิบทของความมั่งคั่ง” พออยู่บนสนามฟุตบอล ประเทศพวกนี้มักขาดความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะและความคิดสร้างสรรค์ ไม่เคยมีประเทศร่ำรวยน้ำมันประเทศไหนเคยทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศ

5. การเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีการช็อคแบบเสรีนิยมใหม่คือมารความสำเร็จโดยแท้
อาร์เจนตินาไม่เคยไปถึงรอบแปดทีมสุดท้าย นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บราซิลเคยสะดุดแค่ครั้งเดียวในฟุตบอลโลก 1998 ตอนที่ประธานาธิบดีเฟอร์นานโด เอนริเก คาร์โดโซ กำลังผลักดันให้เปิดตลาดเสรีในบราซิลอย่างสุดตัว ดังนั้น คุณอย่าไปถือหางทีมฟุตบอลของประเทศไหนก็ตามที่กำลังแปรรูปธนาคารและภาคพลังงาน แต่ก็มีข่าวดีสำหรับโธมัส ฟรีดแมนและฝ่ายสนับสนุนเสรีนิยมคลาสสิกทั้งหลาย ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักฟื้นตัวขึ้นมาจากหล่มเสรีนิยม บราซิลคือตัวอย่างคลาสสิกของกรณีแบบนี้ แต่โปแลนด์กับเอกวาดอร์ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำร้ายฟุตบอลในระยะสั้นเท่านั้น (อาร์เจนตินาเพิ่งเข้าถึงรอบควอเตอร์ไฟนอลในฟุตบอลโลกหนนี้เช่นกัน—ผู้แปล)


6. คำเตือนเพื่อกันความผิดพลาด

มีกฎเหล็กข้อหนึ่งที่สามารถทำให้กฎข้ออื่น ๆ เป็นโมฆะไปหมดได้ ความเป็นจริงทางการเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะสร้างทีมฟุตบอลที่คว้าถ้วยจูลส์ริเมท์ไม่ว่าในช่วงใดของประวัติศาสตร์ก็คือ รัฐบาลรูปแบบใดก็ตามที่ครองทำเนียบในกรุงบราซิเลียในสัปดาห์นั้น

 

  

 แชมป์ฟุตบอลโลก  ระบบการเมือง

1930
อุรุกวัย
ประชาธิปไตยง่อนแง่น
1934
อิตาลี
เผด็จการฟาสซิสต์
1938
อิตาลี
เผด็จการฟาสซิสต์
1950
อุรุกวัย
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1954
เยอรมนีตะวันตก
ประชาธิปไตยคริสต์ศาสนา
1958
บราซิล
ประชาธิปไตยประชานิยม
1962
บราซิล
ประชาธิปไตยประชานิยม
1966
อังกฤษ
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1970
บราซิล
รัฐบาลทหาร
1974
เยอรมนีตะวันตก
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1978
อาร์เจนตินา
รัฐบาลทหาร
1982
อิตาลี
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1986
อาร์เจนตินา
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1990
เยอรมนีตะวันตก
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1994
บราซิล
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1998
ฝรั่งเศส
สังคมนิยมประชาธิปไตย
2002
บราซิล
ประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่
 

..........................................
หมายเหตุผู้แปล: อิตาลีที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 อยู่ในช่วงของการมีรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่สลับกับรัฐบาลซ้ายกลาง

ส่วนสเปนที่เพิ่งคว้าแชมป์ไม่กี่วันมานี้เป็นแค่หนึ่งในสองประเทศแชมป์ฟุตบอลโลก ซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สเปนถูกปกครองด้วยระบอบรัฐบาลทหารมายาวนานและเพิ่งเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 1980 นี้เอง นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่สเปนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ก่อนจะมาประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

ต้นฉบับได้รับการเอื้อเฟื้อจาก คุณวิทยากร บุญเรือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net